");
รีวิว ASUS ROG Phone II สมาร์ทโฟนเกมมิ่งขั้นสุด Snapdragon 855 Plus พร้อมแบตเตอรี่ 6000mAh
ปล่อยให้รอกันอยู่นานหลายเดือน ล่าสุดทาง เอซุส ประเทศไทย ก็ได้ฤกษ์นำ
ASUS ROG Phone II สมาร์ทโฟนเกมมิ่งพรีเมียมรุ่นล่าสุดของพวกเขาเข้าสู่ตลาดไทยสักที และยังคงมาพร้อมกับอุปกรณ์เสริม (Gears) อีกหลากหลายเหมือนตอนรุ่นหนึ่งด้วยเช่นกัน แต่ครั้งนี้พิเศษตรงที่ทางเอซุส ได้ทำการปรับปรุงรายละเอียดในจุดที่ผู้ใช้งานรุ่นแรกฟีดแบ็คกลับมาให้ดียิ่งขึ้นด้วย ตรงนี้ก็ขอชมเอซุสว่าใส่ใจลูกค้ามากๆ ครับ
ในขณะที่ด้านตัวเครื่องของ ROG Phone II ถึงแม้ภายนอกเกือบ 80% ยังคงมีความคล้ายกับรุ่นแรกอยู่ แต่ในส่วนของรายละเอียดมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลายส่วนอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะในเรื่องของซอฟต์แวร์ที่มีการพัฒนากันขึ้นมาใหม่ถึงระดับโครงสร้าง Android Framework เลยทีเดียว ส่วนรายละเอียดในจุดอื่นๆ รวมถึงประสิทธิภาพการใช้งาน การตอบสนอง และรุ่นนี้ความน่าซื้อคืออะไร จุดขายอยู่ตรงไหน ทั้งหมดนี้ผมขอเล่าไปพร้อมกับบทความรีวิวพร้อมกันเลยแล้วกันนะครับ
กล่องของ ROG Phone II ยังคงมาแบบอลังการงานสร้างเหมือนเดิม โดยตัวกล่องมาในทรงปริซึม (Prism) ห้าเหลี่ยม พร้อมเล่นลวดลาย ROG บนพื้นผิวของกล่อง เมื่อสไลด์ออกมาจะพบกับอุปกรณ์ภายในกล่อง ดังนี้
- ตัวเครื่อง ROG Phone II
- พัดลม Aero ActiveCooler II
- เคสตัวเครื่อง
- คู่มือการใช้งานเบื้องต้น
- จุกยางพอร์ตด้านข้างตัวเครื่อง สำรอง 2 อัน
- ยางสำหรับแปะกับพัดลม Aero ActiveCooler เพื่อใช้เป็นฐานตั้งตัวเครื่อง 2 อัน
- สายชาร์จ USB-C (ตัวสายเป็นแบบด้ายถัก)
- อแดปเตอร์ชาร์จไฟ (HyperCharge 30 W)
สเปกตัวเครื่อง ROG Phone II
รายละเอียดสเปกตัวเครื่อง ROG Phone II
- หน้าจอแสดงผล AMOLED ขนาด 6.59 นิ้ว ความละเอียด 2340x1080 พิกเซล (HDR10+, Refresh rate 120Hz, DCI-P3 108%)
- CPU Octa-core Qualcomm Snapdragon 855+
- GPU Adreno 640
- RAM 12GB (LPDDR4X)
- ROM 512GB (UFS3.0)
- กล้องถ่ายรูป Dual camera ความละเอียด 48+13 ล้านพิกเซล (Main F1.8 + UltraWide F2.4) พร้อมไฟแฟลช Dual LED
- กล้องหน้าความละเอียด 24 ล้านพิกเซล (F2.2)
- Android OS 9.0 Pie with ROG UI
- ระบบสแกนนิ้วมือใต้หน้าจอ, ปลดล็อคด้วยใบหน้า
- รองรับซิมการ์ด Dual SIM
- รองรับ WiFi 802.11 a/b/g/n/ac/ad (WiGig)
- รองรับระบบเครือข่าย CA LTE Cat 18
- รองรับระบบ 4X4 MIMO
- Bluetooth 5.0
- ลำโพงเสียงสเตอริโอ
- ระบบเสียง DTS X Ultra, HeadPhone DTS X, Hi-Res 192kHz / 24bit DAC
- ฟีเจอร์สำหรับเล่นเกม : Air Triggers, Game Genie
- อุปกรณ์เสริมสำหรับเล่นเกม 7 อย่าง
