ในยุคที่ "รถยนต์ไฟฟ้า" หรือ "EV-Electric Vehicle" กำลังเป็นกระแสฮิตติดเทรนด์ในตอนนี้ บวกกับสถานการณ์ราคาน้ำมันที่มีราคาสูง ทำให้หลายคนเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ค่ายรถยนต์เองก็ต่างทยอยผลิตรถยนต์ EV ออกมารองรับตลาดมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เงื่อนไขอย่างหนึ่งของการใช้รถ EV คือจะต้องชาร์จไฟฟ้าแทนการเติมน้ำมัน ที่ปัจจุบันสามารถใช้บริการได้ตามสถานีชาร์จรถไฟฟ้าที่กระจายอยู่ตามจุดต่างๆ ทั่วประเทศ แต่ก็อาจจะยังไม่สะดวกมากนัก ดังนั้นสำหรับผู้ที่ใช้รถ EV หลายคนจึงเลือกที่จะติดตั้งเครื่อง EV Charger ไว้ที่บ้านเพื่อความสะดวกสบาย แต่ก็มีคำถามตามมาว่า แล้วถ้าอยากติดตั้งเครื่อง "EV Charger" ที่บ้านมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ ต้องจ่ายอะไรบ้าง?
ค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง EV Charger ที่บ้าน
ค่าใช้จ่ายหลักๆ สำหรับคนที่กำลังมีแผนจะติดตั้งเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV Charger) ภายในบ้านจะมีด้วยกัน 2 ส่วน คือ
1. ค่าเครื่อง EV Charger : ซึ่งในตลาดมีให้เลือกหลายราคาและหลายรุ่นมากๆ โดยราคาก็จะแตกต่างกันไปตามยี่ห้อ และสเปกของแต่ละรุ่น เริ่มต้นตั้งแต่ราคาประมาณ 20,000 บาท ไปจนถึง 100,000 บาทก็มี บางรุ่นจะเป็นราคาขายพร้อมติดตั้ง และบางรุ่นก็เป็นราคาเฉพาะตัวเครื่องเท่านั้นไม่รวมติดตั้ง ซึ่งราคาก็จะถูกลงมาหน่อย ดังนั้นเวลาซื้ออย่าลืมเช็คดูให้ดีก่อนนะคะ
2. ค่าเปลี่ยนมิเตอร์ไฟ : หากถามว่าจำเป็นจะต้องเปลี่ยนมิเตอร์ไฟเสมอไปมั้ย คำตอบก็คือไม่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าเครื่อง EV Charger ที่เราซื้อมานั้นต้องใช้กำลังไฟเท่าไหร่ แล้วมิเตอร์ไฟ หรือสายไฟของที่บ้านคุณรองรับกำลังไฟได้หรือไม่ แต่หากต้องเปลี่ยนก็เพียงทำการติดต่อและสอบถามค่าใช้จ่ายได้โดยตรงกับการไฟฟ้า
ประเภทเครื่อง EV Charger
EV Charger คือ เครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่ทำหน้าที่เป็นตัวอัดประจุไฟฟ้าให้กับแบตเตอรี่รถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า โดยสามารถแบ่งการชาร์จออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. เครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ากระแสตรง (DC Charger) : ตัวเครื่องมีขนาดใหญ่และใช้ไฟฟ้ามาก เหมาะกับศูนย์บริการชาร์รถไฟฟ้า หรือห้างสรรพสินค้า ไม่เหมาะติดตั้งในบ้าน ข้อดีคือใช้เวลาในการชาร์จน้อยประมาณ 40-60 นาที เท่านั้น เหมาะกับการชาร์จแบบเร่งด่วน
2. เครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ากระแสสลับ (AC Charger) : นิยมติดตั้งที่บ้าน เพราะมีขนาดเล็ก ใช้เวลาชาร์จหนึ่งครั้งนานประมาณ 8-12 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับกำลังไฟและความจุแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า เหมาะกับการชาร์จข้ามคืน ใช้ไฟในการชาร์จที่ 230 – 400v และความจุในการชาร์จระหว่าง 3.7 – 22kW แต่ควรติดตั้งโดยช่างที่มีประสบการณ์
ตัวอย่างราคาเครื่อง EV Charger ที่น่าสนใจ
1. SIEMENS รุ่น Versicharge Gen 3
ใช้งานได้กับรถยนต์ไฟฟ้าทุกรุ่น ทุกยี่ห้อ ที่รองรับหัว Type 2 มี 2 ขนาดให้เลือก คือ ขนาด 7.4 kW และ ขนาด 22 kW เหมาะสำหรับใช้งานในบ้าน ดีไซน์เครื่องเรียบหรู ทันสมัย ที่มาพร้อมความปลอดภัย แถมใช้งานง่าย ชาร์จได้เร็วกว่าอุปกรณ์ชาร์จที่แถมมากับรถยนต์ถึง 3 เท่า ใช้งานผ่านระบบบัตร RFID มีให้เลือกทั้ง 2 รุ่น รองรับกระแสไฟฟ้า 1 เฟส และ 3 เฟส มีระบบควบคุมแรงดันไฟฟ้า ตัดไฟอัตโนมัติเมื่อชาร์จเต็ม หรือ มีเหตุขัดข้อง ป้องกันฝน แดด และฝุ่นละออง รองรับการใช้งานได้ทั้ง Indoor และ Outdoor สามารถสั่งชาร์จ สั่งหยุด และเช็คสถานะผ่าน Cloud ได้
2. Wallbox รุ่น Pulsar Max
ใช้งานได้กับรถยนต์ไฟฟ้าทุกรุ่น ทุกยี่ห้อ ที่รองรับหัวชาร์จ Type 2 ดีไซน์สวยงามขนาดกะทัดรัดผลิตในประเทศสเปน มีให้เลือก 2 ขนาด 7.4 kW และ 22kW (ใช้ได้ทั้งไฟ 1 เฟส และ 3 เฟส) มีระบบควบคุมแรงดันไฟฟ้า ตัดไฟอัตโนมัติเมื่อชาร์จเต็ม หรือ มีเหตุขัดข้อง สามารถป้องกันฝน แดด และฝุ่นละออง ระดับ IP55 และกันกระแทกระดับ IK10 รองรับการใช้งานได้ทั้ง Indoor และ Outdoor สามารถใช้งานผ่าน App Wallbox ได้
3. Schneider รุ่น EVlink
เครื่องชาร์จคุณภาพมาตฐานยุโรปจากฝรั่งเศส สามารถใช้ได้กับรถยนต์ไฟฟ้าทุกยี่ห้อและทุกรุ่นที่รองรับหัวชาร์จ TYPE 2 มี 2 ขนาดให้เลือก คือ ขนาดกำลังไฟฟ้า 7.4 kW และ 22 kW ชาร์จเต็มภายใน 3 - 5 ชั่วโมง ใช้กับระบบไฟฟ้า 3 เฟส แรงดัน 230/400 VAC 50/60Hz กระแสไฟ 32A วัสดุภายนอกทนทานและเป็นฉนวนไฟฟ้า มีระบบป้องกันไฟดูด และไฟรั่ว สามารถป้องกันฝน แดด และฝุ่นละออง ระดับ IP54 และกันกระแทกระดับ IK10 รองรับการใช้งาน Outdoor มีกุญแจล็อคขณะทำการชาร์จ
4. Teison EV Charger รุ่น Smart Mini
