เลือกซื้อมือถืออย่างไร? ให้ได้เครื่องที่ดีที่สุดกลับบ้าน (ฉบับมือใหม่)
การเลือกซื้อมือถือหรือสมาร์ทโฟนเครื่องใหม่สักเครื่องนั้น ไม่ได้มีแค่เรื่องของการเลือกรุ่น เลือกแบรนด์ และเลือกสีของตัวเครื่องเท่านั้น เพราะมือถือนับเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชิ้นหนึ่ง ที่มีโอกาสเกิดข้อผิดพลาดหรือที่เรามักเรียกกันติดปากว่า "หลุด QC" ได้เช่นกัน และยิ่งถ้าหากเครื่องนั้นราคาหลายหมื่นบาทด้วยแล้ว คงจะผิดหวังไม่น้อยถ้าหากได้สมาร์ทโฟนที่มีปัญหากลับบ้านไป
ดังนั้น จะดีกว่าไหม ถ้าเราสามารถซื้อสมาร์ทโฟนแต่ละครั้งได้ด้วยความมั่นใจ และลดโอกาสที่จะได้เครื่องหลุด QC ให้น้อยลงได้ เพียงแค่ทำตามขั้นตอนการเลือกซื้อสมาร์ทโฟนที่เรานำมาแนะนำกันผ่านบทความนี้เท่านั้น ส่วนรายละเอียดจะเป็นอย่างไรบ้างนั้น ไปตรวจเครื่องพร้อมกันได้เลยครับ
ซีลกล่อง!! เรื่องสำคัญที่หลายคนมองข้าม
เริ่มที่การตรวจเช็คซีลกล่องกันก่อนเลย โดยปกติแล้วแบรนด์ผู้ผลิตแต่ละแบรนด์จะทำการซีลกล่องสมาร์ทโฟนมาด้วยพลาสติกใส อ่อนนุ่ม ไม่แข็ง ซึ่งถ้าหากเราได้รับกล่องที่มาพร้อมซีลพลาสติกแข็งให้สันนิฐานไว้ก่อนเลยว่า อาจเป็นเครื่องที่เคยผ่านการแกะมาแล้ว และทำการซีลกลับใหม่อีกครั้ง อาจจะด้วยเหตุผลใดเหตุผลหนึ่งไล่ตั้งแต่เบาๆ ก็เช่น ลูกค้าเปลี่ยนใจกระทันหัน หรือไปมากสุดก็คือเป็นเครื่องมือสองแล้วทำการซีลใหม่ก็เป็นไปได้ทั้งนั้น
ขอบคุณภาพประกอบจาก Samsung Party
ดังนั้น ถ้าเป็นไปได้ให้ลองสอบถามพนักงานว่า เปลี่ยนกล่องได้หรือไม่ หรือสอบถามว่ารุ่นนี้เขาซีลแข็งมาจริงๆ หรือเปล่าและให้ขอเปรียบเทียบกับเครื่องที่อยู่ในสต็อกอีกกล่องดูว่าเป็นอย่างไร
ตรวจเช็ครอบตัวเครื่อง - อุปกรณ์ภายในกล่อง
เมื่อผ่านขั้นตอนแรกแล้วก็มาถึงขั้นตอนในการตรวจสอบตัวเครื่องกันบ้าง โดยหลักการการตรวจสอบตัวเครื่องนั้น ในปัจจุบันทำได้ง่ายขึ้นกว่าเมื่อก่อนเป็นอย่างมาก เพราะถ้าเป็นสมาร์ทโฟนฝั่ง Android OS ทางผู้ผลิตจะใส่ซอฟท์แวร์ช่วยตรวจตัวเครื่องมาให้ตั้งแต่ต้นเลย เพียงแต่เราจำเป็นต้องกดรหัสลับ เพื่อเรียกโหมดทดสอบขึ้นมาใช้งาน โดยสามารถกดได้ตามด้านล่างนี้เลยครับ
เข้าสู่หน้าเมนูการโทรแล้วกดรหัสลับตามแบรนด์มือถือที่เราเลือกซื้อ (กดเหมือนกดเบอร์โทร)
- Samsung กด *#0#*
- Huawei กด *#*#2846579#*#* หรือ ##497613
- OPPO กด *#808#
- Vivo กด *#558#
- ASUS เข้าแอปพลิเคชั่นเครื่องคิดเลขที่ติดมาบนเครื่องแล้วกด 1234+=
- Xiaomi เข้าเมนูการตั้งค่าไปที่ "About phone" หรือ "เกี่ยวกับอุปกรณ์" เลื่อนไปที่ Kernal Version
แล้วแตะซ้ำๆ ประมาณ 4-5 ครั้งจะเข้าโหมดทดสอบ
** หมายเหตุ - รหัสลับอัปเดตข้อมูลถึงปี 2018 **
ส่วนด้าน iPhone นั้นจะไม่มีรหัสลับให้กดทดสอบ ดังนั้นให้ตรวจเช็คการใช้งานพื้นฐานก็พอครับ เช่น เปิดกล้องลองถ่ายภาพทั้งกล้องและกล้องหลัง ลองบันทึกวีดีโอ เปิดเพลงทดสอบลำโพง กดโทรเข้า-ออก ลองใช้งานซิมการ์ด และฟังก์ชั่นอื่นๆ ที่เราคิดว่าใช้งานบ่อยดูก็น่าจะเพียงพอ
