“บ้าน” ถือเป็นทรัพย์สินชิ้นใหญ่ของใครหลายคนเลยก็ว่าได้ เพราะกว่าจะได้มาเป็นเจ้าของโดยสมบูรณ์อาจจะต้องใช้ระยะนานถึง 30 ปี ซึ่งบ้านเมื่อเราอาศัยอยู่ไปนานๆ ก็มักจะมีจุดเสื่อมโทรมตามกาลเวลา ไม่ว่าจะเป็นผนังบ้าน ตัวบ้านทรุด หลังคาร้าว เป็นต้น แล้วเมื่อเวลานั้นมาถึงเราควรจะเลือกรีโนเวทบ้านหรือตัดสินใจซื้อใหม่ดี บทความนี้จะพาไปค้นหาคำตอบกันค่ะ
การรีโนเวทบ้านนั้นถือเป็นเรื่องใหญ่ ควรจะวางแผนให้ดี ทั้งในส่วนของโครงสร้าง วัสดุ และงบประมาณที่ต้องใช้ เพราะหากผิดพลาดในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง อาจจะส่งผลกระทบในหลายส่วน ทำให้งานรีโนเวทยืดเยื้อและบานปลายได้ ซึ่งขั้นตอนการวางแผนรีโนเวทบ้าน ควรพิจารณาดังต่อไปนี้
1. การประเมินงบประมาณ
ขั้นตอนนี้สำคัญมาก เราต้องประเมินก่อนว่าการรีโนเวทบ้านในครั้งนี้จะใช้งบประมาณเท่าไหร่ สถานการณ์ทางการเงินเราพร้อมไหม เพราะการรีโนเวทบ้านต้องใช้เงินก้อนจำนวนหนึ่ง
2. ตั้งเป้าหมายการรีโนเวทให้ชัดเจน
ลิสต์เป้าหมายว่าอยากจะรีโนเวทตรงส่วนไหนบ้าง เช่น อยากจะซ่อมแซมแค่เฉพาะส่วนที่เสียหายหรืออยากจะทุบรื้อแล้วทำใหม่ อยากต่อเติมส่วนไหนเพิ่มเติมไหม หรือเลือกปรับฟังก์ชันภายในบ้านใหม่ก็เพียงพอแล้ว เพื่อกำหนดทิศทางการรีโนเวทบ้านให้ชัดเจน เพราะในส่วนนี้จะส่งผลต่องบประมาณที่เราเตรียมไว้ด้วย
3. รวบรวมข้อมูลและเลือกแบบบ้านที่ชอบ
จะรีโนเวทบ้านทั้งที ก็ต้องเลือกแบบที่ชอบที่สุด พยายามหาแบบบ้านและรวบรวมข้อมูลวัสดุที่อยากได้ให้มากที่สุด เพื่อนำไปปรึกษากับนักออกแบบหรือผู้เชี่ยวชาญให้ช่วยประเมินความเป็นไปได้ว่าสามารถทำได้มากน้อยแค่ไหน
4. หาแหล่งวัสดุด้วยตัวเอง
สิ่งสำคัญในการรีโนเวทบ้านนั้น เราควรรู้ข้อมูลของวัสดุ ทั้งสเปค คุณสมบัติ ราคาท้องตลาด แบรนด์ที่เลือกใช้ และสถานที่จำหน่าย เพื่อให้ได้สเปคและราคาที่สมเหตุสมผลในงบประมาณที่เราวางไว้
5. สำรวจพื้นที่หน้างาน
ต้องสำรวจบ้านอย่างละเอียด โดยเฉพาะในส่วนของพื้นที่ที่ต้องการปรับปรุงว่ามีส่วนไหนที่ยังใช้ได้ มีส่วนไหนที่ต้องซ่อมแซมหรือทำใหม่บ้าง แนะนำให้ทำเช็กลิสต์ในแต่ละส่วนของบ้าน หรืออาจแบ่งเป็นประเภทของงานก็ได้ เช่น งานโครงสร้างหลังคา งานฝ้า งานพื้น งานผนัง งานระบบไฟฟ้า งานระบบประปา งานระบบสุขาภิบาล งานระบบปรับอากาศของแต่ละห้องแต่ละโซน เป็นต้น และอาจจะกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาเบื้องต้นของแต่ละส่วนเอาไว้ด้วย
6. กำหนดขอบเขตงาน
