หุ้นกู้อีกทางเลือกหนึ่งของการฝากเงิน

icon 16 ก.พ. 58 icon 137,566
หุ้นกู้อีกทางเลือกหนึ่งของการฝากเงิน

หุ้นกู้อีกทางเลือกหนึ่งของการฝากเงิน


ความหมายของตราสารหนี้
ตราสารหนี้ คือ ตราสารทางการเงินที่แสดงความเป็นหนี้ ซึ่งเป็นภาระผูกพันทางกฎหมายระหว่าง "เจ้าหนี้" กับ "ลูกหนี้" เจ้าหนี้ คือผู้ซื้อตราสารหนี้หรือผู้ลงทุน ส่วนลูกหนี้ คือผู้ออกตราสารหนี้ โดยผู้ซื้อตราสารหนี้จะได้รับผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยหรือส่วนลดจากราคาตรา ตามอัตราและเวลาที่ตกลงกัน
ตราสารหนี้โดยทั่วไปมีองค์ประกอบที่สำคัญ เช่น ชื่อผู้ออกตราสารหนี้ ต้นเงินหรือมูลค่าที่ตราไว้ วันครบกำหนดไถ่ถอน อัตราดอกเบี้ยหรือผลประโยชน์ที่ผู้ซื้อจะได้รับ งวดการจ่ายดอกเบี้ยหรือวันที่จ่ายดอกเบี้ย ประเภทของตราสารหนี้ และข้อสัญญาหรือเงื่อนไขของตราสารหนี้ เป็นต้น

ประเภทของตราสารหนี้
การแบ่งประเภทของตราสารหนี้ อาจแบ่งได้หลายลักษณะ เช่น
1. แบ่งตามประเภทของผู้ออกตราสารหนี้ เช่น
  • ตราสารหนี้ภาครัฐ หมายถึง ตราสารหนี้ที่รัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง หรือหน่วยงานภาครัฐออกจำหน่ายเพื่อระดมทุนในประเทศจากประชาชนและสถาบันการเงิน
  • ตราสารหนี้ภาคเอกชน หมายถึง ตราสารหนี้ที่ออกโดยภาคเอกชน ซึ่งอยู่ในการควบคุมดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เช่น ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือหุ้นกู้ เป็นต้น
2. แบ่งตามอายุของตราสารหนี้ ได้แก่ ตราสารหนี้ที่มีอายุไม่เกิน 1 ปี และตราสารหนี้ที่มีอายุเกินกว่า 1 ปี
3. แบ่งตามลักษณะของการจ่ายดอกเบี้ย เช่น ตราสารหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยในอัตราคงที่ ตราสารหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยในอัตราลอยตัว ตราสารหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยทบต้น หรือตราสารหนี้ที่ไม่จ่ายดอกเบี้ย เป็นต้น
4. แบ่งตามลักษณะการออกใบตราสาร ได้แก่
  • ชนิดมีใบตราสาร (Scrip) เป็นตราสารหนี้ที่มีการออกใบตราสารซึ่งระบุชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ไว้ให้ครอบครอง
  • ชนิตไร้ใบตราสาร (Scripless) เป็นตราสารหนี้ที่บันทึกกรรมสิทธิ์ไว้ในบัญชีของผู้รับฝาก ไม่มีการออกใบตราสารผู้ถือกรรมสิทธิ์ สามารถตรวจสอบตราสารหนี้ในบัญชีได้โดยติดต่อกับสมาชิกผู้ฝากหลักทรัพย์กับบริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด (Thailand Securities Depository Co.,Ltd. : TSD) ที่ตนเปิดบัญชีไว้

