10 เรื่องควรรู้ก่อนลงทุนใน EGATIF (กองทุนอินฟราอีแกตโรงไฟฟ้าพระนครเหนือชุดที่ 1)

icon 18 มิ.ย. 58 icon 57,640
10 เรื่องควรรู้ก่อนลงทุนใน EGATIF (กองทุนอินฟราอีแกตโรงไฟฟ้าพระนครเหนือชุดที่ 1)

10 เรื่องควรรู้ก่อนลงทุนใน EGATIF (กองทุนอินฟราอีแกตโรงไฟฟ้าพระนครเหนือชุดที่ 1)

วันที่ 22-26 มิ.ย. 58 ที่จะถึงนี้ จะมีการเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าจองซื้อ "กองทุนรวมอินฟราอีแกต (EGAT Infrastructure Fund)" หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ "กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้าพระนครเหนือชุดที่ 1 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย" ซึ่งจะเป็นกองทุนรวมประเภท Infrastructure Fund ของรัฐวิสาหกิจกองแรกของประเทศ เราได้ยินมาว่ามีคนสนใจลงทุนกันไม่น้อยทีเดียว วันนี้ Checkraka จึงได้ศึกษาหนังสือชี้ชวน และทำบทสรุปกองทุนให้พวกเราที่สนใจได้ลองอ่านกันก่อนตัดสินใจลงทุนครับ

1.  โครงสร้างกองทุน EGATIF เป็นยังไง?

โดยปกติ รายได้จากการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพระนครเหนือชุดที่ 1 ของ กฟผ. จะแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ (ก) รายได้ค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า (Availability Payment) และ (ข) รายได้ค่าพลังงานไฟฟ้า (Energy Payment) ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นรายได้ต่อเนื่องของ กฟผ. นับจากปัจจุบันไปในอนาคตเรื่อยๆ ตราบใดที่โรงไฟฟ้าพระนครเหนือยังเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้ตามปกติ วิธีการ Structure กองทุนนี้ขึ้นมาก็คือ กฟผ. จะเข้าทำสัญญากับกองทุน EGATIF ว่า กองทุนจะต้องระดมเงินทุนจำนวนหนึ่งมาให้แก่ กฟผ. และเพื่อเป็นการตอบแทน ทาง กฟผ. ก็จะโอนสิทธิการรับรายได้ค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า (ไม่รวม Energy Payment) ของ กฟผ. ให้แก่กองทุน ซึ่งรายได้ในอนาคตเหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งของผลตอบแทนที่ผู้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนนี้จะได้รับ ทั้งนี้ กฟผ. จะไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์โรงไฟฟ้าให้แก่กองทุน แต่ กฟผ. จะร่วมถือหน่วยลงทุนด้วยประมาณ 25% (อย่างน้อย 5 ปีร่วมกับผู้ถือหน่วยลงทุนทุกราย) และจะยังคงเป็นผู้บริหารโรงไฟฟ้านี้ต่อไปตามเดิม โดยกองทุนจะมี บลจ. กรุงไทย (มหาชน) เป็นบริษัทจัดการ และผู้ถือหน่วยลงทุนจะมี บมจ. ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ให้ 

2.  ขนาดกองทุนใหญ่แค่ไหน?

ขนาด หรือจำนวนเงินทุนของกองทุน EGATIF จะมีการสรุปสุดท้ายเมื่อมีการเข้าจองซื้อ จัดสรร และจดทะเบียนจัดตั้งกองทุนกับ กลต. ครบถ้วนหมดแล้ว โดยตามข้อมูลในหนังสือชี้ชวนล่าสุด (5 มิ.ย. 58) ขนาดกองทุนที่คาดการณ์ไว้จะเป็นประมาณ 20,025 - 20,855 ล้านบาท บนข้อสันนิษฐานที่ว่า ราคาเสนอขายหน่วยลงทุนเบื้องต้นคือ 10 บาท และจำนวนหน่วยลงทุนที่คาดว่าจะจำหน่ายคือ จำนวนระหว่าง 2,002,500,000 - 2,085,500,000 หน่วย

3.  ผลตอบแทนรูปแบบไหน & เท่าไหร่?

