การ
Renovate บ้าน คือการ ปรับปรุง ซ่อมแซม บูรณะ บ้านหลังเก่าที่ทรุดโทรมให้กลับมาเป็นเหมือนเดิม หรือทำบ้านหลังเก่าให้กลายเป็นบ้านหลังใหม่ที่มีความสวยงามขึ้น หรือเปลี่ยนสไตล์บ้านให้เป็นแบบใหม่ไปเลย เช่น การปรับปรุงบ้านหลังเก่าอายุ 100 ปีให้กลายเป็นบ้านสไตล์ Minimal เป็นต้น ซึ่งการรีโนเวทบ้านนั้นมีประโยชน์และความสำคัญในหลายๆ ด้าน ถ้าหากเรารีโนเวทบ้านเพื่ออยู่อาศัยเอง บ้านที่ดูใหม่และเป็นระเบียบ จะทำให้เราสามารถใช้ชีวิตในแต่ละพื้นที่บ้านได้อย่างคุ้มค่า และสะดวกสบายยิ่งขึ้น อีกทั้งยังได้บ้านสไตล์ใหม่ตามยุคสมัยในแบบที่เราต้องการ แต่ถ้าหากเรารีโนเวทบ้านเพื่อการลงทุน ก็จะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับตัวบ้าน และบ้านสวยๆ ยังช่วยดึงดูดให้คนสนใจได้เยอะขึ้นอีกด้วย วันนี้เราจะมาแนะนำ 10 ข้อควรรู้ ก่อนจะเริ่มการ Renovate บ้าน ว่ามีข้อสำคัญอะไรที่ต้องต้องเตรียมตัวบ้าง เพื่อให้การ Renovate บ้านนั้นเป็นไปอย่างมีระบบ และถูกใจผู้อยู่อาศัยอีกด้วย
10 ข้อควรรู้ก่อน Renovate บ้าน
ถึงแม้ว่าการรีโนเวทบ้านนั้นจะมีประโยชน์ ทั้งในแง่ของผู้อยู่อาศัยเอง และในแง่ของการต่อยอดทางด้านธุรกิจ แต่ก็ต้องใช้เงินก้อนใหญ่ในการลงทุน เพราะฉะนั้นเราต้องวางแผนให้ดีก่อนจะ Renovate บ้าน เพื่อให้คุ้มค่ากับการลงทุน จะมีข้อควรรู้อะไรบ้างนั้น ไปดูกันเลยค่ะ
1. วางเป้าหมายในการ Renovate บ้าน
ก่อนอื่นเลยให้เรากำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนว่าต้องการรีโนเวทบ้านไปเพื่ออะไร เช่น เพื่อต่อเติมพื้นที่บ้าน เพื่อปรับเปลี่ยนสไตล์บ้าน หรือเพื่อการซ่อมแซมส่วนที่ทรุดโทรม ซึ่งการกำหนดในแต่ละเป้าหมายจะใช้ค่าใช้จ่ายในการ Renovate ไม่เท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นค่าวัสดุก่อสร้าง ค่าอุปกรณ์ต่างๆ ค่าจ้างผู้รับเหมา เป็นต้น ทำให้เราสามารถคำนวณค่าใช้จ่ายตรงนั้นได้อย่างพอเพียง ไม่บานปลาย รวมไปถึงระยะเวลาในการ Renovate เช่น เราตั้งใจจะปรับเปลี่ยนแค่ห้องนอนภายในบ้าน ก็กำหนดขอบเขตไว้แค่การซ่อมแซมภายในบ้าน ซึ่งอาจจะไม่ต้องถึงกับทุบอะไรทิ้ง แต่ถ้าหากเราต้องการต่อเติมหรือเปลี่ยนโครงสร้างทั้งหลัง ที่อาจจะต้องมีการทุบบางส่วนของบ้าน งบประมาณค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ และระยะเวลาก็จะมากขึ้นตามไปด้วยนั่นเองค่ะ
2. ศึกษาโครงสร้างบ้าน
