12 เรื่องต้องรู้ก่อนลงทุน "หุ้นกู้" บริษัทเอกชน

icon 15 ส.ค. 65 icon 138,809
12 เรื่องต้องรู้ก่อนลงทุน "หุ้นกู้" บริษัทเอกชน
ในภาวะที่ดอกเบี้ยเงินฝากค่อนข้างต่ำ และหุ้นก็ขึ้นลงเอาแน่เอานอนไม่ได้ "หุ้นกู้บริษัทเอกชน (Corporate Bond หรือ Debenture)" ที่ออกโดยบริษัทเอกชนจึงกลายมาเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับคนที่ต้องการความเสี่ยงต่ำ แต่ผลตอบแทนค่อนข้างแน่นอน บริษัทเอกชนหลายแห่งจึงได้ออกหุ้นกู้มาขายให้กับบุคคลทั่วไปมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อระดมทุน เพื่อนๆ หลายคนเองก็อาจเคยโดนชักชวนให้ซื้อหุ้นกู้อยู่บ้างนะคะ ถึงแม้ว่าหุ้นกู้จะมีผลตอบแทนที่ดูเหมือนจะมั่นคง แต่ก็ยังมีหลายเรื่องที่นักลงทุนควรเข้าใจก่อนซื้อเพื่อให้หุ้นกู้ที่เราซื้อตอบโจทย์ความต้องการเราได้เต็มที่ค่ะ วันนี้เราขอนำเสนอเกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ ในเรื่องนี้มาฝากกันค่ะ
 
1. ดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนจะสูงแค่ไหน?
 
หลักง่ายๆ เลยคือ  "ความเสี่ยงยิ่งสูง บริษัทที่ออกหุ้นกู้ก็จะตั้งดอกเบี้ยให้สูงตาม" โดยส่วนใหญ่หุ้นกู้ที่เสนอขายต่อประชาชนทั่วไปในช่วง 2-3 ปีมานี้ อัตราดอกเบี้ยจะแตกต่างกันไปไล่ตั้งแต่ 3.00% ไปจนถึง 6.50% ต่อปี โดยจะมีรูปแบบการให้ดอกเบี้ย 2 แบบหลักๆ คือ
  1. กำหนดเป็นเปอร์เซ็นต์ตายตัวตลอดระยะเวลาหุ้นกู้ หรือ
  2. เป็นแบบขั้นบันได ยิ่งถือนานยิ่งให้ดอกเบี้ยเยอะ ตามตัวอย่างข้างล่าง
 
2. ระยะเวลาลงทุนต้องนานแค่ไหน?
 
หุ้นกู้ที่เสนอขายต่อประชาชนทั่วไปมักมีระยะเวลาลงทุนขั้นต่ำอย่างน้อย 3 ปี ไล่ขึ้นไปเรื่อยๆ เป็น 5 ปี 7 ปี และสูงสุดมักจะไม่เกิน 10 ปี หรือในระยะหลังๆ นี้อาจมีหุ้นกู้ประเภทที่มีลักษณะคล้ายทุนไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัทด้วย (ตัวอย่างข้างล่าง) ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายการถือหุ้นเลยคือถือกันไปเรื่อยๆ ไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุด (Perpetual) หลักการง่ายๆ ในเรื่องระยะเวลาลงทุนคือ หุ้นกู้ที่มีระยะเวลานานๆ มักจะให้ดอกเบี้ยสูงกว่าหุ้นกู้ที่มีระยะเวลาสั้นๆ โดยเราคงต้องดูให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ หรือดูตามความจำเป็นในการใช้เงินของเราประกอบด้วย
 
3. เราจะได้ดอกเบี้ย และเงินต้นคืนเมื่อไหร่? ไถ่ถอนก่อนกำหนดคืออะไร?
 
