มือถือรุ่นใหม่เดี๋ยวนี้ มักจะมาพร้อมกับค่า
มาตรฐาน IP ที่บอกถึงระดับการป้องกันฝุ่นและน้ำของรุ่นนั้นๆ เช่น IP54, IP64, IP68 ซึ่งจะเห็นได้ว่ามือถือแต่ละรุ่นนั้น มีค่าตัวเลขต่อท้าย IP ที่แตกต่างกันออกไป ตัวเลขเหล่านี้คืออะไร? มีความหมายอย่างไร? เรามาหาคำตอบกันค่ะ
(มีข้อสงสัยเรื่องไอที แชทคุยกับทีมกูรูของเราแบบตัว-ตัวได้ที่นี่เลยนะ >> https://page.line.me/uht3147t) เริ่มต้นกันที่ IP IP หรือ Ingress Protection เป็นค่ามาตรฐานการป้องกันของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จากสิ่งแวดล้อมภายนอก ที่กำหนดขึ้นโดย International Electrotechnical Commission (IEC) เพื่อระบุว่าอุปกรณ์นั้น ผ่านมาตรฐาน IEC 60529 ระดับใด
ตัวเลข 2 หลัก ตัวเลขต่อท้าย IP สองตัวที่เราเห็น เป็นค่าบอกถึงความสามารถในการป้องกันของอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งไม่เฉพาะแค่มือถือเท่านั้น เครื่องชาร์จแบตเตอรี่ สวิตช์ไฟ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ก็ใช้มาตรฐานนี้เช่นเดียวกัน
ตัวเลขตัวที่ 1 แสดงถึงการป้องกันของแข็ง (ฝุ่น) โดยใช้ 0 - 6 เป็นตัวบอกระดับความสามารถในการป้องกัน ในขณะที่ตัวเลขที่ 2 แสดงระดับการป้องกันของเหลว (น้ำ) ที่ใช้ตัวเลข 0 - 9 เป็นตัวบอกระดับการป้องกัน
ระดับการป้องกันของแข็ง (ฝุ่น)
0 — ไม่สามารถป้องกันได้
1 — ป้องกันของแข็ง ขนาดตั้งแต่ 50 มม. ขึ้นไป
2 — ป้องกันของแข็ง ขนาดตั้งแต่ 12.5 มม. ขึ้นไป
3 — ป้องกันของแข็ง ขนาดตั้งแต่ 2.5 มม. ขึ้นไป
4 — ป้องกันของแข็ง ขนาดตั้งแต่ 1 มม. ขึ้นไป
5 — ป้องกันฝุ่นละอองได้
6 — ป้องกันฝุ่นละอองได้ทั้งหมด
ระดับการป้องกันของเหลว (น้ำ)
0 — ไม่สามารถป้องกันได้
1 — ป้องกันน้ำที่ตกกระทบตัวอุปกรณ์ในแนวดิ่ง
2 — ป้องกันน้ำที่ตกกระทบตัวอุปกรณ์ในแนวเฉียง ทำมุมไม่เกิน 15°
3 — ป้องกันละอองน้ำที่ตกกระทบตัวอุปกรณ์ในแนวเฉียง ทำมุมไม่เกิน 60°
4 — ป้องกันน้ำกระเซ็นใส่ตัวอุปกรณ์ได้จากทุกทิศทาง
5 — ป้องกันตัวอุปกรณ์จากการฉีดด้วยน้ำแรงดันต่ำได้จากทุกทิศทาง
6 — ป้องกันตัวอุปกรณ์จากการฉีดด้วยน้ำแรงดันสูงได้จากทุกทิศทาง
7 — ป้องกันน้ำเข้าจากการจุ่มน้ำลึกไม่เกิน 1 เมตร สูงสุด 30 นาที
8 — ป้องกันน้ำเข้าจากการจุ่มน้ำลึก 1 เมตร (ไม่เกิน 3 เมตร) สูงสุด 30 นาที
9 — ป้องกันน้ำแรงดันสูงที่อุณหภูมิไม่เกิน 80°C
ตัวอย่างการอ่านค่า IP ขอยกตัวอย่างด้วย
OPPO Find X5 Pro มือถือเรือธงจากออปโป้ ที่มาพร้อมมาตรฐาน IP68 ซึ่งหมายความว่ามือถือรุ่นนี้สามารถกันของฝุ่นได้ทั้งหมด และกันน้ำเข้าจากการจุ่มน้ำลึกสุด 1 เมตร (ไม่เกิน 3 เมตร) ในเวลาไม่เกิน 30 นาที
ทั้งนี้ แม้ว่ามือถือของเราจะมาพร้อมกับ
มาตรฐาน IP แล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะเอามือถือหรืออุปกรณ์ของเราวางแช่น้ำไว้เป็นชั่วโมงๆ ได้ ข้อควรปฏิบัติคือต้องรีบทำให้แห้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เครื่องเกิดความชื้นและหยดน้ำ เพราะอาจทำให้วงจรภายในเสียหายได้ ส่วนใครที่มือถือไม่กันน้ำ แต่ดันทำน้ำหกใส่ ต้องทำอย่างไร? สามารถทำตามทริกนี้ได้เลยค่ะ
— โทรศัพท์มือถือไม่กันน้ำ แต่ดันน้ำเข้าเพราะ "สงกรานต์" ในปี 2023 ควรทำไงดี?