ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย และ เอไอเอส สนับสนุนการสร้างทักษะทางเทคโนโลยีให้กับพนักงาน และส่งต่อแรงบันดาลใจในการสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การทำงาน ผ่าน Microsoft Power Platform แพลตฟอร์มเพื่อการพัฒนาระบบงานอัตโนมัติต่างๆ โดยไม่ต้องเขียนโค้ดเป็นจำนวนมาก (low code / no code) นอกจากมอบโอกาสให้พนักงานที่เชี่ยวชาญในแต่ละสายงานได้ลงมือพัฒนาเครื่องมือใหม่ๆ กับทีมงานในแผนก เพื่อเสริมศักยภาพการทำงานให้มีประสิทธิภาพแล้ว บุคลากรของเอไอเอสยังสามารถเปลี่ยนขั้นตอนการทำงานในหลายส่วนให้เป็นระบบอัตโนมัติ ลดเวลาในการทำงานซ้ำซ้อน ลดความซับซ้อนของระบบงาน และเพิ่มคุณค่าให้พนักงานได้ร่วมขับเคลื่อนองค์กรอย่างรอบด้าน ภายใต้ความร่วมมือนี้ เอไอเอสได้จัดโครงการ AIS Cognitive Hack ขึ้น โดยมุ่งให้ความรู้ พัฒนาพนักงานให้สามารถใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มของไมโครซอฟท์ ผ่านการแข่งขันที่ยกระดับความสามารถ พร้อมเร่งเครื่องให้บุคลากรก้าวสู่สังคมแห่ง "Citizen Developers" ที่ใครก็สร้างนวัตกรรมได้
นายศุภชัย พานิชายุนนท์ (ซ้าย) รักษาการหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เอไอเอส และนายปวิช ใจชื่น (ขวา) รองกรรมการผู้จัดการ สายงานกลุ่มธุรกิจพันธมิตร บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด
ในโอกาสนี้ เอไอเอส ได้ประกาศผลทีมผู้ชนะเลิศจากการแข่งขัน AIS Cognitive Hack ได้แก่ ทีม REN-NE จากผลงานการสร้าง แอป AI ด้วย Power Automate ให้ตอบโจทย์ด้านการประหยัดพลังงาน ส่วนทีมรองชนะเลิศ ได้แก่ ทีม Go Future จากผลงานการสร้างแอป AI มาช่วยขั้นตอนตรวจสอบเอกสาร ควบคู่กับการฝึกสอนให้ AI เข้าใจลักษณะภาพของอุปกรณ์โครงข่ายบรอดแบรนด์ประจำที่ (fixed broadband) จึงช่วยลดเวลาในการทำงานเอกสารที่ซ้ำซ้อนกันได้ถึง 90% โดยที่การแข่งขันครั้งนี้ มีพนักงานของเอไอเอสเข้าร่วมประลองไอเดียกว่า 1,000 คน เกิดเป็นผลงานและกรณีศึกษามากกว่า 500 ชิ้น
นายศุภชัย พานิชายุนนท์ รักษาการหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เอไอเอส กล่าวว่า "ผมดีใจมากที่ได้เห็นพนักงานเอไอเอสจำนวนมากเข้าร่วมการแข่งขัน AIS Cognitive Hack ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของเราในการก้าวสู่การเป็น Cognitive Tech-Co ด้วยการลงมือสร้างแอปและปรับเปลี่ยนขั้นตอนการทำงานให้เป็นระบบอัตโนมัติ ด้วยฝีมือของคนทำงานตัวจริง ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมาย 2 ประการของเอไอเอส คือ เสริมขีดความสามารถของบุคลากร และมอบประสบการณ์บริการที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้า เพราะโครงการ AIS Cognitive Hack เปิดโอกาสให้พนักงานได้เรียนรู้และฝึกฝนทักษะเกี่ยวกับการใช้งาน Microsoft Power Platform เพื่อทำให้กระบวนการทำงานอัตโนมัติบรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้"
สองทีมผู้ชนะจากโครงการ AIS Cognitive Hack