- แบตเตอรี่ 6000 mAh (รองรับ HyperCharge 30W)
ROG Phone II มาพร้อมดีไซน์ตัวเครื่องที่คล้ายกับรุ่นแรกแต่ไม่ทั้งหมด เพราะในรุ่นที่สองนี้ทางเอซุสได้มีการปรับปรุงรายละเอียดในเรื่องของเส้นสายตัวเครื่องให้ดูเรียบหรูมากขึ้นจากรุ่นแรก รวมถึงมีการจัดวางแทบระบายความร้อนบนฝาหลังใหม่ โดยเน้นใช้หลักการ Aero Dynamic หรือการใช้แรงลมช่วยระบายความร้อนเข้ามาช่วยลดอุณหภูมิที่เกิดจากการใช้งานตัวเครื่องให้ดีขึ้น
เปรียบเทียบมิติตัวเครื่อง
- ROG Phone I : กว้าง 76.16 x สูง 158.83 x หนา 8.3 มิลลิเมตร และมีน้ำหนักรวม 200 กรัม
- ROG Phone II : กว้าง 77.60 x สูง 170.99 x หนา 9.48 มิลลิเมตร และมีน้ำหนักรวม 240 กรัม
ด้านหน้าตัวเครื่อง มาพร้อมหน้าจอแสดงผล AMOLED ขนาด 6.59 นิ้ว ความละเอียดระดับ FullHD+ ครอบทับด้วยกระจกกันรอย Corning Gorilla Glass 6 ตัวหน้าจอแสดงผลมีอัตรา Refresh rate 120Hz, รองรับ HDR10+ และสามารถแสดงผลของสีสันได้คมชัด สดใส และแม่นยำด้วยค่าสี DCI-P3 108%, Delta-E <1 รวมทั้งยังมีอัตราการตอบสนองต่อการทัช (Responsive rate) ในระดับ 1ms อีกด้วย
เหนือหน้าจอขึ้นไปด้านบน มีกล้องหน้าความละเอียด 24 ล้านพิกเซล (F2.2) และลำโพงเสียงที่เป็นทั้งลำโพงสำหรับสนทนา และเป็นลำโพงเสียงตัวเครื่องทำงานร่วมกับลำโพงตัวล่างตัวเครื่องขับเสียงสเตอริโอ
ด้านล่างตัวเครื่อง มีรูเสียบหูฟังขนาด 3.5 มิลลิเมตร, พอร์ตเชื่อมต่อ USB-C
ด้านซ้ายตัวเครื่อง เมื่อแกะจุกยางออกมา จะมีช่องเชื่อมต่อแบบ 48 pin + USB-C อันที่สอง ซึ่งพอร์ตนี้ทางเอซุสออกแบบมา ให้ใช้งานร่วมกับพัดลม Aero Cooling II ที่แถมมาให้ในกล่อง ทำให้สามารถชาร์จไฟและใช้งานพัดลมได้พร้อมกัน สะดวกมากๆ เวลาเล่นเกม เพราะไม่ต้องไปชาร์จที่ตูดตัวเครื่องให้เกะกะเวลาถือเล่น
ด้านขวาตัวเครื่อง มีปุ่มกดปรับระดับเสียงเพิ่ม-ลด (Volume) และปุ่มเปิด-ปิด ตัวเครื่อง (Power)
ด้านหลังตัวเครื่อง มีกล้องถ่ายรูป Dual camera ความละเอียด 48+13 ล้านพิกเซล (Main + UltraWide) พร้อมไฟแฟลช Dual LED ส่วนไฟอีกอันเป็น ROG Aura Sync สำหรับใช้งานร่วมกับเคสอุปกรณ์เสริม ทำให้แสดงไฟ RGB เหมือนบนตัวเครื่องได้ ในขณะที่ด้านขวาจะมีแถบระบายความร้อน ซึ่งได้รับการออกแบบใหม่ให้เหลือแทบเดียว แต่ระบายความร้อนได้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับรุ่นแรก
ROG UI Base on Android OS 9.0 Pie
ด้านซอฟต์แวร์ ROG Phone II ยังคงใช้ ROG UI ที่เป็น Exclusive design ของ ROG Phone II ที่ทางเอซุสออกแบบมาโดยเฉพาะเป็นส่วนอินเทอร์เฟซ (UI) ครอบทับลงไปบน Android OS 9.0 เหมือนรุ่นแรก โดยความพิเศษของ ROG UI นอกจากมาพร้อมธีม ลูกเล่น หรือภาพพื้นหลังที่เป็นเอกสิทธิ์เฉพาะของ ROG แล้ว ทางเอซุสยังนำฟีเจอร์ของ ROG Series บน Notebook อย่าง X Mode โหมดสำหรับการปรับแต่งฮาร์ดแวร์มาใช้งานบน ROG Phone II ด้วย ทำให้เราสามารถเลือกดูสถานะของชิปประมวลผล, กราฟฟิกการ์ด, อุณหภูมิ หรือการทำงานของหน่วยความจำทั้ง RAM และ ROM แบบเรียลไทม์ได้