ผลตอบแทนที่ผู้ถือลงทุนในหน่วยลงทุนจะได้รับมี 2 แบบ คือ (ก) เงินปันผล และ (ข) การคืนเงินลงทุนให้ผู้ถือหน่วยลงทุนด้วยการลดทุน โดยในกรณีของเงินปันผล กองทุนมีนโยบายจ่ายเงินปันผลอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ในอัตราไม่น้อยกว่า 90% ของกำไรสุทธิที่ปรับปรุงแล้ว ในกรณีของการคืนเงินลงทุน กองทุนมีนโยบายที่จะคืนสภาพคล่องส่วนเกินเกินกว่าที่กองทุนมีความจำเป็นต้องใช้ด้วยการลดทุน ซึ่งอาจทำโดยลดมูลค่าหน่วยลงทุน หรือลดจำนวนหน่วยลงทุน และจะเฉลี่ยเงินคืนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนทุกๆ คนตามสัดส่วน สำหรับจำนวนผลตอบแทน EGATIF นั้น จะไม่สามารถกำหนดเป็นตายตัว ณ วันนี้ได้ เพราะเป็นรายได้ในอนาคต 20 ปีที่ยังไม่เกิดขึ้น และขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างในอนาคต เช่น ประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้า การบำรุงรักษา และการเกิดขึ้นของเหตุการณ์ในอนาคตอื่นๆ ที่อาจมีผลกระทบกับโรงไฟฟ้าพระนครเหนือชุดที่ 1 อนึ่ง ในหนังสือชี้ชวนนั้น ได้มีการคาดการณ์ผลตอบแทนสำหรับผู้ถือหน่วยลงทุนสำหรับ 12 เดือนข้างหน้าไว้ดังนี้ 

ตัวอย่าง การคำนวณอัตราส่วนแบ่งปันส่วนของกองทุนรวมฯ บนประมาณการรายได้ 12 เดือนในอนาคตของกองทุนรวมฯ (ตามที่ระบุในหนังสือชี้ชวนฉบับล่าสุด (5 มิ.ย. 58))

หมายเหตุ : การประมาณการเงินคืนทุนเฉลี่ยต่อปีอาจมีความแตกต่างโดยขึ้นอยู่กับมูลค่าการเข้าลงทุนในวันที่กองทุนรวมฯ
เข้าลงทุนสำเร็จ และผลการดำเนินงานจริงของโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 1 

4.  ทรัพย์สินกองทุน EGATIF คืออะไร?

กองทุนรวมตัวนี้จะไม่ได้มีการกระจายการลงทุนในหลายๆ ทรัพย์สิน แต่จะลงทุนในทรัพย์สินเพียงชิ้นเดียวเท่านั้น คือโรงไฟฟ้าพระนครเหนือชุดที่ 1 ของ กฟผ. ซึ่งหมายความว่า รายได้ของกองทุนจะมีมาจากแหล่งเดียวเท่านั้นคือ "รายได้ค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า (Availability Payment) ของโรงไฟฟ้าพระนครเหนือชุดที่ 1" โดยโรงไฟฟ้านี้มีกำลังผลิตไฟฟ้าติดตั้ง (Gross Capacity) 723.4 MW กำลังผลิตไฟฟ้าสุทธิ (Net Capacity) ที่ 704.0 MW และกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัญญา 670.0 MW โดยโรงไฟฟ้านี้มีจุดเด่นหลายอย่างเหมาะสำหรับการลงทุนโดยกองทุนรวม เช่น ยังค่อนข้างใหม่เริ่ม Commercial Operation Date (COD) เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2553 เป็นโรงไฟฟ้าที่มี Heat Rate ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม มี Availability Factor สูง (ปี 56 อยู่ที่ 91.83%) มี Unplanned Outage Factor ต่ำ (ปี 56 อยู่ที่ 0.81%) และที่สำคัญตั้งอยู่ใกล้ย่านชุมชน คือ ถนนจรัญสนิทวงศ์ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี (ลดความสูญเสียในระบบสายส่งไฟฟ้า) จึงทำให้ถูกจัดลำดับให้เป็นโรงไฟฟ้าที่ต้องผลิตไฟฟ้าส่งเข้าระบบเป็นลำดับแรกๆ 
โครงสร้างโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 1 ในปัจจุบัน

5.  ขายหน่วยลงทุนคืน หรือขายต่อได้ไหม?

