x
icon-filter ค้นหาบ้าน
product filter
product filter
product filter
product filter
product filter
product filter
product filter
product filter
product filter
product filter

ซีบีอาร์อีเผยเทรนด์อสังหาริมทรัพย์ไทยน่าจับตาในปี 2566

ข่าว icon 21 ก.พ. 66 icon 6,132
ประเทศไทยเริ่มต้นปี 2566 ด้วยแนวโน้มที่ดีทั้งในด้านเศรษฐกิจและตลาดอสังหาริมทรัพย์โดยรวม ซีบีอาร์อี ประเทศไทย ที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำระดับโลก ได้เผยถึงเทรนด์สำคัญที่น่าจับตามองในตลาดที่พักอาศัย ตลาดอาคารสำนักงาน ตลาดพื้นที่ค้าปลีก ตลาดพื้นที่อุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ และตลาดโรงแรมของไทย
นางสาวรุ่งรัตน์ วีระภาคย์การุณ กรรมการผู้จัดการ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าวว่า “ปี 2566 เริ่มต้นด้วยทิศทางบวกมากกว่าปีก่อน ๆ ซึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 ซึ่งมีผลให้ความเชื่อมั่นของตลาดและนักลงทุนปรับตัวดีขึ้น ทั้งตลาดที่พักอาศัยและตลาดพื้นที่สำนักงานมีความชัดเจนมากขึ้นในเรื่องของความต้องการพื้นที่มากขึ้น นอกจากนี้ ผู้พัฒนาโครงการสามารถตอบสนองความต้องการใหม่ ๆ ของลูกค้าได้เป็นอย่างดี    ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงการได้ใช้เวลาทำความเข้าใจเทรนด์ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในตลาดที่พักอาศัยและตลาดอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ และได้มีการปรับตัวโดยนำกลยุทธ์และนโยบายที่เหมาะสมที่สุดมาใช้กับธุรกิจของตนเอง”
“ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ในปี 2566 ที่ระดับ 3.6% เพิ่มขึ้นจาก 3.2% ในปี 2565 ตัวเลขจะเป็นไปตามการคาดการณ์หรือไม่นั้นจะขึ้นอยู่กับจำนวนนักท่องเที่ยวและผลการดำเนินงานของภาคการส่งออกเป็นหลัก   อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ คือ รัฐบาลจะสร้างความสมดุลระหว่างความจำเป็นที่จะลดมาตรการกระตุ้นทางการคลังโดยไม่กระทบต่อการเติบโตด้านการบริโภคโดยรวมอย่างไร ในขณะที่หนี้ส่วนบุคคลยังสูงอยู่” นางสาวโชติกา ทั้งศิริทรัพย์ หัวหน้าแผนกวิจัยและที่ปรึกษาการพัฒนาโครงการ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าวเสริม
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มที่ดีที่สุดคือความกังวลเกี่ยวกับเรื่องโควิด-19 ลดน้อยลงมาก และในปีนี้น่าจะเป็นช่วงเวลาที่ได้ผ่านอุปสรรคและเปลี่ยนแปลงสู่รูปแบบใหม่ของการใช้ชีวิต การทำงาน และการพักผ่อน
ตลาดที่พักอาศัย
ปี 2565 เป็นอีกปีที่ตลาดคอนโดมิเนียมใจกลางกรุงเทพมหานครไม่มีความเคลื่อนไหวมากนัก กว่า 95% ของคอนโดมิเนียมที่เปิดตัวใหม่ตั้งอยู่ในทำเลรอบนอกใจกลางเมืองและชานเมือง มีกลุ่มเป้าหมายคือลูกค้าระดับกลาง-ล่าง นอกจากนี้ ผู้ซื้อในประเทศยังให้ความสนใจที่พักอาศัยแนวราบมากกว่า เพราะมีความหนาแน่นน้อยกว่า มีพื้นที่ขนาดใหญ่กว่า และสามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่ได้มากกว่า ในปีนี้ ผู้พัฒนาโครงการจะรุกเปิดตัวโครงการบ้านแนวราบมากขึ้น เจาะกลุ่มเรียลดีมานด์หรือผู้ที่ต้องการซื้อเพื่ออยู่เองจากในประเทศ
