ลลิลฯ ประกาศแผนธุรกิจปี 2567 เดินหน้าขยายธุรกิจ สู่การเป็น National Property Company มุ่งเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีแผนเปิดโครงการใหม่อย่างต่อเนื่องอีก 8 – 12 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 7,000 – 8,000 ล้านบาท เพื่อทดแทนโครงการเดิมที่ใกล้จบ ตลอดจนขยายไปยังทำเลที่มีศักยภาพใหม่ๆ พร้อมตั้งเป้ายอดขายและยอดรับรู้รายได้เติบโตจากปีก่อนหน้า โดยตั้งยอดขายที่ 6,550 ล้านบาท และยอดรับรู้รายได้ที่ 5,250 ล้านบาท งบการจัดซื้อที่ดิน 1,500 ล้านบาท
นายไชยยันต์ ชาครกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) (LALIN) (Mr.Chaiyan Chakarakul, Chairman of Executive Board, Lalin Property Plc.) ผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์มากว่า 30 ปี กล่าวถึงภาพรวมของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ที่ผ่านมาว่า โลกยังคงต้องเผชิญความเสี่ยงที่ต่อเนื่องมาจากปีก่อน ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ประเด็นขัดแย้งที่ก่อเกิดขึ้นเป็นระยะในหลายภูมิภาค การพยายามควบคุมเงินเฟ้อ โดยการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ยุโรป โดยเฉพาะเฟดมีการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องจนมาอยู่ที่ระดับ 5.25% - 5.50% ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในรอบกว่า 20 ปี ส่งผลให้ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงต่อเนื่องจากปี 2565
ในส่วนของเศรษฐกิจไทย ซึ่งเศรษฐกิจมีการพึ่งพิงต่างประเทศอย่างมาก ทั้งจากการส่งออก การท่องเที่ยว รวมถึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ซึ่งในปี 2566 ที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ ยุโรป ตลอดจนประเทศจีน ส่งผลให้การส่งออกของไทยทั้งปีน่าจะหดตัวที่ราว 1.5% ในขณะที่ภาคการท่องเที่ยว แม้จะสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่องจากปี 2565 แต่ก็เป็นการขยายตัวได้ต่ำกว่าเป้าหมาย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่ยังไม่กลับมา ในส่วนของการบริโภคและการลงทุนภาครัฐ ก็หดตัวลงจากจัดตั้งรัฐบาล และการจัดทำงบประมาณที่ล่าช้า ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2566 ขยายตัวได้ต่ำกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้มาก
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2567 นี้ คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ราว 2.5% – 3.5% อย่างไรก็ตามยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนสูง ทั้งปัจจัยจากต่างประเทศและในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในหลายประเทศสำคัญทั่วโลก มาตรการกระตุ้นและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ในขณะที่ภายในประเทศ ภาระหนี้สาธารณะ และภาระหนี้ครัวเรือนที่ค่อนข้างสูง ยังคงเป็นความท้าทายสำหรับในปี 2567 นี้ อย่างไรก็ดีมองว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ในปี 2567 นี้ ยังคงมีปัจจัยบวก ไม่ว่าจะเป็นการที่อัตราดอกเบี้ยเริ่มนิ่ง และมีแนวโน้มที่จะปรับลดลงได้ในช่วงครึ่งหลังของปี จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย การต่ออายุมาตรการภาครัฐ ลดค่าธรรมเนียมการโอน และค่าธรรมเนียมจำนอง สำหรับที่อยู่อาศัยที่ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ไปถึงสิ้นปี 2567 การส่งออก และการท่องเที่ยวที่ น่าจะดีขึ้น รวมถึงการเข้ามาลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้น จะช่วยให้เกิดการจ้างงาน และเกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ยังคงเชื่อมั่นว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะตลาด Real Demand ยังคงไปได้ โดยบริษัทฯ จะเน้นการดำเนินธุรกิจ และการขยายธุรกิจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ในตลาดที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญ และเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคเป็นอย่างดี โดยในปี 2567 นี้บริษัทวางงบในการซื้อที่ดินไว้ที่ 1,500 ล้านบาท โดยมีแผนเปิดโครงการเพิ่มเติมที่ 8 – 12 โครงการ มูลค่ารวม 7,000 – 8,000 ล้านบาท และตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 6,550 ล้านบาท และยอดรับรู้รายได้ที่ 5,250 ล้านบาท