การศึกษาโครงสร้างบ้านก่อน Renovate บ้านนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะการต่อเติม หรือสร้างใหม่นั้นจำเป็นต้องรู้ว่าโครงสร้างบ้านนั้นสามารถรองรับส่วนที่ต่อเติมมาได้เท่าไหร่ หรือสามารถเจาะ ทุบ ผนังได้ขนาดไหน ซึ่งโครงสร้างบ้านของแต่ละหลังนั้นอาจจะไม่เหมือนกัน บางหลังก่อสร้างด้วยไม้ บางหลังก่อสร้างด้วยอิฐมวลเบา หรือถ้าหากเป็นหมู่บ้านจัดสรรก็นิยมสร้างด้วยพรีแคสต์ ซึ่งแต่ละโครงสร้างจะมีการดำเนินการที่แตกต่างกัน และต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาให้ปรึกษาในส่วนนี้ด้วย นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการศึกษาพื้นที่บ้าน และเนื้อที่โดยรอบในการ Renovate เพื่อที่จะได้ไม่ทับพื้นที่ของคนอื่น หรือของส่วนรวม และข้อมูลเหล่านี้ก็ยังต้องใช้เพื่อมาประเมินงบประมาณในการ Renovate อีกด้วย
3. กำหนด style บ้าน และ Lifestyle ผู้อยู่อาศัย
การกำหนด Lifestyle ก็เป็นอีกข้อที่จำเป็น เราต้องรู้ว่าผู้อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นตัวคุณ คนในครอบครัว หรือกลุ่มเป้าหมายสำหรับการลงทุน มี Lifestyle แบบไหน และตัวบ้านก็ต้องมีแบบแผนที่กำหนดว่าจะให้ออกมาเป็นสไตล์ไหน เพื่อนำไปดีไซน์บ้านใหม่ได้อย่างถูกต้อง รวมไปถึงสีที่ใช้ทาบ้าน เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ และของตกแต่งอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อการอยู่อาศัยที่เข้ากับ Lifestyle ของผู้อยู่อาศัย ถ้าเราได้อยู่บ้านที่ตรงตามความชอบก็จะยิ่งทำให้เรารู้สึกอุ่นใจมากขึ้น
4. คำนวณงบประมาณ
ในการจะรีโนเวทบ้าน แน่นอนว่าจะต้องใช้เงินก้อนใหญ่ ทำให้เราต้องวางแผนในเรื่องของ งบประมาณ เพราะในทุกขั้นตอนของการรีโนเวทบ้านนั้น ล้วนแล้วแต่มีค่าใช้จ่าย ตั้งแต่การออกแบบแปลนบ้าน ค่าจ้างบริษัทรับสร้างบ้าน หรือผู้รับเหมา ค่าวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ และค่าอื่นๆ อีกมากมาย ถึงแม้ว่าเราจะเตรียม งบประมาณ ไว้พอดีแล้ว บางครั้งก็อาจจะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน อาจจะมีค่าใช้จ่ายที่เกินงบประมาณขึ้นมา จึงจำเป็นต้องมีเงินสำรองประมาณ 20-30% ไว้เผื่อสถานการณ์ฉุกเฉินเหล่านั้นไว้ด้วยเช่นกัน
5. มีแผนสำรอง
ถึงแม้ว่าเราจะวางแผนไว้อย่างเป็นระเบียบเคร่งครัดแล้ว แต่มันก็อาจจะมีอะไรที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้อยู่เสมอ เพราะฉะนั้นเราจำเป็นต้องมีแผนสำรองไว้ด้วยเผื่อในเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นอย่างฉุกละหุก เช่น งบประมาณที่บานปลาย สินค้าที่ขาดตลาด การเดินระบบสายไฟ หรือท่อน้ำประปา และเหตุการณ์อื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้
6. วางแผนระยะเวลาให้ชัดเจน
จากการกำหนดเป้าหมายไว้แต่แรก และการศึกษาโครงสร้างบ้าน จะสามารถนำมาต่อยอดเพื่อการคำนวณระยะเวลาในการรีโนเวทบ้านทั้งหมดได้ เริ่มตั้งแต่วันที่เริ่มสร้าง ไปจนถึงวันที่เสร็จกระบวนการ นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องกำหนดวันทำงานในกระบวนต่างๆ ไว้อย่างชัดเจนอีกด้วย เช่น วันเริ่มทำงานของผู้รับเหมา อาจจะมีการแบ่งเป็นเฟส หรือชั้น หรือแต่ละห้องไว้ในแต่ละวัน ทั้งนี้เพื่อการทำงานที่เป็นไปอย่างเป็นระเบียบ และเป็นไปอย่างราบรื่น