ส่วนใครที่ไม่ชอบความดุดันของ ROG UI ที่ติดเครื่องมาให้ ทางเอซุสเขาได้ใส่ Zen UI ซึ่งเป็นอินเทอร์เฟซที่อยู่บน Zenfone Series มาให้ด้วยนะ สามารถเข้าไปเลือกปรับกันได้ พอปรับแล้วก็ดูเบาลงพอสมควร ในขณะที่ภาพรวมของ ROG UI การใช้งานต่างๆ ไม่ได้ใช้งานยุ่งยากอะไรเลยครับ ถึงแม้ภายนอกอาจดูแบบนั้นเพราะความเป็นเกมมิ่งโฟน แต่จริงๆ แล้วการใช้งาน การเรียกเมนูต่างๆ เหมือนใช้งานบนสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์หรือ Zenfone เลยล่ะ
ฟีเจอร์เด่นบน ROG UI Base on Android OS 9.0
- Display Refresh rate 120Hz
หนึ่งในไฮไลท์ของ ROG Phone II คือ การที่มาพร้อมหน้าจอแสดงผล Refresh rate สูงสุดถึง 120Hz ทำให้เราสามารถรับชมคอนเทนท์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการดูหนัง ดูคลิปวีดีโอ ดูสตรีมมิ่งวีดีโอ หรือเล่นเกม ได้อรรถรสขั้นสุดเสมือนมีสมาร์ททีวีดีๆ เครื่องหนึ่งติดตัวอยู่ตลอดเวลาเลยก็ว่าได้ครับ เพราะการที่มีจอแสดงผลที่รองรับอัตราการตอบสนองของหน้าจอที่สูงขนาดนี้ส่งผลให้เราสามารถรับชมภาพหรือสื่อต่างๆ ผ่านหน้าจอได้สมูธและเนียนตามากๆ
Motion ของภาพจะต่อเนื่อง ความเบลอของภาพที่เกิดจากการเคลื่อนที่ก็จะน้อยลงไปด้วยนั่นเอง ส่วนใครที่กังวลว่าถ้าเปิดต่อเนื่องจะเปลืองแบตเตอรี่ ตรงจุดนี้เราสามารถเลือกปรับการแสดงผล Refresh rate ได้ตามใจชอบครับ ไม่จำเป็นต้องแสดง 120Hz ตลอดเวลาก็ได้ และนอกจากนี้ ROG Phone II ยังรองรับการแสดงผลแบบ Always on Panel หรือโหมดพักหน้าจอ ที่จะแสดงเวลาบนหน้าล็อคสกรีนเมื่อตัวเครื่องสลีปได้ด้วยนะ
- In-display fingerprint - Face Unlock
ทางเอซุสได้เลือกใช้ระบบความปลอดภัยต่อข้อมูลบนตัวเครื่อง ด้วยการใส่ระบบสแกนนิ้วมือบนหน้าจอ และปลดล็อคหน้าจอด้วยใบหน้ามาให้เป็นทางเลือกในการยืนยันตัวตน เพิ่มเติมจากการใส่รหัส Password หรือ Pin ซึ่งทั้งสองระบบที่ทางเอซุสใส่มาให้ทำงานตอบสนองได้ไวมากๆ ครับ โดยเฉพาะปลดล็อคหน้าจอด้วยใบหน้า ที่ใช้งานจริงแล้วทำได้ไว และยังสามารถใช้งานในที่แสงน้อยได้แม่นยำมากๆ ตรงนี้ต้องปรบมือให้เลย
ทางเอซุสได้ใส่ลูกเล่นตัวหนึ่งเข้ามาบน ROG UI ด้วย นั้นการใช้ความสามารถของ Air Triggers ในการบีบด้านข้างตัวเครื่องพร้อมกันสองข้าง เพื่อเรียกใช้งานหรือเข้าสู่หน้าเมนู X mode ได้ และยังปรับแต่งภาพพื้นหลัง (ROG UI) ให้แสดงเอฟเฟ็กตามเมื่อเราบีบตัวเครื่องด้วย เท่มากๆ เลยล่ะครับ ซื้อคะแนนความเท่ไปได้ 10 คะแนนเลย
ปรับระดับความไวต่อการบีบได้ด้วยนะ!
