"ผังเมือง" ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอีกครั้ง หลังจากมีประกาศจะปรับเปลี่ยนผังเมืองกรุงเทพ ซึ่งตอนนี้ทาง
กทม. ยังเปิดรับฟังความเห็นของประชาชนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม แล้วผังเมืองคืออะไร สีของผังเมืองมีกี่สี แต่ละสีมีความหมายอย่างไร บทความนี้มีคำตอบ
ผังเมืองคืออะไร
"ผังเมือง" คือ แผนผังนโยบายที่แสดงรายละเอียดโครงการเพื่อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยความสุข ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี และเพื่อให้เมืองมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ปลอดภัยต่อชีวิต และทรัพย์สิน
สีของผังเมืองคืออะไร
"สีที่ดิน หรือสีของผังเมือง" คือ แผนผังที่กำหนดการใช้ประโยชน์ของที่ดินผ่านสีต่างๆ ซึ่งกำหนดโดยกรมโยธาธิการ และผังเมือง เพื่อให้เมืองความเป็นระเบียบเรียบร้อย ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนผู้อยู่อาศัย ในขณะเดียวกัน ก็มีไว้เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่นั้นๆ เช่น การคมนาคม การขนส่ง หรือสาธารณานูปโภค และเพื่อรองรับการพัฒนาของเมืองในอนาคตด้วย
ข้อดีของการรู้สีผังเมือง
หลายคนอาจจะคิดว่าสีของผังเมืองเป็นเรื่องของคนที่ต้องการพัฒนาที่ดินอย่างเดียวหรือเปล่า ? อันที่จริงแล้วสีของผังเมืองยังเป็นประโยชน์ต่อทุกคน ทั้งคนที่กำลังซื้อบ้าน คอนโด หรือคนที่ต้องการพัฒนาอสังหาที่ตนเองครอบครองอยู่ด้วย เช่น
📌 ทำให้เรารู้แนวทางการพัฒนาของที่ดิน ที่อาจจะส่งผลต่อราคาที่ดินในอนาคต
📌 รู้ถึงสภาพแวดล้อมโดยรอบ
📌 ทราบถึงข้อกำหนดต่างๆ เมื่อต้องการสร้าง หรือพัฒนาอสังหาฯ
เนื่องจากข้อกำหนดของผังเมือง จะบอกคุณได้ว่า เราสามารถสร้างอะไรได้บ้าง มีข้อกำหนดอะไรบ้าง เช่น ความกว้าง ความสูงเท่าไร เป็นต้น
สีของผังเมืองมีกี่สี แต่ละสีมีความหมายว่าอะไร
📌 หมวดที่ดินประเภทที่อยู่อาศัย
มีทั้งหมด 3 สีด้วยกัน หากเป็น“สีเข้ม” มีความหมายว่า “มีความหนาแน่นของการอยู่อาศัยสูง” ได้แก่
🟡 สีเหลือง (รหัส ย.1-ย.4) ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย
ตั้งในทำเลแถบชานเมือง มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี โดยที่ดิน ย.1 สร้างได้เฉพาะบ้านเดี่ยว ,ที่ดิน ย.2 เป็นต้นไป สร้างทาวน์เฮาส์ได้ ,ที่ดิน ย.3 เป็นต้นไปสามารถสร้างอาคารชุดขนาดเล็กและกลางได้ ,ที่ดิน ย.4 ให้ความสำคัญกับพื้นที่ชานเมืองที่อยู่ในเขตให้บริการของระบบขนส่งมวลชน
🟠 สีส้ม (รหัส ย.5-ย.7) ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง
มีไว้เพื่อรองรับการอยู่อาศัย และการขยายตัวบริเวณเขตต่อเนื่องกับเขตเมืองชั้นใน สร้างที่อยู่อาศัยได้ทุกรูปแบบ ถ้าเป็นอาคารชุดที่มีเนื้อที่เกิน 10,000 ตารางเมตร จะต้องตั้งอยู่ริมถนนที่มีเขตทางไม่น้อยกว่า 30 เมตร หรืออยู่ในระยะ 500 เมตรจากรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน
🟤 สีน้ำตาล (รหัส ย.8-ย.10) สีเข้มสุด ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก
สามารถสร้างที่อยู่อาศัยได้ทุกรูปแบบ เนื่องจากเป็นที่ดินที่มีมูลค่าสูง จึงมีที่อยู่อาศัยแนวตั้งจำนวนมาก อย่างคอนโดมิเนียม และเรสซิเดนส์
📌 หมวดที่ดินประเภทพาณิชยกรรม
🔴 สีแดง (รหัส พ.1-พ.5) ที่ดินเพื่อการพาณิชย์ และสามารถสร้างที่อยู่อาศัยได้ มีข้อจำกัดน้อยกว่าที่ดินสีอื่นๆ
📌 หมวดที่ดินประเภทอุตสาหกรรม
🟣 สีม่วง (รหัส อ.1-อ.2) ที่ดินประเภทอุตสาหกรรม สามารถสร้างที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยว หอพัก หรือคอนโดมิเนียมขนาดเล็ก รวมถึงสร้างร้านค้าได้ แต่ไม่สามารถสร้างอาคารสูง กับอาคารชุดขนาดใหญ่ได้
📌 หมวดที่ดินประเภทประเภทคลังสินค้า
🩷 สีเม็ดมะปราง (รหัส อ.3) ที่ดินประเภทอุตสาหกรรมในรูปแบบคลังสินค้า ใช้เป็นพื้นที่คลังสินค้าสำหรับการขนส่งในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
📌 หมวดที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม และที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม
สามารถแบ่งได้ 2 สี ได้แก่
⚪️ สีขาวและมีกรอบกับเส้นทแยงสีเขียว (รหัส ก.1-ก.3)
มุ่งเน้นไปที่การอนุรักษ์ ดูแลรักษาพื้นที่การเกษตรเพื่อรักษาสภาพแวดล้อม ซึ่งพื้นที่ ก.1 มีข้อจำกัดด้านการระบายน้ำและมีความเสี่ยงในการเกิดอุทกภัย, ก.3 จะส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเค็มและน้ำกร่อยบริเวณชายฝั่งทะเล
🟢 สีเขียว (รหัส ก.4-ก.5 )
คล้ายกับสีด้านบน เน้นส่งเสริมเศรษฐกิจการเกษตร
📌 ที่ดินประเภทอนุรักษ์เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์และศิลปวัฒนธรรมไทย
🟤 สีน้ำตาลอ่อน (รหัสศ.1-ศ.2)
มีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมไทย รวมไปถึงกิจกรรมเชิงพาณิชย์ที่ส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ส่วนใหญ่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์
📌 ที่ดินประเภทสถาบันราชการ การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ
🔵 สีน้ำเงิน (รหัส ส.) ที่ดินของรัฐ หรือที่ดินประเภทหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ หรือเพื่อสาธารณประโยชน์ เช่น สถานศึกษา สถานพยาบาล สถานที่ราชการต่างๆ
สรุป
ผังเมือง คือ แผนผังที่มีไว้เพื่อกำหนดการใช้ประโยชน์ของที่ดิน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บ้านเมืองเป็นไปอย่างมีระเบียบ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน เมื่อเราทราบถึงข้อมูลผังเมือง จะทำให้เราสามารถรู้แนวทางการพัฒนาของที่ดินนั้นๆ ได้ และทราบถึงข้อจำกัด หากต้องการสร้างหรือพัฒนาอสังหาฯ
โดยทุกคนสามารถเช็กได้ว่าพื้นที่ที่ตนเองอาศัยอยู่นั้นเป็นสีอะไร ได้ที่เว็บไซต์ของกรมโยธาธิการและผังเมือง คลิก : https://plludds.dpt.go.th/landuse/#
สำหรับชาวกทม.ที่ต้องการทราบว่าพื้นที่ที่ตนเองครอบครองจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง และอยากร่วมแสดงความเห็นเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนผังเมือง
สามารถร่วมแสดงความคิดเห็น ได้ถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2567 ที่ :
https://plan4bangkok.com/suggestion-form/