"กองทุน กอช." ดันอาชีพอิสระให้มีเงินใช้หลังเกษียณ

icon 21 ก.ย. 58 icon 9,547
"กองทุน กอช." ดันอาชีพอิสระให้มีเงินใช้หลังเกษียณ

"กองทุน กอช." ดันอาชีพอิสระให้มีเงินใช้หลังเกษียณ

"การออมเงิน" ในปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบ โดยจะแตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์ของการออม ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมีทั้งในรูปแบบบัญชีเงินฝาก, ประกันชีวิตแบบมีผลตอบแทน หรือแม้แต่ในรูปของกองทุน เป็นต้น จากบทความที่เราเคยนำเสนอเพื่อนๆ มาแล้วนั้น จะอยู่ในรูปแบบของบัญชีเงินฝาก และประกันชีวิตซะเป็นส่วนใหญ่ ในวันนี้เราจะนำเสนอการออมเงินในรูปแบบของกองทุนบ้าง แต่กองทุนที่เราจะพูดถึงนี้เป็นกองทุนเปิดใหม่โดยรัฐบาล ที่มีชื่อว่า "กองทุนการออมแห่งชาติ" หรือ "กอช."
กอช. เป็นกองทุนการออมเพื่อส่งเสริมให้ผู้ที่ทำอาชีพอิสระ ที่อยู่นอกระบบบำเหน็จบำนาญของรัฐ หรือกองทุนเอกชนที่มีนายจ้างจ่ายสมทบแล้ว ได้ออมเงินไว้ใช้ในยามเกษียณ และที่สำคัญคือรัฐจะมีการช่วยจ่ายเงินสมทบให้ส่วนหนึ่งด้วย (คล้ายๆ กับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และประกันสังคม สำหรับผู้ทำงานประจำเลยค่ะ) ซึ่งเมื่อผู้ออมมีอายุครบ 60 ปี ก็จะได้รับเงินบำนาญเป็นรายเดือนตลอดชีพ ถือได้ว่าเป็นการช่วยเหลือจากรัฐบาลในยามที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ แถมยังมีส่วนช่วยในการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมอีกด้วย หลายคนคงอยากรู้แล้วใช่มั้ยค่ะว่า เราสามารถสมัครเข้าร่วมการออมในกองทุนประเภทนี้ได้หรือไม่? งั้นเรามาดูคำตอบของ "10 คำถามกับกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)" กันค่ะ

10 คำถามกับกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)


1. รัฐบาลจัดตั้งกองทุน กอช. ไว้เพื่อใคร?
กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เป็นกองทุนที่รัฐจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นความหวังให้กับคนรายได้น้อยที่มีอาชีพรับจ้างอิสระทั่วไป ด้วยการสร้างวินัยการออมเงินไว้ใช้ในชีวิตหลังเกษียณ (หลัง 60 ปีขึ้นไป) เพื่อให้ได้รับสิทธิคล้ายกับกลุ่มที่ทำงานมีเงินเดือน เช่น ข้าราชการ หรือพนักงานบริษัทเอกชนทั่วไป

2. ใครมีสิทธิสมัคร และจะเริ่มสมัครได้เมื่อไหร่...ที่ไหน?
คนที่มีสิทธิจะเป็นสมาชิก กอช. ได้นั้น จะต้องเป็นบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป แต่ไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ และจะต้องไม่เป็นสมาชิกในการออมเงินจากกองทุนเหล่านี้นะคะ
  • ไม่เป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคม ที่ส่งเงินเพื่อได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ
  • ไม่เป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
  • ไม่เป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการกรุงเทพมหานคร
  • ไม่เป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น
  • ไม่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
  • ไม่เป็นสมาชิกกองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน
  • ไม่เป็นสมาชิกกองทุนอื่นหรืออยู่ในระบบบำนาญอื่นตามที่กำหนดโดยกฎกระทรวง
พร้อมเริ่มเปิดรับสมัครสมาชิกตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2558 เป็นต้นไป ได้ที่
  • ธนาคารออมสิน
  • ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
  • ธนาคารกรุงไทย
 
3. ถ้ามีประกันสังคมอยู่ จะสมัครเป็นสมาชิกได้หรือไม่?
ได้ แต่มีเงื่อนไข คือ สำหรับผู้ประกันตนมาตรา ๔๐ (สำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระ) สมัครสมาชิกได้เฉพาะผู้ประกันตนที่ได้รับความคุ้มครอง 3 กรณีนี้เท่านั้น
  1. กรณีได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อมีการนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลตั้งแต่ 2 วันขึ้นไป
  2. กรณีทุพพลภาพ
  3. กรณีเสียชีวิต
แต่จะไม่สามารถสมัครสมาชิกได้ในกรณีที่เลือกรับความคุ้มครองเพิ่มเติมในกรณีชราภาพ (บำเหน็จ)