- Twin app + Motion Gesture
ถึงแม้จะเป็นเกมมิ่งโฟน แต่ทางเอซุสยังคงใส่ลูกเล่นการใช้งานทั่วไปที่หลายคนชื่นชอบอย่าง Twin apps ฟีเจอร์ที่จะทำให้เราสามารถใช้งานบัญชีโซเชียลพร้อมกันได้แบบเรียลไทม์สองบัญชีมาให้ด้วย รวมถึงการสั่งการด้วยท่าทางต่างๆ เช่น การยกมือถือขึ้นมา เพื่อเรียกดูข้อความ, การแตะลงบนหน้าจอสองครั้งเพื่อปลุกหน้าจอ ความสามารถพื้นฐานเหล่านี้บน ROG Phone II ก็ยังคงใส่มาให้อย่างครบถ้วนเลย
ประสิทธิภาพการทำงาน - ความบันเทิง (Performance - Entertainment)
ประสิทธิภาพการทำงาน (Performance)
สำหรับด้านประสิทธิภาพการทำงานทั่วไปบนตัวเครื่อง ผมว่าทุกคนคงนึกภาพออกและคงไม่ต้องบรรยายอะไรเยอะให้มากความ เพราะ ROG Phone II ด้วยการที่เขาเป็นสมาร์ทโฟนเกมมิ่ง ดังนั้นสเปกต่างๆ จึงจัดมาให้ในระดับสูงสุดของตลาดสมาร์ทโฟนตอนนี้แล้วก็ว่าได้ครับ ซึ่งเอซุสได้เลือกใช้งานชิปประมวลผลเป็น CPU Snapdragon 855+ ชิปที่แรงที่สุดของสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ในตอนนี้ ทำงานร่วมกับ RAM 12GB (LPDDR4X) และ ROM 512GB (UFS3.0) ดังนั้นการใช้งานตั้งแต่ระดับเบาๆ อย่างเล่นโซเชียล, ดูหนังฟังเพลงไปจนถึงการใช้แอปพลิเคชั่นหนักๆ อย่าง ตัดภาพกราฟฟิก-ตัดต่อวีดีโอ สามารถทำได้ต่อเนื่อง และไม่มีอาการค้าง หน่วง หรือดีเลย์ให้เห็นแน่นอน จัดเต็มกันไปได้เลย!
ความบันเทิง (Entertainment)
สำหรับในด้านความบันเทิงที่ไม่ใช่การเล่นเกมนั้น จากที่ลองมาครบทุกอย่างแล้ว ผมเชื่อว่า ROG Phone II จะสามารถให้ประสบการณ์การรับชมคอนเทนท์ หรือฟังเพลงต่างๆ บนตัวเครื่องได้อรรถรสมากๆ และเต็มอิ่มคล้ายกับการที่คุณรับชมผ่านชุดโฮมเทียเตอร์ขนาดย่อมๆ ที่บ้านเลยครับ เพราะด้วยระบบเสียงที่ทางเอซุสใส่มาให้แบบครบทุกระบบไล่ตั้งแต่ ลำโพงสเตอริโอพร้อมแอมป์ NXP, ระบบเสียง DTS X Ultra, Dolby Atmos, Qualcomm Apt X และเมื่อใช้งานร่วมกับหน้าจอแสดงผล 120Hz น่าจะนึกภาพออกใช่ไหมครับว่า ภาพก็เนียนตาสมจริง เสียงที่ขับออกมาก็มีมิติ ดังกระหึ่มมากๆ บอกเลยว่าเมื่อได้สัมผัสแล้วแทบไม่อยากกลับไปหาสมาร์ทโฟนเครื่องอื่นๆ เลยล่ะ ดังนั้นในแง่ของความบันเทิงผ่านแบบ 100% แน่นอนครับ
มาถึงไฮไลท์ของ ROG Phone II กับเรื่องราวของการเล่นเกมกันครับ ซึ่งมีเรื่องที่ต้องเล่าให้ฟังมากมายเลยทีเดียว แต่ผมจะขอหยิบเอาเรื่องที่คิดว่าน่าจะมีประโยชน์กับการตัดสินใจของผู้อ่านมาเล่าสู่กันฟังกันครับว่า มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นบ้างกับ ROG Phone รุ่นที่สองนี้ และประสบการณ์การใช้งานจริงที่ผมพบเจอตลอดการทดลองเล่น 3-4 วันเป็นอย่างไร มาเริ่มกันเลยครับ
- ประสบการณ์ - ความรู้สึกในการเล่นเกม