7. ศึกษากฏหมายที่เกี่ยวข้อง
สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือเรื่อง กฏหมาย นี่เองค่ะ ในสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดมี กฏหมาย กำหนดและคุ้มครองไว้อยู่ รวมไปถึงการรีโนเวทบ้านด้วยเช่นกัน จะมีกฏหมาย พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 หรือ พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร กำหนดเอาไว้ ในเรื่องของระยะห่างระหว่างอาคาร ระยะร่นต่างๆ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของทั้งผู้อยู่อาศัย และบ้านใกล้เรือนเคียง รวมถึงไม่ไปสร้างปัญหาให้กับพื้นที่ใกล้เคียงด้วย
8. หาทีมออกแบบที่มีประสบการณ์
เมื่อเราได้เตรียมแผนการรีโนเวทบ้านไว้แล้ว ทั้งแผนหลักแผนรอง เมื่อจะเริ่มดำเนินการจริง เราต้องมามองหาทีมออกแบบที่มีประสบการณ์ มาออกแบบบ้านแบบใหม่ของเรา รวมไปถึงการให้คำปรึกษาต่างๆ เกี่ยวกับการออกแบบบ้าน เพื่อไม่ให้มีข้อผิดพลาดและติดขัด เราจึงจำเป็นต้องหานักออกแบบที่มีประสบการณ์ หรืออย่างน้อยก็ไว้ใจได้
9. หาทีมก่อสร้าง หรือผู้รับเหมาที่เชื่อถือได้
ขั้นตอนต่อไปเป็นเรื่องของทีมก่อสร้าง หรือผู้รับเหมาก่อสร้างที่เชื่อถือได้ ถ้าหากเราไม่ได้รู้จักกับผู้รับเหมาก่อสร้างเป็นพิเศษ สามารถมองหาบริษัทรับสร้างบ้านที่รับรีโนเวทบ้านก็ได้เช่นกันค่ะ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นผู้รับเหมา หรือมาในรูปแบบบริษัท เราจำเป็นต้องทำสัญญาให้เป็นลายลักษณ์อักษร และระบุรายละเอียดให้ครบถ้วน เพื่อที่จะไม่ได้เกิดปัญหาตามมาทีหลัง เช่นการล่าช้า การทิ้งงาน รวมไปถึงการไม่ใส่ใจในขั้นตอนการทำงาน เป็นต้น
10. บอกเพื่อนบ้านเกี่ยวกับการรีโนเวทบ้าน
ในระหว่างที่เราจะรีโนเวทบ้านนั้น จะมีทั้งเสียง และ กลิ่น อันไม่พึงประสงค์อยู่มากมาย เช่น เสียงทุบ เจาะ เคาะ ต่างๆ ที่อยู่ในระหว่างก่อสร้าง ซึ่งเป็นเสียงที่หลายคนอาจจะรำคาญได้ นอกจากนี้ก็อาจจะยังมีในเรื่องของ กลิ่น ที่อาจจะมากับ สี หรือ น้ำยาต่างๆ ที่ใช้ในการก่อสร้าง ก็อาจจะไปรบกวนเพื่อนบ้านได้ เพราะฉะนั้นการแจ้งเพื่อนบ้านไว้ก่อนว่าระหว่างนี้จะมีการรีโนเวทบ้าน ก็ถือเป็นมารยาทที่พึงกระทำ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับเพื่อนบ้านได้ค่ะ
สำหรับบทความนี้ก็เป็นข้อแนะนำเล็กๆ น้อย ก่อนที่จะเริ่ม
Renovate บ้าน เพื่อให้สามารถเตรียมตัวได้อย่างเป็นขั้นตอนและมีระบบ อย่างไรก็ตามหากใครที่ต้องการพูดคุยหรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านรีโนเวทบ้านและคอนโดก่อนที่จะเริ่มลงมือ สามารถติดต่อได้ทาง Fastwork เพื่อเป็นแนวทางในการออกแบบและให้คำปรึกษาก่อนได้ค่ะ