รู้ทันประกัน... คุ้มครองอย่างถูกวิธี

icon 9 พ.ค. 57 icon 48,928
รู้ทันประกัน... คุ้มครองอย่างถูกวิธี

รู้ทันประกัน... คุ้มครองอย่างถูกวิธี

เมื่อพูดถึงประกัน ต้องบอกว่าปัจจุบันมุมมองความรู้สึกของคนเราที่มีประกันแตกต่างไปจากเมื่อก่อน โดยคนเริ่มให้ความสำคัญกับการทำประกันเพิ่มขึ้น เนื่องจากโรคภัยไข้เจ็บเข้ามาใกล้ตัวมากขึ้น อายุยืนยาวขึ้น แต่การจะเลือกประกันให้เหมาะกับตัวเราเป็นเรื่องสำคัญ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าประกันแบบไหนที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของเรา รวมถึงต้องมีทุนประกัน หรือมีความคุ้มครองเท่าไรจึงจะเพียงพอ
รู้จักความคุ้มครอง
ประกันนั้นมีหลากหลายรูปแบบ ซึ่งแต่ละแบบก็จะคุ้มครองแตกต่างกันไป โดยทั่วไปจะแบ่งออกได้ดังนี้
  1. ประกันชีวิต
  2. ประกันสุขภาพ
  3. ประกันทรัพย์สิน

ประกันชีวิต

โดยทั่วไปจะมีอยู่ 4 แบบด้วยกัน ดังนี้

1. ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์
มีรูปแบบของการได้เงินคืนเป็นรายงวด (ขึ้นอยู่กับแบบประกัน) และเมื่อครบกำหนดสัญญาจะได้รับเงินคืนเป็นก้อน ซึ่งเงินก้อนนี้สามารถนำไปใช้จ่ายได้ตามความฝันหรือเป้าหมายของเรา ค่าเบี้ยประกันค่อนข้างสูง เพราะเป็นประกันที่ไม่ว่าเราจะอยู่จนครบกำหนดสัญญาหรือไม่ บริษัทประกันก็จะจ่ายเงินคืนให้เราหรือทายาท แล้วแต่กรณี
2. ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ
เป็นประกันชีวิตที่บริษัทจะจ่ายเงินให้กับผู้รับประโยชน์ เมื่อผู้เอาประกันเสียชีวิต แต่หากผู้เอาประกันมีชีวิตอยู่จนอายุครบ 90 ปี 95 ปี หรือ 99 ปี ตามที่กรมธรรม์กำหนด บริษัทประกันจะจ่ายเงินให้ผู้ทำประกัน ค่าเบี้ยประกันค่อนข้างต่ำเน้นสร้างความมั่นคงให้ครอบครัว
3. ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา
เป็นประกันที่เน้นความคุ้มครองในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เช่น คุ้มครอง 5 ปี 10 ปี หรือ 20 ปี ซึ่งการจ่ายเบี้ยประกันอาจจ่ายเพียงครั้งเดียว หรือจ่ายตลอดระยะเวลาที่ต้องการให้มีความคุ้มครอง บริษัทประกันจะจ่ายเงินให้ในกรณีเดียวคือ ผู้ทำประกันเสียชีวิตภายในระยะเวลาคุ้มครอง ค่าเบี้ยประกันต่ำ เหมาะกับผู้ที่ต้องการความคุ้มครองชีวิตเพียงอย่างเดียว
4. ประกันชีวิตแบบบำนาญ
เป็นประกันที่มีการจ่ายชำระค่าเบี้ยประกันไปตลอดจนถึงอายุ 55-60 ปี (ขึ้นอยู่กับแบบประกัน) โดยระหว่างที่จ่ายเบี้ยประกัน จะไม่มีเงินจ่ายคืนให้ แต่หลังจากนั้น จะได้รับเงินคืนเป็นรายงวดในแต่ละปี เพื่อใช้จ่ายหลังเกษียณ ค่าเบี้ยประกันค่อนข้างสูง เพราะเน้นการออมเพื่อใช้จ่ายหลังเกษียณ

ประกันสุขภาพ

มีหลากหลายรูปแบบให้เลือก ทั้งนี้ การจะเลือกทำประกันสุขภาพแบบไหนนั้น ขึ้นอยู่กับสวัสดิการที่มีอยู่ หรือรูปแบบการใช้ชีวิต โดยประกันสุขภาพหลักๆ ที่แนะนำมีดังนี้