สำหรับตลาดคอนโดมิเนียมใจกลางเมือง ซีบีอาร์อีคาดว่าผู้พัฒนาโครงการจะยังคงให้ความสำคัญกับขายยูนิตที่พร้อมเข้าอยู่ให้หมด ก่อนที่จะประเมินศักยภาพในการเปิดตัวโครงการใหม่ในย่านใจกลางกรุงเทพฯ ในช่วงครึ่งปีหลัง   การเปิดตัวคอนโดมิเนียมใหม่ย่านใจกลางเมืองจะค่อย ๆ ฟื้นตัวและต้องใช้เวลา ในปี 2566 เราอาจเห็นการเปิดตัวคอนโดมิเนียมใจกลางเมืองไม่มากนัก     โดยคาดว่าน่าจะเกิดขึ้นในไตรมาสที่ 4  และเทรนด์ที่น่าจับตามองคือโครงการมิกซ์ยูสที่มีการผสมผสานของที่พักอาศัย การมีสุขภาวะที่ดี และอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์เข้าไว้ด้วยกัน
ปริมาณคอนโดมิเนียมเปิดตัวใหม่ในกรุงเทพมหานคร

ที่มา: แผนกวิจัย ซีบีอาร์อี
นางสาวอาทิตยา เกษมลาวัณย์ หัวหน้าแผนกซื้อขายโครงการที่พักอาศัย ซีบีอาร์อี ประเทศไทย แสดงความคิดเห็นว่า “ตลาดแนวราบยังคงเติบโตต่อเนื่องในทุกระดับราคาเช่นเดียวกับในปีที่ผ่านมา ผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยเองมีความคาดหวังและความต้องการที่ชัดเจนที่ผู้พัฒนาโครงการจะต้องตอบสนองให้ได้เพื่อสร้างยอดขาย ผู้ซื้อยังคงให้ความสำคัญกับการใช้งานพื้นที่ ความเป็นส่วนตัว พื้นที่สีเขียวแบบเปิดโล่ง สุขภาวะที่ดี และเทคโนโลยี รวมทั้งมีพื้นที่ที่สามาถปรับเปลี่ยนได้เพื่อให้สมาชิกในครอบครัวหลายคนสามารถทำงานจากที่บ้านได้  รวมถึงพื้นที่ที่อำนวยความสะดวกให้กับสมาชิกต่างวัยในครอบครัวได้ใช้ชีวิตร่วมกัน สำหรับโครงการบ้านเดี่ยวระดับลักซ์ชัวรี่และซูเปอร์ลักซ์ชัวรี่จำเป็นต้องจัดสรรที่จอดรถให้เพียงพอ รวมถึงพิจารณาการติดตั้งที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า”
“สำหรับตลาดคอนโดมิเนียมมือสอง ผู้ซื้อส่วนหนึ่งสนใจที่จะซื้อคอนโดมิเนียมเก่าเพราะมีขนาดยูนิตใหญ่กว่าคอนโดมิเนียมในโครงการใหม่ ๆ  ทั่วไป คอนโดมิเนียมมือสองเหล่านี้มักจะขายในราคาต่อตารางเมตรที่ต่ำกว่าโครงการใหม่ ทำให้ผู้ซื้อสามารถลงทุนตกแต่งปรับปรุงเพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการของครอบครัวได้ สำหรับความต้องการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ ผู้ซื้อชาวไทยยังคงให้ความสนใจประเทศอังกฤษและออสเตรเลีย และมักจะมีจุดประสงค์ในการซื้อเพื่อเป็นที่พักอาศัยให้กับบุตรหลานที่ไปศึกษาต่อ รวมถึงเพื่อการลงทุน เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของครอบครัว และเพื่อเติมเต็มด้านไลฟ์สไตล์การท่องเที่ยวในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น และมีการพิจารณาทำเลใหม่ ๆ อย่างมัลดีฟส์เป็นต้น” นางสาวปพิณริยา พึ่งเขื่อนขันธ์ หัวหน้าแผนกซื้อขายที่พักอาศัยรายย่อย ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าวเสริม
สรุปเทรนด์สำคัญ:
•    ผู้พัฒนาโครงการมุ่งเน้นไปที่การเปิดตัวโครงการใหม่ที่เป็นที่พักอาศัยแนวราบเป็นหลัก
•    ผู้พัฒนาโครงการมุ่งเน้นไปการขายยูนิตที่แล้วเสร็จให้หมดมากกว่าการเปิดตัวคอนโดมิเนียมใหม่ใจกลางเมือง
•    ความต้องการของผู้ซื้อในประเทศที่ซื้อเพื่ออยู่เองยังคงเป็นเรื่องหลักที่ผู้พัฒนาโครงการให้ความสำคัญ
อาคารสำนักงาน