สัมผัสแรกที่ผมได้จับ ROG Phone II ความรู้สึกแรกที่รู้สึกออกมาก็คือ "Game Console" ในร่างของสมาร์ทโฟน ซึ่งผมรู้สึกว่า ถ้ามองแบบผิวเผินมันเหมือนกับเรากำลังเล่นเกมบนเกมคอนโซลอย่างพวก PSP, Nintendo Switch อยู่ เพียงแต่มีหน้าจอที่สวยและสมูธกว่า และต้องซื้อหรือดาวน์โหลดเกมบน Google Play Store แบบนั้นเลยครับ
ส่วนเมื่อได้ลองทดสอบเล่นเกมต่างๆ ทั้งที่กำลังนิยมและที่เล่นอยู่ส่วนตัวไม่ว่าจะเป็น ROM, Spiritwish, ROV, Pubg, Call of duty Mobile, King of Fighter ยืนยันว่าเล่นได้ลื่น เนียนตามากๆ และได้อารมณ์ร่วมที่มากขึ้น รู้สึกอินไปกับเกมมากขึ้น คิดว่าคงเป็นเพราะภาพที่แสดงผลบนหน้าจอมันสมูธเนียนตามากๆ และระบบเสียงที่ถ้าเล่นเกมแนว FPS คุณจะได้ยินเสียงกระสุน ฝีเท้าการเดิน และเอฟเฟ็กต่างๆ ได้ชัดมาก จึงทำให้เรารู้สึกสนุกและอินไปกับการเล่นได้เพลินนั่นเอง ส่วนใครที่ชอบเล่นเกมแนว ROV บนตัวเครื่อง ROG Phone II มีโหมด HDR Plus จะบอกว่าเป็นโหมดโกงก็ได้นะ เพราะมันจะทำให้เราเห็นภาพในพื้นที่ที่เป็น Fog หรือหมอกดำในฉากได้ชัดขึ้น
ส่วนใครที่เล่นเกมแนว ROM อันนี้น่าจะชอบกัน เพราะ ROG Phone II เขามีโหมดตัวช่วยในการเล่นเกมที่ชื่อว่า "Game Genie" ซึ่งเป็นฟีเจอร์ที่ทำให้เราสามารถเลือกปรับแต่งการแสดงผลและการตั้งค่าต่างๆ ในตัวเกมได้ในระดับเทรินโปรเลย และหนึ่งในนั้นคือ มี "Macro" โหมดมาให้ด้วย!! ใครที่เป็นสายฟาร์มตั้งมาโครแล้วทิ้งไว้เหมือนบน NOX ที่เราใช้บน PC ได้เลยนะ ถูกใจสิ่งนี้มากๆ เลยล่ะครับ
นอกจากจะมีมาโครให้ตั้งค่าแล้ว ภายใน "Game Genie" ยังมีฟีเจอร์สำหรับการแคสเกมสำเร็จรูปให้ด้วย ซึ่งสิ่งที่เราต้องทำมีแค่เชื่อมต่อเข้ากับบัญชีโซเชียลที่เราต้องการแคส หลังจากนั้นตัวซอฟต์แวร์ของเอซุสจะตั้งค่าให้หมดเลย โดยใช้กล้องหน้าเป็นกล้อง Face cam ในการแคส และใช้ไมค์ที่ตัวเครื่องหรือจะต่อสายกับชุดหูฟังในการพูดก็ได้
- ซอฟต์แวร์สำหรับการเล่นเกมโดยเฉพาะ
สิ่งหนึ่งที่ทางเอซุสตั้งใจบอกเล่าให้ผมฟังตอนไปคุยกับทีมงานก็คือเรื่องของซอฟต์แวร์ ที่ทางเอซุสได้พัฒนา ต่อยอด และนำข้อติต่างๆ ในรุ่นแรกมาปรับปรุงใหม่ และเพิ่มเติมบางสิ่งเข้าไปด้วย เพื่อให้ ROG Phone II กลายเป็นสมาร์ทโฟนเกมมิ่งที่เพอร์เฟ็คที่สุดในตลาด ซึ่งซอฟต์แวร์ที่ว่านั้นก็คือ "X Mode" โหมดสำหรับการเล่นเกมบนตัวเครื่องโดยเฉพาะ
มีแนะนำเกมที่รองรับการแสดงผล Refresh rate สูงให้ด้วย
ระหว่างเล่นเกมสามารถออกมาค้นหาวีดีโอเพิ่มเติมจาก Youtube ได้โดยที่เกมไม่ปิดตัว
แสดงผลเกี่ยวชิปประมวลผลทั้ง CPU และ GPU ให้ดูแบบเรียลไทม์ได้เลย
ปรับการแสดงผลค่าไฟ ROG Aura Sync ได้หลากหลายมากๆ