4. ต้องออมเงินเท่าไหร่ และรัฐจะสมทบให้อีกเท่าไหร่?
เงินออมที่จ่ายเข้ากองทุน กอช. นี้ จะมาจาก 2 ฝ่าย คือ 1) สมาชิกผู้สมัครเอง และ 2) รัฐจ่ายสะสมให้ โดยมีอัตราการออม ดังนี้
  • คนที่เป็นสมาชิกจะจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนไม่ต่ำกว่าครั้งละ 50 บาท แต่เมื่อรวมกันแล้วในปีหนึ่งๆ ต้องไม่เกิน 13,200 บาท (เฉลี่ยเดือนละ 1,100 บาท)
  • รัฐบาลจะจ่ายเงินสมทบตามระดับอายุของสมาชิก และเป็นอัตราส่วนกับจำนวนเงินสะสม โดยมีอัตราตามที่กำหนดในบัญชีเงินสมทบท้ายพระราชบัญญัติ และเมื่อรวมกันแล้วในหนึ่งปีจะต้องไม่เกินจำนวนเงินสมทบสูงสุดที่กำหนดโดยกฎกระทรวง ดังนี้
อายุของสมาชิกขณะส่งเงินสะสม เงินสมทบที่รัฐบาลจ่ายให้ เพดานเงินสมทบจากรัฐบาล
ตั้งแต่ 15 ปี แต่ไม่เกิน 30 ปี 50% ของเงินสะสม ไม่เกิน 600 บาท/ปี
มากกว่า 30 ปี แต่ไม่เกิน 50 ปี 80% ของเงินสะสม ไม่เกิน 960 บาท/ปี
มากกว่า 50 ปี แต่ไม่เกิน 60 ปี 100% ของเงินสะสม ไม่เกิน 1,200 บาท/ปี
ทั้งนี้ อัตราเงินสะสมอาจเปลี่ยนแปลงโดยคำนึงถึงสภาวะเศรษฐกิจ และจะมีการพิจารณาทบทวนการจ่ายเงินสมทบของรัฐบาลทุก 5 ปี
5. ออมแล้วได้เงินคืนเมื่อไหร่...แบบไหน?
ตามกฎกระทรวงแล้ว สมาชิกจะสิ้นสมาชิกภาพเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์, ตาย หรือลาออกจากกองทุน โดยสมาชิกจะมีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนตามแต่ละกรณี ดังนี้
  1. กรณีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ 
  2. กรณีทุพพลภาพก่อนอายุครบ 60 ปี
  3. กรณีลาออกจากกองทุน
  4. กรณีเสียชีวิต  
การจ่ายเงินจากกองทุน
เหตุรับเงิน  ลักษณะการจ่ายเงิน  หมายเหตุ 
อายุครบ 60 ปี รับบำนาญรายเดือนตลอดชีวิต
  • คืนเงินที่เหลือหากเสียชีวิต
  • หากมีเงินในบัญชีไม่ถึงจำนวนบำนาญขั้นต่ำจะจ่าย "เงินดำรงชีพ" เท่ากับบำนาญขั้นต่ำเป็นรายเดือนจนกว่าเงินในบัญชีจะหมด
ทุพพลภาพ มีสิทธิรับเงินก้อน
= เงินสะสม + ผลประโยชน์ของเงินสะสม
  • เงินสมทบ และเงินที่คงไว้ในกองทุน (ถ้ามี) จะเก็บไว้จ่ายบำนาญเมื่ออายุครบ 60 ปี
  • ออมต่อหรือไม่ออมก็ได้
ลาออกจากกองทุน มีสิทธิรับเงินก้อน
= เงินสะสม + ผลประโยชน์ของเงินสะสม
  • กลับมาสมัครเป็นสมาชิกได้อีก
เสียชีวิต กองทุนจ่ายเงินก้อน
= จำนวนเงินในบัญชี
  • จ่ายเงินให้แก่ผู้ที่สมาชิกแจ้งชื่อไว้กับกองทุนหรือหากมิได้แจ้งชื่อไว้ จะจ่ายให้แก่ทายาท
หมายเหตุ : สิทธิการรับเงินเป็นสิทธิเฉพาะตัว ไม่อาจโอนแก่กันได้
6. เมื่อสะสมเงินออมจนครบอายุ 60 ปีแล้ว เราจะได้เงินบำนาญเดือนละเท่าไหร่?
เมื่อเราเข้าร่วมเป็นสมาชิกกองทุน กอช. จนครบอายุ 60 ปีแล้ว เราจะได้รับเงินบำนาญตามสัดส่วนที่เราออมไว้แต่ละเดือน รวมกับเงินสมทบจากรัฐบาล และยังมีเงินจากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเพิ่มอีกเดือนละ 500 บาทด้วย 
ตัวอย่างตารางเงินบำนาญที่คาดว่าจะได้รับ
เงินสะสม (ทุกเดือน)  บำนาญรายเดือน  บำนาญ + เบี้ยยังชีพ 
50 764.24 1,264.24
100 1,528.47 2,028.47
200 2,455.09 2,955.09
300 3,381.71 3,881.71
400 4,308.34 4,808.34
500 5,234.96 5,734.96
600 6,161.58 6,661.58
700 7,088.20 7,588.20
800 8,014.82 8,514.82
900 8,941.44 9,441.44
1,000 9,868.06 10,368.06
1,100 10,794.68 11,294.68
หมายเหตุ : สมาชิกส่งเงินสะสมจำนวนเท่ากันทุกเดือน ตั้งแต่อายุ 15 ปี จนถึงอายุ 60 ปี โดยกำหนดให้อัตราผลตอบแทนเท่ากับ 4.5%
7. จะถอนเงินออกมาใช้ระหว่างที่เป็นสมาชิกอยู่ได้มั้ย?
จะถอนได้ในกรณีเดียวเท่านั้น คือต้องลาออกจากการเป็นสมาชิกก่อนอายุ 60 ปีบริบูรณ์เท่านั้น และเงินที่ได้รับนั้น จะได้รับเฉพาะเงินสะสมส่วนของตัวเอง และดอกเบี้ยจากเงินสะสมส่วนของตัวเองเท่านั้น โดยไม่รวมเงินสมทบจากรัฐบาล