ในขณะที่ช่วงเวลาส่วนใหญ่ในปี 2565 เราเห็นเทรนด์ต่อเนื่องที่บริษัทในประเทศต่ออายุสัญญาเช่าพื้นที่เดิม โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทที่เช่าพื้นที่ขนาดใหญ่ แต่บริษัทข้ามชาติในกรุงเทพฯ มีความชัดเจนมากขึ้นในเรื่องต้องการใช้พื้นที่สำนักงานของตนเอง และบางบริษัทได้เริ่มย้ายสำนักงานไปยังอาคารใหม่ระดับพรีเมียมเกรดเอแล้ว ซึ่งเป็นเทรนด์ที่น่าจับตามองในปีนี้
ท่ามกลางตลาดอาคารสำนักงานที่มีออฟฟิศที่ได้มาตรฐานระดับสากลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นอย่างมาก บริษัทข้ามชาติซึ่งได้มีการกำหนดนโยบายใหม่เรื่องสถานที่ทำงาน โดยเฉพาะบริษัทที่มีการทำงานแบบไฮบริด ต่างใช้ประโยชน์จากโอกาสนี้ในการยกระดับคุณภาพสถานที่ทำงานของตนเองให้เป็นไปตามข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG ของบริษัท และกำหนดเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการรักษาและดึงดูดพนักงานที่มีความสามารถ รวมถึงสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในสำนักงานเพื่อจูงใจให้พนักงานอยากเข้ามาทำงานที่สำนักงานมากขึ้น
นอกจากนี้ ซีบีอาร์อีคาดว่าในปี 2566 จะมีธุรกรรมการเช่าพื้นที่สำนักงานเพิ่มมากขึ้น บริษัทไทยหลายแห่งได้ตกลงที่จะย้ายจากอาคารที่เช่าอยู่มานานกว่า 20 ปี เพื่อเปิดรับการทำงานแบบไฮบริดที่ได้กลายเป็นมาตรฐานการทำงานรูปแบบใหม่ในกรุงเทพฯ
พื้นที่สำนักงานใหม่ในกรุงเทพมหานครและปริมาณการใช้พื้นที่ที่เพิ่มขึ้นต่อปี

ที่มา: แผนกวิจัย ซีบีอาร์อี
“ถึงแม้การมีส่วนร่วมกับพนักงานและการดำเนินการตามกลยุทธ์การใช้พื้นที่ทำงานจะเป็นสิ่งสำคัญ  แต่ต้นทุนการตกแต่งพื้นที่สำนักงานใหม่จะเป็นข้อพิจารณาที่สำคัญสำหรับผู้เช่า เจ้าของอาคารสำนักงานจะเสนอเงื่อนไขการเช่าที่ดึงดูดใจ เพื่อโน้มน้าวให้ธุรกิจขนาดใหญ่ย้ายสำนักงาน อาคารสำนักงานใหม่เหล่านี้จะมีพื้นที่ทำงานที่ยืดหยุ่น (Flex Space) และบริการที่หลากหลายเพื่อให้สอดคล้องกับการสร้างสถานที่ทำงานที่ทันสมัยและตอบสนองความต้องการของผู้ใช้อาคารในด้านสุขภาพและไลฟ์สไตล์” นายศรุต วีรกุล ผู้อำนวยการ แผนกพื้นที่สำนักงาน ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าว
สรุปเทรนด์สำคัญ:
•    อาคารสำนักงานรุ่นใหม่ที่สร้างเสร็จและเป็นไปตามมาตรฐานสากลจะเป็นโอกาสให้บริษัทต่าง ๆ ย้ายที่ตั้งสำนักงานมากขึ้น
•    เจ้าของอาคารสำนักงานจะนำเสนอเงื่อนไขการเช่าที่น่าดึงดูดใจเพื่อรักษาผู้เช่าไว้
•    การพิจารณาเรื่อง ESG และการทำงานแบบไฮบริดจะมีอิทธิพลอย่างมากต่อการตัดสินใจย้ายที่ตั้งสำนักงาน
พื้นที่ค้าปลีก
ในตลาดพื้นที่ค้าปลีก เราได้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างเจ้าของพื้นที่ค้าปลีกและผู้เช่าในช่วงปีที่มีโควิด-19 ในระดับที่มากกว่าตลาดอื่น ๆ ความเข้าใจกันนี้ได้ส่งผลให้เกิดประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย เนื่องจากตลาดนี้ไม่เคยหยุดพัฒนา  แม้ว่าความสำคัญของการนำเทคโนโลยีมาใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนแพลตฟอร์มออนไลน์ มีความชัดเจนมากที่สุดเท่าที่เราเคยเห็นมา แต่ซีบีอาร์อีคาดว่าลูกค้าจะยังคงเห็นถึงความสำคัญของการมีหน้าร้านและการซื้อสินค้าจากหน้าร้าน
