Project Ara โทรศัพท์มือถือสายพันธุ์ใหม่ ประกอบได้ตามใจ
ปัจจุบันโทรศัพท์มือถือที่มาพร้อมระบบปฏิบัติการ เช่น iOS, Android, Windows Phone ฯลฯ หรือที่เราเรียกอีกอย่างว่า "สมาร์ทโฟน" นั้น กำลังได้รับความนิยมอย่างมากเลยทีเดียว ด้วยเหตุที่ผู้คนทั้งหลายสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นมากมายมาใช้งานตามความต้องการนั่นเอง
แต่กระนั้น ก็ยังมีกระแสจากผู้ใช้ส่วนหนึ่งที่รู้สึกว่าสมาร์ทโฟนในปัจจุบันน่าจะพัฒนาไปได้มากกว่านั้น และสามารถถอดประกอบชิ้นส่วนตามใจชอบเหมือนกับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ซึ่งผู้ใช้ประเภทหลังนี้ น่าจะดีใจไม่น้อย เพราะทาง Google เสิร์ชเอ็นจิ้นอันดับหนึ่งของโลกกำลังพัฒนาสมาร์ทโฟนชนิดใหม่แบบนั้นอยู่ ภายใต้โครงการที่มีชื่อว่า "Project Ara"
Project Ara คืออะไร?
"Project Ara" เป็นโครงการที่เกิดขึ้นหลังจาก Google เข้าซื้อกิจการ Motorola Mobility เมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2011 ซึ่งแม้หลังจากนั้นทาง Google จะขายกิจการ Motorola Mobility ไปให้กับ Lenovo ก็ตาม แต่กระนั้นก็ยังมีหนึ่งหน่วยงานย่อยที่ไม่ได้ถูกขายไปด้วย นั่นคือ Advanced Technology and Projects (ATAP) นำทีมโดย Regina Dugan อดีตผู้อำนวยการ Defense Advanced Research Projects Agency (DARPA) ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา โดยพวกเขามีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อนำออกมาขายได้จริง
ซึ่งหลังจากหน่วยงานนี้ได้พบกับวิดีโอคอนเซปต์สมาร์ทโฟนที่มีชื่อว่า "Phonebloks" สมาร์ทโฟนที่ถอดประกอบชิ้นส่วนได้เหมือนกับตัวต่อเลโก้ของ Dave Hakkens นักศึกษาด้านการออกแบบอุตสาหกรรมจากประเทศเนเธอร์แลนด์ พวกเขาจึงไม่พลาดที่จะรีบติดต่อ Hakkens เพื่อมาเป็นพาร์ทเนอร์กันทันที เพราะทีม ATAP ก็มีแนวคิดการผลิตสมาร์ทโฟนในแนวนี้อยู่แล้วเช่นกัน
คอนเซปต์สมาร์ทโฟน "Phonebloks" ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่จุดประกายให้เกิด "Project Ara" Project Ara มีลักษณะเป็นอย่างไร?
หลังจากที่พวกเขาได้พัฒนาสมาร์ทโฟนกันมาหลายรูปแบบ สุดท้ายก็ออกมาเป็นเครื่องที่มีแกนกลางซึ่งเรียกว่า "Endo" ซึ่งย่อมาจาก Endoskeleton (เปรียบเหมือนกระดูกซี่โครงหลักของมนุษย์) โดยมีรูปแบบให้เลือกอยู่ 3 ขนาด นั่นก็คือ mini หน้าจอไม่เกิน 4 นิ้ว (คล้ายโทรศัพท์มือถือธรรมดา), medium หน้าจอ 4.7 นิ้ว (เหมือนกับสมาร์ทโฟน), และ Large หน้าจอขนาด 5 นิ้วขึ้นไป (แบบแฟบเล็ต) นอกจากนั้น ยังมีส่วนประกอบต่างๆ ที่เรียกว่าโมดูล เช่น โมดูลซีพียู, RAM, กล้อง, ชิพตรวจวัดน้ำตาลในเลือด และอีกมากมาย เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเลือกซื้อมาประกอบใส่ตัว Endo ในแบบตัวต่อเลโก้ได้ตามใจชอบอย่างง่ายดาย (สามารถซื้อจากผู้ผลิตที่ไม่ใช่ Google ได้) โดยตัว Endo จะยึดติดกับโมดูลต่างๆ อย่างเหนียวแน่นด้วยเทคโนโลยีแม่เหล็กไฟฟ้า ถ้าไม่สั่งให้เครื่องคลายประจุไฟฟ้าออก ก็จะไม่มีวันหลุดออกมา แถมโมดูลต่างๆ ยังสามารถติดต่อสื่อสารระหว่างกันได้โดยไม่ต้องผ่านส่วนกลางเช่น ซีพียูก่อน จึงช่วยให้การทำงานนั้นลื่นไหลอย่างมาก
จะเริ่มจำหน่ายเมื่อไหร่?
กำหนดการที่ทาง Google เปิดเผยออกมานั้น สมาร์ทโฟนรุ่นแรกจากโครงการ "Project Ara" ที่มีชื่อว่า "Gray Phone" จะจำหน่ายเป็นครั้งแรกเดือนมกราคม ค.ศ. 2015 ในประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยราคาเริ่มต้นที่ 50 เหรียญดอลล่าห์สหรัฐ หรือราวๆ 1,650 บาท (มาพร้อมตัวแกนหลักหรือ Endo, หน้าจอ, แบตเตอรี่, Wi-Fi และชิปประมวลผลประสิทธิภาพไม่สูงนัก เพื่อให้ใช้งานแบบมาตรฐานได้) และผู้ใช้สามารถหาซื้อโมดูลมาใส่เพิ่มตามความต้องการได้เลย ส่วนในบ้านเรานั้นคงต้องรอไปอีกหน่อย ซึ่งถ้าเราได้ข่าวคราวเช่นไร จะรีบมาแจ้งให้ฟังอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ แม้ว่าเราจะไม่อาจทราบได้ว่าโครงการนี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่? และจะมีผู้ผลิตโมดูลจากแบรนด์ต่างๆ เข้าร่วมมากเพียงใด? แต่อย่างน้อย "Project Ara" ก็คงทำให้ผู้ที่ใช้งานสมาร์ทโฟนทุกคนที่อยากให้เครื่องนั้นสามารถถอดประกอบอุปกรณ์ได้เหมือนกับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลรู้สึกตื่นเต้นอย่างแน่นอน แถมยังเป็นนวัตกรรมที่ช่วยให้เรามองเห็นอนาคตของสมาร์ทโฟนอีกด้วย...