ความหลากหลายของตราสารหนี้ภาครัฐ
ตราสารหนี้ภาครัฐมีหลายประเภทดังนี้
1. ตราสารหนี้รัฐบาล ได้แก่
  • ตั๋วเงินคลัง (Treasury Bill) เป็นตราสารหนี้ที่มีอายุไม่เกิน 1 ปี ออกจำหน่ายในตลาดแรกด้วยวิธีการประมูลในราคาที่ต่ำกว่าราคาตรา เมื่อครบกำหนดไถ่ถอนผู้ถือกรรมสิทธิ์จะได้รับเงินเต็มจำนวนตามราคาตรา
  • ตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ (Debt Restructuring Bill) เป็นตราสารหนี้ที่มีอายุไม่เกิน 1 ปี ออกจำหน่ายในตลาดแรก ด้วยวิธีการประมูลในราคาที่ต่ำกว่าราคาตรา เมื่อครบกำหนดไถ่ถอนผู้ถือกรรมสิทธิ์จะได้รับเงินเต็มจำนวนตามราคาตรา
  • พันธบัตรรัฐบาล (Government Bond) เป็นตราสารหนี้ที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ หรือเมื่อมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ หรือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะ
  • พันธบัตรออมทรัพย์ (Government Savings Bond) เป็นตราสารหนี้ที่ออกเพื่อมุ่งขายให้แก่บุคคลธรรมดา และสถาบันที่ไม่มุ่งหวังกำไร เช่น มูลนิธิ สภากาชาดไทย และสมาคมสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อเป็นทางเลือกในการออม และการลงทุน
2. พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ (State owned Enterprises Bond) เป็นตราสารหนี้ที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป ออกโดยรัฐวิสาหกิจ (องค์กรที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินธุรกิจ โดยมีรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ถือหุ้นหรือร่วมกันถือหุ้นตั้งแต่ร้อยละ 50 ขึ้นไป) มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อนำเงินทุนไปใช้จ่ายในการดำเนินงานตามโครงการต่างๆ
พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ มีทั้งชนิดที่กระทรวงการคลังค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ย กับชนิดที่กระทรวงการคลังไม่ค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ย ทั้งสองชนิดกระทรวงการคลังเป็นผู้ดำเนินการจัดหาสถาบันผู้จัดจำหน่ายและประกันการจำหน่ายโดยวิธีประมูล สถาบันที่เข้าร่วมประมูลในอัตราค่าใช้จ่ายรวมต่ำสุดจะได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้จัดจำหน่ายพันธบัตรให้แก่ผู้ลงทุนทุกประเภท
3. พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย (Bank of Thailand Bond) ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ออก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายการเงิน ดูแลสภาพคล่องและอัตราดอกเบี้ยในระบบเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพ และช่วยสร้างอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง
ปัจจุบันพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยมีความหลากหลาย ดังนี้
  • พันธบัตรอายุไม่เกิน 1 ปี ไม่มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยจำหน่ายในราคาที่ต่ำกว่าราคาตรา
  • พันธบัตรอายุเกินกว่า 1 ปี ประเภทอัตราดอกเบี้ยคงที่
  • พันธบัตรอายุเกินกว่า 1 ปี ประเภทอัตราดอกเบี้ยลอยตัว
  • พันธบัตรประเภทออมทรัพย์
4. พันธบัตรกองทุนเพื่อการฟื้นฟู และพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (Financial Institutions Development Fund Bond) เป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เพื่อวัตถุประสงค์ในการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินให้มีความมั่นคง

ผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ
  • ดอกเบี้ย (Interest) ซึ่งผู้ออกตราสารหนี้ต้องจ่ายให้แก่ผู้ถือกรรมสิทธิ์ ตามที่ระบุไว้ในสัญญา ปกติจะจ่ายดอกเบี้ยปีละ 2 ครั้ง
  • ส่วนลด (Discount) ผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอนกับราคาซื้อ
  • กำไรหรือขาดทุนจากการขายตราสารหนี้ก่อนครบกำหนดไถ่ถอน (Capital Gain or Capital Loss) ซึ่งเป็นผลต่างระหว่างราคาขายกับราคาซื้อ
ประโยชน์ของตราสารหนี้ภาครัฐ
ในด้านภาพรวม และผู้ออกตราสารหนี้
  • ลดการพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศ
  • เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารเงิน เนื่องจากผู้ออกตราสารหนี้ สามารถกำหนดต้นทุนและระยะเวลาได้แน่นอน
  • เป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายการเงิน เพื่อดูแลสภาพคล่องและอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อสภาวะเศรษฐกิจ เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจมีเสถียรภาพ
ในด้านนักลงทุน
  • มีความมั่นคงของต้นเงินและได้รับดอกเบี้ยแน่นอนและสม่ำเสมอ ยกเว้นถ้านักลงทุนต้องการขายตราสารหนี้ก่อนครบกำหนด อาจมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้ราคาตามมูลค่าที่ตราไว้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยในตลาดตราสารหนี้
  • เพิ่มทางเลือกในการลงทุนให้กับนักลงทุนนอกเหนือจากการฝากเงินกับธนาคารหรือลงทุนในหลักทรัพย์อื่น
  • ใช้เป็นหลักประกันกับส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือสถาบันการเงินในเรื่องต่างๆ เช่น การประกันตัวผู้ต้องหาทางคดีความประกันการประมูลงาน ประกันการชำระค่ากระแสไฟฟ้า ประกันการกู้เงินหรือเบิกเกินบัญชี ประกันการเข้าทำงาน ใช้เป็นหลักประกันเพื่อการกู้ยืมเงินของสถาบันการเงินในตลาดซื้อคืน หน้าต่างสภาพคล่อง ณ สิ้นวัน และการขายตราสารหนี้เพื่อเป็นเงินสภาพคล่องระหว่างวัน ฯลฯ
  • ใช้เป็นส่วนหนึ่งในการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องตามกฎหมายของธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน
  • ใช้วางเป็นเงินสำรองประกันภัย

การประมาณราคา หรือมูลค่าของตราสารหนี้
ราคาหรือมูลค่าของตราสารหนี้ คือ มูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินที่จะได้รับจากดอกเบี้ยในงวดที่เหลืออยู่ และต้นเงินที่จะได้รับเมื่อครบกำหนดไถ่ถอน หรือเรียกว่าเป็นการคำนวณราคาหรือมูลค่าตามเวลา (Time Value of Money) อาจคำนวณได้คร่าวๆ ว่า ควรจะสูงหรือต่ำกว่าราคาที่ตราไว้ โดยการเปรียบเทียบระหว่างอัตราดอกเบี้ยในตลาด (อัตราผลตอบแทนที่ต้องการ) กับอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว (coupon) ตามตัวอย่าง ดังนี้
1. กรณีอัตราดอกเบี้ยในตลาดเท่ากับอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว ราคาของตราสารหนี้ควรเท่ากับราคาที่ตราไว้ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยในตลาด ณ ขณะนั้นเท่ากับอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้หน้าตั๋ว จึงไม่มีความแตกต่างของอัตราผลตอบแทนที่จะได้รับจากการซื้อตราสารหนี้กับการลงทุนประเภทอื่นๆ ในตลาดขณะนั้น
2. กรณีอัตราดอกเบี้ยในตลาดต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว ราคาของตราสารหนี้ควรจะสูงกว่ามูลค่าที่ตราไว้ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยในตลาด ณ ขณะนั้นต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้หน้าตั๋ว ผู้ซื้อจึงยอมจ่ายสูงกว่ามูลค่าที่ตราไว้ เพื่อจะได้รับดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ซึ่งสูงกว่าการลงทุนประเภทอื่นๆ ในตลาดขณะนั้นที่ให้ผลตอบแทนต่ำกว่า
3. กรณีอัตราดอกเบี้ยในตลาดสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว ราคาของตราสารหนี้ก็ควรจะต่ำกว่ามูลค่าที่ตราไว้ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยในตลาด ณ ขณะนั้นสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้หน้าตั๋ว ผู้ขายจึงต้องยอมขายต่ำกว่ามูลค่าที่ตราไว้ เพราะหากผู้ซื้อเลือกที่จะไปลงทุนประเภทอื่นๆ ในตลาดขณะนั้นจะได้รับผลตอบแทนซึ่งสูงกว่าดอกเบี้ยที่จะได้รับจากการถือกรรมสิทธิ์ในตราสารหนี้ที่กำหนดไว้ต่ำกว่า
ธุรกรรมเกี่ยวกับตราสารหนี้ภาครัฐ
ธนาคารแห่งประเทศไทยให้บริการเกี่ยวกับงานตราสารหนี้ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นนายทะเบียน ดังนี้
งานทะเบียนประวัติ เช่น เปลี่ยนแปลงสถานที่ติดต่อเปลี่ยนแปลงบัญชีที่รับดอกเบี้ย เปลี่ยนชื่อในตราสารหนี้ เปลี่ยนหรือเพิ่มผู้มีอำนาจจัดการตราสารหนี้ของผู้เยาว์
งานคำร้อง เช่น ขอออกตราสารหนี้ฉบับใหม่แทนฉบับที่สูญหายหรือชำรุด ขอแตกตราสารหนี้หรือขอยุบรวมตราสารหนี้ ขอย้ายการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ระหว่างสำนักงานของธนาคารแห่งประเทศไทย แจ้งอายัดและถอนอายัดตราสารหนี้ จัดการมรดก ขอหนังสือรับรองสถานะตราสารหนี้หรือการเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในตราสารหนี้ ขอใบแทนหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย
งานเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ เช่น โอนกรรมสิทธิ์ โอนเป็นหลักประกันสัญญากับส่วนราชการหรือองค์กรของรัฐ โอนถอนหลักประกันสัญญากับส่วนราชการหรือองค์กรของรัฐ จำนำ ถอนจำนำ ไถ่ถอนตราสารหนี้
ในการทำธุรกรรมตราสารหนี้ภาครัฐดังกล่าว เอกสารหลักๆ ที่จะต้องนำมาแสดง ได้แก่
  • เอกสารแสดงตน
    - กรณีบุคคลธรรมดา ได้แก่ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน บัตรประจำตัวข้าราชการหรือองค์กรของรัฐ
    - กรณีนิติบุคคล ได้แก่ หนังสือรับรองจากกระทรวงพาณิชย์ หนังสือแสดงความเป็นนิติบุคคลที่ออกโดยส่วนราชการ
  • ใบตราสารหนี้
  • สำเนาสมุดบัญชีเงินฝาก
  • หนังสือมอบอำนาจ กรณีที่ไม่สามารถมาติดต่อด้วยตนเอง ผู้มอบอำนาจต้องลงลายมือชื่อให้เหมือนกับตัวอย่างที่เคยให้ไว้กับธนาคารแห่งประเทศไทยและมอบบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงมาพร้อมกับหนังสือมอบอำนาจด้วย
ในการทำธุรกรรมตราสารหนี้ภาครัฐบางประเภทอาจต้องใช้เอกสารเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้น สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ส่วนตราสารหนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย โทรศัพท์ 0-2356-7899