ปัจจุบันมีการพัฒนาโครงการพื้นที่ค้าปลีกขนาดใหญ่ 6 โครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและอีก 7 โครงการที่ประกาศออกมาใหม่ แต่แนวโน้มที่น่าจับตามองคือการพัฒนาโครงการค้าปลีกขนาดกลางให้เหมาะสมกับความต้องการและไลฟ์สไตล์ของผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ชานเมือง
นางสาวจริยา ถ้ำตรงกิจกุล หัวหน้าแผนกพื้นที่ค้าปลีก ซีบีอาร์อี ประเทศไทย แสดงความคิดเห็นว่า “ถึงแม้ว่าการซื้อขาย การชำระเงิน และระบบคลังสินค้าออนไลน์จะมีความสำคัญมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เจ้าของพื้นที่ค้าปลีกจะยังคงลงทุนปรับรูปแบบและนำเทคโนโลยีมาใช้ในโครงการค้าปลีกเพื่อดึงดูดผู้คนให้กลับเข้ามาในโครงการอีกครั้ง ในขณะที่การซื้อขายออนไลน์สร้างความสะดวกสบายและการซื้อขายหน้าร้านสร้างประสบการณ์  การค้าทั้งสองรูปแบบจึงสำคัญพอๆ กันและจำเป็นต้องมีการผสมผสานที่ลงตัว”
สรุปเทรนด์สำคัญ:
•    เจ้าของพื้นที่ค้าปลีกจะปรับปรุงโครงการค้าปลีกเก่าเพื่อสร้างประสบการณ์ในรูปแบบใหม่และทันสมัยมากขึ้น
•    เจ้าของพื้นที่ค้าปลีกและผู้ค้าปลีกจะหาวิธีการใหม่ ๆ ในการทำงานร่วมกันเพื่อสร้างประโยชน์ร่วมกัน
•    โปรโมชั่นที่หน้าร้าน กิจกรรมที่จัดในโครงการ และการมอบประสบการณ์ในการจับจ่ายใช้สอยรูปแบบใหม่ ๆ จะเป็นแนวทางในการดึงดูดนักช้อป
พื้นที่อุตสาหกรรมและโลจิสติกส์
ความต้องการที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรมจะยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องในปี 2566 เนื่องจากผู้พัฒนาโครงการเร่งขยายนิคมอุตสาหกรรมเดิมและพัฒนานิคมอุตสาหกรรมใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการที่เป็นผลมาจากนโยบาย China Plus One ที่ยังคงดำเนินต่อ นอกจากนี้ สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI จำเป็นต้องได้รับการต่ออายุและปรับปรุงใหม่ เพื่อให้ก้าวให้ทันประเทศคู่แข่งในภูมิภาคเพื่อดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ 
จากการลงทุนอย่างต่อเนื่องในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญโดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC และในนิคมอุตสาหกรรมที่มีการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพ ส่งผลให้ประเทศไทยอยู่ในจุดได้รับประโยชน์จากความต้องการพื้นที่อุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ที่เคยชะงักไปในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา
นายอาดัม เบลล์ หัวหน้าแผนกพื้นที่อุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าวว่า “ซีบีอาร์อีคาดว่าผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ และผู้ผลิตยานยนต์ทั้งแบบปกติและแบบไฟฟ้า จะยังคงมองประเทศไทยในฐานะตัวเลือกที่เหมาะสมเป็นอย่างมากในการตั้งฐานการผลิต  ไทยอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่ดีมากในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศให้เข้ามามากขึ้นเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตเหล่านี้”
สรุปเทรนด์สำคัญ:
•    การเร่งขยายที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรม
•    การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นจากการเติบโตของอุตสาหกรรมหลักด้านเทคโนโลยีและการผลิต 