เนื่องจากกองทุน EGATIF นี้เป็นกองทุนปิด (Closed-end Fund) ซึ่งหมายถึงว่า การเปิดให้จองซื้อหน่วยลงทุนจะมีเพียงครั้งเดียวเท่านั้น และเมื่อจองซื้อไปแล้ว ผู้ถือหน่วยลงทุนจะไม่สามารถขายคืนให้แก่บริษัทจัดการได้ ดังนั้น ผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนนี้จึงไม่สามารถขายคืนหน่วยลงทุนให้แก่บริษัทจัดการได้เหมือนกองทุนเปิดอื่นๆ ทั่วไป อย่างไรก็ดี เนื่องจากกองทุนนี้จะมีการ List ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดังนั้น ผู้ถือหน่วยลงทุนจึงสามารถขายหน่วยลงทุนของกองทุนนี้ได้ผ่านกระบวนการในตลาดหลักทรัพย์ อย่างไรก็ดี เนื่องจากตลาดกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานในบ้านเรานั้นยังค่อนข้างใหม่ จึงยังไม่ชัดเจนว่า หน่วยลงทุนนี้จะมีสภาพคล่องแค่ไหนในตลาดหลักทรัพย์บ้านเรา

6.  ผลการดำเนินการของกองทุนจะขึ้นอยู่กับอะไร?

ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างซึ่งหากเกิดขึ้น จะมีผลกระทบต่อรายได้ของกองทุน หรือมูลค่าทรัพย์สินของกองทุน หลักๆ คือ 
(ก)   ความเสี่ยงเกี่ยวกับตัวโรงไฟฟ้าพระนครเหนือชุดที่ 1 เอง หรือการบริหารโรงไฟฟ้านี้ เช่น เกิดความเสียหายทั้งหมด (Total Loss) หรือบางส่วน (Partial Loss) หรือ กฟผ. บริหารโรงไฟฟ้าไม่ได้ดีตามที่ควรจะเป็น หรือตาม Prudent Utility Practice อย่างไรก็ดี กรณีเหล่านี้ทาง กฟผ. ได้ลดความเสี่ยงโดยการทำประกันภัยไว้ 4 ประเภทแล้วคือ Industrial All risks and Machinery Breakdown Insurance, Political Violence Insurance, Public Liability Insurance และ Business Interruption Insurance
(ข)   ความเสี่ยงเกี่ยวกับ กฟผ. ไม่ปฏิบัติตามสัญญาระหว่าง กฟผ. และกองทุน EGATIF เช่น ไม่นำส่งรายได้ค่าความพร้อมจ่ายให้แก่กองทุน ซึ่งหากเกิดกรณีเช่นนี้ สัญญาจะมีการกำหนดค่าปรับที่ กฟผ. ต้องชำระ และกองทุนมีสิทธิเลิกสัญญาได้ (ค)   ความเสี่ยงอื่นๆ ตามที่ระบุในหนังสือชี้ชวน ซึ่งเราขอให้ผู้สนใจลงทุนลองติดตาม และศึกษาเพิ่มเติมครับ

7.  ผู้ลงทุนได้ประโยชน์ภาษีอะไรไหม?

ในกรณีของเงินปันผล ผู้ถือหน่วยลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดาจะได้รับยกเว้นภาษีสำหรับเงินปันผลที่ได้จากกองทุน EGATIF เป็นระยะเวลา 10 ปีนับแต่ปีที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งกองทุน (ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฏากร (ฉบับที่ 244) ลงวันที่ 9 ต.ค. 52) ส่วนในกรณีของการคืนเงินลงทุนให้ผู้ถือหน่วยลงทุนด้วยการลดทุนนั้น หนังสือชี้ชวนไม่ได้ระบุไว้ว่าจะต้องเสีย หรือได้รับยกเว้นภาษีอย่างไรหรือไม่ ดังนั้น ท่านผู้ถือหน่วยลงทุนอาจลองหารือกับที่ปรึกษาด้านภาษีที่เชียวชาญในเรื่องนี้อีกทีนะครับ

8.  มูลค่าหน่วยลงทุน EGATIF จะขึ้นหรือลง?