โดย X mode เป็นซอฟต์แวร์เกมมิ่งที่มีอยู่แล้วบนผลิตภัณฑ์ฝั่ง Laptop ของเอซุส จุดเด่นของซอฟต์แวร์ตัวนี้คือ การจัดการระบบทั้งหมดบนตัวเครื่อง เพื่อปรับแต่งให้เหมาะสมที่สุดสำหรับการเล่นเกม ซึ่งการปรับตั้งค่าเราจะทำเองก็ได้ หรือใช้ค่าสำเร็จรูปที่มีให้ก็ได้ครับ และภายใน X mode ก็จะมีฟีเจอร์สำหรับการเล่นเกมอีกหลายอย่างที่ใส่รวมเข้าไปข้างในข้างในด้วย เช่น Air Trigger ฟีเจอร์ที่ทำให้เราสามารถแตะที่ขอบตัวเครื่องซ้าย - ขวา เหมือนการกดปุ่ม R1, L1 บนจอย Playstation โดยเราสามารถเซ็ตค่าได้ว่าจะให้ Air Trigger ใช้งานแทนปุ่มอะไรในเกม
ตั้งค่าได้ว่าจะใช้ Air Trigger แทนปุ่มไหน ลากเคอเซฮร์ไปมาร์กตำแหน่งได้เลย
เรื่องของการควบคุมอุณหภูมิบนตัวเครื่องขณะเล่นเกม เป็นอีกสิ่งที่สมาร์ทโฟนเกมมิ่งต้องได้รับการออกแบบมาพิเศษกว่าสมาร์ทโฟนทั่วไป ซึ่งทางเอซุสเองก็ได้มีการพัฒนาระบบระบายความร้อนบนตัวเครื่องเพิ่มจากรุ่นแรกพอสมควร ทำให้ ROG Phone II สามารถลดอุณหภูมิลงได้อีก 5 องศาจากเดิม โดยหลักการของระบบคือการดึงความร้อนจากภายในออกสู่ภายนอกที่บริเวณฝาหลังด้วยกัน 2 ขั้นตอน อย่างแรกคือความร้อนที่เกิดขึ้นจากบริเวณพาแนลของหน้าจอ และสองคือความร้อนที่เกิดขึ้นภายในตัวเมนบอร์ด ซึ่งจะใช้ Vapor Chamber และ Heat sink ช่วยลดอุณหภูมิและนำความร้อนออกสู่ด้านหลังตัวเครื่อง
จากที่ได้ลองเล่นเกมติดต่อกัน 1-2 ชม. แรก ก็รู้สึกได้ว่าอุณหภูมิตัวเครื่องจะเย็นกว่าเล่นบนสมาร์ทโฟนทั่วไปแบบสัมผัสได้ แต่พอเข้าสู่ช่วง 2-3 ชั่วโมง ความร้อนจะไปสะสมที่ฝาหลังตามหลักการที่บอกไป และจะรู้สึกได้เลยว่า "ร้อน" ที่บริเวณแผงระบายความร้อนด้านหลังตัวเครื่อง ดังนั้นแนะนำว่าขณะเล่นติดตั้งพัดลม Aero Cooling II ไว้ด้วยก็ดีครับ ส่วนการประมวลผลเกมขณะที่ตัวเครื่องอุณหภูมิเริ่มสูงยังคงทำได้ดี เฟรมเรทยังคงนิ่งอยู่ ยังไม่มีอาการกระตุกหรือหน่วงให้เห็นออกมา
มีแถบแสดงสถานะของฮาร์ดแวร์ให้เราดูตลอดการเล่นเกมด้วยนะ จะย้ายตำแหน่งหรือปิดก็ได้
มาที่เรื่องของการทัชหรือการตอบสนองต่อนิ้วที่เราสัมผัสลงไปบนหน้าจอกันบ้างครับ เป็นอีกสิ่งที่คนเล่นเกมให้ความสำคัญมากไม่แพ้เรื่องของสเปกตัวเครื่องเลย เพราะมันส่งผลต่อผลของเกมและอรรถรสที่จะได้รับกลับมาด้วย โดย ROG Phone II มีการปรับปรุงเรื่องการทัชหรือการตอบสนองได้น่าสนใจมาก ทีมงานเอซุสเล่าว่าพวกเขาให้ทีม Develop ล้วงลงไปปรับปรุงและพัฒนากันถึงระดับโครงสร้างของ Android Framework เลยทีเดียว ทำให้ผลลัพธ์ที่ได้ออกมาทำค่า Responsive rate ได้มากถึง 240Hz หรือมีค่า Touch Latency rate อยู่ที่ 49 ms ทำได้ดีกว่าสมาร์ทโฟนที่หลายคนชมว่าทัชในเกมดีอย่าง iPhone XS MAX ของ Apple ที่มีค่า Touch Latency rate อยู่ที่ 75 ms ส่วนการใช้งานจริงก็ติดมือและดีเลย์น้อยมากจนแทบจะเนียนเลยล่ะครับ กระสุนที่วิ่งหลังจากกดยิงมีดีเลย์น้อยมากๆ แทบจะกดแล้วเห็นรอยกระสุนบนกำแพงทันทีเลย