กรณีของดอกเบี้ย ส่วนใหญ่จะจ่ายให้เราทุกๆ 3 เดือน หรือ 6 เดือน ส่วนของเงินต้นนั้น หุ้นกู้จะจ่ายคืนเงินต้นในวันสุดท้ายของอายุหุ้นกู้นั้นๆ เสมอ เช่น ถ้าหุ้นกู้อายุ 3 ปี ก็จะจ่ายคืนเงินต้นคืนเมื่อครบ 3 ปี แต่ในบางกรณีหุ้นกู้บางตัวกำหนดไว้ว่า "ไถ่ถอนก่อนครบกำหนดได้ (Early Redemption)" ซึ่งหมายถึงว่า ผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิที่จะซื้อคืนหุ้นกู้ที่ออกนั้นคืนได้ทั้งจำนวนก่อนวันครบกำหนดชำระ และเราจะได้ดอกเบี้ยคำนวณนับจนถึงวันไถ่ถอนครบกำหนดเท่านั้น (จะไม่ได้ดอกเบี้ยในอนาคตข้างหน้า) โดยสิทธิไถ่ถอนนี้เป็นสิทธิของผู้ออกหุ้นกู้ฝ่ายเดียวนะคะ ผู้ถือหุ้นกู้อย่างเราจะไม่มีสิทธิเลือกค่ะ โดยถ้าเราในฐานะผู้ถือหุ้นกู้อยากขาย เราต้องไปทำตามข้อ 9 ข้างล่างค่ะ ทั้งนี้ โดยปกติ ผู้ออกหุ้นกู้มักจะเลือกไถ่ถอนหุ้นกู้คืนในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ เพื่อยกเลิกหุ้นกู้ฉบับเดิมที่อาจจะจ่ายดอกเบี้ยในระดับสูงกว่า แล้วมาออกหุ้นกู้ฉบับใหม่ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านดอกเบี้ยลง
 
4. ความเสี่ยงหุ้นกู้มีอะไรบ้าง?
 
ความเสี่ยงสำหรับหุ้นกู้มี 3 ประเด็นหลักๆ ที่เราต้องพิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อหุ้นกู้ค่ะ ซึ่งความเสี่ยงเหล่านี้หากเกิดขึ้น อาจมีผลกระทบทำให้เราไม่ได้รับดอกเบี้ย หรือเงินต้นคืนเต็มจำนวน หรือได้รับผลขาดทุนจากการลงทุนเมื่อเทียบกับการลงทุนในรูปแบบอื่น
 
(ก) ความเสี่ยงเกี่ยวกับตัวบริษัทผู้ออกหุ้นกู้เอง เช่น สถานะทางการเงินบริษัทเป็นอย่างไร การบริหารจัดการเป็นอย่างไร ผู้บริหารมีความน่าเชื่อถือหรือไม่ มีศักยภาพหรือความสามารถเพียงใด ประวัติการบริหารงาน และผลการดำเนินงานที่ผ่านมาเป็นอย่างไร

(ข) ความเสี่ยงเกี่ยวกับธุรกิจหรืออุตสาหกรรมของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ เช่น ธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่ผู้ออกหุ้นกู้ทำอยู่มีความเสี่ยง หรือความผันผวนแค่ไหน สภาพเศรษฐกิจ หรือการเมืองโดยรวมจะมีผลกระทบต่อธุรกิจของผู้ออกหุ้นกู้แค่ไหน แนวโน้มธุรกิจในอนาคตจะเป็นอย่างไร และมีการแข่งขันสูงแค่ไหน

(ค) ความเสี่ยงเกี่ยวกับตัวหุ้นกู้เอง เช่น ลักษณะของหุ้นกู้ที่ระบุไว้ว่า "ด้อยสิทธิ" หรือ "ไม่มีประกัน" ย่อมมีความเสี่ยงมากกว่าหุ้นกู้ประเภท "ไม่ด้อยสิทธิ" หรือ "มีประกัน" หรือหากอายุหุ้นกู้ยิ่งนานความเสี่ยงก็ย่อมยาวนานออกไปตามลำดับด้วย นอกจากนี้ ความเสี่ยงอื่นๆ ก็เช่น สภาพคล่องในตลาดรองของหุ้นกู้มีมากน้อยแค่ไหน ขายต่อได้คล่องตัว และได้ผลตอบแทนที่ดีในราคาที่เราต้องการหรือไม่ ภาษีที่ต้องเสียจากผลตอบแทนการถือหุ้นกู้จะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่
 
5. จัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating)
 
ปกติการออกหุ้นกู้ในบ้านเราจะต้องมีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางด้านเครดิต (Credit Rating) ซึ่งเป็นสัญญาณที่จะช่วยบอกเราได้ว่า หุ้นกู้นี้จะมีความสามารถในการชำระหนี้คืนให้เราได้แค่ไหน? โดยมี 2 แบบคือ

(ก) ISSUER Rating (การจัดอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้) เป็นการสะท้อนความแข็งแกร่งของบริษัทโดยรวมนั้นๆ โดยดูจากฐานะของบริษัทเองร่วมกับปัจจัยทางเศรษฐกิจต่างๆ และ

(ข) ISSUE Rating (การจัดอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ที่ออก) เป็นการสะท้อนความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้สำหรับหุ้นกู้ตัวนั้นๆ ซึ่งถ้าหุ้นกู้เป็นการเสนอขายต่อประชาชนทั่วไปจะต้องทำ ISSUE Rating เสมอ

ปัจจุบันบริษัทที่ได้รับความไว้วางใจจาก ก.ล.ต. ในการจัดอันดับหุ้นกู้ในประเทศ มี 2 แห่ง คือ
  1. บริษัท ทริส เรตติ้ง จำกัด (www.trisrating.com)
  2. บริษัท ฟิทช์ เรตติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด (www.fitchratingsasia.com)
โดยแต่ละแห่งจะมี Rating ตามตารางข้างล่างนี้ ซึ่งอาจมีแยกย่อยได้อีกเป็น + หรือ -  เช่น BBB ก็ยังมี BBB+ และ BBB- (ยกเว้น AAA ที่เป็นคะแนนเต็ม และ D ที่ผู้ออกหุ้นกู้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด จะไม่มี + หรือ -) โดยการจัดอันดับนี้สามารถแบ่งได้เป็นระดับตั้งแต่ระดับดีมาก (AAA) จนถึงระดับที่แย่มาก (D) ซึ่งเป็นการประเมินจากข้อมูล ณ วันที่ออกหุ้นกู้ และมีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้ตลอดอายุหุ้นกู้ ทั้งนี้ เราควรติดตามดูแนวโน้มอันดับเครดิตซึ่งเป็นการคาดการณ์ในอนาคตที่ให้ค่าเป็น "คงที่" "บวก" หรือ "ลบ" พร้อมติดตามข่าวที่เกี่ยวข้องกับบริษัทที่ออกหุ้นกู้อยู่เสมอ ทั้งนี้ หลักทั่วไปคือ อันดับที่จัดว่าเหมาะสมในการลงทุนได้ คือ ตั้งแต่ BBB- ขึ้นไป (ดูตัวอย่างรายงานเครดิต Rating ได้ที่นี่)
 
