ดีแทค ให้ลูกค้ากำจัด SMS ไม่พึงประสงค์ผ่าน dtac App ชี้ปัญหาต้องเร่งแก้ร่วมกันทั้งระบบ
dtac กำหนดมาตรการบรรเทาปัญหา SMS ไม่พึงประสงค์ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว พร้อมเสนอวิธีให้ลูกค้ากำจัดบริการ SMS ไม่พึงประสงค์ได้ผ่าน dtac App ปัจจุบัน พบมัลแวร์สาเหตุหลักของ SMS ไม่พึงประสงค์ แนะผู้บริโภคติดตั้งมัลแวร์ (malware protection) แอปที่ช่วยป้องกันการตอบรับ SMS ไม่พึงประสงค์ได้ ดีแทคยึดมั่นแนวทางการดำเนินธุรกิจที่มุ่งรักษาผลประโยชน์และข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า
นายโรจน์ เดโชดมพันธ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธุรกิจโพสต์เพด สายงานพาณิชย์ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ดีแทครับฟังเสียงของลูกค้า และตระหนักถึงปัญหาที่ลูกค้ากำลังเผชิญอยู่จากบริการ SMS ที่ไม่พึงประสงค์ โดยใช้ทั้งมาตรการเชิงรุกและเชิงรับที่จะเร่งแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้ทันที ทั้งการตรวจและดักจับมัลแวร์ไอพีซึ่งทำเป็นรายวันและรายสัปดาห์ ยกเลิกคอนเท้นท์พาร์ทเนอร์ที่มีการร้องเรียนเข้ามา ตลอดจนตรวจสอบและแก้ไขการใช้บริการของลูกค้าก่อนที่จะออกใบแจ้งค่าใช้บริการ รวมถึงคืนเงินและบล็อกการใช้บริการ SMS ที่ไม่พึงประสงค์ให้กับลูกค้า
อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้ไม่สามารถแก้ให้หมดไปจาก โอเปอเรเตอร์เพียงฝ่ายเดียวได้ การจัดการกับ SMS หรือข้อความที่ไม่พึงประสงค์ เกิดมาจากระบบนิเวศน์ หรือ Ecosystem ในการให้บริการ ซึ่งประกอบไปด้วยหลายประเภทธุรกิจที่อยู่ในวงจรนี้ คือ ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Operator) ผู้ให้บริการคอนเท้นท์ (Content Provider) และกลุ่มบริษัท (Affiliate provider) ที่ทำแพลตฟอร์มให้บริการในการทำโฆษณาออนไลน์ สำหรับให้นักโฆษณา (Advertiser) หรือเจ้าของธุรกิจที่ต้องการทำโฆษณาออนไลน์ ใช้เพื่อทำการโฆษณาออนไลน์ ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายหรือกลุ่มลูกค้าของผู้โฆษณาโดยมีช่องทางที่หลากหลาย ทุกธุรกิจที่อยู่ในกระบวนการต้องมีจริยธรรมในการให้บริการ ต้องคำนึงถึงความถูกต้อง ไม่ฉ้อโกง หรือเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค
dtac ตระหนักถึงผู้บริโภคเป็นสำคัญและไม่ได้ละเลยในประเด็นข้อร้องเรียนใดๆ เราจึงพยายามพัฒนาจัดทำระบบเพื่อดูแลผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรมและเกิดความพึงพอใจสูงสุดในการใช้บริการ นอกจาก *137 บริการแจ้งยกเลิก SMS ที่ไม่ต้องการแล้ว ดีแทคยังพัฒนาเทคนิคการป้องกันอีกหลายรูปแบบ อาทิการตรวจสอบการรับบริการบน ดีแทค แอป จัดทำระบบแนะนำการสมัครใช้บริการ AOC (Advise of charge) ที่ใช้กับ Content partner ทุกราย เมื่อลูกค้าต้องการสมัครบริการเสริมผ่านช่องทางต่างๆ เช่น Web/Wap/App Banner On-Net ระบบ AOC จะช่วยให้ลูกค้าดีแทคได้ทราบถึง ชื่อบริการ รายละเอียด ราคา และจำนวนการส่งข้อความให้เป็น วัน/สัปดาห์/เดือน
