รู้หรือไม่... เงินฝากเราได้รับความคุ้มครองแค่ไหน?
ทุกวันนี้ เวลาเราฝากเงินกับธนาคาร แล้วถ้าต่อมาธนาคารนั้นถูกปิด หรือโดนถอนใบอนุญาตขึ้นมา ไม่ได้หมายความว่าเราจะได้รับเงินฝากคืนทั้งหมดนะคะ วันนี้ CheckRaka.com จะมาอธิบายแบบง่ายๆ ให้พวกเราดูกันค่ะว่า ถ้าธนาคารเรามีปัญหา เราจะได้คืนเต็มจำนวนหรือเปล่า และมีเงื่อนไขอะไรบ้าง
คนฝากเงินเป็น "เจ้าหนี้" ธนาคารเสมอ
ต้องอธิบายเบื้องต้นก่อนว่า โดยหลักการนั้น การฝากเงินกับธนาคารจะทำให้เรามีสถานะเป็น "เจ้าหนี้" ธนาคาร ดังนั้น ไม่ว่าธนาคารจะมีปัญหา ล้มละลาย ถูกเพิกถอนใบอนุญาต ไม่มีปัญหาเลย หรือสถานะดียังไงก็ตาม ธนาคารก็มีหนี้ต่อเราที่จะต้องจ่ายคืนเงินฝากให้เราทั้งเงินต้น และดอกเบี้ยทุกจำนวนเสมอ
สถาบันคุ้มครองเงินฝาก
ตั้งแต่ปี 2551 ที่ผ่านมา บ้านเรามีการตั้ง "สถาบันคุ้มครองเงินฝาก" (Deposit Protection Agency) ขึ้นมาภายใต้ พรบ. สถาบันคุ้มครองเงินฝาก พศ. 2551 โดยมีวัตถุประสงค์หลักๆ เพื่อลดภาระทางการคลังของรัฐบาล และเพื่อให้สถาบันการเงินแข่งขันกันในแง่ความมั่นคงกับผู้ฝากเงินมากกว่าการแข่งขันกันในเรื่องของแถมแจกโน่นฟรีนี่ แต่การคุ้มครองก็มีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น ไม่ครอบคลุมธนาคารรัฐ และจำนวนที่คุ้มครองจะเป็นจำนวนจำกัด สาเหตุที่ไม่คุ้มครอง 100% เพราะในแง่เศรษฐศาสตร์ หากคุ้มครอง 100% ทุกกรณี จะเกิดสภาวะที่ผู้ฝากเงินจะเล่นกับความเสี่ยงฝากเงินกับธนาคารที่ให้ดอกเบี้ยสูงๆ โดยไม่สนใจใดๆ ทั้งสิ้น เพราะรู้ว่าในท้ายที่สุดจะมีคนเข้ามาแบกรับภาระเงินฝากตรงนี้ให้ในทุกกรณี (ทฤษฎีนี้เมืองนอกเรียกกันง่ายๆ ว่า "Moral Hazard")
เราจะได้คืนหรือไม่ และแค่ไหน?
ทีนี้ ถ้าสมมติเราฝากเงินกับสถาบันการเงินแล้ว พอครบกำหนดเงินฝาก สถาบันการเงินนั้นไม่มีปัญหา ก็จะสามารถคืนเงินให้เราได้เต็มจำนวน แต่ถ้าสถาบันการเงินนั้นเกิดโดนเพิกถอนใบอนุญาต ปิดกิจการ หรือล้มละลายระหว่างทางขึ้นมาก่อนเงินฝากเราครบกำหนด เราจะได้การคุ้มครอง หรือค้ำประกันโดยสถาบันคุ้มครองเงินฝากแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัย 3 อย่างคือ
1. ฝากกับใคร?