TRIS  FITCH  คำอธิบาย 
AAA AAA(tha) เป็นอันดับเครดิตสูงสุด และมีความเสี่ยงต่ำที่สุด มีความสามารถในการชำระดอกเบี้ยและคืนเงินต้นในเกณฑ์สูงสุด ความเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจและเศรษฐกิจจะส่งผลกระทบน้อยมาก
AA AA(tha) มีความเสี่ยงต่ำมาก มีความสามารถในการชำระดอกเบี้ยและคืนเงินต้นในเกณฑ์สูงมาก แต่อาจได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจและเศรษฐกิจมากกว่าอันดับเครดิตที่สูงกว่า
A A(tha) มีความเสี่ยงในระดับต่ำ มีความสามารถในการชำระดอกเบี้ยและคืนเงินต้นในเกณฑ์สูง แต่อาจได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ และเศรษฐกิจมากกว่าอันดับเครดิตที่สูงกว่า
BBB BBB(tha) มีความเสี่ยงและมีความสามารถในการชำระดอกเบี้ยและคืนเงินต้นในเกณฑ์ปานกลาง ความผันผวนที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจและเศรษฐกิจอาจมีผลให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง เมื่อเทียบกับอันดับเครดิตที่สูงกว่า
BB BB(tha) มีความเสี่ยงในระดับสูง มีความสามารถในการชำระดอกเบี้ยและคืนเงินต้นในเกณฑ์ต่ำกว่าระดับปานกลาง และจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจและเศรษฐกิจค่อนข้างชัดเจน มีปัจจัยที่คุ้มครองเจ้าหนี้ต่ำกว่าอันดับเครดิตที่สูงกว่า
B B(tha) มีความเสี่ยงในระดับสูงมาก มีความสามารถในการชำระดอกเบี้ยและคืนเงินต้นในเกณฑ์ต่ำและอาจจะหมดความสามารถในการชำระหนี้ได้ตามการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ทางธุรกิจและเศรษฐกิจ
CCC CCC(tha) ความเป็นไปได้อย่างสูงที่จะเกิดการผิดนัดชำระหนี้ ความสามารถในการปฏิบัติตามข้อผูกพันทางการเงินขึ้นอยู่กับสภาวะที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจและสภาพทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเพียงอย่างเดียว
CC CC(tha) ความเป็นไปได้ในการผิดนัดชำระหนี้บางอย่าง
C C(tha) มีความเสี่ยงในการผิดชำระหนี้สูงกว่าอันดับเครดิตในระดับที่สูงกว่า เพราะความสามารถในการชำระดอกเบี้ยและคืนเงินต้นต้องอาศัยเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยทางธุรกิจ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างมาก การเปลี่ยนแปลงของเงื่อนไขต่างๆ จะส่งผลกระทบอย่างมาก
D D(tha) เป็นระดับที่อยู่ในสภาวะผิดนัดชำระหนี้ โดยผู้ออกตราสารหนี้ไม่สามารถชำระดอกเบี้ยและคืนเงินต้นได้ตามกำหนด
 
6. หุ้นกู้ "มีประกัน" หรือ "ไม่มีประกัน" ต่างกันอย่างไร?
 
หลักทั่วไปที่เราควรรู้คือ เวลาเราซื้อหุ้นกู้ เราจะเป็น "เจ้าหนี้" ของบริษัทที่ออกหุ้นกู้ และบริษัทที่ออกหุ้นกู้จะเป็น "ลูกหนี้" เรา ซึ่งความเป็นเจ้าหนี้ของเราจะแบ่งได้เป็นหลายแบบ เช่น มีประกัน ไม่มีประกัน หรือ (ในข้อ 7 ข้างล่าง) ด้อยสิทธิ หรือไม่ด้อยสิทธิ

ซึ่งถ้าหุ้นกู้ที่ออกเขียนว่า "มีประกัน" หมายถึงว่า หุ้นกู้นี้มีการให้หลักประกันแก่เรา เช่น มีการจำนองที่ดินให้เรา ซึ่งผลคือ เราเป็น "เจ้าหนี้มีประกัน" ถ้าบริษัทที่ออกหุ้นกู้มีปัญหาไม่สามารถจ่ายเงินต้นหรือดอกเบี้ยให้เราได้ เราจะมีสิทธิในหลักประกันเหล่านี้เพื่อนำมาบังคับชำระหนี้เราก่อนเจ้าหนี้คนอื่น
 
ส่วนหุ้นกู้ที่เขียนว่า "ไม่มีประกัน" คือ เราเป็นเจ้าหนี้ไม่มีประกัน และเราจะมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในลำดับเดียวกัน และตามสัดส่วนกับเจ้าหนี้ไม่มีประกันรายอื่นๆ ซึ่งถ้าบริษัทที่ออกหุ้นกู้มีเจ้าหนี้มีประกันรายอื่นๆ อยู่ด้วย โดยหลักแล้ว เราจะไม่มีสิทธิในหลักประกันชิ้นนั้นๆ เลย เว้นแต่หากบังคับหลักประกันชิ้นนั้นๆ แล้วมีเงินเหลือ (คือเจ้าหนี้มีประกันที่เป็นคนมีสิทธิเหนือหลักประกันนั้นๆ ได้รับชำระหนี้จากหลักประกันชิ้นนั้นๆ ครบถ้วนหมดแล้ว) เราจึงจะมีสิทธิเข้าไปแชร์ในเงินที่เหลือจากหลักประกันชิ้นนั้นๆ ได้

