x
icon-filter ค้นหาบ้าน
product filter
product filter
product filter
product filter
product filter
product filter
product filter
product filter
product filter
product filter

สร้างบ้านสวนแบบไม่เป็นหนี้แต่เป็นสุข…ของขวัญให้คุณพ่อ-คุณแม่

icon 5 มี.ค. 67 icon 17,853
สร้างบ้านสวนแบบไม่เป็นหนี้แต่เป็นสุข…ของขวัญให้คุณพ่อ-คุณแม่
วันนี้เช็คราคามาแชร์แรงบันดาลใจในการสร้างบ้านของ คุณส้ม นันทิพร จันตี ที่จบด้านภูมิสภาปัตยกรรมทำงานด้านดีไซน์ ที่อยากให้ของขวัญชิ้นโตกับครอบครัวนั่นก็คือ "บ้าน" หลังใหม่ที่เป็นภารกิจที่คิดไว้ตั้งแต่ในวัยเด็กแล้วว่าอยากได้บ้านดีๆ ให้พ่อกับแม่อยู่ จากหลังเดิมให้ทุกคนคิดภาพตามว่าเป็นบ้านต่างจังหวัดที่เป็นบ้านไม้ยกสูงใต้ถุนโล่ง ซึ่งกลางวันร้อนมาก และเวลาจะเข้าห้องน้ำก็ต้องเดินลงมาข้างล่าง ทำให้ลำบากในการใช้งาน หลังใหม่จะเป็นอย่างไรเราไปติดตามเรื่องราวของบ้านสวนหลังนี้ของคุณส้มกันเลย 

1. ที่ดิน = ความสัมพันธ์

คุณส้มเติบโตมากับไร่กับสวน พ่อกับแม่คือผู้เสียสละและสนับสนุนทุกเส้นทางที่ลูกเลือก แม้ว่าตัวเองจะลำบากก็สนับสนุนให้ลูกไปสู่ฝั่งฝัน คุณส้มเล่าว่า "กว่าจะเรียนจบนี่ก็หมดที่ดินไปหลายแปลงนะคะ ทีแรกคิดว่าแม่พูดเล่น แต่มารู้จากน้องสาวทีหลังว่า จริงค่ะ เพราะตอนเรียนมหาลัยใช้เงินเยอะแถมเรียน 5 ปี คนที่รู้ดีที่สุดว่าพ่อแม่ลำบากมากคือน้องสาวเรา เพราะเขาอยู่กับพ่อแม่ในช่วงเวลานั้น พอเรามารู้แบบนี้มันก็ทลายอยู่นะคะความรู้สึก"

ที่ดินก่อนสร้างบ้าน
"บางครั้งเราวิ่งตามความฝันของตัวเองจนเพลิน มารู้ตัวทีหลังว่าเวลาของเราทุกคนเหลือน้อยลงทุกทีก็ตอนที่คุณแม่สุขภาพไม่ค่อยดีและคุณยายก็อายุมากแล้ว เลยตัดสินใจสร้างบ้านหลังนี้เมื่อสามปีก่อน เพราะบ้านหลังเก่าเป็นบ้านไม้ชั้นเดียวใต้ถุนโล่ง กลางวันร้อนมากและต้องเดินขึ้นลงบันไดเข้าห้องน้ำลำบากค่ะ ถามว่าพร้อมไหมก็ไม่เลย แต่ถ้าไม่รีบทำตอนนั้นอาจจะไม่ทันกาล พ่อแม่ให้ร่างกายนี้มา ให้เรามีอิสระทางความคิดได้เลือกทำในสิ่งที่รัก จนมายืนตรงจุดนี้ และพ่อแม่ไม่เคยร้องขออะไรจากเราเลย อยากให้เขามีพื้นที่ให้เขาได้พักผ่อน อยู่สบายๆ ทั้งทางกายและทางใจ นั่งสมาธิ เดินจงกรมได้ในช่วงบั้นปลายชีวิต บ้านหลังนี้คือสิ่งที่เราตั้งใจจะมอบให้ท่านค่ะ"