ประเภท สถาบันการเงิน | ขอบเขตความคุ้มครอง |
ธนาคารรัฐ | พรบ. สถาบันคุ้มครองเงินฝากจะไม่ครอบคลุมธนาคารรัฐ (ซึ่งหลักๆ ก็มีธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย) ซึ่งหมายถึงว่าสถาบันคุ้มครองเงินฝากจะไม่รับผิดชอบเงินฝากของประชาชนถ้าธนาคารรัฐเหล่านี้ปิดกิจการ หรือล้มละลาย แต่คำถามที่สำคัญที่สุดในเรื่องนี้ก็คือ แล้วรัฐบาลจะเข้ามารับผิดชอบเงินฝากของประชาชนที่ฝากไว้กับธนาคารรัฐเหล่านี้หรือไม่? คำถามนี้ดูจะมีความไม่ชัดเจนอยู่บ้าง ฝ่ายรัฐบาลก็บอกว่าจะรับผิดชอบหมดเพราะถือว่าเป็นธนาคารของรัฐ แต่ก็มีเอกชนหลายๆ ท่านได้แสดงความเห็นแตกต่าง และยังมีข้อสงสัยกันอยู่
แต่ในระหว่างธนาคารรัฐด้วยกันเองนั้น สิ่งหนึ่งที่ธนาคารออมสินแตกต่างจากธนาคารรัฐอื่นๆ ในแง่กฎหมายก็คือในตัวกฎหมายจัดตั้งธนาคารออมสิน (คือพรบ.ธนาคารออมสิน (มาตรา 21)) มีการระบุไว้ชัดเจนว่า รัฐบาลไทยจะค้ำประกันเงินฝากของธนาคารออมสิน ในขณะที่กฎหมายจัดตั้งของธนาคารรัฐอื่นไม่มีการเขียนเรื่องการค้ำประกันโดยรัฐบาลไว้อย่างชัดเจนแบบของธนาคารออมสินนี้ |
ธนาคาร และสถาบันการเงินเอกชนทั่วไป | กรณีนี้ พรบ.สถาบันคุ้มครองเงินฝากจะเข้ามามีบทบาท ซึ่งหมายถึงว่าเงินฝากกับสถาบันการเงินเอกชนตามรายชื่อข้างล่างนี้ จะได้รับความคุ้มครองโดยหน่วยงานของรัฐที่เรียกว่า "สถาบันคุ้มครองเงินฝาก" แต่ทั้งนี้ต้องดูรูปแบบ หรือตราสารเงินฝาก และจำนวนที่จะได้รับความคุ้มครองในข้อ (ข) และ (ค) ข้างล่างนี้ต่อไปด้วย รายชื่อสถาบันการเงินที่ได้รับความคุ้มครอง ธนาคารพาณิชย์ - ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBL)
- ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTB)
- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (Krungsri)
- ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK)
- ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) (TMB)
- ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) (CIMB)
- ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB)
- ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) (SCBT)
- ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) (UOB)
- ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) (TBANK)
- ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) (TISCO)
- ธนาคารเมกะ สากลพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) MEGA (ICBC)
- ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) (KK)
- ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) (LH Bank)
- ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) จำกัด (มหาชน) (ICBC)
- ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) (TCRB)
- ธนาคารเดอะรอยัลแบงก์อ๊อฟสกอตแลนด์ เอ็น.วี. (RBS)
- ธนาคารเจพีมอร์แกน เชส (J.P. Morgan)
- ธนาคารโอเวอร์ซี-ไชนีส แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (OCBC)
- ธนาคารแห่งโตเกียว-มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ จำกัด (BTMU)
- ธนาคารซิตี้แบงก์ (Citibank)
- ธนาคารอาร์ เอช บี จำกัด (RHB)
- ธนาคารแห่งอเมริกา เนชั่นแนล แอสโซซิเอชั่น (AMERICA)
- ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ จำกัด (HONGKONG)
- ธนาคารดอยซ์แบงก์ (DEUTSHE)
- ธนาคารมิซูโฮ คอร์ปอเรต จำกัด (MHCB)
- ธนาคารบีเอ็นพี พารีบาส์ (BNPP)
- ธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น (SMBC)
- ธนาคารแห่งประเทศจีน จำกัด (BOC)
- ธนาคารอินเดียน โอเวอร์ซีส์ จำกัด (I.O.B.)
