[Techno Vocab] รู้ศัพท์ไอที 1 : Refresh Rate คืออะไร?
ทุกวันนี้เราน่าจะได้ยินคำว่า "รีเฟรช เรท" (Refresh Rate) ของสมาร์ตโฟนที่หลาย ๆ แบรนด์ต่างชูขึ้นมาเป็นจุดขายกันบ่อยขึ้น จนตอนนี้น่าจะเรียกได้ว่าเป็นมาตรฐานใหม่ในวงการสมาร์ตโฟนที่ถ้าไม่มีค่ารีเฟรชเรทตัวเลขสูง ๆ มาให้ สมาร์ตโฟนรุ่นนั้นก็อาจจะโดนปัดตกจากลิสต์ เพราะโดนเข้าใจว่าไม่เจ๋งพอไปซะแล้ว ซึ่งหลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่าไอ้เจ้าค่ารีเฟรชเรทที่มีตัวเลขสูง ๆ คืออะไร? มีประโยชน์อย่างไรบ้าง? และถ้าจะซื้อสมาร์ตโฟนมาใช้สักเครื่อง อัตรารีเฟรชเรทหน้าจอมีความจำเป็นมากน้อยขนาดไหน? วันนี้ Mobile GURU Thailand ขอพาทุกคนมาทำความรู้จักไปพร้อม ๆ กันในบทความนี้ค่ะ
Refresh Rate คืออะไร?
จริง ๆ แล้วค่า Refresh Rate ไม่ได้มีเฉพาะแค่ในสมาร์ตโฟนเท่านั้นนะคะ เพราะในอุปกรณ์ส่งภาพทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นจอคอมพิวเตอร์ จอทีวี และจอสมาร์ตโฟน ต่างก็มีรายละเอียดสเปกค่า Refresh Rate ของหน้าจอทั้งนั้น โดย Refresh Rate คือ ค่าที่บอกเราได้ว่าหน้าจอนั้น ๆ สามารถแสดงผลภาพ (Frame Rate) ได้กี่ภาพภายใน 1 วินาที ซึ่งเราจะวัดค่าเป็นหน่วยของรีเฟรชเรทนี้เป็นเฮิร์ต (Hz) ค่ะ
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าบังเอิญเดินไปเจอสมาร์ตโฟนรุ่นหนึ่งที่เขียนบอกรายละเอียดไว้ว่า อัตรารีเฟรชเรท 90Hz จะตีความหมายได้ว่าสมาร์ตโฟนรุ่นนี้สามารถแสดงผลภาพได้สูงสุดที่ 90 ภาพต่อวินาที หรือถ้าเดินต่อไปเจอสมาร์ตโฟนที่เขียนบรรยายสรรพคุณไว้ว่า อัตรารีเฟรชเรท 144Hz ก็หมายความว่าหน้าจอของสมาร์ตโฟนรุ่นนี้ รองรับการแสดงผลภาพได้สูงสุดถึง 144 ภาพต่อวินาทีเลยทีเดียว
ความแตกต่างระหว่าง Refresh Rate และ Frame Rate?
