รู้ทัน...เงินกู้นอกระบบ

icon 20 ก.พ. 58 icon 155,269
รู้ทัน...เงินกู้นอกระบบ

รู้ทัน...เงินกู้นอกระบบ
ยามที่มีปัญหาการเงิน ขอกู้เงินที่ไหนไม่ได้ จนต้องหันไปกู้หนี้นอกระบบ เพราะได้เงินเร็ว ไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องมีหลักประกันหรือมีคนค้ำ ซึ่งต่างจากการไปขอกู้กับสถาบันการเงินต่างๆ ที่ต้องใช้เอกสารมากมาย แถมยังต้องรอนานกว่าจะอนุมัติ ความสะดวกเหล่านี้ ทำให้หลายคนไม่ทันได้นึกถึงผลเสียที่ตามมาจากการตัดสินใจกู้เงินจากนอกระบบนี้
เงินกู้นอกระบบ...ดีหรือเสี่ยง

"เงินด่วนทันใจ รับเงินไวภายใน 5 นาที ดอกเบี้ยถูก ติดต่อเจ๊เคียว โทร. XXX"
หลังจากที่น้าชาติได้รับใบปลิวฉบับนี้มา ทำให้นึกถึงตู้เย็นที่อยากได้ขึ้นมาทันที จึงไม่รอช้ารีบติดต่อขอกู้เงิน 10,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่า เก็บเงินรายวัน วันละ 150 บาท เป็นเวลา 3 เดือน น้าชาติตัดสินใจรับเงื่อนไขทันที เพราะไม่ต้องจ่ายเงินก้อนโต แต่ลืมนึกถึงดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายว่าเป็นเงินเท่าไหร่
น้าชาติอาจเป็นเหมือนใครอีกหลายคนที่ตกเป็นเหยื่อการโฆษณาชวนเชื่อของพวกนายทุนเงินกู้นอกระบบที่มักจะล่อเหยื่อให้ติดกับดัก "ตัวเลขจำนวนน้อย" โดยไม่ทันคิดให้ถี่ถ้วนเพราะถ้าลองคำนวณอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่น้าชาติจะต้องจ่ายให้เจ๊เคียวแล้ว จะเท่ากับน้าชาติจ่ายคืนเงินทั้งหมด 13,500 บาท (150x90) ในเวลาเพียงสามเดือน ค่าดอกเบี้ยจะเท่ากับ 3,500 บาทจากเงินต้น 10,000 บาทหรือ 35% ซึ่งหากแปลงเป็นอัตราดอกเบี้ยต่อปี อย่างที่สถาบันการเงินทั่วไปคิดให้ลูกค้าแล้วจะสูงถึง 140% ต่อปีเลยทีเดียว ( (35/3) x 12 = 140 )
รู้เท่าตามทัน...เล่ห์เหลี่ยมนายทุนเงินกู้