ในชีวิตจริงเมื่อหน่วยลงทุนของกองทุนนี้เข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้ว ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่ามูลค่าหน่วยลงทุนจะขึ้น หรือลง และในความเป็นจริง ก็มีโอกาสเป็นไปได้ทั้งขึ้น และลงขึ้นอยู่กับปัจจัยมากมาย เช่น มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม อุปสงค์และอุปทานในหน่วยลงทุนนี้ ความอ่อนแอของตลาดทุน อัตราดอกเบี้ยที่ขึ้นลง เป็นต้น อย่างไรก็ดี เนื่องด้วยเมื่อเวลาผ่านไป ระยะเวลาในการรับรายได้จากค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้าก็จะลดลงไปตามอายุของสัญญาที่ลดลง ดังนั้น มูลค่าของทรัพย์สินของกองทุนก็มีความเป็นไปได้ที่จะลดลงตามไปด้วยเช่นกัน โดยสรุปแล้วเราจึงมองว่า เมื่อพิจารณาถึงเรื่องมูลค่าของทรัพย์สินกองทุนที่น่าจะลดลง ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่า ผลตอบแทนหลักของหน่วยลงทุนนี้คือ เงินปันผล และการคืนเงินลงทุนให้ผู้ถือหน่วยลงทุนด้วยการลดทุน ไม่ใช่ผลตอบแทนในส่วนของ Capital Gain ดังนั้น หากใครคาดหวังจะให้มูลค่าหน่วยลงทุนสูงขึ้น และหวังผลตอบแทนจาก Capital Gain กองทุนนี้อาจไม่เหมาะกับคุณนะครับ

9.  ระยะเวลาการลงทุน?

ตามกำหนดเวลาในสัญญาที่เรียกว่า "สัญญาการเข้าลงทุนในรายได้ค่าความพร้อมจ่ายในอนาคตของโรงไฟฟ้าพระนครเหนือชุดที่ 1" ระหว่าง กฟผ. และ EGATIF นั้น ระยะเวลาที่กองทุน EGATIF จะรับรายได้คือ 20 ปีเริ่มต้นประมาณเดือนกรกฎาคม 2558 และสิ้นสุดประมาณเดือนกรกฎาคม 2578 ซึ่งในระหว่างเวลา 20 ปีนี้ ผู้ถือหน่วยลงทุนอาจถือยาว 20 ปี หรืออาจเลือกที่จะขายก่อนครบ 20 ปีผ่านกระบวนการในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่เมื่อครบ 20 ปีตามกำหนดเวลานี้แล้ว ยังมีความไม่แน่นอนว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับกองทุน EGATIF นี้ ซึ่งเท่าที่ดูตามหนังสือชี้ชวน มีความเป็นไปได้อยู่ 3 อย่างคือ
(ก) กฟผ. ยินยอมให้มีการขยายอายุของสัญญานี้ออกไป ซึ่งหมายถึงว่า กองทุน EGATIF ก็จะ Enjoy รายได้เหล่านี้ต่อไปอีกหลังจาก 20 ปีแรก
(ข) กฟผ. ไม่ขยายเวลาสัญญา แต่ในระหว่าง 20 ปีนั้น กองทุน EGATIF มีการได้มาซึ่งทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ซึ่งก่อให้เกิดรายได้ใหม่ๆ ให้แก่กองทุน EGATIF หรือ
(ค) กองทุน EGATIF มีการยกเลิกตามเงื่อนไขในหนังสือชี้ชวน เช่น ผู้ถือหน่วยลงทุนมีมติให้เลิก หรือกองทุนมีทุนจดทะเบียนต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท เป็นต้น 

10. กองทุนมีการค้ำประกันหรือหลักประกันหรือไม่?