8. สมาชิกสามารถกู้ยืมเงินจากกองทุนได้หรือไม่?
ไม่ได้ เพราะ กอช. จัดสวัสดิการเฉพาะด้านชราภาพหลังเกษียณให้กับสมาชิกเท่านั้น

9. กรณีได้งานทำระหว่างเป็นสมาชิกอยู่ จะต้องลาออกหรือไม่?
ไม่จำเป็นต้องลาออกจากสมาชิก กอช. และยังมีสิทธิส่งเงินสะสมได้ต่อไป แต่ต้องจำไว้ว่าเงินสะสมนั้นจะไม่ได้รับการสมทบเงินจากรัฐบาล พร้อมกับไม่นำเงินจำนวนในช่วงที่มีงานทำนั้นมารวมคำนวณเป็นเงินบำนาญ และถ้าต่อไปเราออกจากงานและมาทำอาชีพอิสระอีก เราก็สามารถกลับเข้าสมาชิก กอช. ได้เหมือนเดิม โดยการส่งเงินสะสมและจะได้รับเงินสมทบจากรัฐเหมือนเดิม

10. ออมเงินกับ กอช. ต่างจากฝากเงินกับธนาคารอย่างไร?
  • ออมเงินกับ กอช. จะได้รับเงินสมทบจากรัฐตามสัดส่วนอายุของสมาชิก และรัฐบาลจะค้ำประกันผลตอบแทนไม่ให้ต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน (เฉลี่ยจากธนาคารออมสิน, ธกส. และธนาคารพาณิชย์ใหญ่อีก 5 แห่ง)
  • ออมเงินกับธนาคารจะได้รับดอกเบี้ยเงินฝาก ซึ่งอัตราดอกเบี้ยขึ้น-ลงตามสถานการณ์เศรษฐกิจ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากกองทุนการออมแห่งชาติ โทร. 0-2169-7127 ต่อ 182, 184, 186


แผ่นพับเผยแพร่ ข้อมูลทั่วไปการสมัครสมาชิกจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Money Guru
เขียนโดย เช็คราคา.คอม Money Guru

พูดคุยกับกูรูได้ที่



เว็บไซต์นี้มีการเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์ และช่วยให้เราปรับปรุง และนำเสนอเนื้อหาตรงตามความสนใจของท่าน ท่านสามารถดู Privacy Notice และ ดู Cookies Policy ของเราได้ ที่นี่ ทั้งนี้ ท่านจะยินยอมให้เราเก็บคุกกี้ทั้งหมด หรือให้เก็บแค่บางส่วนโดยการคลิกเลือก ตั้งค่า

ท่านสามารถเลือกให้ความยินยอมการเก็บคุกกี้เป็นเรื่องๆ ได้ที่นี่

เมื่อคุณเข้าชมเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่น checkraka เราอาจจัดเก็บ หรือดึงข้อมูลจากเบราว์เซอร์ของคุณในรูปแบบของคุกกี้ และเทคโนโลยีอื่นที่คล้ายคลึง เช่น tag และ pixel (เรียกรวมกันว่า “คุกกี้”) ซึ่งมักเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้โดยตรง แต่ช่วยให้คุณใช้งานเว็บไซต์ได้ปลอดภัย และตรงตามความต้องการมากขึ้น คุณอาจไม่ยินยอมให้เราเก็บคุกกี้บางประเภทได้ โดยการคลิกตามหัวข้อข้างล่างนี้

ประเภทคุกกี้
อ่านเพิ่มเติม ที่นี่
ยินยอม / ไม่ยินยอม
คุกกี้ที่จำเป็นต้องมีเสมอ
(Strictly Necessary)
คุกกี้สำหรับการใช้งานเว็บไซต์
(Functionality)
คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและวิเคราะห์
(Performance & Analytics)
คุกกี้เพื่อการตลาด
(Marketing)