•    การนำวิทยาการหุ่นยนต์และเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในภาคการผลิตและโลจิสติกส์เพิ่มขึ้น
โรงแรม
เมื่อปี 2565 สิ้นสุดลง เราได้เห็นว่าสถานการณ์ในภาคการท่องเที่ยวดีขึ้นอย่างมาก และเมื่อเข้าสู่ปี 2566 ก็ยังคงเป็นไปในทิศทางบวก   ตลาดได้รับผลดีจากผลการดำเนินงานของโรงแรมที่ดีขึ้นและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามามากขึ้น ทั้งยังได้แรงสนับสนุนจากการที่นักท่องเที่ยวจีนสามารถกลับเข้ามายังประเทศไทยได้เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้
แม้ว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับเข้ามาอีกครั้ง แต่ภาครัฐยังคงให้ความสำคัญกับการรักษากลุ่มนักท่องเที่ยวในประเทศ โดยมีการออกแคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ โรงแรมต่าง ๆ จะยังคงต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพราะโรงแรมที่มีอยู่ได้กลับมาเปิดให้บริการ และแผนกวิจัยซีบีอาร์อีคาดว่าจะมีซัพพลายโรงแรมใหม่ซึ่งมีห้องพักรวมมากกว่า 10,000 ห้องที่จะเข้ามาในตลาดภายในสิ้นปี 2568 ส่งผลให้ปริมาณห้องพักโรงแรมในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นอีก 12%”
ผลการดำเนินงานของโรงแรมในกรุงเทพมหานคร

ที่มา: STR และแผนกวิจัย ซีบีอาร์อี
แม้ว่าโรงแรมมากมายหลายแห่งจะมีรายได้เฉลี่ยต่อวันจากห้องพักที่ขายได้หรือ ADR ในเดือนธันวาคม ปี 2565 สูงกว่าเดือนธันวาคม ปี 2562 แต่อัตราการเข้าพักยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า ดังนั้นจะเห็นได้ว่าผลการดำเนินงานโดยรวมของทั้งปี 2565 ยังน้อยกว่าปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนโควิด-19 เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังแตกต่างกันอย่างมาก   สิ่งที่น่าจับตามองจากนี้คือเจ้าของโรงแรมและเครือโรงแรมต่าง ๆ จะให้ความสำคัญกับการควบคุมต้นทุนของโรงแรม โดยเฉพาะการเริ่มต้นในการ นำกลยุทธ์ด้าน ESG ในระยะยาวมาใช้  ตลอดจนการลงทุนด้านเทคโนโลยีและการรักษาพนักงานเอาไว้ เนื่องจากผู้ที่เคยตกงานจำนวนมากลังเลที่จะกลับสู่ภาคธุรกิจนี้
นายอรรถกวี ชูแสง หัวหน้าแผนกธุรกิจโรงแรม ซีบีอาร์อี ประเทศไทย ให้ความเห็นว่า “เจ้าของโรงแรมและเครือโรงแรมจะทุ่มเทเวลาและทรัพยากรเพื่อให้มั่นใจว่าตนอยู่ในจุดที่ดีที่สุดที่จะได้ประโยชน์จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มผลกำไรหลังจากประสบปัญหาขาดทุนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ อาจมีโอกาสสำหรับนักลงทุนในการซื้อโรงแรม เนื่องจากเราได้เห็นแล้วว่าช่องว่างระหว่างราคาของผู้ขายและผู้ซื้อนั้นมีความเป็นไปได้มากขึ้น เพราะความเชื่อมั่นในตลาดปรับตัวดีขึ้น”
สรุปเทรนด์สำคัญ:
•    กลุ่มโรงแรมราคาประหยัดและโรงแรมระดับกลางมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น เนื่องจากกรุ๊ปทัวร์และการเดินทางเพื่อธุรกิจกลับมา
•    แรงกดดันด้าน ADR เพราะการปรับปรุงโรงแรมและการเปิดโรงแรมใหม่ในปี 2566 ทำให้การแข่งขันสูงขึ้น
•    เครือโรงแรมให้ความสำคัญกับการนำกระบวณการด้าน ESG และเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มขึ้นเพื่อพัฒนาประสบการณ์ของผู้เข้าพักและลดต้นทุนระยะยาว
การลงทุน
อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นและความระมัดระวังของธนาคารในการปล่อยสินเชื่อจะยังคงทำให้การลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2566 มีจำนวนจำกัด แต่ด้วยความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นโดยรวมจึงเป็นที่คาดว่าปริมาณธุรกรรมซื้อขายที่ดินจะมีเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ ผู้พัฒนาโครงการจะเปิดรับพันธมิตรเพื่อร่วมลงทุน โดยกลุ่มนักลงทุนชาวญี่ปุ่นยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อประเทศไทย  แม้ว่าตลาดที่พักอาศัยเป็นภาคธุรกิจที่ได้รับความนิยมในการร่วมลงทุน แต่คาดว่าในปีนี้ ตลาดอื่น ๆ อาจได้รับความสนใจมากกว่าเดิม โดยเฉพาะตลาดอาคารสำนักงานและตลาดพื้นที่อุตสาหกรรมและโลจิสติกส์
นายบานาบี้ สเวนสัน หัวหน้าแผนกการลงทุนและที่ดิน ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า “โครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะอยู่ในระหว่างการพัฒนาหรืออยู่ในขั้นตอนการวางแผน อาจมองหาผู้ร่วมลงทุนหรือแหล่งเงินทุนใหม่ ๆ เนื่องจากคาดว่าผู้ให้สินเชื่อในประเทศจะยังคงระมัดระวังอยู่ นอกจากนี้ เจ้าของที่ดินควรที่จะศึกษาเรื่องการปล่อยเช่าที่ดินเพื่อเป็นทางเลือกหากไม่ต้องการที่จะพัฒนาที่ดินนั้นเองหรือขายออกไป เนื่องจากภาระทางภาษีในการถือครองที่ดินเปล่านั้นจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง”
สรุปเทรนด์สำคัญ:
•    ช่องว่างเรื่องความคาดหวังด้านราคาที่แคบลงจะส่งเสริมให้เกิดการลงทุนมากขึ้น หลังจากระยะเวลาสามปีที่ผ่านมามีธุรกรรมในระดับที่ต่ำ 
•    นักลงทุนต่างชาติยังคงให้ความสนใจลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ไทย
•    ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อจะส่งผลให้เกิดการร่วมลงทุนกับนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวซีบีอาร์อี 2023

ข่าวและอีเว้นท์บ้านล่าสุด




เว็บไซต์นี้มีการเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์ และช่วยให้เราปรับปรุง และนำเสนอเนื้อหาตรงตามความสนใจของท่าน ท่านสามารถดู Privacy Notice และ ดู Cookies Policy ของเราได้ ที่นี่ ทั้งนี้ ท่านจะยินยอมให้เราเก็บคุกกี้ทั้งหมด หรือให้เก็บแค่บางส่วนโดยการคลิกเลือก ตั้งค่า

ท่านสามารถเลือกให้ความยินยอมการเก็บคุกกี้เป็นเรื่องๆ ได้ที่นี่

เมื่อคุณเข้าชมเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่น checkraka เราอาจจัดเก็บ หรือดึงข้อมูลจากเบราว์เซอร์ของคุณในรูปแบบของคุกกี้ และเทคโนโลยีอื่นที่คล้ายคลึง เช่น tag และ pixel (เรียกรวมกันว่า “คุกกี้”) ซึ่งมักเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้โดยตรง แต่ช่วยให้คุณใช้งานเว็บไซต์ได้ปลอดภัย และตรงตามความต้องการมากขึ้น คุณอาจไม่ยินยอมให้เราเก็บคุกกี้บางประเภทได้ โดยการคลิกตามหัวข้อข้างล่างนี้

ประเภทคุกกี้
อ่านเพิ่มเติม ที่นี่
ยินยอม / ไม่ยินยอม
คุกกี้ที่จำเป็นต้องมีเสมอ
(Strictly Necessary)
คุกกี้สำหรับการใช้งานเว็บไซต์
(Functionality)
คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและวิเคราะห์
(Performance & Analytics)
คุกกี้เพื่อการตลาด
(Marketing)