กองทุน EGATIF นี้ไม่มีการค้ำประกัน หรือหลักประกันใดๆ และ กฟผ. จะไม่มีการเข้าค้ำประกันกองทุนเพื่อประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนใดๆ ทั้งสิ้น (รวมถึง กฟผ. จะไม่มีการประกันผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าพระนครเหนือชุดที่ 1 หรือการันตีจำนวนค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้าใดๆ ด้วย) แต่แม้ กฟผ. จะไม่ได้มีการค้ำประกัน หรือการันตีใดๆ แต่ กฟผ. ก็จะเข้าร่วมเป็นผู้ถือหน่วยลงทุนรายใหญ่ร่วมกับประชาชนทั่วไปด้วยเป็นจำนวน 25% ของหน่วยลงทุนทั้งหมด และกฟผ. ตกลงจะถือหน่วยลงทุนดังกล่าวเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีนับจากวันที่จดทะเบียนจัดตั้งกองทุน 
เพื่อนๆ คนไหนสนใจ และกำลังมองหาการลงทุนในรูปแบบใหม่ๆ แบบนี้ ก็ลองศึกษา และทำความเข้าใจในกองทุนนี้อย่างละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ข้อมูลหนังสือชี้ชวนและรายงานกองทุนรวม และสุดท้ายหากต้องการจะจองซื้อ ก็สามารถติดต่อ บมจ. ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่าย) โทร. 0-2777-6786 หรือ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้จัดการกองทุน โทร. 0-2686-6100 กด 9 ได้เลยนะครับ (เริ่มเปิดรับจองซื้อจากประชาชนทั่วไป ในวันที่ 22 - 26 มิถุนายน 2558 ราคาเสนอขายหน่วยละ 10 บาท จองซื้อขั้นต่ำ 5,000 หน่วย)

บทสัมภาษณ์คุณชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กองทุนกรุงไทย
(ในฐานะผู้จัดการกองทุน EGATIF) ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจฉบับวันที่ 15-17 มิ.ย. 58

บทสัมภาษณ์คุณอรรถพงศ์ พรธิติ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายวาณิชธนกิจ2 ธนาคารไทยพาณิชย์
(ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายกองทุน EGATIF) ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจฉบับวันที่ 17 มิ.ย. 58
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Money Guru
เขียนโดย เช็คราคา.คอม Money Guru

พูดคุยกับกูรูได้ที่



เว็บไซต์นี้มีการเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์ และช่วยให้เราปรับปรุง และนำเสนอเนื้อหาตรงตามความสนใจของท่าน ท่านสามารถดู Privacy Notice และ ดู Cookies Policy ของเราได้ ที่นี่ ทั้งนี้ ท่านจะยินยอมให้เราเก็บคุกกี้ทั้งหมด หรือให้เก็บแค่บางส่วนโดยการคลิกเลือก ตั้งค่า

ท่านสามารถเลือกให้ความยินยอมการเก็บคุกกี้เป็นเรื่องๆ ได้ที่นี่

เมื่อคุณเข้าชมเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่น checkraka เราอาจจัดเก็บ หรือดึงข้อมูลจากเบราว์เซอร์ของคุณในรูปแบบของคุกกี้ และเทคโนโลยีอื่นที่คล้ายคลึง เช่น tag และ pixel (เรียกรวมกันว่า “คุกกี้”) ซึ่งมักเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้โดยตรง แต่ช่วยให้คุณใช้งานเว็บไซต์ได้ปลอดภัย และตรงตามความต้องการมากขึ้น คุณอาจไม่ยินยอมให้เราเก็บคุกกี้บางประเภทได้ โดยการคลิกตามหัวข้อข้างล่างนี้

ประเภทคุกกี้
อ่านเพิ่มเติม ที่นี่
ยินยอม / ไม่ยินยอม
คุกกี้ที่จำเป็นต้องมีเสมอ
(Strictly Necessary)
คุกกี้สำหรับการใช้งานเว็บไซต์
(Functionality)
คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและวิเคราะห์
(Performance & Analytics)
คุกกี้เพื่อการตลาด
(Marketing)