2. ที่ดิน = ความสุข


หลังจากทำการเกษตรหลายปีพื้นที่นี้ก็เขียวชอุ่ม

บรรยากาศรอบๆ บ้านก็เป็นพื้นที่สีเขียวสบายตา

สวนปาล์มวิวภูเขา

สระน้ำหลังบ้าน
ที่ดินผืนงามนี้เป็นของคุณยายของคุณส้ม จำนวน 16 ไร่ จากป่ารกคุณพ่อได้เข้ามาพัฒนาพื้นที่ ขุดสระน้ำทำการเกษตรปลูกเป็นสวนปาล์ม จึงทำให้พื้นที่ตรงนี้เขียวตลอดปี และเมื่อ 2 ปีที่แล้วคุณส้มกับน้องสาวก็เพิ่งจะซื้อที่ดินติดกันเพิ่มมาอีก 2 ไร่ เพื่อทดแทนที่เคยขายไป สร้างความปลาบปลื้มให้คุณพ่อเป็นอย่างมาก ในมุมมองของคุณส้ม นักออกแบบแลนด์สเคปมองที่ดินของตัวเองว่า "คุณพ่อคิดถูกมากค่ะ ที่เลือกที่จะมาอยู่ตรงนี้ ตอนเด็กๆ มองไม่รู้หรอกค่ะว่าที่ตรงนี้มันจะสวย จนกระทั่งเราโตผ่านมุมมองของนักออกแบบแลนด์สเคปถึงรู้ว่า พื้นที่ดินของเรานี่มันสวยมากจริงๆ  ไม่ว่าจะมุมไหน มันคือแหล่งรวมพลังงานที่ดี เวลากลับบ้านไปฮีลใจได้ 100% อนาคตนี่คิดว่าจะทำที่พักแบบฟาร์มสเตย์เพิ่มค่ะ"

3. ออกแบบเองตามสไตล์ "คนบ้านเรา"


แปลนบ้าน
บ้านหลังนี้คุณส้มออกแบบเอง โดยมีภาพในหัวอยู่แล้วว่าอยากบ้านวางตรงจุดไหนจะได้วิวดีที่สุด จากนั้นแล้วจึงมา ‘ออกแบบตามไลฟ์สไตล์ของคนอยู่’ มีพื้นที่ใช้สอยภายประมาณ 85 ตร.ม. ที่เหลือเป็นพื้นทีระเบียงหลังบ้าน 40 ตร.ม. บ้านหลังนี้จึงมีแค่ 2 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ ส่วนที่เหลือเป็นโถงนั่งเล่นที่สามารถปรับเปลี่ยนฟังก์ชันได้ เช่น เป็นโถงนอนเวลามีญาติมาเยี่ยม เป็นต้น

เริ่มขึ้นโครงสร้างบ้าน
ความง่ายในการออกแบบบ้านหลังนี้คือรู้จักไลฟ์สไตล์ของคนบ้านดีอยู่แล้ว จะเห็นได้ว่าหลังนี้มีหน้าต่างกระจกบานใหญ่ มีช่องลมระแนงหลายจุด เพราะว่าคุณพ่อคุณแม่ชินกับการอยู่บ้านไม้ที่โปร่งโล่งสบายมาตลอด หากจะไปสร้างบ้านสไตล์คนเมืองก็จะไม่ชอบ ห้องนอนที่มีห้องน้ำในตัวคุณพ่อจะไม่ชอบ "คุณส้ม" คนออกแบบก็ต้องคำนึงส่วนนี้เป็นพิเศษ สุดท้ายก็ได้ออกมาตามใจผู้อยู่ แล้วค่อยมาปรับในเรื่องของความสวยงาม น่าอยู่ สะดวกสบายภายหลัง
แต่ความยากของหลังนี้คุณส้มบอกว่า "พอเราออกแบบเองเราจะไม่มีกรอบ ถ้ามีไอเดียใหม่ๆ ก็แก้ได้เรื่อยๆ อันนี้ไม่ดีเลยมันจะจบยาก เรื่องโครงสร้างเราก็ไม่ถนัด ตรงนี้แฟนเราก็จะมาช่วยดูและปรึกษาเพื่อนที่เป็นวิศวกรปรับแก้ให้เลยง่ายขึ้นค่ะ

4. วัสดุหาจากสิ่งที่มีก่อน


บ้านระหว่างการก่อสร้าง

กำลังต่อเติมชานบ้าน
คุณส้มใช้วิธีดูวัสดุที่มีอยู่ก่อนว่าอะไรพอใช้ได้บ้างเพื่อที่ประหยัดงบประมาณ ซึ่งก็จะมีไม้เก่าเก็บเช่น ไม้ยางนา ไม้มะค่า ไม้แดง ไม้พะยอม จึงเลือกเก็บไม้เนื้อแข็งทำในส่วนของวงกบ ระแนง และบันไดกลางแจ้งหลังบ้าน ในส่วนที่ทนแดดทนฝน ส่วนฝ้าภายในและภายนอก ประตู-หน้าต่าง และผนังบ้านบางส่วนใช้ไม้สักที่เป็นไม้สักของคุณพ่อที่ปลูกไว้มาเป็น 10 ปีแล้ว 
ผนังก่อด้วยอิฐบล็อกและกรุด้วยไม้บางส่วน วิธีการนี้จะทำให้ระบายอากาศได้ดี เพราะไม้มีการยืดหดตัว บ้านไม่ร้อนถึงแม้ไม่เปิดหน้าต่างในตอนกลางคืน ส่วนกระจกบานเกล็ดในแบบไม่มีแต่แรก แต่มาใส่ทีหลังเพราะคุณแม่ชอบที่เปิดระบายอากาศให้ลมผ่านก็ได้

