ข่าวดี ธอส. ไฟเขียวปล่อยคนกู้รายได้ต่ำกว่า 2.5 หมื่น มีบ้านได้ และกู้ร่วมกันได้มากถึง 6 รายชื่อ
บิ๊ก ธอส. สวมบทผู้นำตลาดสินเชื่อบ้าน ขยับเกณฑ์ดีเอสอาร์ 50% เปิดทางเพิ่มคนค้ำ รับลูกค้ารายได้ไม่ถึง 2.5 หมื่น พร้อมส่งสินเชื่อดอกเบี้ยคงที่ 3.4% ดีเดย์ 1 มิ.ย. วงเงินหมื่นล้าน ตอบโจทย์คนไทยมีบ้านลดเหลื่อมล้ำ
ผู้ขอกู้สินเชื่อบ้านที่มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่ธนาคารพาณิชย์กำหนดใหม่คือ 2.5 - 3 หมื่นบาทต่อเดือน มีความหวังเมื่อธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ประกาศความพร้อมให้การสนับสนุนเพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้คนไทยมีบ้านเป็นของตนเอง
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธอส. เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ธอส.พร้อมปล่อยกู้ให้แก่ลูกค้าทุกรายที่ถูกธนาคารพาณิชย์ปฏิเสธสินเชื่อ และพร้อมจะขยับอัตราส่วนรายจ่ายในการชำระหนี้ต่อรายได้ต่อเดือน (DSR) ให้เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับลูกค้าในกรณีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ด้วย รวมไปถึงการเปิดโอกาสให้มีการกู้ร่วมกันได้มากถึง 6 รายชื่อ
"ราคาที่อยู่อาศัยปัจจุบันขยับสูงขึ้น เกณฑ์ปกติของ DSR จะอยู่ที่ไม่เกิน 50% หรือ 1 ใน 3 แต่ธนาคารพร้อมจะขยับเพิ่มเป็น 50% หากรายได้ไม่เพียงพอ เช่น DSR 1 ใน 3 ผู้กู้จะต้องผ่อนชำระ 6,000 บาทต่อวงเงินกู้ 1 ล้านบาท เมื่อคูณ 3 ลูกค้าจะต้องมีรายได้สุทธิ 18,000 บาท หากคุณสมบัติไม่เข้าเกณฑ์ ธนาคารก็จะปรับดี DSR เป็น 1 ใน 2 หรือ 50% รายได้สุทธิก็จะก็จะลดลงมาที่ 12,000 บาท ก็กู้ได้ 1 ล้านบาท ถ้าเกณฑ์รายได้ไม่ผ่านอีกก็จะแนะนำให้เขาหาคนมา กู้ร่วมได้ ผมได้กำชับไปที่สาขาห้ามบอกปัด แต่ให้หาทางออกหรือแนะนำลูกค้าด้วย" นายฉัตรชัย ย้ำ
ผลิตภัณฑ์ของธนาคารที่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้คือ สินเชื่อบ้านสานรัก ที่ได้ขยายวงเงินสินเชื่อจาก 8,000 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 28,000 ล้านบาท ในส่วนของลูกค้าหากเป็นข้าราชการที่ได้รับบำนาญ ธอส.อนุมัติสินเชื่อให้กับลูกค้ากลุ่มนี้อยู่แล้ว สูงสุดที่เคยมีการอนุมัติตามเกณฑ์ คือ 70 ปี โดยกำหนดเอาอายุผู้กู้และอายุสัญญากู้รวมต้องไม่เกิน 70 ปี เรียกว่าแม้มีอายุสูงถึง 40 ปีสามารถยื่นกู้ได้ สูงกว่าธนาคารทั่วไปที่ผู้กู้อายุเกิน 35 ปีแล้วโอกาสการกู้ก็จะลดลง
นอกจากนี้ ธอส.กำหนดอัตราส่วนการให้สินเชื่อเพื่อซื้อบ้านเทียบกับมูลค่าบ้าน (LTV) สำหรับลูกค้ารายย่อยที่ 85% หากเป็นกลุ่มสวัสดิการแต่ไม่มีเงินฝาก LTV จะอยู่ที่ 90-100% โดยเป็นการหักผ่านบัญชีเงินเดือนของผู้กู้ กรณีสูงสุด LTV อยู่ที่ 110% ซึ่งเป็นลูกค้าธอส.และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)ซึ่งมีลูกค้าหักบัญชีเงินเดือนในการผ่อนชำระสัดส่วน 65-70%ของลูกค้าทั้งหมด อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการขยับ DSR ความเสี่ยงของการปล่อยสินเชื่อก็เพิ่มขึ้น แต่ประเด็นคือหน้าที่ของ ธอส.คือ ทำอย่างไรให้บุคคลนั้นมีบ้าน ดังนั้นหน้าที่ของธนาคารคือจะต้องบริหารพอร์ตสินเชื่อ ให้ลูกค้ามีรายได้เพียงพอและแข็งแรงรองรับการผ่อนชำระต่อเนื่องไปถึง 25 ปี
