การฝากเงินธนาคาร กับการทำประกันชีวิต ต่างกันอย่างไร?
หลายคนที่ทำธุรกรรมที่ธนาคาร คงเคยได้รับการเสนอขายประกันจากพนักงานธนาคารบ้างนะคะ ซึ่งพนักงานมักจะบอกกับเราว่า เป็นการออมเงินระยะยาว 5 - 10 ปี แล้วเราจะได้รับผลตอบแทน อาจจะทุกปี ทุก 2 ปี หรือเมื่อครบกำหนด แล้วแต่เงื่อนไขของกรมธรรม์นั้นๆ ซึ่งจำนวนเงินที่ได้รับจะมากกว่าการฝากเงินไว้ในบัญชี และยังได้ของแถมเป็นความคุ้มครองชีวิตเพิ่มให้อีกด้วย หลายคนที่ได้ฟังก็อาจเข้าใจว่าการทำประกันชีวิตนั้น เหมือนกับการฝากเงินไว้กับธนาคาร แต่ในความเป็นจริงแล้วมันมีข้อแตกต่างกันในหลายๆ ด้าน ดังนี้ค่ะ
ข้อแตกต่างของการทำประกันชีวิตกับการฝากเงิน
หัวข้อ | ประกันชีวิต | ฝากเงินธนาคาร |
1. การได้รับเงินคืน หรือผลตอบแทน | - หากผู้ทำประกันมีชีวิตอยู่จนครบกำหนดสัญญาของกรมธรรม์ ผู้ทำประกันจะได้รับเงินคืน หรือผลตอบแทนตามจำนวนเงินที่ระบุไว้ในกรมธรรม์
- หากผู้ทำประกันเสียชีวิตภายในระยะเวลาของสัญญาภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด ถึงแม้ว่าไม่ได้ชำระเบี้ยประกันภัยครบตามจำนวนงวดที่กำหนดไว้ บริษัทประกันฯ จะจ่ายเงินเต็มตามจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ระบุไว้ให้แก่ผู้รับประโยชน์ ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่มากกว่าเบี้ยประกันภัยที่ชำระไปแล้ว
| - ได้รับผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ย ซึ่งผู้ฝากเงินจะทราบอัตราผลตอบแทนที่ได้รับค่อนข้างแน่นอน
- เมื่อเงินฝากครบกำหนดระยะเวลา หรือทำการปิดบัญชี ผู้ฝากเงินจะได้รับเงินคืนเท่ากับเงินต้นที่ฝากไว้พร้อมกับดอกเบี้ยตามที่ธนาคารกำหนด
- หากผู้ฝากเงินเสียชีวิตก็จะได้รับจำนวนเงินคืนเท่าที่ฝากไว้พร้อมกับดอกเบี้ย ตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด
|
2. การคุ้มครองชีวิต | - ให้ประโยชน์อย่างมากในด้านการสร้างหลักประกันและความมั่นคงให้แก่ผู้ทำประกันและครอบครัว โดยหากผู้ทำประกันเป็นผู้หารายได้หลักมาสู่ครอบครัว เงินที่ได้รับจากการทำประกันชีวิตจะช่วยให้ครอบครัวหรือบุคคลที่อยู่ข้างหลังใช้ดำรงชีวิตต่อไปได้
- ผู้ทำประกันชีวิตสามารถซื้อสัญญาเพิ่มเติมเพื่อขยายความคุ้มครอง หรือเพิ่มผลประโยชน์ นอกเหนือจากความคุ้มครองและผลประโยชน์ที่ผู้เอาประกันภัยได้รับจากสัญญาประกันชีวิต เช่น ประกันสุขภาพ ประกันทุพพลภาพ ประกันโรคร้ายแรง ประกันอุบัติเหตุ เป็นต้น
| - โดยทั่วไปจะไม่มีความคุ้มครองชีวิต ยกเว้นเงินฝากบางประเภทที่ผู้ฝากเงินจะได้รับความคุ้มครองชีวิต หรืออุบัติเหตุด้วย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของสถาบันการเงินนั้นๆ เช่น จะมีบางบัญชีที่กำหนดให้ผู้ฝากคงยอดเงินฝากขั้นต่ำในบัญชีตามเงื่อนไขของธนาคาร และหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด (กรณีเสียชีวิต หรือประสบอุบัติเหตุ) ผู้ฝากหรือผู้รับประโยชน์จะได้รับเงินคืนมากกว่าจำนวนเงินที่ฝากไว้ในบัญชี ภายใต้เงื่อนไขของแต่ละบัญชีนั้นๆ
|
