TikTok ประกาศเปิดตัว Digital Literacy Hub ศูนย์รวมการใช้เทคโนโลยีและสื่อดิจิทัลอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ใหม่ล่าสุดในแพลตฟอร์ม TikTok ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นในการสร้างสุขภาวะทางดิจิทัลที่ดีอย่างต่อเนื่อง
TikTok มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ใช้สร้างสุขภาวะทางดิจิทัลให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง ซึ่งการเปิดศูนย์รวมการใช้เทคโนโลยีและสื่อดิจิทัลอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ (Digital Literacy Hub) สำหรับประเทศไทย จะมาพร้อมกับแคมเปญการรณรงค์ #พื้นที่ปลอดภัยในการไถฟีด โดยร่วมมือกับมูลนิธิอินเทอร์เน็ตเพื่อการพัฒนาประเทศไทย COFACT และ HUG Project เพื่อสนับสนุนให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงฟีเจอร์ด้านความปลอดภัยที่มีอยู่เพื่อปกป้องตนเองและผู้อื่นทางออนไลน์ และสร้างสุขภาวะทางดิจิทัลให้แก่ผู้ใช้
แคมเปญการรณรงค์ #พื้นที่ปลอดภัยในการไถฟีด มีวัตถุประสงค์ในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในด้านความปลอดภัยบนโลกดิจิทัลให้กับคนไทย โดยเชิญชวนให้ผู้ใช้ 'หยุด คิด ตัดสินใจ และลงมือทำ' ด้วยการกำหนดประเภทของเนื้อหาที่อาจจะทำให้เกิดอันตรายแก่ผู้เยาว์ในโลกออนไลน์ อาทิ ความเสี่ยงจากการถูกแสวงหาผลประโยชน์ในโลกออนไลน์ การเข้าถึงยาเสพติด การมีส่วนร่วมในชาเลนจ์ที่เป็นอันตราย และพิจารณาว่าควรส่งต่อ แบ่งปัน หรือรายงานหากพบเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมต่อความปลอดภัยของชุมชนหรือไม่ นอกจากนี้ ยังมีการสร้างแบบทดสอบง่ายๆ เพื่อทดสอบความรู้เกี่ยวกับการรักษาชุมชนให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน พร้อมทั้งร่วมมือกับบรรดา Creator แบ่งปันเทคนิคการสร้าง #พื้นที่ปลอดภัยในการไถฟีด ในแบบฉบับของตัวเอง โดย creator จะเชิญชวนและสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ใช้ผ่านแนวคิด "ทุกคนสามารถทำได้" เพื่อกระตุ้นและสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมในการสร้างชุมชนเชิงบวก และสร้างสุขภาวะทางดิจิทัลให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง
"TikTok มุ่งมั่นในการสร้างพื้นที่ดิจิทัลที่น่าเชื่อถือเพื่อส่งเสริมการเติบโต และเรากำลังทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อเสริมทรัพยากรด้านความปลอดภัยของเราเพื่อสนับสนุนและเพิ่มขีดความสามารถของประสบการณ์เหล่านี้" ชนิดา คล้ายพันธ์, Head of Public Policy - Thailand, TikTok กล่าว "ด้วยศูนย์รวมการใช้เทคโนโลยีและสื่อดิจิทัลอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ (Digital Literacy Hub) ที่จัดตั้งขึ้นใหม่และ #พื้นที่ปลอดภัยในการไถฟีด รวมถึงแคมเปญอื่นๆ ที่จะตามมา TikTok ได้ปรับแนวทางเพื่อให้เหมาะกับความต้องการและความท้าทายในบริบทของประเทศไทย ซึ่งเราเล็งเห็นถึงโอกาสในการในส่งเสริมเนื้อหาเกี่ยวข้องกับสุขภาวะและความปลอดภัยในโลกดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น การกลั่นแกล้งบนไซเบอร์ (CyberBullying) ข้อมูลที่มีเนื้อหาบิดเบือน (Misinformation) ในขณะที่ทรัพยากรด้านสุขภาวะดิจิทัล จะถูกนำเข้ามาบนแฟลตฟอร์มมากขึ้นเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ใช้มีเครื่องมือในการรับมือกับภูมิทัศน์ดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา"
ส่วนหนึ่งของความพยายามในการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งข้อมูลความรู้ดิจิทัลให้มากขึ้น TikTok ยังได้เสริมมาตรการป้องกันกาาร่วมชาเลนจ์ออนไลน์ที่อาจเป็นอันตราย ด้วยเทคโนโลยีที่จะแจ้งเตือนทีมความปลอดภัยทันทีหากมีการสร้างเนื้อหาที่เชื่อมโยงแฮชแท็กที่มีการละเมิด อีกทั้งยังมีความคิดริเริ่มที่จะจำกัดการใช้งานสำหรับผู้ใช้ที่อายุต่ำกว่า 16 ปีเพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาจะได้รับประสบการณ์ที่เหมาะสมกับวัยอีกด้วย
ผู้ใช้สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับศูนย์รวมการใช้เทคโนโลยีและสื่อดิจิทัลอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ (Digital Literacy Hub) สำหรับประเทศไทยได้ที่นี่ และร่วมแคมเปญการรณรงค์ได้ที่ #พื้นที่ปลอดภัยในการไถฟีด