การจ่ายดอกเบี้ย
ธนาคารแห่งประเทศไทยจะจ่ายดอกเบี้ยให้แก่ผู้ถือกรรมสิทธิ์ตามรายละเอียด ดังนี้
1. วันกำหนดจ่ายดอกเบี้ย อัตราดอกเบี้ย วิธีคำนวณดอกเบี้ย ตามประกาศของผู้ออกตราสารหนี้แต่ละรุ่น เช่น จ่ายปีละ 2 งวด งวดละเท่าๆ กัน หรือจ่ายปีละ 2 งวด คิดตามจำนวนวันในแต่ละงวด เป็นต้น
2. หากวันกำหนดจ่ายดอกเบี้ยตรงกับวันหยุดของผู้ออกตราสารหนี้ หรือวันหยุดของธนาคารแห่งประเทศไทย จะเลื่อนไปชำระในวันทำการถัดไป
3. โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคาร ตามที่ผู้ถือกรรมสิทธิ์ได้แจ้งไว้ (ยกเว้นบัญชีเงินฝากประจำ)
4. อาจมีค่าธรรมเนียมในการโอนเงินตามอัตราของแต่ละธนาคารกำหนด
5. หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ตามอัตราที่ประกาศในประมวลรัษฎากร ดังนี้
  • กรณีนักลงทุนในประเทศ
    บุคคลธรรมดา 15%
    - นิติบุคคล 1% (มูลนิธิที่ไม่ได้รับการยกเว้นภาษี หักภาษี ณ ที่จ่าย 10%)
  • กรณีนักลงทุนต่างประเทศ จะหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% หรือพิจารณาตามอนุสัญญาภาษีซ้อนที่อาจได้รับการยกเว้นหรือเสียภาษีในอัตราอื่น
ส่งหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย และใบนำส่งดอกเบี้ยให้ผู้ถือกรรมสิทธิ์ ทางไปรษณีย์ก่อนถึงวันกำหนดจ่ายดอกเบี้ย
การไถ่ถอนต้นเงิน
ธนาคารแห่งประเทศไทย จะจ่ายต้นเงินเมื่อครบกำหนดไถ่ถอนให้แก่ผู้ถือกรรมสิทธิ์ตามรายละเอียด ดังนี้
1. ผู้ถือกรรมสิทธิ์ดำเนินการไถ่ถอนต้นเงินตามประเภทตราสารหนี้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นนายทะเบียน ดังนี้
  • กรณีถือใบตราสาร (Scrip) ผู้ถือกรรมสิทธิ์ส่งเอกสารไถ่ถอน ได้แก่ คำขอรับคืนต้นเงินที่กรอกรายละเอียดแล้ว ใบตราสารหนี้ สำเนาสมุดบัญชีเงินฝาก และเอกสารแสดงตน เช่น สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากตามที่ผู้ถือกรรมสิทธิ์ระบุ
  • กรณีฝากไว้ที่ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (Scripless) ธนาคารแห่งประเทศไทยจะโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากตามที่ได้รับแจ้งจากศูนย์รับฝากหลักทรัพย์
2. โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝาก ตามที่ผู้ถือกรรมสิทธิ์ระบุ (ยกเว้นบัญชีเงินฝากประจำ)
3. ค่าธรรมเนียมการโอนเงิน กรณีโอนเงินตามปกติ อาจมีค่าธรรมเนียมในการโอนเงินตามอัตราของแต่ละธนาคารกำหนด และในกรณีโอนผ่านระบบบาทเนต ต้องเสียค่าธรรมเนียมตั้งแต่ 100-850 บาท
4. หากวันกำหนดจ่ายต้นเงินตรงกับวันหยุดของผู้ออกตราสารหนี้ หรือวันหยุดของธนาคารแห่งประเทศไทย จะเลื่อนไปชำระในวันทำการถัดไป