คุณส้มกลับบ้านไปคุมงาน
"ในส่วนอื่นๆ ก็หาซื้อวัสดุที่ขายตามร้านวัสดุก่อสร้างในท้องถิ่นทั่วไป ซึ่งเจ้าของร้านก็ใจดีมากให้เราเครดิตได้ อันนี้ก็ต้องขอบคุณมากๆ เลยค่ะ เพราะว่าบ้านเราอยู่ในพื้นที่อำเภอนครไทย ซึ่งห่างจากตัวจังหวัดพิษณุโลกประมาณ 100 กม. ซึ่งไกลมาก การจะหาวัสดุแบบที่ตรงใจเราอย่างในกรุงเทพฯ ก็อาจจะไม่ได้ทั้งหมด เราก็อาศัยเลือกคุมโทนสีที่ไปด้วยกันได้เป็นหลัก"

5. คุมงานทางไกล แก้ไขยาก?

"ตัวเราทำงานอยู่กรุงเทพฯ ทำบ้านให้คนอื่นอยู่ ปล่อยให้ช่างทำไป โดยมีพ่อกับแม่ช่วยดู คือมันยากที่เราต้องอธิบายให้ช่างเข้าใจเป็นภาพเดียวกับเราผ่านทางออนไลน์ พอกลับไปตรวจงานก็ต้องได้แก้ เอาจริงๆ กว่าจะจบก็ทุบรื้อหลายรอบเหมือนกัน เดี๋ยวเราเปลี่ยน แม่เปลี่ยนหน้างานเองก็มีค่ะ อย่างสีเคลือบไม้เราอยากได้สีเคลือบด้านธรรมชาติ แต่คุณแม่ชอบทาให้เงาวับอันนี้เราก็ขัดไม่ได้แล้วเพราะกว่าจะรู้ ทาไปหมดหลังแล้วค่ะ ก็มีหลายจุดเหมือนกันที่ไม่ได้อย่างใจคิด แต่ก็นะปลูกเรือนตามใจผู้อยู่ ในเมื่อมันแก้ไม่ได้แล้วก็ต้องปล่อย เขามีความสุขแบบไหนก็ให้เขาได้เลือกเองค่ะ"    

6. ของขวัญชิ้นใหญ่ให้ครอบครัว


Before

After
หลังนี้ครอบครัวของคุณส้มเพิ่งเข้าอยู่ไปเมื่อมกราคมปี 67 นี้เอง อนาคตเจ้าของบ้านอาจจะมีทำครัวไทยแยกออกไป และจัดสวนใหม่ โดยอยากให้รอบสระเป็นทางเดินจงกรมและมีร่มเงาจากต้นไม้ที่เปลี่ยนสีตามฤดู มีพื้นที่ปลูกผัก ทำฟาร์มเลี้ยงไก่เพิ่ม ทำสตูดิโอกลางสวนส่วนตัวอีกสักหลังไว้เขียนหนังสือกับทำงานศิลปะ  รวมถึงกลับไปรีโนเวทบ้านไม้หลังเก่าไว้อยู่เองด้วย รวมถึงแบ่งโซนไปทำบ้านพักให้เพื่อนๆ หรือคนที่อยากมาพักผ่อนที่ชอบความสงบ 

มุมเทควิวไปทางสระน้ำและฉากหลังคือภูเขา ตรงนี้จะเป็นที่ตั้งโต๊ะทานข้าว
เปิดประตูเข้ามาแล้วว้าวกับภาพแรกที่เห็น

บ้านจะถูกวางมุมมองแบบนั้นตั้งแต่ปิดประตูเข้ามาจากหน้าบ้าน

วิวสวยๆ ที่เห็นจากในบ้าน รับลมเย็นๆ แค่เปิดหน้าต่าง

หมอนผ้าฝ้ายทอมือปลอกหมอนทำจากไหมพรมสีฟ้าแกมน้ำเงิน ตอนเด็กๆ ก็ไม่เคยสนใจ ผ่านมา 30 ปี ตอนนี้รู้สึกว่าแพทเทิร์นการถักทอมันมีดีเทลที่เก๋ดี ยิ่งได้รู้สตอรี่ว่าคุณยายทำเองกับมือโดยที่โดยที่คุณตา (ผู้ล่วงลับไปแล้ว) เอาตะปูมาตีเป็นแพทเทิร์น แล้วคุณยายก็ใช้ไหมพรมในการถักคล้องไปมา จนออกมาเป็นปลอกหมอนที่มีลวดลายแบบที่ทำอีกไม่ได้แล้ว เพราะคนทำแม่แบบไม่อยู่แล้ว  ดูมีความพิเศษขึ้นมาทันที

