การปิดกิจการแบบไม่ทันตั้งตัวของ Silicon Valley Bank (SVB) กำลังได้รับความสนใจจากผู้คนในแวดวงเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก โดยตอนนี้ธนาคารกลางของสหรัฐฯ (FED) ได้เข้ามาช่วยเหลือลูกค้าด้วยการจัดตั้งกองทุนพิเศษสำรอง (Bank Term Funding Program) เพื่อให้ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการปิดธุรกิจสามารถเข้าถึงเงินของตนเองต่อได้
ถึงแม้ตอนนี้จะผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากการหายไปของ SVB จะยังไม่ส่งผลมายังประเทศไทยมากนัก แต่จากเหตุการณ์ดังกล่าว ก็เชื่อว่าน่าจะมีหลายคนอยากรู้จักที่มาที่ไปของเหตุการณ์ครั้งนี้กันสักหน่อย ว่าเหตุใดธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดธุรกิจใหญ่เป็นอันดับ 16 ของสหรัฐฯ แถมยังเป็นธนาคารเพื่อบริษัทเทคโนโลยีด้วย ถึงพลาดท่าต้องปิดตัวลงแบบรวดเร็วเช่นนี้ ไปย้อนรอยเหตุการณ์นี้พร้อมกันครับ
เกิดอะไรขึ้นกับ Silicon Valley Bank (SVB)
SVB เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดธุรกิจใหญ่เป็นอันดับ 16 ของสหรัฐฯ และเป็นธนาคารแห่งธุรกิจเทคโนโลยีของอาณาจักร "Silicon Valley" เนื่องจากเป็นธนาคารที่วางตำแหน่งของตัวเองให้เป็นธนาคารเพื่อธุรกิจบริษัทเทคโนโลยี Start up และ Venture Capital โดยเฉพาะ ซึ่งมีลูกค้าบริษัทในด้านนี้คิดเป็นอัตราส่วนมากถึง 44% จากลูกค้ากลุ่มธุรกิจทั้งหมด
โดยปกติแล้วธนาคารพาณิชย์ทั่วไปจะดำเนินธุรกิจด้วยการรับเงินฝาก และปล่อยกู้ให้กับบริษัทหรือบุคคลตามแผนการการลงทุนของธนาคารที่หลากหลาย เช่น สินเชื่อธุรกิจ, สินเชื่อเช่าซื้อรถ, สินเชื่อบุคคล และอื่น ๆ หลายอย่าง แต่สำหรับ SVB ด้วยนโยบายการวางตัวให้เป็นธนาคารสำหรับธุรกิจบริษัทเทคโนโลยี Start up โดยเฉพาะ จึงทำให้ธนาคารต้องพึ่งพาลูกค้าในกลุ่มนี้เป็นหลัก
ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ปล่อยกู้ในระดับต่ำ ประกอบกับบริษัทธุรกิจเหล่านี้ไม่ค่อยมีแผนขยายธุรกิจบ่อยครั้ง จึงทำให้ธนาคารต้องหาช่องทางในการเพิ่มสภาพคล่องมากขึ้น พันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้ระยะยาวจึงเป็นทางเลือกที่ทาง SVB เลือกใช้ แต่แล้วทุกอย่างก็ไม่ได้เป็นไปตามคาดหวังไว้ เมื่อธนาคารกลางของสหรัฐฯ ประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดอัตราเงินเฟ้อของประเทศไม่ให้ขยับขึ้น แต่พันธบัตรที่ SVB ได้เข้าลงทุนไว้กลับปรับตัวลงอย่างรุนแรง
ยังไม่พอ! ลูกค้าธุรกิจบริษัทที่เป็นรายได้หลักของธนาคารก็กำลังเผชิญหน้ากับการระดมทุนได้ยากขึ้น จนต้องเริ่มถอนเงินออกไปเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับธุรกิจหลายรายพร้อมกัน ทำให้ทาง SVB ต้องรักษาสภาพคล่องทางการเงิน จึงจำเป็นจะต้องขายพันธบัตรที่ลงทุนไว้แบบขาดทุน เพราะเป็นการขายก่อนกำหนด จนนำไปสู่การขาดสภาพคล่องของธนาคารอย่างรุนแรง ไม่มีเงินให้ลูกค้าถอนได้ และถูกธนาคารกลางสหรัฐฯ สั่งยกเลิกการดำเนินธุรกิจในที่สุด
ผลกระทบการหายไปของ Silicon Valley Bank (SVB) กับธุรกิจเทคโนโลยี
นักธุรกิจรวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนหลายคน มองว่าการหายไปของ SVB ครั้งนี้จะไม่ส่งผลกับเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารพาณิชย์เป็นวงกว้าง เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นหลายคนมองว่าเป็นเรื่องของการขาดสภาพคล่องเท่านั้น แต่ในด้านของธุรกิจเทคโนโลยีในสหรัฐฯ สำหรับธุรกิจบริษัทใหญ่อาจได้รับผลกระทบด้านความเชื่อมั่นบ้าง แต่สำหรับธุรกิจเทคโนโลยีขนาดเล็กน่าจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก ทั้งในแง่ของแหล่งทุนที่หายไป และความเชื่อมั่นจากนักลงทุนที่เริ่มมีการขายหุ้นบางบริษัทออกไปบางแล้ว
ทั้งหมดนี้ก็เป็นการย้อนไทม์ไลน์ให้เพื่อน ๆ ที่สนใจ ได้ทราบที่มาที่ไปในการปิดตัวลงของธนาคาร Silicon Valley Bank ธนาคารแห่งธุรกิจเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ที่ตอนนี้มีรายงานว่า ถูกธนาคาร HSBC UK เข้าซื้อกิจการต่อในราคาเพียง 1 ปอนด์ หรือประมาณ 42 บาท เท่านั้น!!