เมื่อตรวจสอบด้านซอฟท์แวร์เสร็จแล้ว ก็ให้มาตรวจสอบรอบตัวเครื่องหรือภายนอกกันต่อ โดยหลักการตรวจสอบภายนอกนั้น ให้เราแค่สังเกตความผิดปกติจากการผลิต เช่น ขอบตัวเครื่องมีรอยบิ่น, ฝาหลังแกะแล้วใส่กลับไม่ได้ (รุ่นที่แกะฝาได้) สีตัวเครื่องผิดเพี้ยน, เลนส์กล้องมีเม็ดฝุ่นหรือไม่? หน้าจอแสดงผลมีรอยร้าวหรือรอยใดๆ ที่เกิดจากการผลิตไหม? ที่เหลือก็แล้วแต่ความต้องการของแต่ละคนได้เลยครับว่า อยากเน้นอะไรเพิ่มเติม
เมื่อตรวจสอบตัวเครื่องเสร็จแล้ว ก็มาทดสอบอุปกรณ์ที่แถมมาให้ในกล่องที่ส่วนมากจะเป็นอแดปเตอร์ชาร์จไฟ ก็ให้ลองเสียบชาร์จว่าไฟเข้าหรือไม่ ถ้าในกล่องมีหูฟังมาให้ด้วยก็ลองใช้งานฟังเสียงสลับซ้าย-ขวา และพร้อมกันสลับไปมาดูครับ
ตรวจ IMEI และ Serial Number ให้ตรงปก
หลังจากตรวจตัวเครื่องและอุปกรณ์ภายในกล่องเรียบร้อยแล้ว ก็อย่าลืมตรวจสอบเลข IMEI และซีเรียลนัมเบอร์ให้ตรงกับหลังกล่องให้เรียบร้อยด้วย เพราะเป็นการยืนยันว่าเครื่องที่เราได้นั้นตรงปกแน่นอน รวมทั้งยังยืนยันด้วยว่าไม่ได้เครื่องสับหรือเครื่องมือสองยัดไส้ด้วย สำหรับวิธีการดูการให้ทุกคนเข้าไปที่เมนูการตั้งค่า > เกี่ยวกับอุปกรณ์ > เลื่อนไปที่ IMEI ซึ่งถ้ารุ่นไหนไม่เจอให้เข้าไปที่เมนู "สถานะ" ก่อน แล้วเลื่อนไปที่ IMEI
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
มาถึงขั้นตอนสุดท้ายคือการสอบถามเรื่องของการรับประกันตัวเครื่อง ซึ่งตามปกติแล้วไม่ว่าคุณจะซื้อตัวเครื่องจากที่ไหนก็ตาม หากเครื่องนั้นเป็นเครื่องของศูนย์ไทยแท้ๆ ก็จะได้รับสิทธิ์การรับประกันตัวเครื่อง 1 ปี อยู่แล้ว แต่สิ่งที่ควรสอบถามเพิ่มเติมคือ เรื่องของการส่งเครื่องเข้าเคลมเวลามีปัญหาว่าส่งที่ไหน อย่างไร มีขั้นตอนการดำเนินการอย่างไร
รวมถึงสอบถามเรื่องของการรับประกันหน้าร้าน 7 วัน ว่ามีหรือไม่ เพราะถ้าเป็นร้านดีลเลอร์ใหญ่ส่วนมากจะมีรับประกันตัวเครื่องหน้าร้านให้ 7 วัน ทำให้เราสามารถเปลี่ยนเครื่องใหม่ได้หากมีปัญหาในระยะเวลาดังกล่าว แต่ที่อยากฝากกันไว้คือเรื่องของการรับประกันตัวเครื่อง ที่ทางศูนย์บริการเกือบ 90% จะรับเคลมเครื่องเมื่อเกิดปัญหาจากการผลิตหรือซอฟท์แวร์เท่านั้นนะครับ ดังนั้นถ้าหากเราทำเครื่องตกหน้าจอแตก หรือใช้งานจนพังเสียหาย เคสประมาณนี้เราจะต้องรับผิดชอบค่าเสียหายเองนะครับ
บทสรุป
เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับขั้นตอนการเลือกซื้อมือถือเครื่องใหม่แบบง่ายๆ สำหรับผู้ใช้งานมือใหม่ที่นำมาฝากกัน ก็หวังว่าจะสามารถใช้เป็นแนวทางในการเลือกซื้อเครื่องใหม่ให้กับหลายๆ คน ที่ไม่ได้ถนัดเรื่องราวของสมาร์ทโฟนมากเท่าไร แต่ก็สามารถซื้อได้ด้วยตัวคนเดียวได้นะครับ ขอให้มีความสุขกับสมาร์ทโฟนเครื่องใหม่ครับ