อีกมุมที่ชอบคือพื้นที่ระเบียงหลังบ้าน เพราะสามารถนั่งรับลมชมวิวได้ทั้งวัน ไม่ร้อนเลยเป็นจุดที่ทุกคนในบ้านชอบและใช้งานบ่อยที่สุด

คุณยายก็ชอบมานั่งเล่นที่ระเบียงตอนกลางวันทุกวันเพราะตรงนี้จะไม่โดนแดดเลยทั้งวัน ก็กลายเป็นจุดศูนย์รวมในครอบครัว

 เวลาเราหรือน้องสาวกลับบ้านก็จะตั้งโต๊ะดริปกาแฟกันตรงนี้  สังเกตว่าหน้าต่างหลังบ้านจะเยอะเพราะว่า อยากเทควิวได้เต็มที่
ช่วงกลางคืนถ้าปิดไฟหมด นอนดูดาวในบ้านหรือระเบียงได้สบายเลยค่ะ วิวสวยมาก

7. สร้างบ้านแบบไม่เป็นหนี้ ใช้เวลา 3 ปี 1 ล้านบาท

คุณส้มบอกกับเราว่าหลังนี้ประมาณ 1 ล้านบาท (ไม่รวมราคาไม้) เพราะไม้ที่ใช้มีทั้งไม้เก่าและไม้ของตัวเองที่ปลูกไว้ ใช้เวลาสร้างประมาณ 3 ปี มีทั้งช่วงที่ตัดไม้แล้วรอไม้อบแห้ง ช่วงทีมช่างขอไปทำงานอื่นก่อนก็พอดีทำให้ทิ้งช่วงให้คุณส้มมีเวลาสะสมเงินมาสร้างบ้านต่อจนเสร็จ สำหรับข้อแนะนำของคุณส้มสำหรับคนที่อยากสร้างบ้านเองก็คือ "แบบบ้าน" ต้องจบในกระดาษดีกว่ามาแก้หน้างาน เพราะเสียทั้งเงินและเวลามากว่าค่าแบบเสียอีก ต่อมาก็คือ "ทีมช่าง" ต้องหาที่แบบเชื่อมือกันได้จริงๆ 
ติดตามคุณส้มได้ที่นี่ FB : บ้านสวนไดอารี่Nantipohn Jantee IG : orangegirlp Tiktok : oranggirlp
แท็กที่เกี่ยวข้อง สร้างบ้านสวน สร้างบ้าน สร้างบ้านเอง บ้านไม้สัก
Property Guru
เขียนโดย ปรียานุช สองศร Property Guru

พูดคุยกับกูรูได้ที่




เว็บไซต์นี้มีการเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์ และช่วยให้เราปรับปรุง และนำเสนอเนื้อหาตรงตามความสนใจของท่าน ท่านสามารถดู Privacy Notice และ ดู Cookies Policy ของเราได้ ที่นี่ ทั้งนี้ ท่านจะยินยอมให้เราเก็บคุกกี้ทั้งหมด หรือให้เก็บแค่บางส่วนโดยการคลิกเลือก ตั้งค่า

ท่านสามารถเลือกให้ความยินยอมการเก็บคุกกี้เป็นเรื่องๆ ได้ที่นี่

เมื่อคุณเข้าชมเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่น checkraka เราอาจจัดเก็บ หรือดึงข้อมูลจากเบราว์เซอร์ของคุณในรูปแบบของคุกกี้ และเทคโนโลยีอื่นที่คล้ายคลึง เช่น tag และ pixel (เรียกรวมกันว่า “คุกกี้”) ซึ่งมักเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้โดยตรง แต่ช่วยให้คุณใช้งานเว็บไซต์ได้ปลอดภัย และตรงตามความต้องการมากขึ้น คุณอาจไม่ยินยอมให้เราเก็บคุกกี้บางประเภทได้ โดยการคลิกตามหัวข้อข้างล่างนี้

ประเภทคุกกี้
อ่านเพิ่มเติม ที่นี่
ยินยอม / ไม่ยินยอม
คุกกี้ที่จำเป็นต้องมีเสมอ
(Strictly Necessary)
คุกกี้สำหรับการใช้งานเว็บไซต์
(Functionality)
คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและวิเคราะห์
(Performance & Analytics)
คุกกี้เพื่อการตลาด
(Marketing)