บัตรเดบิต (DEBIT CARD) ทำหรือไม่ทำดี? 12 เรื่องควรรู้ถ้าจะถือบัตรเดบิต

icon 8 ก.พ. 61 icon 275,853
บัตรเดบิต (DEBIT CARD) ทำหรือไม่ทำดี? 12 เรื่องควรรู้ถ้าจะถือบัตรเดบิต

บัตรเดบิต (DEBIT CARD) ทำหรือไม่ทำดี? 12 เรื่องควรรู้ถ้าจะถือบัตรเดบิต

"สนใจทำบัตรเดบิตไปด้วยไหมคะ?"... เสียงจากพนักงานธนาคารเชิญชวนให้ลูกค้าสมัครบัตรประเภทหนึ่ง พร้อมการเปิดบัญชีเงินฝาก ทั้งที่บางทีเราคิดว่าแค่บัตรเอทีเอ็มก็พอแล้วสำหรับใช้กดเงินที่ตู้ แต่ทำไมพนักงานถึงคะยั้นคะยอให้เราทำบัตรอีกแบบหนึ่งที่ไม่ใช่บัตรเอทีเอ็มจัง? บัตรเดบิตดียังไง? แล้วถ้าตัดสินใจจะทำ มีอะไรที่เราควรรู้ก่อนทำบ้าง

1. ต่างจากบัตรเอทีเอ็ม (ATM Card) แค่ไหน?

ทั้งบัตรเดบิตและบัตรเอทีเอ็มเป็นบัตรพลาสติกที่มีรูปร่างเหมือนกัน ใช้ทำธุรกรรมฝาก ถอน โอน ชำระค่าสินค้าและบริการต่างๆ ผ่านตู้เอทีเอ็มได้เหมือนกัน และค่าธรรมเนียมเดี๋ยวนี้ก็แทบจะเท่ากันเกือบทุกธนาคาร แต่บัตรเดบิตยังมีข้อแตกต่างจากบัตรเอทีเอ็มในเรื่องของการใช้งานบางอย่าง ในเรื่องดังต่อไปนี้ดังนี้ค่ะ
  • บัตรเดบิตสามารถใช้รูดซื้อสินค้าตามห้างสรรพสินค้าหรือร้านค้าต่างๆ ได้ ในขณะที่บัตรเอทีเอ็มทำไม่ได้ แต่ก่อนจะเข้าไปใช้บริการ ต้องสอบถามพนักงานก่อนนะคะ ว่ารับชำระด้วยบัตรเดบิตได้ไหม?
  • บัตรเดบิตสามารถพกพาไปใช้ที่ต่างประเทศได้ ไม่ว่าจะกดเงินสดหรือรูดซื้อสินค้า แต่ในขณะที่บัตรเอทีเอ็มทำได้เพียงแค่กดเงินสดที่ตู้ภายในประเทศเท่านั้น
  • ด้วยคุณสมบัติที่สามารถรูดซื้อสินค้าได้ กรณีที่บัตรหาย ต้องระวังบัตรเดบิตมากกว่าเพราะถ้ามีมือดีนำบัตรไปรูดใช้ เราก็อาจจะสูญเสียเงินได้โดยไม่รู้ตัว เพราะโดยลักษณะบัตรเดบิต หากมีการรูดปุ๊บ เงินจะโดนตัดในบัญชีที่ link กับบัตรเดบิตนี้ทันที
ดูภาพตัวอย่างบัตรเอทีเอ็ม (ATM) กับบัตรเดบิต (DEBIT)

2. ถ้ามีบัตรเครดิตอยู่แล้ว มีบัตรเดบิตด้วยดีไหม?

คำตอบคือ "อาจจะดีหรือไม่ดี" ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของการใช้งานของแต่ละคน บางคนอาจจะสะดวกใช้บัตรเดบิต บางคนอาจสะดวกใช้บัตรเครดิต โดยเราสามารถใช้บัตรเดบิตรูดซื้อสินค้าได้เหมือนกับบัตรเครดิต แต่การทำงานของบัตรเดบิตคือทุกครั้งที่เรารูด จะตัดเงินจากบัญชีเงินฝากทันที ในขณะที่บัตรเครดิตเป็นการนำวงเงินในอนาคตมาใช้ก่อนแล้วค่อยผ่อนจ่ายทีหลัง ซึ่งถ้าหากใครกังวลว่ารูดบัตรเดบิตแล้วจะเป็นหนี้ บอกได้เลยว่า บัตรเดบิตไม่ทำให้เกิดปัญหานี้แน่นอน

3. บัตรเดบิตใช้ผ่อนสินค้าได้ไหม?