ด้านนายชูรัชฏ์ ชาครกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) (LALIN) (Mr. Churat Chakarakul, Managing Director, Lalin Plc.) กล่าวว่า ในปีนี้ ลลิลฯ ยังคงเน้นย้ำแนวคิดในการดำเนินธุรกิจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และการดำเนินธุรกิจตามหลักบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance : ESG) นอกจากนี้ ยังคำนึงถึงปัจจัยการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการประหยัดพลังงานไฟฟ้าและน้ำ การลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งมอบสินค้าและบริการให้ลูกค้าได้รับคุณภาพวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และสังคมที่ดี ซึ่งเป็นไปตามวิสัยทัศน์ของทางบริษัท
สำหรับแผนการตลาด ในปี 2567 นี้ ยังคงมุ่งเน้นกลยุทธ์ที่ให้ความสำคัญกับลูกค้าโดยยึดหลัก Customer Centric ผ่านกลยุทธ์ทั้ง Lifestyle Marketing และ Experience Marketing เสริมประสิทธิภาพด้วยการสร้างภาพลักษณ์แบรนด์ โดยการทำ Brand collaboration เพื่อเพิ่มฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ อีกทั้งสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในทุกกลุ่มเป้าหมายด้วย นอกจากนี้ ยังเน้นการทำการตลาดผ่านช่องทาง Digital ในช่องทางใหม่ให้หลากหลายมากขึ้น เพื่อตอบรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบัน ทั้งยังส่งเสริมให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นด้วย การนำ Big Data มาใช้ในการวิเคราะห์หา Customer Insights ทั้งนี้บริษัทฯ ยังคงมุ่งสู่การเป็นองค์กรพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่บริหารงานภายใต้แนวคิด Agile Principles โดยใช้กลยุทธ์ด้านดิจิทัลเป็นเครื่องมือสำคัญในการเปลี่ยนแปลง (Digital transformation) นอกจากนี้ บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับตลาดที่อยู่อาศัยในกลุ่มที่เป็น Real Demand โดยให้ความสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทั้งในส่วนของ Design Innovation และ Smart & Flexible Function ของตัวบ้าน และยังคงนำรูปแบบความงดงามของสถาปัตยกรรมฝรั่งเศสที่เรียบหรู มาออกแบบบ้านสไตล์ฝรั่งเศสแบบ French Colonial Style ซึ่งเป็นจุดเด่นสำคัญของบริษัทฯที่เป็นรายแรกในการนำมาพัฒนาออกแบบบ้านในสไตล์ดังกล่าว บนทำเลศักยภาพ ในราคาที่คุ้มค่า และจับต้องได้ เพื่อให้สินค้าและบริการสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคได้อยู่เสมอ
ในส่วนของสถานะทางการเงิน บริษัทฯ ดำรงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) เพียง 0.76 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโดยรวมของอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ที่ 1.45 เท่า ค่อนข้างมาก โดยบริษัทมีการใช้แหล่งเงินทุนที่หลากหลาย และการบริหารความเสี่ยงทางการเงินอย่างรัดกุมมาโดยตลอด จึงได้รับความเชื่อมั่นจากสถาบันการเงิน ทั้งธนาคารพาณิชย์ และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ต่างๆ จึงไม่ประสบปัญหาในเรื่องของแหล่งเงินทุน โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัทได้มีการออกขายหุ้นกู้อายุ 2 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.80% ซึ่งได้รับการตอบรับจากสถาบันเข้าลงทุนเต็มจำนวนที่ 500 ล้านบาท