อุปกรณ์เกมมิ่งถ้าไม่มีอุปกรณ์เสริมให้เลือกปรับแต่ง ก็คงจะไม่สุดเท่าไรว่าไหม! ดังนั้นทางเอซุสไทย จึงนำทัพอุปกรณ์เสริม Gaming Gear ของ ROG Phone Series เข้ามาจำหน่ายพร้อมกันด้วย เพื่อเพิ่มความสามารถของ ROG Phone II ให้เต็มขั้นมากที่สุด โดยนำเข้ามาด้วยทั้งหมด 7 อย่าง เลยส่วนราคาก็ต้องรอทะยอยประกาศออกมากันอีกครั้งนะครับ
- Aero Cooling II : พัดลมระบายความร้อน สามารถเสียบหูฟังหรือชาร์จไฟผ่านตัวพัดลมได้ และยังสามารถแสดงไฟ Aura Sync ในตัวได้ (มีแถมมาให้ในกล่อง)
- Aero Case : เคสตัวเครื่องที่แถมมาให้ในกล่อง เป็นตัวฐานสำหรับใช้ร่วมกับอุปกรณ์เสริมตัวอื่นๆ ได้
- Twin View Dock II : ตัวเชื่อมต่อแบบคอนโซล ที่ทำให้เราสามารถเล่นเกมในโหมดทวินหรือโหมดแสดงผลพร้อมกันสองหน้าจอ โดยที่ตัว dock จะมีหน้าจอ 120Hz อีกอันมาให้ด้วย
- Kunai GamePad : จอยคอนโซลที่สามารถแยกร่างได้ ทำให้ใช้งานร่วมกับ ROG Phone II ได้หลายโหมดมากๆ คล้ายกับจอยคอนของ Nintendo Switch เลย
- Mobile Desktop Dock : ฐานตั้งสำหรับตั้ง ROG Phone II ในโหมด Standing จะเชื่อมต่อเข้ากับทีวีหรือตั้งไว้เล่นกับจอย Kunai ก็ได้
- Pro Dock : Hub เชื่อมต่อสายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น USB, USB-C, Mini HDMI และอื่นๆ
- WiGig Display Dock Plus : เราน์เตอร์สำหรับแปลงสัญญาณ ทำให้ ROG Phone II เชื่อมต่อผ่าน SmartDevice แบบไร้สายได้ เช่น การส่งภาพ Mirror ขึ้นไปเล่นเกมบนทีวี โดยตัวเราน์เตอร์จะคุมสัญญาณการรับ-ส่งให้นิ่ง ทำให้เล่นเกมไม่มีดีเลย์เลยล่ะ
- ROG Light Armor Case : เคสหนัง ROG Phone II ที่มาพร้อมลายพิเศษ และสามารถแสดงไฟ ROG Aura Sync ได้
ROG Phone II มาพร้อมแบตเตอรี่ขนาด 6,000 mAh ซึ่งเป็นขนาดแบตเตอรี่ที่มีความจุมากที่สุดของตลาดสมาร์ทโฟนในเมืองไทยตอนนี้เลยก็ว่าได้ครับ ดังนั้นเรื่องการใช้พลังงานบนตัวเครื่องทำได้ดีและยาวนานมากๆ ซึ่งจากที่ผมได้ลองทดสอบใช้งานให้แบตเตอรี่หมดจาก 100% ในหนึ่งวัน พบว่าผมต้องเล่นเกมติดต่อกันนานเกือบ 4 ชม. กว่าๆ เลย แบตเตอรี่ถึงจะเหลือ 5% ก่อนหมดสนิท และยิ่งถ้าใช้งานแค่ดูหนังฟังเพลงเล่นโซเชียลหรือสแตนบายมีข้ามไปครึ่งเช้าของอีกวันได้เลยครับ
ในขณะที่การชาร์จไฟกลับเข้าตัวเครื่องก็ไม่นานอย่างที่คิด ด้วยการที่ทางเอซุสใส่ระบบ HyperCharge 30W มาให้ ทำให้สามารถชาร์จไฟเข้าจาก 0 - 70% ได้ด้วยเวลาประมาณ 30 - 40 นาที เท่านั้น และขณะชาร์จตัวระบบชาร์จถูกออกแบบมาให้รองรับการชาร์จไฟไปด้วยและเล่นตัวเครื่องพร้อมกันไปด้วยได้ครับ เพราะทางเอซุสได้ใส่ชิปควบคุมการจ่ายไฟไว้ที่ตัวเครื่องและที่อแดปเตอร์สองจุด ทำให้สามารถบาลานซ์ไฟขณะเล่นได้ และตัวเครื่องก็ไม่ร้อนด้วย รวมทั้งยังออกแบบให้สามารถเลือกชาร์จไฟจากด้านล่างตัวเครื่อง หรือด้านข้างตัวเครื่องก็ได้ด้วยนะ เรียกว่าคิดมาให้ครบกับการเล่นเกมเลยจริงๆ เพราะสามารถถือตัวเครื่องแนวนอนแล้วชาร์จไฟไปด้วยได้ ชอบตรงนี้แหละ!