คำตอบคือ "ไม่ได้" แม้ว่าบัตรเดบิตจะใช้รูดซื้อสินค้าได้เหมือนบัตรเครดิต แต่ไม่สามารถทำการซื้อสินค้าแบบผ่อนชำระได้ เพราะบัตรเดบิตนั้นถูกออกแบบมาเพื่อชำระสินค้าและบริการต่างๆ แบบตัดเงินในบัญชีเลย ซึ่งหมายถึงว่าจำนวนเงินจะถูกหักจากบัญชีที่ผูกกับบัตรโดยตรงทันที ไม่สามารถทำการผ่อนชำระได้

4. บัตรเดบิตมีประโยชน์แค่ไหน?

คำตอบคือ "มีค่อนข้างมากเลย" นอกจากจะใช้ถอนเงินสดที่ตู้เอทีเอ็มและรูดซื้อสินค้าตามร้านค้าที่รับแล้ว บัตรเดบิตยังสามารถ...
  • เติมเงินโทรศัพท์มือถือ (ระบบเติมเงิน) ได้ ไม่ต้องเสียเวลาไปซื้อบัตรเติมเงินที่ร้านสะดวกซื้อ เพียงแค่ถือบัตรเดบิตเดินไปที่ตู้เอทีเอ็ม ก็สามารถเติมเงินมือถือได้ง่ายๆ เลย
  • บัตรของบางธนาคารสามารถนำไปใช้แทนเงินสด เพื่อซื้อของได้ที่ 7 - 11 ตลอด 24 ชั่วโมง เช่น บัตร K-Debit 7 Purse จากธนาคารกสิกรไทย

  • บางธนาคารมีสิทธิได้รับส่วนลดจากร้านอาหารหรือส่วนลดตั๋วหนังจากโรงภาพยนตร์หรือเงินคืนเข้าบัญชีจากการใช้จ่ายผ่านบัตร ตัวอย่างเช่น
    - บัตรเดบิต No Annual Fee ธนาคารกรุงศรีฯ ให้บัตรชมภาพยนตร์ฟรี 1 ใบ เมื่อซื้อบัตรชมภาพยนตร์ทุกวันจันทร์ หรือสามารถอัพเกรดที่นั่งได้ทุกวัน และยังได้รับส่วนลดจากร้านอาหารที่ร่วมรายการอีกด้วย
    - บัตรเดบิตแคชแบ็ก ธนาคารธนชาต ที่จะได้รับเงินคืนเข้าบัญชีเงินฝาก 0.75% ทุกยอดการใช้จ่ายผ่านบัตร
    - บัตรยูเนี่ยนเพย์ เดบิต ธนาคารกรุงไทย ทุกๆ การใช้จ่าย 25 บาท รับคะแนนสะสมเพื่อนำไปแลกรับสินค้าหรือบริการต่างๆ มากมาย เป็นต้น
    
  • บางธนาคารให้สิทธิ์ประกันอุบัติเหตุหรือประกันชีวิตจากอุบัติเหตุ ตัวอย่างเช่น
    - บัตรกรุงศรี เดบิต OPD ธนาคารกรุงศรีฯ ที่ให้ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก 1,000 บาท/ครั้ง/วัน และค่ารักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุ 5,000 บาท/ครั้ง ไม่จำกัดจำนวนครั้ง โดยไม่ต้องสำรองเงินจ่ายเมื่อเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลคู่สัญญา 300 กว่าแห่งทั่วประเทศ
    - บัตรเดบิตชัวร์ ธนาคารธนชาต เบิกค่ารักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุได้สูงสุด 5,000 บาท/ครั้ง ไม่จำกัดจำนวนครั้ง พร้อมวงเงินคุ้มครองจากอุบัติเหตุสูงสุด 100,000 บาท
    - บัตรซูเปอร์ เดบิต พลัส ธนาคารไทยพาณิชย์ ให้ค่ารักษาพยาบาล 10,000 บาท/ครั้ง ไม่จำกัดจำนวนครั้งและเมื่อเจ็บจากอุบัติเหตุหรือนอนโรงพยาบาล มีเงินชดเชยรายได้สูงสุด 180,000 บาท หรือพิการชดเชยสูงสุด 120,000 บาท เป็นต้น
    

5. ใช้บัตรเดบิตซื้อ App ในโทรศัพท์มือถือได้หรือไม่?

