โลกของการเงินดิจิทัลยังคงก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง แต่ดูเหมือนปัจจุบันยังมีกำแพงใหญ่ขวางหน้าอยู่ จนทำให้เราวนเวียนกับคริปโต โทเคน NFT (Non-Fungible Token) และเทคนิคการเงินแบบแปลกๆ แต่ยังคงมีคำถามกับมูลค่าที่เป็นจริงของมัน
กิตตินันท์ อนุพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอนนี่แวร์ ทู โก จำกัด และผู้ร่วมก่อตั้ง Claim Di
“ราคาพวกนี้มันอิงจากอะไรกันแน่ หรือเพียงแค่อารมณ์ หรือการปั่นราคา?” คือคำถามที่เราเจอบ่อยมากจากโลกการเงินแบบใหม่
NFT ในโลกปัจจุบันนั้นกลายเป็นตลาดของนักสะสม ภาพของงานศิลป์ งานวรรณกรรม ฯลฯ ถึงแม้จะสร้างมาจากฐานของเทคโนโลยีกับความคิดสร้างสรรค์จนกลายเป็นผลงานเฉพาะตัวที่มีเพียงหนึ่ง สุดท้ายก็กลายเป็นเวทีให้นักปั่นทั้งหลายเข้ามาซื้อเพื่อเก็งกำไรโดยที่ไม่มีเรื่องการใช้งานจริงในหัวแต่อย่างใด เราจึงมีภาพลิง ภาพแมว แปลกประหลาดเกิดขึ้นมากมายในตลาด บางส่วนก็ขายลอยๆ บางส่วนก็เอาไปผูกกับเกม หรือโลกเสมือนจริงอื่นๆ
หรือว่าข้อจำกัดของโลกการเงินแบบใหม่ที่ว่าไม่ให้ผูกติดกับกฎเกณฑ์ธุรกิจ และเงื่อนไขภาครัฐ ในโลกเดิม ทำให้มุมมองของ Blockchain ที่วางไว้ง่ายๆ แค่ให้ติดต่อกันได้แบบหนึ่งต่อหนึ่ง ถูกวางเงื่อนไขใหม่จนไม่สามารถนำมาใช้ได้ในโลกความเป็นจริง
นั่นทำให้โลกของ NFT ถึงทางตัน จนไปไม่ได้ไกลเกินกว่านี้อีกแล้วหรือ?
โดยพื้นฐานแล้วการสร้าง NFT ก็เหมือนกับการสร้างไฟล์ดิจิทัลทั่วไปนั่นแหละ แต่ที่สร้างมูลค่าก็คือ แต่ละไฟล์ต้องไม่เหมือนกัน มีความแตกต่าง และมีหนึ่งเดียว ถ้าเป็นไฟล์โหลๆ ที่คัดลอกกันได้ มันก็จะหมดมูลค่าลงไป
คำถามคือ นอกจากไฟล์ศิลปะ จะมีอะไรที่มีเพียงหนึ่งเดียว ไม่ซ้ำกัน พอที่จะมีมูลค่านำไปสู่การซื้อขายได้อีกหละ
พวกเราลืมอะไรกันไปหรือเปล่า มนุษย์ หรือ Human นี่แหละคือยูนิค เป็นหนึ่งเดียวที่ไม่มีการซ้ำกันเลย แต่เราคงขายมนุษย์ไปเป็นทาสในยุคนี้คงไม่ได้ อย่างไรก็ตามเราขายข้อมูลส่วนตัวของเราได้ ซึ่งความจริงข้อมูลส่วนตัวของเราถูกนำไปซื้อขายมาเป็นเวลานานแล้ว เพียงแต่เจ้าของข้อมูลไม่ได้มีส่วนรู้เห็นหรือได้รับผลประโยชน์แต่อย่างใด พวกเราถูกละเมิดมาอย่างยาวนานเพราะมีคนเก็บข้อมูลของเรา พวกเขาขายมัน แล้วก็มีคนเอาข้อมูลเหล่านั้นมาสร้างความรำคาญให้เราในรูปแบบต่างๆ หรือไม่ก็เอาข้อมูลเราไปรวมกับข้อมูลคนอื่นแล้ววิเคราะห์จนออกมาเป็นพฤติกรรม เราเรียกมันว่า “พฤติกรรมผู้บริโภค” นำไปสู่การสร้างแผนการตลาดรองรับข้อมูลที่ได้นั่นเอง
ว่าไปแล้วข้อมูลส่วนตัวของผู้บริโภค ถูกเก็บโดยองค์กรต่างๆ ที่ให้บริการกับคนทั่วไปมาอย่างยาวนาน จนเราต้องมีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA มาคุ้มครองอย่างตอนนี้กันอย่างไรเล่า บางรายได้ข้อมูลแล้วไม่ได้เอาไปทำอะไรมากมาย บางรายเรียกหาข้อมูลจำนวนมากก่อนที่เราจะไปขอใช้บริการเขา บางรายก็ใช้ต้นทุนจำนวนมากในการจัดเก็บ บางรายก็ปล่อยปละละเลยข้อมูลเหล่านี้ จนถึงกระทั่งถูกขโมยข้อมูลยังไม่รู้ตัว ฯลฯ สุดท้ายโลกของข้อมูลส่วนบุคคลในปัจจุบันก็คือ เราปล่อยให้ผู้บริการเป็นคนจัดเก็บ ส่วนผู้บริโภคเองไม่มีโอกาสในการเก็บและใช้ประโยชน์จากข้อมูลส่วนตัวได้เลย