จากข้อมูลข้างต้น เราจะพบว่ามีคำศัพท์หลัก ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกันถึง 2 คำ ด้วยกัน คือ Refresh Rate และ Frame Rate ซึ่งทั้งสองคำมีความเกี่ยวข้องกันค่อนข้างใกล้ชิด จึงอาจทำให้เกิดความสับสนได้ ดังนั้นขอแยกเป็นคำอธิบายไว้ให้เข้าใจง่าย ๆ ดังนี้ค่ะ
คำศัพท์ | หน่วยวัดค่า | ความหมาย (ตัวอย่าง) |
Refresh Rate | เฮิร์ต (Hertz หรือ Hz) | คุณสมบัติของหน้าจอ ตัวอย่าง : 120Hz - หน้าจอมีคุณสมบัติรองรับการแสดงผลภาพ 120 ครั้งต่อวินาที หรือ 120 frames per second (fps) |
Frame Rate | เฟรมต่อวินาที (frames per second) | คุณสมบัติของคอนเทนต์ที่แสดงบนหน้าจอ ตัวอย่าง : 120 frames per second (120fps) - คอนเทนต์ (วิดีโอหรือเกม) สามารถแสดงผลภาพบนหน้าจอได้สูงสุดที่ 120 ครั้งต่อวินาที |
ซึ่งถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายกว่านั้นอีกก็คือ Refresh Rate จะเป็นการพูดเกี่ยวกับอุปกรณ์ที่แสดงผล ส่วน Frame Rate จะเป็นการพูดเกี่ยวกับตัวคอนเทนต์ ซึ่งก็คือ ไฟล์วิดีโอ ไฟล์เกม หรือไฟล์ภาพเคลื่อนไหวต่าง ๆ นั่นเองค่ะ
และสิ่งสำคัญคือ อัตรารีเฟรชเรทของหน้าจอ และเฟรมเรทของคอนเทนต์ ควรมีค่าที่สอดคล้องกัน จึงจะทำให้สามารถแสดงผลได้ดีที่สุด เช่น ถ้าเราเลือกซื้อสมาร์ตโฟนเครื่องใหม่มาใช้ โดยที่มีอัตรารีเฟรชเรทหน้าจอทั่วไป 60Hz ในขณะที่เราเลือกชมคอนเทนต์วิดีโอหรือเล่นเกมที่มีเฟรมเรทสูง 120fps ภาพก็จะถูกปรับการแสดงผลลงมาที่ 60Hz เท่านั้น
หน้าจอ Refresh Rate สูง มีประโยชน์อย่างไร?
ถ้าเจาะชัด ๆ ในส่วนของสมาร์ตโฟนที่มีค่ารีเฟรชเรทหน้าจอสูง ๆ ก็คือ การแสดงผลภาพที่ลื่นไหลและดูสมูทยิ่งขึ้น นั่นหมายความว่า ยิ่งค่า Refresh Rate ยิ่งตัวเลขเยอะเท่าไหร่ การแสดงผลภาพก็จะยิ่งดีขึ้นตามไปด้วย ซึ่งผู้ใช้งานจะสังเกตได้จากความลื่นไหลในระหว่างการเปิด-ปิด / การใช้แอปพลิเคชัน การชมคอนเทนต์วิดีโอ หรือแม้แต่การสไลด์หน้าจอ ที่แบรนด์สมาร์ทโฟนหลาย ๆ เจ้ามักนำมาใช้เป็นภาพเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างกันแบบชัด ๆ
และในขณะเดียวกัน อย่างที่ได้เกริ่นไปก่อนหน้านี้แล้วว่า คุณสมบัติของหน้าจอ (Refresh Rate) และคุณสมบัติของคอนเทนต์ (Frame Rate) ควรมีค่าที่สัมพันธ์กัน จึงจะทำให้เกิดประสิทธิผลที่ดีที่สุด
หน้าจอ Refresh Rate สูง จำเป็นแค่ไหน?
สำหรับคนที่ชอบเล่นเกมบนสมาร์ตโฟนที่รองรับค่าเฟรมเรทสูง ๆ และไม่มีข้อจำกัดด้านงบประมาณมากนัก ซึ่งปัจจุบันสมาร์ตโฟนที่รองรับค่ารีเฟรชเรทสูง ๆ ก็ปรับราคาถูกลงเสียจนน่าซื้อ ซึ่งถ้าใครไม่ติดรายละเอียดสเปกอื่น ๆ ก็เชียร์ให้ซื้อรุ่นที่รองรับค่า Refresh Rate สูง ๆ ไว้เลยดีค่ะ ส่วนใครที่คิดว่ายังไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้สมาร์ตโฟนจอที่มีรีเฟรชเรทสูง ๆ หรือเล่นเกมที่รองรับเฟรมเรทสูงไม่สูงอยู่แล้ว ก็พูดได้ว่าไม่ต้องนำมาเป็นจุดสำคัญในการพิจารณาซื้อก็ได้