โทรศัพท์มือถือเก่า แบตเตอรี่เสื่อมใช้งานไม่ได้ ควรเอาไปทิ้งไหนดี?
โทรศัพท์มือถือ เป็นอุปกรณ์สื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ชนิดหนึ่งที่มีอัตราการใช้งานเพิ่มสูงมากขึ้นในทุกปี ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2555 ประเทศไทยมียอดจำหน่ายโทรศัพท์มือถือมากถึง 15 ล้านเครื่อง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดปัญหาของโทรศัพท์มือถือที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว และยังคงเป็นปัญหาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ด้านกรมควบคุมมลพิษได้คาดการณ์เอาไว้ว่า ภายในปี พ.ศ. 2559 ประเทศไทยจะมีซากโทรศัพท์มือถือที่ไม่ได้ใช้งานมากกว่า 11 ล้าน เทียบเท่ากับสนามฟุตบอลขนาดมาตรฐาน ประมาณ 6 สนามครึ่ง เมื่อนำซากโทรศัพท์มือถือที่ไม่ได้ใช้งานเหล่านั้นมาเรียงต่อกัน
อันตรายจากซากโทรศัพท์และแบตเตอรี่
โดยปกติโทรศัพท์มือถือนั้นจะมีแบตเตอรี่และหน้าจอผลึกเหลวเป็นส่วนประกอบหลัก ปัญหาสำคัญจึงอยู่ตรงที่การทิ้งซากผลิตภัณฑ์ปนกับขยะทั่วไปและมีการจัดการซากผลิตภัณฑ์ที่ไม่ถูกต้อง สารพิษนี้ก็จะเข้าสู่ระบบนิเวศน์และระบบห่วงโซ่อาหารผ่านทางดิน น้ำ และอากาศ ก่อให้เกิดอันตรายต่อคน สัตว์ และพืช รวมทั้งมีความเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพอีกด้วย ซึ่งมีสารอันตรายเป็นส่วนประกอบดังนี้
- โทรศัพท์มือถือ มีโครเมียมเป็นส่วนประกอบ
- ปุ่มสัมผัส มีเบริลเลียมเป็นส่วนประกอบ
- หน้าจอผลึกแบบเหลว มีสารตะกั่วส่วนประกอบ
- แผงวงจร มีโบรมีนเป็นส่วนประกอบ
- ฝาครอบ มีสารหนูเป็นส่วนประกอบ
เพราะฉะนั้นจึงไม่สามารถมองข้ามปัญหาเหล่านี้ได้ ทางกรมฯ จึงแก้ปัญหาการจัดการปริมาณซากโทรศัพท์มือถืออย่างถูกต้อง โดยการใช้หลัก 3R ได้แก่
- REDUCE : ใช้เท่าที่จำเป็น ลดการใช้ของอย่างฟุ่มเฟือย เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน ปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของต่างประเทศ และสามารถนำมารีไซเคิลได้
- REUSE : ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างรู้คุณค่า ยืดอายุการใช้งาน โดยใช้อย่างระมัดระวัง และดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพปกติ หากเสียควรนำไปซ่อม
- RECYCLE : แปรรูปเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ และควรคำนึงถึงความสามารถในการจัดการหรือรีไซเคิลอย่างถูกต้อง ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม
มาทิ้งซากโทรศัพท์และแบตเตอรี่ให้ถูกที่ดีกว่า
อย่างที่เราได้บอกในข้างต้นแล้วว่า อุปกรณ์จำพวกโทรศัพท์มือถือ หรือรวมไปถึงแบตเตอรี่ด้วยนั้น หากไม่ได้ใช้งานหรือเกิดการชำรุดเสียหาย ไม่ควรเก็บไว้เองหรือนำไปทิ้งรวมกับขยะทั่วไป เพราะจะก่อให้เกิดอันตรายทั้งทางตรงและทางอ้อมได้ ดังนั้นคำถามที่หลายคนอาจสงสัยมานานแล้วว่า "ถ้างั้น เราควรนำมันไปทิ้งที่ไหน?" จริงแล้วทางภาครัฐได้เล็งเห็นความเสี่ยงในอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้มานาน จึงได้ริเริ่มโครงการสนับสนุนการเรียกคืนซากแบตเตอรี่และโทรศัพท์มือถือโดยขอความร่วมมือจากผู้ที่เกี่ยวข้อง อาทิ