กล้องถ่ายรูป Dual camera 48 MP
ใครว่าสมาร์ทโฟนเกมมิ่งจะมีดีแค่ประสิทธิภาพและสเปกอย่างเดียว! รุ่นอื่นอาจไม่แน่ใจแต่สำหรับ ROG Phone II ยืนยันอีกเสียงว่าไม่จริง!! เพราะกล้องคู่ Dual camera ความละเอียด 48+13 ล้านพิกเซล (Main F1.8 + Ultrawide F2.2) ที่ทางเอซุสติดตั้งมาให้บน ROG Phone II ให้ประสิทธิภาพของภาพถ่ายที่ผมเชื่อว่าถ้าใครได้ลองใช้งานจะบอกเลยว่า "มันถ่ายได้ดี" ไม่แพ้สมาร์ทโฟนสายกล้องทั่วไปเลยนะ รายละเอียดภาพจัดว่ามาครบเลยล่ะ แถมยังมีโหมดถ่ายภาพกลางคืนมาให้ด้วย เราลองไปชมภาพถ่ายตัวอย่างจากกล้อง Dual camera บน ROG Phone II กันครับ
หน้าเมนูกล้องถ่ายรูป
หน้าเมนูถ่ายภาพวีดีโอ
ภาพถ่ายตัวอย่างจากกล้อง Dual camera 48+13 MP
กล้องหน้าความละเอียด 24 ล้านพิกเซล
ด้านกล้องหน้านั้น ROG Phone II ก็ถือว่าทำได้ดีพอสมควร ภาพเซลฟี่ที่ได้จะออกไปแนวเรียลๆ มากกว่าฟรุ้งฟริ้ง ถึงแม้ตัวเครื่องจะมีโหมดบิวตี้มาให้แบบครบถ้วน ทั้งปรับตา, ใบหน้า, เติมลิปสติก, ปรับขนาดใบหน้า และอื่นๆ อีกมากมาย แต่เมื่อลองปรับแล้วตัวซอฟต์แวร์ก็ยังคุมโทนให้ออกมาเหมือนจริงมากกว่าการปรับให้เนียนใสไปเลย ลองไปดูภาพตัวอย่างกันครับ
ด้วยจุดขายของ ROG Phone II คือการเป็นสมาร์ทโฟนเกมมิ่งที่ทำออกมาเพื่อขายคนที่ชื่นชอบการเล่นเกมโดยเฉพาะ ดังนั้นถ้ามองในจุดขายนี้ ก็ต้องยกให้เอซุสว่าเขายังคงเป็นผู้ผลิตดีไวซ์ด้านเกมชั้นแนวหน้าของตลาดจริงๆ หลังประสบความเร็จขึ้นเบอร์ 1 ในฝั่งคอมพิวเตอร์ได้แล้ว และครั้งนี้ฝากของมือถือผมมองว่า ก็ไม่ยากที่จะประสบความสำเร็จเหมือนฝั่งคอมพิวเตอร์ เพราะทุกรายละเอียดที่ทำออกมานั้น ทำได้ดีมากๆ ดูจะเข้าใจและเข้าถึงความต้องการของผู้ใช้งานที่เป็นเกมเมอร์ได้ลึกซึ้ง ใส่ใจข้อติต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรุ่นแรกและนำมาพัฒนาต่อในรุ่นที่สองจนลงตัว ถึงแม้จะยังมีจุดที่ยังต้องปรับปรุงอยู่บางจุดก็ตาม
ดังนั้นถ้าหากคุณเป็นคนที่ชอบเล่นเกมจริงจัง อยู่กับเกมวันหนึ่งได้มากกว่า 3-4 ชม. และรู้สึกว่าสมาร์ทโฟนทั่วไปมันไม่สุดกับคำว่า "เกมเมอร์" เหมือนที่เราเล่นบน Notebook หรือ Console ทั้งหมดนี้ ROG Phone II จะเป็นคำตอบที่เหมาะสมที่สุดให้กับคุณครับ ส่วนใครที่ไม่ได้เล่นเกมแต่อยากได้สมาร์ทโฟนที่ตอบรับกับความเป็นเอ็นเตอร์เทนเมนท์ของตัวเองมากๆ ชอบที่จะดูหนัง ฟังเพลง ในยามที่ต้องเดินทางบ่อยๆ หรือวันหยุดอยู่กับสมาร์ทโฟนนานๆ ในการรับชมคอนเทนท์ด้านนี้ ROG Phone II ก็เป็นทางเลือกที่ดีไม่แพ้การเลือกซื้อสมาร์ทโฟน Flagship รุ่นอื่นๆ เหมือนกัน
การวางจำหน่าย
ROG Phone II จะวางจำหน่ายในราคา 29,990 บาท พร้อมแถม Aero Cooling II และเคส Aero case ให้ในกล่องเลย และยังจับมือกับ AIS จัดโปรฯ ค่าเครื่องเหลือ 21,490 บาท
นอกจากนี้ยังประกาศวางจำหน่ายชุดอุปกรณ์เสริม 6 อย่างในราคา 27,990 บาท ซึ่งจะวางขายบน Shopee เท่านั้น โดยทางเอซุสจะเปิดจำหน่าย ROG Phone II ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปที่ AIS และบน Shopee และบน Lazada ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย. 62 เป็นต้นไป