1. ผู้ป่วยใน
สำหรับการเจ็บป่วยที่ต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล การเลือกซื้อประกันสุขภาพชนิดนี้ เหมาะกับผู้ที่ไม่มีสวัสดิการรักษาพยาบาล หรือมีสวัสดิการ แต่อาจไม่เพียงพอกับความต้องการ การเลือกซื้อประกันสุขภาพแบบผู้ป่วยใน แนะนำให้พิจารณาจากอัตราค่าห้องของโรงพยาบาลที่คาดว่าหากเจ็บป่วยจะต้องรักษาตัว โดยยิ่งเลือกค่าห้องสูง ค่าเบี้ยประกันที่ต้องจ่ายสำหรับการรักษาพยาบาลก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย
2. ผู้ป่วยนอก
สำหรับการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล เช่น เป็นหวัด ปวดศีรษะ เหมาะกับผู้ที่ไม่มีสวัสดิการ หรือเป็นผู้ที่เจ็บป่วยบ่อย วงเงินในการรักษาควรพิจารณาจากค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้เมื่อไปรักษาในสถานพยาบาลที่ใช้เป็นประจำ
3. โรคร้ายแรง
คงจะไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า ทุกคนมีโอกาสเจ็บป่วยเป็นโรคร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็นโรคมะเร็ง โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ฯลฯ โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงจากกรรมพันธุ์ ยิ่งมีโอกาสเจ็บป่วยเป็นโรคร้ายแรงได้มากขึ้น ซึ่งค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลก็ไม่ใช่จำนวนเงินน้อยๆ การทำประกันโรคร้ายให้มีวงเงินคุ้มครองเพียงพอจะช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายได้
4. อุบัติเหตุ
เป็นประกันประเภทหนึ่งที่ทุกคนควรทำ เนื่องจากอุบัติเหตุมีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน ที่ทำงาน หรือบนท้องถนน ยิ่งผู้ที่ต้องเดินทางบ่อย ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุสูง ยิ่งควรทำประกันติดตัวไว้
5. ชดเชยรายได้
เหมาะกับผู้ที่ไม่มีรายได้ประจำ หรือมีรายได้ไม่สม่ำเสมอ หากเจ็บป่วยต้องหยุดพักรักษาตัวจะได้มีเงินใช้จ่ายในการดำรงชีพ สำหรับวงเงินชดเชยรายได้ ควรมีให้เพียงพอกับรายได้ที่อาจขาดหายไปในแต่ละวัน เช่น มีรายได้ประมาณวันละ 2,000 บาท ก็ควรมีชดเชยรายได้วันละ 2,000 บาท เป็นต้น

ประกันทรัพย์สิน

ประกันทรัพย์สินที่จำเป็นและสำคัญที่เราควรมีไว้ คือ ประกันบ้าน และประกันรถยนต์

1. ประกันบ้าน
หลักๆ ที่ควรมีคือประกันอัคคีภัย ควรมีความคุ้มครองให้เพียงพอกับตัวบ้าน (ไม่รวมที่ดิน) เพราะหากเกิดความเสียหายจะได้รับความคุ้มครองเต็มจำนวน เช่น มูลค่าบ้าน 5 ล้าน ที่ดิน 5 ล้าน ควรทำให้คุ้มครองบ้านทั้ง 5 ล้านบาท ไม่จำเป็นต้องทำสูงเกินมูลค่าบ้าน และไม่ควรทำต่ำกว่ามูลค่าบ้าน เพราะประกันจะจ่ายให้ตามส่วนที่เกิดความเสียหาย หากทำประกันสูงเกินไป เช่น ทำความคุ้มครอง 10 ล้านบาท หากบ้านเสียหายทั้งหลัง ประกันจะพิจารณาตามมูลค่าจริง นั่นก็คือ 5 ล้านบาทเท่านั้น
แต่หากทำประกันต่ำเกินไป เช่น ทำประกันคุ้มครองเพียง 2 ล้านบาท ในกรณีที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ มีความเสียหาย 2 ล้านบาท หรือคิดเป็น 40% ของมูลค่าบ้าน ดังนั้น หากทำประกันเพียง 2 ล้านบาท จะไม่ได้รับเงินชดเชย 2 ล้านบาท แต่จะได้รับเงินชดเชยเพียง 40% ของมูลค่าความเสียหาย หรือจ่ายเพียง 800,000 บาท
2. ประกันรถยนต์
มีหลากหลายประเภท ซึ่งแต่ละประเภทก็มีความคุ้มครองแตกต่างกัน รวมถึงค่าเบี้ยประกันก็แตกต่างกันด้วย ดังนั้น จึงควรทำประกันให้เหมาะกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการ
ตารางเปรียบเทียบความคุ้มครองของประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ
ประเภท  ความคุ้มครอง  ค่าเบี้ยประกัน
โดยประมาณ (บาท) 
ชีวิต ร่างกาย
ของบุคคลภายนอก
ทรัพย์สิน
บุคคลภายนอก
การโจรกรรม/
ไฟไหม้ของรถ
ที่เอาประกัน
ความเสียหาย
ต่อรถที่เอาประกัน
1            14,000 - 30,000
2            6,000 - 15,000
2+             7,000 - 17,000
3           2,200 - 3,100
3+            6,800
4          1,700 - 2,800
*คุ้มครองความเสียหายจากอุบัติเหตุที่เกิดจากการชนกับยานพาหนะทางบก

