เทคโนโลยี 5G เริ่มเข้ามาใกล้ตัวเรามากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งช่วงนี้หลายคนน่าจะเริ่มเห็นจากทีวีหรือสื่อต่างๆ บ่อยขึ้น โดยการมาของ 5G นั้น นอกจากยกระดับความเร็วในการใช้งานอินเทอร์เน็ตบนสมาร์ทโฟนหรืออุปกรณ์เคลื่อนที่แล้ว ยังเป็นเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายที่สามารถเข้ามาเพิ่มศักยภาพในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงภาคการศึกษาและด้านการแพทย์ได้ด้วย
แต่เชื่อว่าหลายคนอาจสงสัยว่า 5G จะทำได้ขนาดนั้นจริงหรือ? เพราะขนาดเทคโนโลยี 4G ที่เราใช้งานกันอยู่ในปัจจุบันยังทำไม่ได้ถึงขนาดนั้นเลย เพราะฉนั้นเราไปไขคำตอบ และรู้จักเทคโนโลยี 5G นี้พร้อมกันครับ และขอหยิบยกข้อมูลในด้านของผู้ใช้งานอย่างเราๆ มาบอกเล่ากัน เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจ
5G คืออะไร?
5G เป็นเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายเจเนเรชั่นที่ 5 ที่มีการพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถในเรื่องของความเร็ว Upload และ Download บนเครือข่ายไร้สายให้เสถียร และเร็วขึ้น โดยหากเปรียบเทียบกับเทคโนโลยี 4G ที่ใช้กันอยู่ตอนนี้ 5G จะสามารถทำความเร็วได้เร็วกว่าถึง 10 เท่า ซึ่ง 5G ทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 20 Gbps ในขณะที่ 4G นั้นสามารถทำได้สูงสุดที่ 1Gbps เท่านั้น
คุณสมบัติของเทคโนโลยี 5G
- ความเร็วสูงสุดในการรับ-ส่งข้อมูล : 20 Gbps
- Latency ในการเชื่อมต่อปลายทางทำได้เร็วและนิ่งขึ้น (<1ms) จึงทำให้เหมาะกับการใช้งานเชิงอุตสาหกรรมมากขึ้น
- รองรับการใช้งานเครือข่ายในปริมาณที่มากกว่า 4G ถึง 10 เท่า
- ทำความเร็วได้สูงสุดถึง 20 Gbps
- ช่วงคลื่นความถี่เพิ่มขึ้น 30 GHz
เปรียบเทียบ 4G กับ 5G เปลี่ยนแปลงอย่างไร?
หลายคนอาจยังนึกภาพไม่ออกว่า การเปลี่ยนแปลงจาก 4G มาสู่ 5G นั้น มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ดีขึ้นแค่ไหน ลองมาดูภาพนี้กันครับ
- Latency : ค่าการตอบสนองต่อการ รับ-ส่ง สัญญาณ โดยค่านี้เลขยิ่งน้อยยิ่งตอบสนองได้ดี ซึ่ง 5G มีค่า Latency น้อยกว่า 1 ms ในขณะที่ 4G จะอยู่ที่ประมาณ 10 ms
- Data Traffic : การรองรับการส่งข้อมูลในระยะ 1 เดือน ด้านของ 5G สามารถรองรับได้มากถึง 50 Exabytes ในขณะที่ 4G จะรองรับอยู่ที่ประมาณ 7.2 Exabytes เท่านั้น
- Peak Data Rates : ความเร็วสูงสุดในการรับ-ส่งข้อมูลนั้น 5G สามารถทำได้ถึง 20 Gbps ส่วน 4G จะอยู่ที่ 1 Gbps
- Available Spectrum : ช่วงคลื่นความถี่ฝั่ง 5G สามารถใช้ได้ถึง 30 GHz ส่วน 4G ใช้ได้เพียงแค่ 3GHz เท่านั้น
- Connection Density : การรองรับความหนาแน่นในการเชื่อมต่อ ฝั่ง 5G รองรับได้มากถึง 1 ล้านคนต่อตารางกิโลเมตร ในขณะที่ด้าน 4G รองรับได้เพียง 1 แสนคนต่อตารางกิโลเมตร เท่านั้น
5G กับการผู้ใช้งาน
ด้วยคุณสมบัติของเทคโนโลยี 5G ที่เพิ่มขึ้นหลายอย่างไม่ว่าจะเป็น ความเร็ว ความนิ่ง และการรองรับการใช้งาน Data ในปริมาณที่มาก ทำให้เหมาะกับการใช้งานในเชิงอุตสาหกรรม และการแพทย์ ซึ่งเราน่าจะได้กันมาบ้างแล้ว เช่น การนำมาใช้คู่กับเทคโนโลยี AR เพื่อใช้วิเคราะห์ผู้ป่วยสำหรับคุณหมอ หรือจะเป็นการเชื่อมต่อกับรถยนต์ไร้คนขับ เป็นต้น
แต่ในด้านของผู้ใช้งานนั้น เทคโนโลยี 5G จะเข้ามาช่วยยกระดับให้ผู้ใช้งานอย่างเราสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตด้วยความเร็วที่สูงขึ้น ทำให้เราสามารถเลือกรับชมคอนเทนท์ภาพยนตร์ด้วยความละเอียดระดับ 4K ได้สบายมาก รวมไปถึงการใช้งานร่วมกับ loT ก็ทำได้สะดวกและสเถียรมากขึ้นด้วย
ส่วนทางด้านดีไวซ์หรือสมาร์ทโฟนนั้น ตอนนี้หลายแบรนด์ใหญ่เช่น Qualcomm, Samsung, Zyxel, Huawei และอีกหลายแบรนด์ ได้ร่วมมือกันพัฒนาอุปกรณ์อย่าง "สมาร์ทโฟน" ให้สามารถรองรับการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอย่าง 5G ให้ได้ทั่วโลก และน่าจะเริ่มได้เห็นสมาร์ทโฟนรุ่นที่รองรับออกมาวางจำหน่ายกันในช่วงปลายปี 2019 นี้แน่นอน
สรุป
ถึงแม้เทคโนโลยี 5G ในไทยเราจะยังใช้งานในรูปแบบผู้ใช้งานแบบ 4G ที่เราใช้งานกันในตอนนี้ แต่ก็ใกล้มากๆ แล้ว ที่เราจะได้สัมผัสและลองใช้งานเทคโนโลยี 5G เชิงพาณิชย์ในประเทศไทย เพราะตามไทม์ไลน์เราน่าจะได้เริ่มใช้งานกันเต็มรูปแบบก็ประมาณปี 2020 - 2021 ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนจะมองข้ามไป แถม 5G ยังเป็นเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยยกระดับทั้งในแง่ของการใช้งาน และภาคอุตสาหกรรมให้ก้าวไกลยิ่งขึ้น ด้วยมาตราฐานการเชื่อมต่อที่เร็วขึ้น นิ่งกว่าเครือข่าย 4G ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันถึง 10 เท่า