เรื่องควรรู้! ประชาชนตาดำๆ อย่างเรา จะได้ประโยชน์อะไรจากการประมูล 4G ?
และแล้วก็ถึงเวลาที่ทางกสทช. หรือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ จะเปิดโอกาสให้บริษัททั้ง 4 รายได้ยื่นซองประมูลคลื่นความถี่ เพื่อนำไปให้บริการระบบ 4G ต่อผู้บริโภคทั้งหลาย และเพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจในการประมูลครั้งนี้ รวมถึงผลประโยชน์ที่ทุกคนจะได้รับ เรา Checkraka.com จึงไม่พลาดนำข้อมูลดีๆ มาฝากคุณ...
คลื่นที่นำมาประมูลมีอะไรบ้าง?
สำหรับคลื่นความถี่ที่ถูกจัดสรรเพื่อนำมาประมูลในครั้งนี้มีอยู่ด้วยกัน 2 คลื่น นั่นก็คือ คลื่น 1800MHz และ 900MHz โดยคลื่น 1800MHz เป็นคลื่นที่ผู้ประมูลให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ เนื่องด้วยเป็นคลื่นที่มีความถี่สูง ซึ่งแม้จะครอบคลุมพื้นที่ได้น้อยกว่าคลื่นความถี่ต่ำอย่าง คลื่น 900MHz แต่ก็สามารถรับส่งข้อมูลได้ในปริมาณมากและรวดเร็วกว่า เหมาะกับพื้นที่ที่มีความต้องการใช้งานข้อมูลหนาแน่น เช่น กรุงเทพฯ หรือหัวเมืองใหญ่ๆ จึงเหมาะนำมาพัฒนาเทคโนโลยี 4G LTE (Long Term Evolution) มากที่สุด อีกทั้ง ปัจจุบันทั่วโลกก็มีอุปกรณ์สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตที่รองรับคลื่นความถี่ 1800MHz มากที่สุดอีกด้วย จึงคุ้มค่าต่อการประมูลนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ แต่อย่างไรก็ตาม การประมูลได้ทั้ง 2 คลื่นก็จะช่วยให้มีสัญญาณที่ครอบคลุมต่อการใช้งานของผู้คนทุกพื้นที่
ทั้งนี้ ทั้งคลื่น 1800MHz และ 900MHz จะถูกนำมาแบ่งซอยคลื่นละ 2 ใบสัญญาสัมปทาน รวมเป็น 4 ใบ โดยคลื่น 1800MHz จะถูกแบ่งเป็น 15MHz ต่อใบสัญญา มีอายุสัมปทาน 18 ปี ส่วนคลื่น 900MHz จะถูกแบ่งเป็น 10MHz ต่อใบสัญญา มีอายุสัมปทาน 15 ปี
เริ่มการประมูลเมื่อไหร่?
การประมูลคลื่นความถี่เพื่อนำไปให้บริการระบบ 4G นั้นมีอยู่ 2 ช่วงเวลาด้วยกัน คือ
- ประมูลคลื่น 1800MHz ในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558
- ประมูลคลื่น 900MHz ในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2558
มีเจ้าไหนเข้าร่วมการประมูลบ้าง?
การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800MHz และ 900MHz ในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมเหมือนกันอยู่ 4 ราย คือ
- บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด
- บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด
- บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด
- บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด
คุณจะได้ประโยชน์อะไรจากการประมูล 4G ?
สิ่งที่ประชาชนตาดำๆ อย่างเราจะได้จากประมูลคลื่นความถี่ เพื่อนำไปให้บริการระบบ 4G ในครั้งนี้ ก็มีทั้งทางตรงและทางอ้อมดังต่อไปนี้
- ได้เงินค่าสัมปทานก้อนมหึมาจากการประมูลทั้ง 2 คลื่นเข้ารัฐเป็นเงินหลักแสนล้านบาท ช่วยให้รัฐบาลสามารถนำเงินเงินจำนวนนี้ไปพัฒนาระบบสาธารณูปโภคของประเทศเพื่อให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขมากขึ้น
- ได้ใช้งานอินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือที่มีความเร็วมากกว่าระบบ 3G โดยด้วยมาตรฐานเทคโนโลยี LTE Advanced ที่สามารถทำความเร็วอัปโหลดสูงสุด 500 Mbps และให้อัตราการดาวน์โหลดได้สูงสุดถึง 1000 Mbps หรือ 1 Gbps ทำให้คุณดูคอนเทนต์วิดีโอออนไลน์ 4K ได้สบายๆ
- สามารถสนทนาด้วยเสียงแบบคุณภาพสูง และสนทนาวิดีโอคอลด้วยความคมชัดแบบ HD ผ่านทางเทคโนโลยี VoLTE (Voice Over LTE) โดยไม่ต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแต่อย่างใด
ซึ่งทั้งหมดนี้ ก็เป็นข้อมูลเกี่ยวกับการประมูล และประโยชน์จาก 4G ที่เรานำมาฝากให้ท่านผู้อ่าน หวังว่าคงจะมีประโยชน์ต่อทุกคน และถ้าผลการประมูลเสร็จสิ้นเมื่อไหร่ เราจะรีบนำข่าวมาฝากแน่นอน...