ดีไซน์ทันสมัยแบบมินิมอล ขนาดเล็กกระทัดรัด จ่ายไฟสูงสุดที่ 22 kW ใช้กับรถ EV ได้ทุกแบรนด์ ร่วมกับสายชาร์จ Type 1 และ Type 2 มีฟีเจอร์สามารถคำนวนค่าใช้จ่ายได้ผ่านทางแอพพลิเคชัน myWallbox โดยเชื่อมต่อผ่าน Wi-Fi หรือ Bluetooth ติดตั้งได้ทั้ง iOS และ Android นอกจากนี้ยังสามารถตั้งเวลาและวันในการชาร์จ ช่วยคำนวณค่าไฟ และดูสถิติการชาร์จไฟได้ ป้องกันฝน แดด และฝุ่นละอองระดับ IP65 ได้รับการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยมาตรฐานที่กำหนดโดยหน่วยงานมาตรฐานของสหภาพยุโรป ราคาฟรีติดตั้ง (เฉพาะระยะ 10 เมตรแรก)
5. on-ion รุ่น Eco & Smart
ออน-ไอออน (on-ion) เป็น EV Charger จากค่าย PTT มีด้วยกัน 2 รุ่น คือ 7kW และ 22 kW ใช้กับรถ PHEV และ BEV ได้ทุกรุ่น (Type 2) ควบคุมการใช้งานผ่านทางแอพพลิเคชัน on-in รองรับทั้งระบบ AOS และ Android ชาร์จ 1 ชาร์จ 1 ครั้งใช้เวลาประมาณ 5-8 ชั่วโมง สามารถป้องกันฝน แดด และฝุ่นละออง ระดับ IP55 ผ่านมาตรฐานสากล IEC 61851 ระบบความปลอดภัยมีอุปกรณ์ RCD ภายใน รับประกันตัวเครื่อง 3 ปี
เตรียมความพร้อมก่อนติดตั้ง EV Charger
ข้อสำคัญอีกหนึ่งสิ่งสำหรับผู้ที่กำลังตัดสินใจอยากติดตั้ง EV Charger ที่บ้าน แนะนำว่าควรศึกษาข้อมูลให้ดีทั้งก่อนการติดตั้ง ระหว่างการใช้งาน และการดูแลรักษาหลังการติดตั้ง เช่น
1. ขนาดมิเตอร์ไฟ : สำหรับบ้านไหนที่มีขนาดมิเตอร์ไฟฟ้าเล็กกว่า 30 แอมป์ (30/100) ควรเปลี่ยนมิเตอร์ไฟให้มีขนาดตั้งแต่ 30 แอมป์ขึ้นไป เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณการใช้ไฟที่เพิ่มมากขึ้น แต่ทั้งนี้การจะเลือกว่าจะใช้ไฟ 1 เฟส หรือ 3 ก็ขึ้นอยู่กับสเปคและข้อกำหนดของรถยนต์ไฟฟ้า และเครื่อง EV Charger แต่ละรุ่น สำหรับค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนมิตเตอร์เป็นขนาด 30 แอมป์ (30/100) แบบ 3 เฟส 1,500 บาท (ข้อมูลจากการไฟฟ้านครหลวง)
ขอบคุณภาพจาก : การไฟฟ้านครหลวง
2. ขนาดสายไฟเมน : สายไฟเมนที่เหมาะสำหรับการติดตั้ง EV Charger ควรมีขนาด 25 ตร.มม. หากบ้านไหนที่มีขนาดเล็กกว่านี้แนะนำให้เปลี่ยนเพื่อรองรับกระแสไฟที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังควรติดตั้งเครื่องตัดไฟรั่ว หรือหากไม่มั่นใจแนะนำให้เรียกใช้บริการผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการติดตั้ง EV Charger เลยจะเป็นการดีที่สุดเพื่อความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สิน
ขอบคุณภาพจาก : การไฟฟ้านครหลวง
ในอนาคตรถยนต์พลังงานไฟฟ้ากลายเป็นรถยนต์ที่ทั้งโลกจะหันมาใช้งานแทนที่รถยนต์ที่ใช้พลังงานเชื่อเพลิง ดังนั้นถึงแม้ว่าปัจจุบันการติดตั้งเครื่อง EV Charger ภายในบ้านอาจจะยังมีค่าใช้จ่ายที่อาจจะสูงอยู่บ้าง แต่ก็ถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและน่าสนใจ หากเปรียบเทียบกับราคาน้ำมันที่ต้องจ่ายในระยะยาว