"การแข่งขัน AIS Cognitive Hack มีเป้าหมายเพื่อให้พนักงานเอไอเอสมีส่วนร่วมในการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงาน ยกระดับให้เป็น Cognitive Automation เพื่อเสริมทักษะพนักงานให้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี Automation และ AI โดยเราเชื่อมั่นอย่างยิ่งในเรื่องการพัฒนา Citizen Developer ในกลุ่มพนักงานที่เป็นผู้ปฏิบัติงานจริง เพื่อให้พนักงานได้สร้างเทคโนโลยี พัฒนาทักษะการทำงาน และแก้ไขปัญหาในแต่ละขั้นตอนได้จริง การสนับสนุนพนักงานให้แก้ปัญหาต่าง ๆ สำเร็จด้วยตัวเองอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ร่วมงานคนอื่น ๆ ที่ไม่มีความรู้หรือความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาโปรแกรมให้กลายเป็นแนวร่วมและกล้าลุกขึ้นมาทำในแบบเดียวกัน ยิ่งไปกว่านั้น การพัฒนาองค์กรในแนวทางนี้ยังสอดคล้องกับการปรับตัวเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากทั้งภายในและภายนอกองค์กร ซึ่งจะช่วยให้บุคลากรด้านไอทีมีเวลาไปแก้ปัญหาที่ยุ่งยากและซับซ้อนขององค์กรมากขึ้นกว่าเดิม"
นายปวิช ใจชื่น รองกรรมการผู้จัดการ สายงานกลุ่มธุรกิจพันธมิตร บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า "ไมโครซอฟท์และเอไอเอสได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ในฐานะ Strategic Partner โดยมีความตั้งใจที่จะขับเคลื่อนให้องค์กรและธุรกิจไทยได้เข้าถึงศักยภาพของคลาวด์และ AI อย่างเต็มที่มากยิ่งขึ้น เราจึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่นวัตกรรมอย่าง Power Platform ได้รับความไว้วางใจจากเอไอเอสให้เป็นฟันเฟืองสำคัญ ทั้งในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและการส่งเสริมพัฒนาทักษะของพนักงานในทุกสายงานให้ยกระดับเป็นนวัตกรประจำองค์กรอย่างเต็มรูปแบบ ด้วยเครื่องมือแบบ low code / no code ซึ่งไม่เพียงเกิดประโยชน์ให้กับเอไอเอสเองเท่านั้น แต่ยังเปิดประตูไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า และเสริมสร้างศักยภาพเชิงดิจิทัลของประเทศไทยให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในปัจจุบันและอนาคต"
สมาชิกทีม REN-NE ผู้ชนะการแข่งขันในโครงการ AIS Cognitive Hack
REN-NE ทีมผู้ชนะการแข่งขันโครงการ AIS Cognitive Hack เจ้าของผลงานการนำ AI มาช่วยให้บริษัทประหยัดค่าไฟโดยมีสมาชิกทั้งหมด 3 คน ได้แก่ นายธนกร หอประเสริฐวงศ์ วิศวกรอาวุโส นายเชาวณัท สำกำปัง วิศวกรผู้เชี่ยวชาญ และนายพัชรพล สาสุข วิศวกรผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ดูแลศูนย์ข้อมูลของเอไอเอสที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยตัวแทนของทีมกล่าวว่า "เรามองเห็นว่า ค่าใช้จ่ายของเอไอเอสที่มากเป็นอันดับหนึ่งคือค่าไฟถึง 40% เราจึงช่วยกันคิดค้นหาวิธีการลดต้นทุนค่าไฟลงจากเดิมให้ได้ 1-2% ด้วยการติดตั้งมิเตอร์แบบ TOU (Time of Use) ที่สถานีฐานกว่า 25,000 แห่ง โดยใช้ AI มาช่วย คำนวณการใช้ไฟและความเสี่ยงในหลายๆ ปัจจัย เพื่อตัดสินใจว่าว่าสถานีฐานใดควรใช้แบตเตอรี่ที่สถานีฐานชาร์จไฟฟ้าเก็บไว้ในช่วงเวลากลางคืนหลัง 22.