ตัวอย่างหุ้นกู้ประเภท "ไม่มีประกัน"
 
7. หุ้นกู้ประเภท "ด้อยสิทธิ" หรือ "ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน" คืออะไร?
 
ตามที่พูดถึงในข้อ 6 ข้างต้น เวลาเราเข้าซื้อหุ้นกู้ เราจะเป็น "เจ้าหนี้" ของผู้ออกหุ้นกู้เสมอค่ะ โดยถ้าหุ้นกู้นั้นระบุว่าเป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิ (Subordinated Bond) ก็หมายความว่า เราจะเป็นเจ้าหนี้ลำดับที่เป็นรองจากเจ้าหนี้รายอื่นๆ เช่น เจ้าหนี้มีประกัน เจ้าหนี้ไม่มีประกัน (บางทีก็เรียกเจ้าหนี้สามัญเช่น เจ้าหนี้การค้าของผู้ออกหุ้นกู้) และเจ้าหนี้บุริมสิทธิ (เช่น กรมสรรพากร) ดังนั้น ถ้าผู้ออกหุ้นกู้เกิดล้มละลายขึ้นมา เราในฐานะเจ้าหนี้หุ้นกู้ด้อยสิทธินี้จะได้รับชำระเงินคืนก็ต่อเมื่อเจ้าหนี้ในลำดับเหนือกว่า ซึ่งก็คือพวกเจ้าหนี้มีประกัน เจ้าหนี้สามัญ และเจ้าหนี้บุริมสิทธิพวกนั้นได้รับชำระหนี้ส่วนของเขาครบถ้วนแล้วเท่านั้นค่ะ 
 
นอกจากนี้ สมัยนี้ก็มีหุ้นกู้ประเภท "ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน" ด้วย (เช่นที่ออกโดย Indorama เมื่อปีก่อน และอนันดาฯ ในปีนี้) ซึ่งโดยหลักการก็คล้ายกับที่อธิบายข้างบน แต่จะมีความเสี่ยงสำหรับคนซื้อเพิ่มอีกนิดคือ อายุหุ้นกู้อาจไม่มีกำหนดระยะเวลาคล้ายๆ กับเป็นหุ้นสามัญกลายๆ (Perpetual) และหุ้นกู้บางตัวก็ให้สิทธิแก่ผู้ออกหุ้นกู้ในการที่จะเลื่อนการจ่ายดอกเบี้ยออกไปได้แบบไม่มีกำหนดอีกด้วย (Interest Deferral) ซึ่งหากใครสนใจหุ้นกู้แบบนี้ คงต้องทำความเข้าใจความเสี่ยงเหล่านี้ให้ดีๆ ก่อนซื้อนะคะ
 
8. ต้องเสียภาษีหรือค่าใช้จ่ายอะไรบ้างในการลงทุนหุ้นกู้?
 
โดยหลักแล้ว จะเกิดขึ้นได้ 2 กรณีสำหรับผู้ถือหุ้นกู้ที่เป็นบุคคลธรรมดาคือ

(ก) ภาษีบนตัวดอกเบี้ยที่เราได้รับจากหุ้นกู้ (Interest Income) จะต้องเสียภาษีเงินได้ 15% ของจำนวนดอกเบี้ยที่ได้รับในแต่ละงวด

(ข) ภาษีของส่วนต่าง (Capital Gain) ที่เราได้กำไรจากการขายหุ้นกู้ จะต้องเสียภาษีเงินได้ 15% ของจำนวนกำไรส่วนต่างที่เราได้รับ

ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นข้อ (ก) หรือข้อ (ข) เราจะมีสิทธิเลือก 2 อย่างคือ
  1. เลือกที่จะให้มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายเลยตอนจ่ายดอกเบี้ย หรือตอนจ่ายเงินค่าซื้อหุ้นกู้ หรือ
  2. เลือกที่จะไม่ให้มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย แต่เลือกที่จะนำมารวมคำนวณเสียภาษีปลายปีเอง 
นอกเหนือจากภาษี 15% ที่พูดถึงนี้แล้ว การลงทุนซื้อหุ้นกู้เราจะไม่มีค่าใช้จ่ายอื่นใดที่ต้องเสียอีก ไม่ว่าในตอนซื้อ ระหว่างอายุหุ้นกุ้ หรือตอนหุ้นกู้ครบกำหนดค่ะ
 
9. ขายระหว่างทางได้หรือไม่?
 
โดยปกตินักลงทุนทั่วไปในบ้านเราที่ซื้อหุ้นกู้บริษัทเอกชนมักจะถือหุ้นกู้พวกนี้เป็นการลงทุนระยะยาวไปเลยและไม่ค่อยขาย หรือเน้นขายเอากำไรระหว่างทางสักเท่าไหร่ เพราะในบ้านเราราคาหุ้นกู้ไม่ค่อยหวือหวาเหมือนราคาหุ้นสามัญ และสภาพคล่อง (ทั้งในแง่จำนวนคนซื้อคนขาย และความรวดเร็วในการซื้อขาย) ก็มีไม่มากนัก แต่บางทีในระหว่างที่ถือ เราอาจต้องการใช้เงินด่วนขึ้นมา เราก็สามารถนำหุ้นกู้พวกนี้มาขายได้ค่ะ โดยทำได้ 2 วิธีหลักๆ คือ

(ก) โดยการเจรจาต่อรองซื้อขายเป็นรายๆ กับคนที่สนใจ หรือฝากธนาคารที่เกี่ยวข้องกับหุ้นกู้ตัวนั้นๆ (เช่น เป็นนายทะเบียน หรือผู้จัดจำหน่ายหุ้นกู้) ให้ช่วยหาคนซื้อให้ ซึ่งถ้ามีการตกลงซื้อขายกันได้ ก็แค่เซ็นโอนกันด้านหลังของใบหุ้นกู้ได้เลย วิธีนี้จะเรียกกันรวมๆ ว่า Over-the-Counter (OTC)

(ข) โดยการขายในตลาดตราสารหนี้ (Bond Electronic Exchange หรือ BEX) ซึ่งเป็นตลาดรอง (ต้องเป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้นนะคะ) วิธีนี้เราจะทำได้ต่อเมื่อเราต้องกรอกใน "ใบจองซื้อหุ้นกู้" ตั้งแต่แรกเลยว่า เราขอฝากหุ้นกู้นี้กับศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ผ่าน Broker ของเรา เพื่อให้นำเข้าตลาดไปซื้อขายได้ต่อไป (ตามตัวอย่างข้างล่าง)
 
10. เสนอขายหุ้นกู้กันกี่แบบในบ้านเรา?
 
การเสนอขายหุ้นกู้ในบ้านเรามี 2 แบบ คือ
  1. แบบ PP (Private Placement) การเสนอขายแบบเฉพาะเจาะจงในวงจำกัด แก่นักลงทุนสถาบัน (Institutional Investors ("II")) หรือนักลงทุนรายใหญ่ (High Net Worth Investors ("HNW")) ที่มีคุณสมบัติตามที่ ก.ล.ต. กำหนด เช่น กองทุนรวม และบุคคลธรรมดาที่ลงทุนในหลักทรัพย์ตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป เป็นต้น 
  2. แบบ PO (Public offering) การเสนอขายแก่นักลงทุนที่เป็นประชาชนทั่วไป ซึ่งรวมถึงนักลงทุนรายย่อยทั่วไป ไม่ได้มีข้อจำกัดเรื่องคุณสมบัติหรือรายได้
 