คำตอบคือ "ได้สำหรับบางธนาคาร" เมื่อก่อนถ้าอยากได้สติกเกอร์ไลน์ ต้องไปซื้อผ่านคนที่มีบัตรเครดิต แต่เดี๋ยวนี้บางธนาคาร เช่น ธนาคารกรุงเทพ และ ธนาคารกสิกรไทย ตอบโจทย์ที่เราต้องการได้เลย คือเวลาซื้อ App ต่างๆ บนมือถือผ่านบัตรเดบิต เพียงแค่มีบัตรและทำการเปิดบริการ Verified by Visa ก็สามารถทำการซื้อ App ได้ง่ายๆ ทั้งระบบ iOS และ Android

6. ใช้บัตรเดบิตที่ต่างประเทศได้หรือไม่?

คำตอบคือ "ได้" ไม่ว่าจะเป็นการกดเงินสดหรือรูดซื้อสินค้า ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในข้อดีที่เหนือกว่าบัตร ATM โดยที่หลังบัตรเดบิตต้องมีเครื่องหมาย "PLUS" หรือ "CIRRUS" แต่ก็ต้องระวังเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน และค่าธรรมเนียมดีๆ เพราะมีการชาร์จเพิ่มแน่นอน แต่คาดว่าอัตราแลกเปลี่ยนน่าจะถูกกว่าการแลกเงินกับธนาคารนั้นๆ ในเมืองไทยเป็นสกุลต่างๆ ก่อนนำไปใช้ที่ต่างประเทศ สิ่งสำคัญในการใช้บัตรที่ต่างประเทศอีกอย่างหนึ่งก็คือ การใช้จ่ายยอดเงินสูงๆ บางธนาคารอาจมีการโทรไปหาเจ้าของบัตรเพื่อทำการยืนยันว่าเจ้าตัวใช้บัตรเองจริงหรือเปล่า หากติดต่อไม่ได้ก็จะทำการอายัดบัตรทันที เพื่อช่วยเรื่องของความปลอดภัยของบัตร ซึ่งถ้าหากเกิดการอายัดบัตรแล้ว จะต้องกลับมาดำเนินการยกเลิกอายัดที่ประเทศไทย 
          

7. ใช้บัตรเดบิตจองตั๋วเครื่องบินได้ไหม?

คำตอบคือ "ได้สำหรับบัตรเดบิตบางธนาคาร" เช่น ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นต้น ซึ่งจะขอยกตัวอย่างวิธีการจองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ของธนาคารกรุงเทพ มาให้ดูกันค่ะ
  1. ขั้นตอนแรก ต้องมีบัตรเดบิตของธนาคารกรุงเทพก่อน โดยการเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ พร้อมสมัครบัตรเดบิตในที่นี้จะขอยกตัวอย่างการจองของสายการบิน Bangkok Airways และจะต้องมี Bualuang iBanking ด้วยนะ
  2. ต้องทำการสมัครใช้บริการ Verified by Visa โดยการโทรไปที่ 1333 หรือ 02-645-5555
  3. เข้าไปที่หน้าเว็บ เลือกวัน-เวลา การเดินทาง แล้วกรอกข้อมูลส่วนตัว ชื่อ-นามสกุล, วัน เดือน ปี เกิด และเพศ
  4. ใส่ข้อมูลการติดต่อ เบอร์โทรศัพท์และอีเมลที่สามารถติดต่อได้
  5. ใส่ข้อมูลในส่วนของการเลือกชำระเงิน ซึ่งบัตรเดบิตของ ธ. กรุงเทพนั้น ต้องเลือกประเภทเป็น Visa
  6. ใส่รายละเอียดการชำระเงิน เช่น หมายเลขบัตร, ชื่อ-นามสกุลบนบัตร, วันหมดอายุของบัตร และรหัส 3 ตัวหลังบัตร และที่อยู่ผู้ถือบัตร
  7. เมื่อทำการ Verified by Visa เรียบร้อยแล้ว จะถึงขั้นตอนการยืนยันข้อมูล (Confirmation Page) เป็นอันเสร็จเรียบร้อยสำหรับการจองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ผ่านบัตรเดบิตค่ะ

8. สถานที่เสี่ยงที่ไม่ควรใช้บัตรเดบิต?