การกำหนดขอบเขตของงานรีโนเวทถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญไม่แพ้ขั้นตอนอื่นๆ เพราะเป็นขั้นตอนที่จะกำหนดรายละเอียดการทำงานอย่างครอบคลุม ทั้งขอบเขตพื้นที่ที่ต้องการปรับปรุง วิธีการจัดการพื้นที่ส่วนต่างๆ วัสดุที่ต้องการใช้งาน ไปจนถึงเรื่องของงบประมาณที่กำหนดไว้ เพื่อให้เป็นไปตามทิศทางที่วางไว้ตั้งแต่ต้น
7. จัดสรรงบประมาณ
ในการรีโนเวทบ้าน เราควรจัดสรรงบประมาณให้ชัดเจนว่าจะใช้เงินสำหรับส่วนไหนบ้าง โดยอาจจะแบ่งค่าใช้จ่ายออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ ส่วนแรกคือ ค่าออกแบบโดยสถาปนิก มัณฑณากร วิศวกรโครงสร้าง และวิศวกรงานระบบต่างๆ หากเป็นงานรีโนเวทเล็ก ๆ ที่เจ้าของบ้านควบคุมงานเองได้ก็อาจไม่มีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ ค่าใช้จ่ายส่วนถัดมาคือค่าใช้จ่ายในการปรับปรุง ทั้งค่าแรงช่าง ค่าวัสดุอุปกรณ์ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าดำเนินการต่างๆ ในระหว่างการรีโนเวท และค่าใช้จ่ายส่วนสุดท้ายคือ ค่าดำเนินการขออนุญาตในการก่อสร้างต่างๆ กับหน่วยงานราชการในกรณีที่ต้องยื่นขออนุญาต หรือค่าบริการที่ปรึกษาก่อสร้างต่างๆ นอกจากนี้ควรมีงบประมาณสำรองไว้เผื่อในกรณีฉุกเฉิน และควรตั้งงบประมาณให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้งบบานปลายอีกด้วย
8. เลือกผู้ออกแบบหรือผู้เชี่ยวชาญ
ในการรีโนเวทบ้านนั้น ควรเลือกจ้างสถาปนิกแยกกับการจ้างผู้รับเหมา เพราะจะทำให้ขั้นตอนการรีโนเวทเป็นไปอย่างเป็นระบบ โดยสถาปนิกจะทำหน้าที่ให้คำปรึกษาเรื่องแนวทางในการรีโนเวท ดูแลเรื่องการออกแบบให้ตรงกับความต้องการของเจ้าของบ้านมากที่สุด รวมทั้งรับหน้าที่ตรวจงานผู้รับเหมาในขณะรีโนเวทบ้านร่วมกันกับเจ้าของบ้านด้วย แต่ทั้งนี้การจ้างสถาปนิกและผู้รับเหมารายเดียวกันก็ค่อนข้างสะดวก เพราะจะมีผู้ประสานงานเพียงคนเดียวตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบบ้านไปจนการรีโนเวทบ้านเสร็จสมบูรณ์
9. วางแผนและติดตามการทำงาน
ก่อนการลงมือรีโนเวทบ้าน ควรให้สถาปนิกผู้ออกแบบหรือผู้รับเหมาวางแผนและแจกแจงรายละเอียดการทำงานให้ชัดเจน ทั้งการลำดับงานปรับปรุงซ่อมแซมในส่วนที่กำหนด หรืองานส่วนที่ต้องทำเพิ่มเติม เพื่อให้บ้านออกมาตรงความต้องการของเรามากที่สุด และควรเข้าไปตรวจหน้างานอย่างสม่ำเสมอ เพราะอาจจะมีเรื่องที่ต้องแก้ไขและตัดสินใจหน้างาน
ส่วนใครที่มองว่าการรีโนเวทบ้านเดิมอาจจะมีค่าใช้จ่ายที่สูง การเลือกซื้อบ้านใหม่คงตอบโจทย์กว่าก็สามารถทำได้ แต่ต้องยอมรับว่าเราจะต้องแบกรับภาระหนี้ในการผ่อนบ้านต่อไปอีกระยะเวลาหนึ่ง ดังนั้น ไม่ว่าจะเลือกรีโนเวทบ้านเดิมหรือซื้อบ้านใหม่ ก็ควรประเมินความคุ้มค่าและงบประมาณที่เรามี เพื่อให้ได้บ้านที่ตรงใจเรามากที่สุด