ถ้า NFT ไม่ใช่แค่รูปลิง รูปแมว แต่เป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่ทุกคนต่างก็จัดเก็บส่วนตัวเอาไว้ โลกจะเปลี่ยนไปแบบหน้ามือเป็นหลังเท้า
เมื่อถึงวันนั้นทันทีที่เราเข้าร้านกาแฟ เราจะเก็บข้อมูลในทุกมิติ เช่น เข้าร้านแบรนด์อะไร สั่งอะไร ราคาเท่าไหร่ เวลาอะไร ซื้อแบบกลับบ้านหรือนั่งทานในร้าน ชอบหวานมากหรือหวานน้อย ซื้อแบบเงินสดหรือสแกนจ่าย ฯลฯ ข้อมูลเหล่านี้อาจแทบไม่มีประโยชน์กับเจ้าของข้อมูลเลย แต่มีองค์กรธุรกิจมากมายที่ตาลุกวาว อยากได้ข้อมูลเหล่านี้
มิติของการเก็บข้อมูลในรูปแบบ NFT จะเกิดความหลากหลาย เกิดความแตกต่าง ข้อมูลมีการอัพเกรดตลอดเวลา เพียงแต่ว่าจะทำอย่างไรให้บุคคลธรรมดาทั่วๆไป เห็นความสำคัญในการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลเหล่านี้ด้วยตัวเอง
ปัจจัยที่จะสร้าง NFT เป็นข้อมูลส่วนบุคคลก็คือ
- ต้องมีแอพที่ใช้งานง่าย ติดตัวผู้ใช้ตลอดเวลา
- ต้องมีผลประโยชน์หรือแรงจูงใจที่ทำให้ทุกคนยอมเก็บ
- ระบบ ecosystem จนสร้าง demand และ supply เกิดขึ้นได้อย่างเป็นจริง หรือคือเกิดตลาดสมบูรณ์เกิดขึ้น
- มีเงินดิจิทัลที่เหมาะสม เป็นเครื่องมือขับเคลื่อน
จริงๆ ทุกอย่างที่ต้องการมีพร้อมอยู่แล้วในตลาดปัจจุบัน เพียงแต่บางคนเห็น หลายคนไม่เห็นนั่นเอง
เมื่อมาถึงขั้นนี้ ข้อมูลส่วนบุคคลก็จะพัฒนาเป็น Bureau ที่เราคุ้นเคยก็เรื่องการเงิน เพราะหลักฐานทางการเงินมันดูเก็บง่ายและมีประโยชน์มากสุดในช่วงที่ผ่านมา แต่ต่อไปมันจะเป็น Bureau ทั้งชีวิต ซึ่งทุกคนมีสิทธิ์เลือกได้ว่าเราจะเก็บชีวิตส่วนไหน ไม่เก็บชีวิตส่วนไหน
แน่นอนเทคโนโลยีมันก็เป็นดาบสองคม มีประโยชน์และมีโทษ มันไม่มีอะไรสมบูรณ์ในโลกของความเป็นจริง เพียงแต่ครั้งนี้มันมอบการตัดสินใจมาไว้ที่เจ้าของทั้งหมด ผิดจากเทคโนโลยีก่อนๆ ที่เจ้าของไม่มีสิทธิ์ตัดสินใจอะไรเลย แล้วปล่อยให้ชีวิตของตัวเองขึ้นกับความเอาใจใส่ที่มากพอของคนอื่น ยังไงมันก็ดีกว่าเดิมเป็นร้อยเท่าพันเท่า
หากคาดการณ์ในอนาคตว่า อีกห้าปีต่อจากนี้ ทุกคนจะสร้าง NFT ส่วนตัวขึ้นมา อย่างน้อย 80% ในโลกนี้ต้องมี คงมีอะไรหลายอย่างที่จะถูก disrupt หรือถูกลบล้างจากโลกความเป็นจริงธุรกิจตัวกลางมากมายจะเปลี่ยนรูปโฉมไปเหมือนความตั้งใจของ Blockchain ที่จะเปลี่ยนโลกให้เป็น decentralize
เหรียญ หรือโทเคน มากมายหลายรูปแบบจะเข้ามาเป็นสกุลเงินเพื่อจะใช้แลกเปลี่ยน NFT เหล่านี้ และ NFT ของแต่ละคนจะมีมูลค่าไม่เหมือนกัน เช่น ข้อมูลของคนขับรถแย่ มีประวัติการชน และเปลี่ยนประกันทุกปี ข้อมูลของเขาจะถูกเมินจากบริษัทประกันทั่วไป แต่เขาจะได้รับความสนใจจากผู้ผลิตเบรก หรืออะไหล่รถยนต์ยี่ห้อรถที่เขาใช้อยู่แทน นี่คือโลกของความแตกต่างที่จะเกิดขึ้น
คำถามสุดท้าย ใครจะเป็นคนสร้างมันขึ้นมา สร้างขึ้นมาแล้วจะผูกขาดแพลตฟอร์มเหมือนเฟซบุ๊กหรือไม่ แล้วคนไทยมีสิทธิ์สร้างมันขึ้นมาใช้กันเองได้หรือไม่ คำตอบคือเทคโนโลยีตัวนี้สร้างไม่ยาก โอกาสผูกขาดมีไม่มาก ยิ่งไม่ผูกขาดระบบนี้จะยิ่งเติบโต แต่ถ้าผูกขาดระบบก็จะด้อยค่าตัวเองลง ที่สำคัญผู้ประกอบการคนไทยสามารถร่วมมือกันสร้างขึ้นมาใช้กันเองได้แน่นอน และน่าจะเริ่มเห็นใช้กันได้ในปีหน้า
บทสรุปที่แทบจะแจ่มแจ้งของโลก NFT แม้จะเล่าให้ทุกคนฟังหมดไม่ได้ แต่เชื่อแน่ว่าภาพอนาคตอันใกล้จะตอบคำถามด้วยตัวมันเอง