ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 พ.ร.บ. ข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA จะถูกบังคับใช้อย่างเป็นทางการในประเทศไทย ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในด้านความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลของคนไทยทุกคนโดยเฉพาะในยุค "ดิจิทัล" ที่มีการเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ได้เร็วเพียงแค่ปลายนิ้ว และแน่นอนว่า "สมาร์ตโฟน" ก็เป็นหนึ่งในอุปกรณ์สำคัญและเกี่ยวกับ PDPA โดยตรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะนอกจากจะเป็นอุปกรณ์ที่หลายคนเลือกใช้เก็บข้อมูลส่วนบุคคลไว้แล้ว ด้วยคุณสมบัติและความสามารถของตัวสมาร์ตโฟน ถ้าหากนำไปใช้งานโดยไม่ระมัดระวังและไม่รู้จัก PDPA เบื้องต้น คุณอาจโดนฟ้องด้านกฏหมายโดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้!
PDPA คืออะไร?
PDPA ย่อมาจาก Personal Data Protection Act เป็นพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยมีเป้าหมายคุ้มครองปกป้องข้อมูลส่วนตัวของทุกคน และควบคุมหน่วยงานองค์กรต่าง ๆ ที่จะนำข้อมูลส่วนตัวของเราไปใช้ประโยชน์ให้เป็นไปอย่างถูกต้องปลอดภัยจากการยินยอมของเจ้าของหรือตัวเราเอง ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป
ทำไมต้องมี PDPA ?
ความจริงแล้วเรื่องของ PDPA เกิดขึ้นและมีเรื่องราวมานานมากแล้วในสังคมทั้งไทยและเทศ เพราะ "ความเป็นส่วนตัว" คือ สิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน เพียงแต่ในประเทศไทยเรายังไม่มีข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับด้านนี้โดยตรง ดังนั้นพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในครั้งนี้ จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นในด้าน Personal Data อย่างเป็นทางการก็ว่าได้ โดยวัตถุประสงค์ก็เพื่อใช้ปกป้องและคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนคนไทยทุกคนจากการถูกนำไปใช้โดยไม่ถูกต้องหรือไม่ได้รับการยินยอม
4 คำถามยอดนิยมเกี่ยวกับ PDPA
1. การถ่ายรูป-ถ่ายคลิป ติดภาพคนอื่นโดยเจ้าตัวไม่ยินยอมจะผิด PDPA
ตอบ : กรณีการถ่ายรูป-ถ่ายคลิปโดยติดบุคคลอื่นโดยผู้ถ่ายรูป-ถ่ายคลิปไม่เจตนา และการถ่ายรูปถ่ายคลิปดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายกับผู้ถูกถ่าย สามารถทำได้ หากเป็นการใช้เพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว
2. ถ้านำคลิปหรือรูปถ่ายที่ติดคนอื่นไปโพสต์ในโซเชียลมีเดียโดยบุคคลอื่นไม่ยินยอมจะผิด PDPA
ตอบ : สามารถโพสท์ได้ หากใช้เพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว ไม่ใช้แสวงหากำไรทางการค้าและไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล
3. ติดกล้องวงจรปิดแล้วไม่มีป้ายแจ้งเตือนผิด PDPA
ตอบ : การติดกล้องวงจรปิด ภายในบ้าน ไม่จำเป็นต้องมีป้ายแจ้งเตือน หากเพื่อป้องกันอาชญากรรม และรักษาความปลอดภัยกับตัวเจ้าของบ้าน
4. เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลต้องให้ความยินยอมทุกครั้งก่อนนำข้อมูลไปใช้
ตอบ : ไม่จำเป็น ต้องขอความยินยอม หากการใช้ข้อมูลดังกล่าว (1) เป็นการทำตามสัญญา (2) เป็นการใช้ที่มีกฎหมายให้อำนาจ (3) เป็นการใช้เพื่อรักษาชีวิตและ/หรือ ร่างกายของบุคคล (4) เป็นการใช้เพื่อการค้นคว้าวิจัยทางสถิติ (5) เป็นการใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ (6) เป็นการใช้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ หรือสิทธิของตนเอง
หมายเหตุ
- ทั้งนี้ หลักการข้างต้น อาจเปลี่ยนแปลงตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเป็นกรณีๆไป
- PDPA = พรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มาตรา 4(1) การเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่ทำการเก็บข้อมูลเพื่อประโยชน์ส่วนตน หรือเพื่อกิจกรรมในครอบครัวของบุคคลนั้นเท่านั้น
ข้อมูลเพิ่มเติมจาก : PDPA Thailand