บริษัทเงินทุน - บริษัทเงินทุนกรุงเทพธนาทร จำกัด (มหาชน)
- บริษัทเงินทุนแอ็ดวานซ์ จำกัด (มหาชน)
บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ - บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ลินน์ ฟิลลิปส์ มอร์ทเก็จ จำกัด
- บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ เวิลด์ จำกัด
- บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ แคปปิตอล ลิ้งค์ จำกัด
|
2. ฝากในรูปแบบไหน?
ประเภท สถาบันการเงิน | ขอบเขตความคุ้มครอง |
ธนาคารรัฐ | ตามที่พูดมาแล้วในตารางข้างต้น ในกรณีของธนาคารรัฐอาจไม่ค่อยชัดเจนว่ารัฐบาลจะเข้ารับผิดชอบเงินที่พวกเราฝากไว้กับธนาคารรัฐหรือไม่ เพียงใด ยกเว้นในกรณีของธนาคารออมสิน ซึ่งตัวกฎหมายจัดตั้งเขียนไว้ชัดเจนว่า รัฐบาลค้ำประกันเงินฝากของลูกค้าธนาคารออมสิน ดังนั้น กรณีของธนาคารออมสิน ถ้าเราฝากในรูปของบัญชีเงินฝาก เราก็จะได้รับการค้ำประกันโดยรัฐบาลเต็มจำนวน |
ธนาคารและสถาบันการเงินเอกชนทั่วไป | แม้จะได้รับความคุ้มครองตาม พรบ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก แต่เงินฝากเฉพาะรูปแบบเหล่านี้เท่านั้น ถึงจะได้รับความคุ้มครอง - เงินฝากกระแสรายวัน
- เงินฝากประจำ
- เงินฝากออมทรัพย์
- บัตรเงินฝาก
- ใบรับฝากเงิน (ที่เป็นเงินบาท)
- เงินฝากใน "บัญชีร่วม" และเงินฝากใน "บัญชีเพื่อ" ในกรณีนี้ผู้ฝากจะได้รับการคุ้มครองตามสัดส่วนของแต่ละคนที่เป็นเจ้าของบัญชีร่วมตามหลักฐานที่สถาบันการเงินมี หากไม่ทราบหรือไม่ได้ระบุสัดส่วนการร่วมกันไว้ชัดเจน ก็ให้แบ่งเท่ากันเสมอ แล้วนำไปรวมกับบัญชีเดี่ยวของแต่ละคนที่มี รวมแล้วได้รับความคุ้มครองไม่เกินจำนวนที่กำหนด
ตัวอย่าง นายสมชายและนางสมศรีมีเงินฝากที่ธนาคารยิ่งรวย ดังนี้
ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 (วงเงินคุ้มครองไม่เกิน 25 ล้านบาท) หากธนาคารยิ่งรวยถูกปิดกิจการ - นายสมชายจะได้รับเงินฝากคืน 2,500,000 บาท
- นางสมศรีจะได้รับเงินฝากคืน 1,800,000 บาท
ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 (วงเงินคุ้มครองไม่เกิน 1 ล้านบาท) หากธนาคารยิ่งรวยถูกปิดกิจการ - นายสมชายจะได้รับเงินฝากคืน 1,000,000 บาท ส่วนที่เหลือสถาบันคุ้มครองเงินฝากจะทำหน้าที่ชำระบัญชีธนาคารยิ่งรวย เพื่อนำเงินมาจ่ายคืนให้เพิ่มเติม
- นางสมศรีจะได้รับเงินฝากคืน 1,000,000 บาท ส่วนที่เหลือสถาบันคุ้มครองเงินฝากจะทำหน้าที่ชำระบัญชีธนาคารยิ่งรวย เพื่อนำเงินมาจ่ายคืนให้เพิ่มเติม
ทั้งนี้ ประเภทเงินฝากทั้งหมดนี้จะต้องเป็นเงินฝากสกุล "เงินบาท" ของบัญชีเงินฝากภายในประเทศเท่านั้น อนึ่ง ตราสารหรือรูปแบบการฝากต่อไปนี้จะไม่ได้รับการคุ้มครอง (ก) เงินฝากในบัญชีเงินบาทของบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน (ข) เงินฝากที่มีอนุพันธ์แฝง เช่น Structured Deposit (ค) เงินฝากระหว่างสถาบันการเงิน (ง) ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน และหุ้นกู้ ก็จะไม่ได้รับความคุ้มครองเช่นกัน เพราะถือว่าเป็นสถาบันการเงินกู้เงินจากเรา ไม่ใช่รับฝากเงินจากเรา |
3. สถาบันการเงินถูกปิดกิจการเมื่อใด?