ไลฟ์สไตล์ไหนควรมีอะไร


การซื้อประกันควรซื้อให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ เพราะประกันจะอยู่กับเราไปอีกนาน หากเราเลือกไม่เหมาะ การยกเลิกอาจทำให้เกิดการสูญเสียค่าเบี้ยประกันไปโดยเปล่าประโยชน์ได้
1. เพื่อรองรับค่าใช้จ่าย
ควรมีประกันสุขภาพ รวมถึงประกันอุบัติเหตุเพราะอุบัติเหตุมีโอกาสเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ และเมื่อเกิดอุบัติเหตุอาจมีค่าใช้จ่ายที่สูงประกอบกับหากสุขภาพไม่ดี เจ็บป่วยไม่สามารถทำงานได้ การทำประกันสุขภาพจะช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น
2. เพื่อคุ้มครองรายได้
โดยเฉพาะในกรณีที่เราเป็นเสาหลักของครอบครัวหรือเป็นผู้หารายได้เลี้ยงครอบครัว การทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ แบบตลอดชีพ หรือแบบชั่วระยะเวลา จะช่วยคุ้มครองรายได้ให้กับครอบครัวรวมถึงรายได้ของตัวเองด้วย เพื่อให้คนที่อยู่ข้างหลังสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขต่อไปในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
3. เพื่อลดหย่อนภาษี
หากทำประกันชีวิตที่มีกำหนดระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป และมีผลประโยชน์ตอบแทนคืน ไม่เกินปีละ 20% ของเบี้ยประกันชีวิตสะสม สามารถนำค่าเบี้ยประกันมาลดหย่อนภาษีโดยใช้สิทธิลดหย่อนได้ตามเบี้ยประกันที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท และในกรณีที่ทำประกันชีวิตแบบบำนาญ ยังสามารถลดหย่อนภาษีเพิ่มได้อีกตามเบี้ยประกันที่จ่ายจริง โดยสูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้ และไม่เกิน 200,000 บาท รวมทั้งเมื่อรวมกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
4. เพื่อเกษียณ
นอกจากการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่เรารู้จักกันแล้ว การทำประกันเพื่อการเกษียณก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นก็คือประกันชีวิตแบบบำนาญ เพราะในช่วงที่จ่ายชำระค่าเบี้ยประกันก็ยังได้รับความคุ้มครองชีวิตด้วย ซึ่งโดยปกติจะได้รับความคุ้มครองสูงกว่าค่าเบี้ยประกันจ่ายสะสม เนื่องจากประกันรูปแบบนี้จะเน้นทยอยรับเงินคืน หรือเงินบำนาญหลังเกษียณ ทำให้หลังเกษียณความคุ้มครองชีวิตก็จะทยอยลดลงด้วย
5. เพื่อคุ้มครองทรัพย์สิน
หากเรามีทรัพย์สินไม่ว่าจะเป็นบ้านหรือรถ เพื่อความไม่ประมาท ควรมีการทำประกันเพื่อคุ้มครองทรัพย์สินของเรา แม้ว่าจะมีโอกาสในการสูญเสียน้อยก็ตาม โดยเฉพาะบ้าน หากยังมีภาระผ่อนอยู่ การเลือกทำประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลาจะช่วยลดความกังวลของผู้ผ่อนและผู้อยู่อาศัย ส่วนการทำประกันอัคคีภัยจะช่วยลดความกังวลหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด หรือเกิดอุบัติเหตุขึ้นกับบ้านของเรา สำหรับประกันรถจะทำประกันแบบใดนั้นขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน เพราะในแต่ละแบบมีความคุ้มครองที่แตกต่างกัน