11. จองซื้ออย่างไร? (หุ้นกู้แบบเสนอขายต่อประชาชนทั่วไป)
 
หากสนใจหุ้นกู้ตัวไหน สามารถขอจองและซื้อได้ที่ธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายของหุ้นกู้ตัวนั้นได้เลยค่ะ โดยเราควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุนจาก Factsheet หรือหนังสือชี้ชวนก่อนทุกครั้ง 
 
ขั้นตอนการจองซื้อหุ้นกู้
  1. ดูว่าใครเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่าย
  2. ให้ติดต่อที่สาขาของธนาคาร หรือที่ทำการของสถาบันการเงินที่เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายได้เลย โดยควรติดต่อแต่เนิ่นๆ ก่อนถึงวันเปิดจองซื้อ เพราะหุ้นกู้บางตัวเมื่อเปิดวันจองซื้อวันแรกปุ๊บ ก็อาจขายหมดเลยตั้งแต่วันแรกนั้น โดยให้แจ้งความจำนงกับเจ้าหน้าที่ว่าเราจะจองซื้อเท่าไหร่
  3. หากมีโควตาเพียงพอ (ซึ่งแต่ละสาขาธนาคารอาจมีโควตาไม่เท่ากัน) ทางธนาคาร หรือสถาบันการเงินนั้นจะ Book จำนวนที่เราจองซื้อในชื่อเราให้เลยในวันนั้น เช่น ขอจองซื้อ 100,000 บาท
  4. เมื่อถึงวันจองให้เรากลับไปที่สาขาของธนาคาร หรือสถาบันการเงินนั้นๆ เพื่อกรอก และเซ็น "ใบจองซื้อ" พร้อมกับนำเงินสด หรือเช็คจำนวน 100,000 บาทมาชำระค่าหุ้นกู้ตามจำนวนที่เราจองนั้น 
  5. หลังจากนั้น ให้เรารอประมาณ 1-2 เดือน เราจะได้ใบหุ้นกู้ (ในกรณีขอเป็นใบหุ้นกู้) หรือเอกสารยืนยันจากศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ว่าหุ้นกู้เราได้ฝากเข้าไปที่บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัดแล้ว (ในกรณีขอเป็น Scriptless)
12. ใครเป็นใครในหุ้นกู้?
 
เวลาเราอ่านเอกสารหรือหนังสือชี้ชวนซื้อหุ้นกู้ เราจะเจอคำพวกนี้บ่อยค่ะ "ผู้จัดการการจัดจำหน่าย", "ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้", "นายทะเบียน" คนพวกนี้เกี่ยวข้องอะไรในหุ้นกู้? ทำไมถึงต้องมี? สำหรับคนที่กำลังสงสัย เรามาดูคำตอบไปพร้อมกันเลยค่ะ
  1. "ผู้จัดการการจัดจำหน่าย" (Underwriter) เป็นคนที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำเนินการเรื่องการขายหุ้นกู้ให้แก่นักลงทุน (ซึ่งในทางปฏิบัติมักเป็นรายเดียวกับ "ที่ปรึกษาทางการเงิน" ในการออกหุ้นกู้ด้วย) หน้าที่หลักๆ คือทำยังไงก็ได้ให้หุ้นกู้มีคนซื้อไปให้หมด มีได้หลายรูปแบบ เช่น Firm Commitment (ขายไม่หมด ผมซื้อเอง) Best Effort (ผมจะทำดีที่สุด แต่ถ้าขายไม่หมด ผมไม่รับซื้อนะ)
  2. "นายทะเบียนหุ้นกู้" (Registrar) หน้าที่หลักๆ คือ ดูแลฐานข้อมูลทะเบียนผู้ถือหุ้นกู้ ตั้งแต่วันที่ออกหุ้นกู้ไปจนถึงวันครบกำหนดไถ่ถอน งานทะเบียนเหล่านี้ครอบคลุมถึงการแจ้งและจัดทำทะเบียนผู้รับสิทธิประโยชน์ การปิดสมุดทะเบียนเพื่อผลประโยชน์ทางด้านเงินปันผล บริการโอนเปลี่ยนมือ ผู้ถือหุ้นกู้ หรือเปลี่ยนแปลงชื่อที่อยู่ เป็นต้น
  3. "ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้" (Bondholder Representative) ก.ล.ต. กำหนดให้หุ้นกู้ที่เสนอขายต่อประชาชนทั่วไปทุกประเภทจะต้องมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ซึ่งหน้าที่หลักคือเป็นผู้แทนของผู้ถือหุ้นกู้ทุกคนในการดำเนินการใดๆ กับผู้ออกหุ้นกู้ หน้าที่ก็เช่น จัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ ดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหายเอากับผู้ออกหุ้นกู้ ดูแลหลักประกันของหุ้นกู้ในกรณีหุ้นกู้มีประกัน เป็นต้น