จากเรื่องราวของน้าชาติสะท้อนให้เห็นเล่ห์เหลี่ยมของนายทุนเงินกู้ที่พร้อมจะตักตวงผลประโยชน์จากลูกหนี้อย่างไร้มนุษยธรรม
ตามไปดูกันว่า "หนี้นอกระบบ" เป็นอย่างไร และเล่ห์เหลี่ยมของพวกนายทุนเหล่านี้มีอะไรกันบ้าง
หนี้นอกระบบ เป็นหนี้ที่ผู้ให้กู้ไม่อยู่ในระบบสถาบันการเงิน หรือเป็นผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจให้กู้เงินตามกฎหมาย โดยมักจะคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด (ร้อยละ 15)
  • ใส่ตัวเลขน้อยๆ เพื่อจูงใจให้กู้ เช่น บอกตัวเลขดอกเบี้ยที่ดูเหมือนว่าจะน้อยกว่าดอกเบี้ยเงินกู้ของสถาบันการเงิน แต่เอาเข้าจริงๆ แล้วดอกเบี้ยแพงมหาโหด เพราะเขามักจะไม่ได้บอกเราก่อนว่า คิดดอกเบี้ยต่อวัน ต่อเดือน หรือต่อปี และมักจะบอกจำนวนเงินที่จ่ายเป็นรายวัน เพื่อให้ดูน้อยเข้าไว้ คนจะได้อยากกู้มากๆ
  • คิดดอกแบบคงที่ตลอดปีตลอดชาติ นอกจากอัตราดอกเบี้ยที่แสนแพงแล้ว การคิดดอกเบี้ยคงที่ ยังทำให้ลูกหนี้ต้องจ่ายดอกเบี้ยมากกว่าการคิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก เพราะดอกเบี้ยจะคิดจากเงินต้นที่กู้ทั้งก้อน แม้ลูกหนี้จะทยอยจ่ายคืนหนี้ทุกเดือนก็ตาม
  • บีบให้ทำสัญญาเงินกู้เกินจริง เช่น กู้ 10,000 บาท แต่สัญญาเขียน 30,000 บาท ถ้าไม่ยอมก็ไม่ให้เงิน 
  • ทวงหนี้โหด ตามที่เป็นข่าวกันหลายต่อหลายครั้งกับวิธีการทวงหนี้แบบแปลกๆ ไม่เฉพาะขู่ หรือประจานให้ได้อายเท่านั้น แต่ถึงขั้นทำร้ายร่างกายกันก็มี 
  • หลีกเลี่ยงการให้กู้โดยตรง โดยให้คนอื่นปล่อยกู้แทนอีกหลายทอด หรือให้ลูกหนี้ที่ต้องการกู้เงินไปซื้อสินค้า เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ด้วยบัตรเงินผ่อนแล้วนำมาขายต่อให้นายทุนในราคาส่วนลด เช่น สินค้าราคา 20,000 บาท จะรับซื้อที่ 17,000 บาท นายทุนได้สินค้าราคาถูกไปขายต่อขณะที่ลูกหนี้นอกจากจะได้เงินสดไม่เต็มจำนวน เพราะจ่ายดอกเบี้ยล่วงหน้าไป 3,000 บาทแล้ว ยังต้องมาผ่อนดอกเบี้ยในส่วนของบัตรเงินผ่อนที่ยอดเงิน 20,000 บาทอีกด้วย
6 วิธี...หนีห่างหนี้นอกระบบ

คุณสามารถที่จะถอยห่างจากวงจรหนี้นอกระบบได้ โดย...
  1. วางแผนการเงินล่วงหน้า คำนึงถึงค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น เช่น ค่าเล่าเรียนลูก และออมเงินเผื่อยามฉุกเฉิน เมื่อจำเป็นก็สามารถนำมาใช้ได้โดยไม่ต้องพึ่งเงินกู้นอกระบบ 
  2. คิดให้ดีก่อนตัดสินใจ "ก่อหนี้" ลองคิดทบทวนดูว่า จำเป็นต้องใช้เงินจริงๆ หรือไม่ และจะสามารถชำระหนี้ทั้งหมดได้หรือไม่ 
  3. หยุด "ใช้เงินเกินตัว" และเรียนรู้ที่จะจดบันทึกรายรับรายจ่ายประจำวัน เพื่อวางแผนการใช้เงินอย่างเหมาะสมกับรายได้และความจำเป็น 
  4. ศึกษารายละเอียดผู้ให้กู้ดีๆ หากต้องกู้ควรดูว่า ผู้ให้กู้นั้นน่าเชื่อถือหรือไม่ มีเงื่อนไขการชำระเงินหรืออัตราดอกเบี้ยที่เข้าข่ายเป็นเงินกู้นอกระบบหรือไม่ 
  5. เลือกกู้เงินในระบบ จะดีกว่าหากจำเป็นต้องกู้จริงๆ เพราะนอกจากจะมีหน่วยงานภาครัฐคอยดูแลแล้ว ยังระบุดอกเบี้ยในสัญญาชัดเจนและเป็นธรรมกว่ามาก 
  6. ใส่ใจในรายละเอียดสัญญาเงินกู้ให้มาก โดย
    - ไม่เซ็นสัญญาเงินกู้ ที่ยังไม่กรอกข้อความหรือจำนวนเงินเด็ดขาด
    - วงเงินกู้ที่ระบุในสัญญาต้องตรงกับความเป็นจริง และเขียนจำนวนเงินเป็นตัวหนังสือกำกับไว้เสมอ
    - ควรมีสัญญาคู่ฉบับอีก 1 ฉบับเก็บไว้กับตัว เพื่อเป็นหลักฐานการกู้
    - หากต้องนำทรัพย์สินไปเป็นหลักประกัน ควรทำสัญญาจำนองแทนการทำสัญญาขายฝาก เพราะการขายฝาก ถ้าผู้กู้ไม่มาไถ่คืนหลักประกันภายในเวลาที่ตกลงกัน กรรมสิทธิ์จะตกไปยังเจ้าหน้าที่ทันที แต่การจำนองคือการนำทรัพย์สินมาเป็นประกัน หากไม่ชำระเมื่อถึงกำหนด เจ้าหนี้จะบังคับจำนองโดยการฟ้องต่อศาล