แท็กที่เกี่ยวข้อง
Money Guru
เขียนโดย เช็คราคา.คอม Money Guru

พูดคุยกับกูรูได้ที่



เว็บไซต์นี้มีการเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์ และช่วยให้เราปรับปรุง และนำเสนอเนื้อหาตรงตามความสนใจของท่าน ท่านสามารถดู Privacy Notice และ ดู Cookies Policy ของเราได้ ที่นี่ ทั้งนี้ ท่านจะยินยอมให้เราเก็บคุกกี้ทั้งหมด หรือให้เก็บแค่บางส่วนโดยการคลิกเลือก ตั้งค่า

ท่านสามารถเลือกให้ความยินยอมการเก็บคุกกี้เป็นเรื่องๆ ได้ที่นี่

เมื่อคุณเข้าชมเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่น checkraka เราอาจจัดเก็บ หรือดึงข้อมูลจากเบราว์เซอร์ของคุณในรูปแบบของคุกกี้ และเทคโนโลยีอื่นที่คล้ายคลึง เช่น tag และ pixel (เรียกรวมกันว่า “คุกกี้”) ซึ่งมักเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้โดยตรง แต่ช่วยให้คุณใช้งานเว็บไซต์ได้ปลอดภัย และตรงตามความต้องการมากขึ้น คุณอาจไม่ยินยอมให้เราเก็บคุกกี้บางประเภทได้ โดยการคลิกตามหัวข้อข้างล่างนี้

ประเภทคุกกี้
อ่านเพิ่มเติม ที่นี่
ยินยอม / ไม่ยินยอม
คุกกี้ที่จำเป็นต้องมีเสมอ
(Strictly Necessary)
คุกกี้สำหรับการใช้งานเว็บไซต์
(Functionality)
คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและวิเคราะห์
(Performance & Analytics)
คุกกี้เพื่อการตลาด
(Marketing)