  • มีอยู่บางสถานที่ ที่ไม่แนะนำให้นำบัตรเดบิตไปใช้ เช่น ปั๊มน้ำมัน สถานบันเทิงที่ค่อนข้างมืด เป็นต้น เพราะเราไม่สามารถมองเห็นการทำรายการของพนักงานได้ ฉะนั้นหากต้องการใช้บัตรเดบิตเพื่อรูดซื้อของหรือจ่ายสินค้าใดๆ ควรใช้ในที่ที่เรามองเห็นการทำรายการได้ในระยะสายตาตลอดเวลา เพื่อป้องกันพนักงานนำบัตรไปใช้รูดกับเครื่อง Skimmer หรือเพื่อป้องกันการรูดทำรายการซ้ำซึ่งเงินเราจะโดนตัดไปเลย
  • ไม่ควรไปกดที่ตู้เอทีเอ็มที่ตั้งในที่ลับตาคน เพราะอาจมีกลุ่มมิจฉาชีพนำเครื่อง Skimmer ไปติดตั้งเพื่อขโมยข้อมูลจากบัตรได้ จึงควรเลือกใช้ตู้ที่อยู่ใสถานที่โล่ง มีระบบรักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง หรือมีผู้คนสัญจรไปมาตลอดเวลา เป็นต้น
     

9. อันตรายไหมหากบัตรเดบิตหาย?

คำตอบคือ "อันตรายแน่นอน" เพราะถ้าหากมีผู้นำบัตรไปรูดซื้อสินค้าหรือบริการ เงินของคุณก็จะถูกตัดออกจากบัญชีที่ผูกกับบัตรทันที และบางครั้งการใช้บัตรเดบิตรูดที่ร้านค้า เจ้าหน้าที่ที่ขายของบางคนอาจไม่ได้ตรวจดูลายเซ็นหลังบัตรอย่างละเอียด ดังนั้นหากเกิดกรณีบัตรหาย ควรรีบโทรแจ้งธนาคารเจ้าของบัตรเพื่อทำการอายัดบัตรนั้นโดยเร็วที่สุด

10. ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย?

มีข้อแนะนำ 5 ข้อ ดังนี้ค่ะ
  • เราสามารถกำหนดวงเงินการใช้จ่ายในแต่ละวันได้โดยกำหนดที่ตู้ ATM เพื่อป้องกันการใช้จ่ายเกินกำหนด หากต้องการเพิ่มหรือลดจำนวนเงินก็สามารถเปลี่ยนแปลงวงเงินได้ตลอดเวลา แต่ต้องอยู่ภายในวงเงินที่ธนาคารกำหนดให้ถอนได้ต่อวันด้วย
  • ไม่จดรหัสบัตรไว้ที่ตัวบัตร และหมั่นเปลี่ยนรหัสบัตรบ่อยๆ เพื่อป้องกันบุคคลใกล้ชิดคาดเดาหรือจดจำรหัสบัตร และนำบัตรไปใช้ให้เกิดความเสียหาย
  • ควรเซ็นลายเซ็นไว้บนหลังบัตร เพราะไม่งั้นหากใครได้บัตรไป แล้วก็เซ็นลายเซ็นของเขาลงไป และนำไปรูดกับร้านค้าต่างๆได้อย่างสบาย
  • สมัครบริการข้อความแจ้งเตือนเงินเข้า - เงินออก เพื่อแจ้งเตือนทุกรายการที่มีการใช้จ่ายผ่านบัญชี
  • ทุกครั้งที่มีการรูดซื้อสินค้า ควรตรวจสอบยอดเงินที่ปรากฏในสลิปทำรายการด้วยว่าตรงกับการใช้จ่ายจริงหรือไม่

11. ค่าธรรมเนียมแพงไหม?