ควรมีทุนประกันชีวิตเท่าไร

ควรมีให้เพียงพอกับการปรับตัวของคนในครอบครัว หรือมีประมาณ 3 เท่าของรายได้ทั้งปี หรือประมาณ 5 เท่าของค่าใช้จ่ายทั้งปี
ทั้งนี้ มีวิธีคำนวณทุนประกันง่ายๆ เพื่อให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของเราซึ่งมี 3 ขั้นตอนด้วยกัน
1. ประเมินความต้องการทางการเงินที่จำเป็นต้องได้รับความคุ้มครอง
โดยทุนประกันที่เหมาะสมนั้นควรให้มีความคุ้มครอง
  • ภาระหนี้สิน ไม่ว่าจะเป็นหนี้บ้าน หนี้รถ
  • เป้าหมายที่ต้องการทำให้สำเร็จในอนาคต เช่น ค่าเรียนของลูก
  • ครอบครัว โดยการประเมินระยะเวลาในการปรับตัวของคนในครอบครัว เพื่อให้คนในครอบครัวหรือคนที่เรารักสามารถดูแลตนเองหรือดำเนินชีวิตได้ตามปกติ เช่น ประเมินว่าระยะเวลาที่ใช้ปรับตัวอยู่ที่ 5 ปี ก็นำไปคูณกับค่าใช้จ่ายรวมต่อปีของครอบครัว จะได้เป็นจำนวนเงินที่เราควรทำประกันให้มีความคุ้มครองที่เพียงพอ
2. รวบรวมมูลค่าทรัพย์สินที่มีทั้งหมด
ไม่ว่าจะเป็นเงินสด เงินฝาก พันธบัตร หุ้นกองทุนรวม ที่ดิน แล้วประเมินมูลค่าออกมาว่าทรัพย์สินที่มีอยู่ มีมูลค่าเท่าไร
3. คำนวณทุนประกัน
โดยนำข้อที่ 1-2 คงเหลือเป็นทุนประกันที่ต้องการ
ทำอย่างไร หากจ่ายเบี้ยประกันไม่ไหว
หากพิจารณาแล้วพบว่า ค่าเบี้ยประกันที่ต้องจ่ายเพื่อให้มีความคุ้มครองเพียงพอตามที่ต้องการนั้นเป็นจำนวนเงินที่สูงเกินกว่าที่จะจ่ายไหว มีแนวทางปฏิบัติที่ขอแนะนำคือ
  • ทยอยทำประกันเพียงบางส่วนก่อน เมื่อรายได้มากขึ้น ค่อยทำประกันเพิ่มขึ้น
  • ลดค่าใช้จ่าย เช่น ค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อให้มีเงินเพียงพอในการทำประกันมากขึ้น
  • เปลี่ยนรูปแบบของประกันที่ต้องการลง เนื่องจากประกันบางแบบให้ความคุ้มครองสูง โดยจ่ายเบี้ยประกันภัยต่ำ เช่น ต้องการทำประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองครอบครัว อาจเลือกทำประกันแบบตลอดชีพ แทนแบบสะสมทรัพย์ ซึ่งทำให้จ่ายเบี้ยประกันด้วยจำนวนเงินที่น้อยกว่า เป็นต้น
วัตถุประสงค์หลักของการทำประกันก็คือ การสร้างความคุ้มครอง บรรเทาความสูญเสียหรือค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้น และช่วยให้ความฝันหรือเป้าหมายของเราเป็นจริงได้ เมื่อรู้แล้วว่าประกันสำคัญมากเพียงใด สิ่งสำคัญก็คือ เลือกแบบประกันให้ตรงตามวัตถุประสงค์ เพื่อคุ้มครองตนเองและคนที่รักได้อย่างถูกวิธี สามารถสอบถามกูรูทางการเงิน K-Expert ได้ที่ 
k-expert.askkbank.com
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Money Guru
เขียนโดย เช็คราคา.คอม Money Guru

พูดคุยกับกูรูได้ที่



เว็บไซต์นี้มีการเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์ และช่วยให้เราปรับปรุง และนำเสนอเนื้อหาตรงตามความสนใจของท่าน ท่านสามารถดู Privacy Notice และ ดู Cookies Policy ของเราได้ ที่นี่ ทั้งนี้ ท่านจะยินยอมให้เราเก็บคุกกี้ทั้งหมด หรือให้เก็บแค่บางส่วนโดยการคลิกเลือก ตั้งค่า

ท่านสามารถเลือกให้ความยินยอมการเก็บคุกกี้เป็นเรื่องๆ ได้ที่นี่

เมื่อคุณเข้าชมเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่น checkraka เราอาจจัดเก็บ หรือดึงข้อมูลจากเบราว์เซอร์ของคุณในรูปแบบของคุกกี้ และเทคโนโลยีอื่นที่คล้ายคลึง เช่น tag และ pixel (เรียกรวมกันว่า “คุกกี้”) ซึ่งมักเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้โดยตรง แต่ช่วยให้คุณใช้งานเว็บไซต์ได้ปลอดภัย และตรงตามความต้องการมากขึ้น คุณอาจไม่ยินยอมให้เราเก็บคุกกี้บางประเภทได้ โดยการคลิกตามหัวข้อข้างล่างนี้

ประเภทคุกกี้
อ่านเพิ่มเติม ที่นี่
ยินยอม / ไม่ยินยอม
คุกกี้ที่จำเป็นต้องมีเสมอ
(Strictly Necessary)
คุกกี้สำหรับการใช้งานเว็บไซต์
(Functionality)
คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและวิเคราะห์
(Performance & Analytics)
คุกกี้เพื่อการตลาด
(Marketing)