ผู้ประกอบการผลิต-จำหน่าย และให้บริการโทรศัพท์มือถือ ซึ่งกำหนดจุดตั้งกล่องรับโทรศัพท์มือถือและแบตเตอรี่ที่เสื่อมสภาพ โดยอาศัยร้านค้าตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ จุดจำหน่าย หรือสถานที่รับชำระค่าบริการโทรศัพท์มือถือที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ เพื่อจะรวบรวมซากโทรศัพท์มือถือและแบตเตอรี่ส่งไปกำจัดโดยโรงงานผู้รับบริการกำจัดสิ่งปฏิกูลวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว และขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ยกตัวอย่างจุดที่มีการตั้งกล่องรับโทรศัพท์มือถือและแบตเตอรี่ที่เสื่อมสภาพ เช่น ตามห้างสรรพสินค้าที่มีร้านตัวแทนจำหน่ายอย่าง ศูนย์บริการเครือข่าย Dtac, AIS, True ศูนย์ตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ Jaymart, TG fone หากไม่มั่นใจว่าสาขาใกล้บ้านท่านมีตั้งกล่องรับโทรศัพท์มือถือและแบตเตอรี่ที่เสื่อมสภาพหรือไม่ สามารถโทรสอบถามตามเบอร์โทรของแต่ละศูนย์ได้เลยค่ะ
นอกจากนั้นยังมีโครงการดีๆ ที่เราไปเจอมาอีกหนึ่งโครงการนั่นก็คือ "โครงการจุฬาฯ รักษ์โลก" ดำเนินการโดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย (ศสอ.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจในเรื่องการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี รวมทั้งเป็นหน่วยงานกลางในการเก็บและรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ แบตเตอรี่และอุปกรณ์เสริมที่ไม่ใช้แล้ว (สายชาร์จ หูฟัง) และนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดปัญหาจากการจัดการขยะที่ไม่ถูกต้อง เพราะสารอันตรายในโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์เสริม อาจรั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อมและยังทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ และอุปกรณ์เหล่านี้ยังสามารถนำไปรีไซเคิลเพื่อนำทรัพยากรกลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่
โดยทุกคนสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลสิ่งแวดล้อมได้ โดยนำอุปกรณ์ต่าง ๆ มาหย่อนไว้ตามจุดตั้งกล่องรีไซเคิล ที่ได้ระบุไว้ในรูปภาพ ซึ่งตอนนี้เป็นช่วง กรกฏาคม - ธันวาคม 2559 จุดตั้งกล่องนั้นอาจจะมีเปลี่ยนแปลงทุกๆ 6 เดือน สามารถสอบถามรายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ :
โครงการจุฬาฯ รักษ์โลก (Chula Loves the Earth) นอกจากนี้ หากใครไม่สะดวกก็สามารถส่งโทรศัพท์มือถือ แบตเตอรี่ หรืออุปกรณ์เสริม ผ่านไปรษณีย์ได้ตามที่อยู่นี้ได้เลยค่ะ "โครงการจุฬาฯ รักษ์โลก" ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย ชั้น 8 อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 โทร. 02-2183959
หากท่านใดมีโทรศัพท์มือถือที่ไม่สามารถใช้งานได้ รวมไปถึงแบตเตอรี่เก่าๆ ที่เสื่อมสภาพแล้วอยู่กับตัว และไม่รู้ว่าจะกำจัดมันอย่างไร ทาง CheckRaka.com ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะเป็นคำแนะนำที่ดีให้กับทุกคนนะคะ ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของสิ่งแวดล้อม และตัวเราเองค่ะ