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่ค่าไฟมีราคาต่ำ เพื่อนำมาใช้แทนไฟฟ้าในช่วงเวลาหลัก ซึ่งเป็นช่วงที่ค่าไฟมีราคาสูง แนวคิดนี้ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ไม่เพียงลดค่าใช้จ่ายของบริษัทลง แต่ยังช่วยประหยัดพลังงานได้อีกด้วย เราหวังว่าผลงานของทีมเราจะช่วยจุดประกายในการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ ด้วยแพลตฟอร์มการพัฒนาแบบ Low-Code ของไมโครซอฟท์ ที่เปิดโอกาสให้คนที่ไม่ได้มีความรู้หรือความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาโปรแกรมก้าวสู่การเป็น Citizen Developer ได้เช่นกัน"
สมาชิกทีม Go Future รองชนะเลิศการแข่งขันในโครงการ AIS Cognitive Hack
ขณะที่ Go Future ทีมรองชนะเลิศจากการแข่งขัน ซึ่งเป็นทีมวิศวกรด้านโครงข่ายบรอดแบรนด์ของเอไอเอส ประจำภาคกลาง ประกอบด้วยสมาชิก 3 คน ได้แก่ นายภูมิ หอมจันทร์ วิศวกรผู้เชี่ยวชาญ นางสาวสิริมา เที่ยงรอด วิศวกรอาวุโส (ฝ่ายวางแผนงาน) และนายกฤตภาส ฉัตรเสถียรพงศ์ วิศวกรอาวุโส (ฝ่ายติดตั้งและบำรุงรักษา) เจ้าของผลงานการใช้ AI มาช่วยตัดสินใจในขั้นตอนตรวจสอบเอกสารเกี่ยวกับโครงข่ายบรอดแบรนด์ประจำที่ (Fixed Broadband) ซึ่งช่วยลดเวลาในการทำงานซ้ำซ้อนลงอย่างมาก โดยตัวแทนของทีมกล่าวว่า "ผลงานนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากการเข้าร่วมอบรมในโครงการ Cognitive Automation ของเอไอเอสที่ทำให้รู้ว่า AI สามารถช่วยอะไรเราได้บ้าง ในฐานะที่ทีมเราทำงานเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการดูแลด้านบรอดแบนด์ เราจึงตระหนักดีว่าการวางโครงข่ายนั้นมีความสำคัญกับประสบการณ์ของลูกค้ามาก การทำงานจึงต้องแข่งกับเวลาเพื่อให้ลูกค้าของ AIS ใช้งานได้ไม่มีสะดุด เราจึงนำ AI มาปรับใช้กับหน้าที่การงานที่ทำอยู่ ในการช่วยแก้ปัญหาขั้นตอนการตรวจสอบเอกสาร FBOQ (Final Bill of Quantity) ที่มีความซับซ้อน ใช้เวลาค่อนข้างนาน และต้องใช้ความละเอียดรอบคอบอย่างมาก โดยเอกสารเหล่านี้จะมาจากคู่ค้า เราจึงเกิดความคิดในการนำ AI Object Detection มาช่วยในการตรวจสอบเอกสารเพื่อให้ขั้นตอนการทำงานมีความรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น ทำให้จากเดิมที่ใช้เวลาตรวจสอบเอกสารวันละ 6 ชั่วโมง เหลือเพียงไม่เกินวันละ 1 ชั่วโมงเท่านั้น ส่งผลให้การทำงานของเอไอเอสกับคู่ค้าเป็นไปอย่างเรียบร้อยและแม่นยำขึ้น ทั้งหมดนี้นับเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของเอไอเอส เพิ่มความมั่นใจให้คู่ค้าที่ทำงานกับเรา"
Microsoft Power Platform เป็นแพลตฟอร์มเพื่อการพัฒนาแอป เว็บไซต์ และเครื่องมือต่างๆ ในรูปแบบ Low-Code ซึ่งใช้งานง่าย เปิดให้นำบริการ ข้อมูล และทรัพยากรต่างๆ ในองค์กรมาผสานกัน เพื่อเพิ่มศักยภาพให้ทุกคนในองค์กรสามารถสร้างโซลูชันที่มีประสิทธิภาพและยืดหยุ่นได้อย่างง่ายดาย ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์หรือค้นหาข้อมูลเชิงลึกจากหลากหลายแหล่ง การสร้างแอปพลิเคชันที่ตอบโจทย์ความท้าทายทางธุรกิจโดยไม่ต้องเขียนโค้ดเป็นจำนวนมาก การช่วยตอบคำถามจากลูกค้าหรือพนักงานภายในองค์กรด้วยแชตบอท และยังรวมถึงการปรับปรุงระบบงาน ให้รวดเร็วและราบรื่นขึ้นด้วย Power Automate ที่จะช่วยให้งานในขั้นตอนที่ต้องทำซ้ำ ๆ เป็นประจำกลายเป็นเรื่องอัตโนมัติอย่างง่ายดาย