นอกจากนี้ ยังได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการสมัครว่า หากผู้ใช้บริการประสงค์จะสมัครจะต้องดำเนินการอย่างไร เพื่อให้ผู้ใช้บริการทราบรายละเอียดที่จำเป็นครบถ้วนเพียงพอแก่การพิจารณาและตัดสินใจในการสมัครใช้บริการนั้นๆ โดยมีลิงค์ให้เข้าไป ยืนยันยอมรับ ข้อกำหนดและเงื่อนไขให้รับทราบก่อนยืนยันการสมัครบริการ
รวมถึงแอปป้องกันมัลแวร์ การทำระบบแคปช่า (Captcha) ที่ใช้ทดสอบเพื่อให้ทราบว่าผู้ใช้เป็นมนุษย์จริงๆไม่ใช่ โปรแกรมอัตโนมัติหรือบอท และดีแทคจะออกใบรับรอง (Certified) ให้กับ กลุ่มผู้ให้บริการโฆษณาออนไลน์ รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลรายชื่อมัลแวร์ไอพีร่วมกันระหว่างโอเปอเรเตอร์ เพื่อให้มั่นใจได้ทั้งอุตสาหกรรม รวมถึงมาตรการระยะยาวในการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับ Ad Network ทุกราย ที่สามารถยิงโฆษณาในเว็บจำนวนมากที่อยู่ในเครือข่ายได้ในการให้บริการอย่างถูกต้อง ชัดเจน ตรงไปตรงมา ดีแทคให้ความสำคัญอย่างสูง ในการปกป้องข้อมูลความเป็นส่วนตัวลูกค้า การจัดเก็บข้อมูลของลูกค้า ดีแทคจะดำเนินการเท่าที่จำเป็นและเพื่อประโยชน์ในการให้บริการโทรคมนาคมของผู้ให้บริการเท่านั้น ในการเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคลอยู่ภายใต้มาตรฐานในการรักษาความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด
ข้อแนะนำสำหรับผู้ใช้บริการดีแทค ในการป้องกัน SMS ที่ไม่พึงประสงค์
- การตรวจสอบและลบบริการ SMS ที่ไม่พึงประสงค์จาก ดีแทค แอป (dtac application) ผู้ใช้บริการดีแทค สามารถดาวน์โหลด ดีแทค แอป แล้วเข้าไปในหน้าการใช้งาน Usage details ซึ่งจะมีให้ตรวจสอบว่า มี SMS หรือ คอนเท้นท์อะไรที่เปิดบริการอยู่ ถ้าไม่ต้องการรับบริการ สามารถเข้าไปลบบริการนั้นได้เลย
- การให้ความรู้เรื่องมัลแวร์ (Malware) อาจมีกรณีที่ลูกค้าไม่ได้รับ AOC ซึ่งอาจเป็นไปได้ที่โทรศัพท์มือถือ อาจจะเกิดมัลแวร์ที่แอบแฝงอยู่ในแอปบนสมาร์ทโฟน โดยแนะนำให้ติดตั้งแอปพลิเคชั่นรักษาความปลอดภัยที่สามารถสแกนไวรัสและมัลแวร์ได้ ควรติดตั้งแอปพลิเคชั่นต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพ และควรเลือกใช้ แอปพลิเคชั่น ที่สามารถสแกนหน่วยความจำ SD บนโทรศัพท์มือถือได้หมดทั้งไฟล์ที่ไม่จำเป็น ไฟล์คำสั่งที่ทำงานได้ (executables) โฟลเดอร์ขยะ และข้อมูลชั่วคราว (temp data) ทั้งนี้ควรจะหมั่นอัพเกรดซอฟต์แวร์ และอัพเดทเฟิร์มแวร์ ที่ติดตั้งในเครื่องให้เป็นเวอร์ชันล่าสุด ซึ่งจะช่วยให้สมาร์ทโฟนของเรามีความปลอดภัยอยู่เสมอ