สุดท้ายนี้ หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกท่านที่สนใจหุ้นกู้นะคะ แต่ขอเสริมนิดนึงค่ะว่า การเสนอขายหุ้นกู้จากบริษัทเอกชนเหล่านี้ แม้จะได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. แล้ว แต่ก็ไม่ได้เป็นการรับประกันว่าหุ้นกู้นั้นจะไม่มีปัญหานะคะ ซึ่งหากเกิดปัญหาหรือได้รับความไม่เป็นธรรมจากการลงทุน เราก็มีช่องทางขอความช่วยเหลือได้จาก ก.ล.ต. โดยร้องเรียนได้ที่ SEC Help Center โทร. 0-2263-6000 ค่ะ ก่อนจะจบบทความนี้ ขอให้เพื่อนๆ นักลงทุนทั้งหลายจำไว้เสมอนะคะว่า "การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลในหนังสือชี้ชวนก่อนการตัดสินใจลงทุน" ทุกครั้งนะคะsmiley
แท็กที่เกี่ยวข้อง หุ้นกู้ กองทุน ตราสารหนี้ ลงทุน หุ้น นักลงทุน ผู้ลงทุนทั่วไป ผู้จัดการกองทุน ตราสารหนี้ออกใหม่ ลงทุนหุ้นกู้
Money Guru
เขียนโดย เช็คราคา.คอม Money Guru

พูดคุยกับกูรูได้ที่




เว็บไซต์นี้มีการเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์ และช่วยให้เราปรับปรุง และนำเสนอเนื้อหาตรงตามความสนใจของท่าน ท่านสามารถดู Privacy Notice และ ดู Cookies Policy ของเราได้ ที่นี่ ทั้งนี้ ท่านจะยินยอมให้เราเก็บคุกกี้ทั้งหมด หรือให้เก็บแค่บางส่วนโดยการคลิกเลือก ตั้งค่า

ท่านสามารถเลือกให้ความยินยอมการเก็บคุกกี้เป็นเรื่องๆ ได้ที่นี่

เมื่อคุณเข้าชมเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่น checkraka เราอาจจัดเก็บ หรือดึงข้อมูลจากเบราว์เซอร์ของคุณในรูปแบบของคุกกี้ และเทคโนโลยีอื่นที่คล้ายคลึง เช่น tag และ pixel (เรียกรวมกันว่า “คุกกี้”) ซึ่งมักเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้โดยตรง แต่ช่วยให้คุณใช้งานเว็บไซต์ได้ปลอดภัย และตรงตามความต้องการมากขึ้น คุณอาจไม่ยินยอมให้เราเก็บคุกกี้บางประเภทได้ โดยการคลิกตามหัวข้อข้างล่างนี้

ประเภทคุกกี้
อ่านเพิ่มเติม ที่นี่
ยินยอม / ไม่ยินยอม
คุกกี้ที่จำเป็นต้องมีเสมอ
(Strictly Necessary)
คุกกี้สำหรับการใช้งานเว็บไซต์
(Functionality)
คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและวิเคราะห์
(Performance & Analytics)
คุกกี้เพื่อการตลาด
(Marketing)