ปลดล็อก "หนี้นอกระบบ" ก่อนสาย
หากคุณได้กู้เงินนอกระบบมาแล้ว ให้รีบหาเงินมาชำระหนี้ทั้งหมด อาจหาแหล่งเงินกู้ในระบบซึ่งคิดดอกเบี้ยถูกกว่ามาเพื่อปลดหนี้นอกระบบก็ได้ แต่ถ้าหาเงินกู้ในระบบไม่ได้ อาจต้องยอมสละขายทรัพย์สินบางส่วน เพื่อรักษาทรัพย์ส่วนใหญ่ไว้ดีกว่าที่จะปล่อยให้ดอกเบี้ยพอกพูนจนไม่สามารถชำระหนี้ได้ แล้วค่อยออมเพื่อซื้อสินทรัพย์กลับมาใหม่
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Money Guru
เขียนโดย เช็คราคา.คอม Money Guru

พูดคุยกับกูรูได้ที่




เว็บไซต์นี้มีการเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์ และช่วยให้เราปรับปรุง และนำเสนอเนื้อหาตรงตามความสนใจของท่าน ท่านสามารถดู Privacy Notice และ ดู Cookies Policy ของเราได้ ที่นี่ ทั้งนี้ ท่านจะยินยอมให้เราเก็บคุกกี้ทั้งหมด หรือให้เก็บแค่บางส่วนโดยการคลิกเลือก ตั้งค่า

ท่านสามารถเลือกให้ความยินยอมการเก็บคุกกี้เป็นเรื่องๆ ได้ที่นี่

เมื่อคุณเข้าชมเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่น checkraka เราอาจจัดเก็บ หรือดึงข้อมูลจากเบราว์เซอร์ของคุณในรูปแบบของคุกกี้ และเทคโนโลยีอื่นที่คล้ายคลึง เช่น tag และ pixel (เรียกรวมกันว่า “คุกกี้”) ซึ่งมักเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้โดยตรง แต่ช่วยให้คุณใช้งานเว็บไซต์ได้ปลอดภัย และตรงตามความต้องการมากขึ้น คุณอาจไม่ยินยอมให้เราเก็บคุกกี้บางประเภทได้ โดยการคลิกตามหัวข้อข้างล่างนี้

ประเภทคุกกี้
อ่านเพิ่มเติม ที่นี่
ยินยอม / ไม่ยินยอม
คุกกี้ที่จำเป็นต้องมีเสมอ
(Strictly Necessary)
คุกกี้สำหรับการใช้งานเว็บไซต์
(Functionality)
คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและวิเคราะห์
(Performance & Analytics)
คุกกี้เพื่อการตลาด
(Marketing)