ประเภท สถาบันการเงิน | ขอบเขตความคุ้มครอง |
ธนาคารรัฐ | ตามที่พูดมาแล้วในตารางข้างต้น ในกรณีของธนาคารรัฐอาจยังมีความไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลจะเข้ารับผิดชอบเงินที่พวกเราฝากไว้กับธนาคารรัฐหรือไม่ ยกเว้นในกรณีของธนาคารออมสิน ซึ่งตัวกฎหมายจัดตั้งเขียนไว้ชัดเจนว่า รัฐบาลค้ำประกันเงินฝากของลูกค้าธนาคารออมสินโดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องจำนวน และเวลา ดังนั้น ในแง่หลักการ เราจะได้รับความคุ้มครองและได้เงินคืนเต็มจำนวนไม่ว่าธนาคารออมสินจะล้มละลาย หรือถูกปิดกิจการเมื่อใดก็ตาม |
ธนาคารและสถาบันการเงินเอกชนทั่วไป | เราจะได้รับเงินคืน หรือได้รับความคุ้มครองจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากเท่าไหร่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าสถาบันการเงินที่ถือเงินฝากเราอยู่ ถูกปิดกิจการเมื่อใด ซึ่งวงเงินคุ้มครองตามพระราชกฤษฏีกำหนดจำนวนเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2555 เป็นดังนี้ - หากถูกปิดกิจการในช่วง 11 สิงหาคม 2555 - 10 สิงหาคม 2558 จะได้เงินคืนไม่เกิน 50 ล้านบาท
- หากถูกปิดกิจการในช่วง 11 สิงหาคม 2558 - 10 สิงหาคม 2559 จะได้เงินคืนไม่เกิน 25 ล้านบาท
- หากถูกปิดกิจการในช่วง 11 สิงหาคม 2559 เป็นต้นไป จะได้เงินคืนไม่เกิน 1 ล้านบาท
ทั้งหมดนี้ ต่อผู้ฝาก 1 รายต่อ 1 สถาบันการเงิน (ไม่ว่าจะมีกี่บัญชี หรือกี่สาขาของสถาบันการเงินแห่งเดียวกันนั้นก็ตาม)
ตัวอย่าง สมชายฝากเงินไว้กับธนาคารยิ่งรวย และธนาคารเจริญทรัพย์ ดังนี้
หากธนาคารทั้งสองแห่ง ถูกปิดกิจการพร้อมกันในวันที่ 1 กันยายน 2559 นายสมชายจะได้รับคืนเงินฝากในธนาคารยิ่งรวย 1,000,000 บาท และได้รับคืนเงินฝากในธนาคารเจริญทรัพย์ 1,000,000 บาทเช่นกัน |
ขั้นตอนการยื่นขอรับเงินของผู้ฝาก
ขอบคุณรูปภาพ และข้อมูลจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก
ดังนั้น โดยสรุปแล้ว D-Day ที่สำคัญสำหรับคนทั่วๆ ไปอย่างเราก็คือ วันที่ 11 สิงหาคม 2559 (ถ้ารัฐบาลไม่มีการเลื่อนวันออกไป) เพราะเงินฝากหลังจากวันนี้ พวกเราจะได้รับการคุ้มครองแค่ 1 ล้านบาทเท่านั้นนะคะ ดังนั้น หลังจากวัน D-Day นี้เป็นต้นไป ใครที่มีเงินสดเก็บไว้เกิน 1 ล้านบาท ก็เตรียมกระจายเงินฝากออกไปหลายๆ ที่ได้เลยค่ะ