ออกดอกเบี้ยช่วยอีกแรง
นายฉัตรชัยกล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารล่าสุด มีมติให้ธนาคารจะออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อบ้านและที่อยู่อาศัยดอกเบี้ยต่ำ วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเริ่มโครงการในวันที่ 1 มิถุนายน 2560 โดยให้กู้รายละไม่เกิน 3 ล้านบาท ดอกเบี้ยคงที่ปีแรก 2.99% และเฉลี่ย 3 ปีไม่เกิน 3.4% โดยธนาคารพร้อมขยายวงเงินสินเชื่อตามความต้องการของลูกค้า
จุดประสงค์หลักจากการออกผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เพื่อดึงอัตราดอกเบี้ยในตลาดให้ต่ำลงมา ซึ่งเป็นไปตามนโยบายนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง และ ธอส. ก็รับมอบนโยบายจากนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2560 ที่ต้องการลดช่องว่างของดอกเบี้ย รวมถึงการช่วยผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน
ด้านผลประกอบการ 5 เดือนแรก อนุมัติสินเชื่อไปแล้ว 4.63 หมื่นล้านบาท จากทั้งปีที่ตั้งเป้าโต 6% หรือ 1.78 แสนล้านบาท และมีเป้าหมายในระยะยาว 4 ปี มีสินทรัพย์ 1 ล้านล้านบาท และครองส่วนแบ่งตลาดในสัดส่วน 33% หรือท็อป 3 ในตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยจากปัจจุบันอยู่ที่ 29% ส่วนกำไรสุทธิจะทำให้ได้ตามที่เคพีไอกำหนดคือ กำไรสุทธิ 1.1 หมื่นล้านบาท
ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยของ ธอส.มีอัตราที่ต่ำที่สุดแล้วในตลาดขณะนี้ ขณะที่นโยบายของรมว.คลัง ธอส.ก็ลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่ลูกค้า แม้จะไม่มีในส่วนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หากแต่มีเพียงลูกค้ารายย่อย แนวทางคือจะต้องปรับลดดอกเบี้ยสาหรับลูกค้ารายย่อย แม้ขณะนี้ ธอส.จะไม่ปรับลด MRR ที่ปัจจุบัน 6.75% แต่หากเปรียบเทียบกับ MRR ธนาคารพาณิชย์ที่ปรับลดลงแล้วเหลือ 7% ถือว่าสูงกว่า ธอส.
"แม้ไม่สามารถลด MRR ให้ลงกว่านี้ได้อีก เพราะปัจจุบันก็ถือว่าต่ำที่สุดแล้วในตลาด หากลดดอกเบี้ยอีก อาจกระทบการปล่อยสินเชื่อทั้งหมดของธนาคาร เนื่องจากสินเชื่อที่ธนาคารปล่อยเป็นสินเชื่อบ้านและที่อยู่อาศัย 100% คิดเป็นวงเงินกว่า 9.6 แสนล้านบาท หรือมีสัดส่วนประมาณ 28-29% จากสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งระบบ"
ธนาคารยังดูในส่วนของอัตราดอกเบี้ยอื่นว่ามีการเขย่งดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์อื่นอีกหรือไม่ ซึ่งก็พบว่าในส่วนของ MOR โดยใช้เป็นตัวเลขอ้างอิง ธนาคารได้ปรับลดลงจากส่วนดอกเบี้ยแบบ MLR ถือเป็นสินเชื่อที่ให้กับผู้ประกอบการแฟลตหรือห้องเช่าให้กับประชาชน รายย่อย ธนาคารก็ได้ปรับลดลงจาก 6.40% ลงมาเป็น 6.25% เพื่อให้ใกล้เคียงกับธนาคารพาณิชย์อื่นๆ
ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