3. สิทธิประโยชน์ทางภาษี | - กรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และมีเงินคืนระหว่างสัญญาไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตในแต่ละปี (เงินคืนดังกล่าวจะไม่รวมเงินปันผลที่ได้รับจากกรมธรรม์) ผู้ทำประกันสามารถนำเงินที่จ่ายเป็นค่าเบี้ยประกันชีวิตในแต่ละปีไปหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้ประจำปีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท รวมทั้งเงินคืน หรือเงินปันผลที่ได้รับระหว่างสัญญา และเงินผลประโยชน์ที่ได้รับเมื่อสิ้นสุดอายุกรมธรรม์ ก็ได้รับสิทธิยกเว้นภาษี
| - ผู้ฝากเงินไม่สามารถนำเงินฝากดังกล่าวมาหักลดหย่อนภาษีได้ รวมทั้งดอกเบี้ยที่ได้รับจากการฝากเงินจะต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายร้อยละ 15 ทั้งเงินฝากประจำ และเงินฝากออมทรัพย์ (หากจำนวนเงินดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์สูงกว่า 20,000 บาทต่อปี)
|
4. สภาพคล่อง | - ผู้ทำประกันจะต้องชำระเบี้ยประกันภัยตามงวดการชำระเบี้ยประกันภัยที่กำหนดไว้ ไม่เช่นนั้นกรมธรรม์ที่ทำไว้จะสิ้นผลบังคับ
- หากต้องการยกเลิกสัญญาประกันชีวิต จะไม่ได้รับเงินที่ได้ชำระเบี้ยประกันภัยคืนเต็มจำนวน โดยทั่วไป กรมธรรม์ประกันชีวิตจะเริ่มมีมูลค่าเวนคืนหรือมูลค่าเงินสดเมื่อกรมธรรม์มีอายุครบ 2 ปีขึ้นไป ดังนั้น หากต้องการใช้เงินหรือต้องการยกเลิกสัญญากรมธรรม์ในปีแรก อาจไม่ได้รับเงินคืนเลย
- หากยกเลิกกรมธรรม์เมื่อกรมธรรม์เริ่มมีมูลค่าเงินสดคืนให้ จำนวนเงินที่ได้รับคืนอาจน้อยกว่าเบี้ยประกันภัยที่ได้ชำระไปแล้ว ทั้งนี้ ในปีต่อๆ ไปเงินจำนวนนี้จะสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกรมธรรม์ครบกำหนดก็จะได้รับคืนเท่ากับจำนวนเงินเอาประกันภัย
| - ผู้ฝากเงินสามารถฝากเงิน ถอนเงินหรือปิดบัญชีเมื่อใดก็ได้ โดยได้รับเงินต้นคืนพร้อมดอกเบี้ย โดยจำนวนเงินต้นจะได้คืนเต็มจำนวนเสมอ ส่วนดอกเบี้ยนั้นจะได้เต็มตามจำนวนที่ธนาคารกำหนดหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับประเภทบัญชีเงินฝาก และระยะเวลาที่เราถอนเงินออก
|
ดังนั้น การจะเลือกว่าควรทำประกันหรือฝากเงินธนาคาร ควรดูที่วัตถุประสงค์ในการออมเงิน ซึ่งหากต้องการความคุ้มครองชีวิต และได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ควรเลือกทำประกันชีวิต แต่หากต้องการสภาพคล่อง ก็ควรเลือกฝากเงินกับธนาคาร ทั้งนี้ แนะนำว่า เพื่อสร้างความคุ้มครองให้กับชีวิตของตนเอง และเพื่อป้องกันการขาดสภาพคล่องเมื่อต้องการใช้เงินฉุกเฉิน ควรมีการเก็บเงินสภาพคล่องจำนวนประมาณ 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนไว้ในสินทรัพย์สภาพคล่องสูง ที่สามารถถอนเงินใช้ได้ทันทีที่ต้องการ เช่น เงินฝากออมทรัพย์ กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้นหรือกองทุนรวมตลาดเงิน เป็นต้น แล้วจึงพิจารณาจัดสรรเงินไปซื้อประกันชีวิตเพื่อสร้างความคุ้มครองให้กับตนเองและเป็นหลักประกันให้กับครอบครัวต่อไป
สุดท้ายนี้ ทีมงาน CheckRaka.com หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ทุกคนที่เลือกทำประกันชีวิต หรือเลือกฝากเงินกับธนาคารจะมีความเข้าใจอย่างเด่นชัดถึงความแตกต่าง และผลประโยชน์ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวที่จะได้รับนะคะ