บัตรเดบิตมีค่าธรรมเนียมเหมือนกับบัตรเอทีเอ็มทั่วไป คือมีทั้งค่าธรรมเนียมแรกเข้า ค่าธรรมเนียมการทำบัตรใหม่ และค่าธรรมเนียมรายปี บัตรเดบิตธรรมดาบางธนาคารจะมีค่าธรรมเนียมรายปีเท่ากับบัตรเอทีเอ็มธรรมดา โดยเฉลี่ยแล้วไม่เกินปีละ 300 บาท แต่บัตรเดบิตที่มีประกันอุบัติเหตุจะมีค่าธรรมเนียมรายปีสูงกว่า เช่น
  • บัตรกรุงศรี เดบิต OPD ธนาคารกรุงศรีฯ เสียค่าธรรมเนียมรายปี 3,999 บาท/ปี
  • บัตรเดบิต พลัส ธนาคารไทยพาณิชย์ เสียค่าธรรมเนียมรายปี 599 บาท/ปี
  • บัตรเดบิตชัวร์ ธนาคารธนชาต เสียค่าธรรมเนียมรายปี 549 บาท/ปี
โดยที่ค่าธรรมเนียมแรกเข้าและค่าธรรมเนียมรายปี ปีแรกจะต้องจ่ายทันทีเมื่อทำการสมัครบัตรเดบิตนั้นๆ และปีต่อมาจะหักค่าธรรมเนียมรายปีจากบัญชีที่ผูกกับบัตรอัตโนมัติ จึงต้องมีการสำรองเงินไว้ในบัญชีตลอดเพื่อให้เพียงพอต่อการจ่ายค่าธรรมเนียมบัตรด้วย

12. ตัวอย่างร้านค้าหรือห้างสรรพสินค้าที่ใช้บัตรเดบิตรูดได้เลย

ในเมืองไทยเราเริ่มมีร้านค้าที่รับบัตรเดบิตกันมากขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างเช่น
  • ห้างสรรพสินค้า เช่น Central, Big-C และ The Mall เป็นต้น
  • ร้านหนังสือ เช่น B2S, SE-ED Book และร้านนายอินทร์ เป็นต้น
  • ร้าน Personal Care เช่น Boots และ Watson เป็นต้น
  • โรงพยาบาลบางแห่งในประเทศไทย
  • ร้านค้าออนไลน์ เช่น LAZADA เป็นต้น
แต่ทั้งนี้ ก่อนเข้าไปใช้บริการในสถานที่ที่กล่าวมาข้างต้น ต้องสอบถามเจ้าหน้าที่ว่ารับชำระด้วยบัตรเดบิตหรือไม่? และมีการกำหนดเงื่อนไขจำนวนเงินขั้นต่ำที่จะรูดได้หรือไม่ เพื่อความแน่ใจก่อนนะคะ
จะเห็นว่าในปัจุบันธนาคารนั้นผลักดันให้มีการใช้บัตรเดบิตแทนบัตรเอทีเอ็มกันมากขึ้น สังเกตได้จาก ค่าธรรมเนียมรายปีที่เท่ากันระหว่างทั้งสองบัตรนี้ และในเมื่อค่าธรรมเนียมเท่ากัน แต่สิทธิประโยชน์กลับต่างกันอย่างเห็นได้ชัดขนาดนี้
ถ้าเป็นคุณ... จะเลือกอะไร?
แท็กที่เกี่ยวข้อง บัตรเดบิต debit card
Money Guru
เขียนโดย เช็คราคา.คอม Money Guru

พูดคุยกับกูรูได้ที่



เว็บไซต์นี้มีการเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์ และช่วยให้เราปรับปรุง และนำเสนอเนื้อหาตรงตามความสนใจของท่าน ท่านสามารถดู Privacy Notice และ ดู Cookies Policy ของเราได้ ที่นี่ ทั้งนี้ ท่านจะยินยอมให้เราเก็บคุกกี้ทั้งหมด หรือให้เก็บแค่บางส่วนโดยการคลิกเลือก ตั้งค่า

ท่านสามารถเลือกให้ความยินยอมการเก็บคุกกี้เป็นเรื่องๆ ได้ที่นี่

เมื่อคุณเข้าชมเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่น checkraka เราอาจจัดเก็บ หรือดึงข้อมูลจากเบราว์เซอร์ของคุณในรูปแบบของคุกกี้ และเทคโนโลยีอื่นที่คล้ายคลึง เช่น tag และ pixel (เรียกรวมกันว่า “คุกกี้”) ซึ่งมักเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้โดยตรง แต่ช่วยให้คุณใช้งานเว็บไซต์ได้ปลอดภัย และตรงตามความต้องการมากขึ้น คุณอาจไม่ยินยอมให้เราเก็บคุกกี้บางประเภทได้ โดยการคลิกตามหัวข้อข้างล่างนี้

ประเภทคุกกี้
อ่านเพิ่มเติม ที่นี่
ยินยอม / ไม่ยินยอม
คุกกี้ที่จำเป็นต้องมีเสมอ
(Strictly Necessary)
คุกกี้สำหรับการใช้งานเว็บไซต์
(Functionality)
คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและวิเคราะห์
(Performance & Analytics)
คุกกี้เพื่อการตลาด
(Marketing)