ทางกรมธนารักษ์ได้ประกาศใช้ราคาประเมินที่ดินใหม่ของรอบปี 2566 - 2569 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ที่ผ่านมาแล้วนะคะ ซึ่งมีอัตราราคาที่ดินเฉพาะในกรุงเทพฯ เฉลี่ยสูงขึ้น 3% เนื่องจากได้กลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว จึงทำให้ราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีแนวโน้มสูงขึ้นตามไปด้วยนั่นเองค่ะ วันนี้เราจะมานำเสนอ 10 อันดับราคาประเมินที่ดินที่สูงที่สุดในกรุงเทพมหานคร ตามที่กรมธนารักษ์ได้ประเมินแนวโน้มไว้ เผื่อเป็นข้อมูลสำหรับใครที่กำลังมองหาบ้าน คอนโด ตามทำเลที่ตัวเองสนใจ ส่วนใครอยากจะดูอันดับอื่นๆ เพิ่มเติมตามไปดูได้ที่เว็บไซต์ของ
กรมธนารักษ์เลยค่า
1. ถนนเพลินจิต 1,000,000 บาท ต่อ ตร.ว.
ทำเลแรกเป็นทำเลถนนเพลินจิต ที่มีราคาที่ดินประเมินสูงถึง 1,000,000 บาท ต่อ ตร.ว. ราคานี้เป็นราคาที่ปรับขึ้นมาจาก 900,000 บาท ต่อ ตร.ว. เป็นย่านใจกลางเมืองที่เต็มไปด้วย CBD และห้างสรรพสินค้าชั้นนำ และยังมีรถไฟฟ้ารองรับด้วยค่ะ
2. ถนนวิทยุ 1,000,000 บาท ต่อ ตร.ว.
ย่านถนนวิทยุก็ไม่แพ้เพลินจิตเลยค่ะ ราคาประเมินอยู่ที่ 1,000,000 บาท ต่อ ตร.ว. เช่นกัน เป็นอีกย่าน CBD สำคัญของกรุงเทพมหานคร ที่มีทั้งรถไฟฟ้า ห้างสรรพสินค้าชั้นนำ เช่นกัน
3. ถนนสีลม 750,000-1,000,000 บาท ต่อ ตร.ว.
ถนนสีลมราคาประเมินเริ่มต้นขึ้นมาไม่ต่างจากเดิมมากนักจาก 700,000 - 1,000,000 บาท เป็น 750,000 - 1,000,000 บาท ต่อ ตร.ว. ซึ่งเป็นอีกย่านเศรษฐกิจขับเคลื่อนที่สำคัญของชางกรุงเทพฯ ราคาที่ดินย่านนี้ขึงสูงอยู่ตลอด
4. ถนนพระรามที่ 1 400,000-1,000,000 บาท ต่อ ตร.ว.
ถนนพระรามที่ 1 ราคาประเมินเดิมอยู่ที่ 400,000 - 750,000 ขึ้นมาเป็น 400,000 - 1,000,000 ซึ่งถือว่าขึ้นมาค่อนข้างเยอะ ราคาสูงสุดเทียบเท่ากับถนนใน 3 ลำดับบนเลยทีเดียว ซึ่งถนนพระรามที่ 1 นี้ก็จะครอบคลุมย่านสยามที่เป็นแหล่งช็อปปิ้ง แฮงก์เอ้าท์ยอดฮิตของชาวกรุงเทพที่มีมาแต่ช้านานนั่นเองค่ะ
5. ถนนราชดำริ 750,000-900,000 บาท ต่อ ตร.ว.
สำหรับถนนราชดำริ ราคาจะเท่ากับราคาประเมินของปีก่อนๆ ในราคา 750,000 - 900,000 บาท ต่อ ตร.ว. มีรถไฟฟ้าตัดผ่านตลอดเส้นทาง สองข้างทางเต็มไปด้วยโรงแรมหรูตลอดเส้นทาง เป็นอีกย่านเป็นหน้าเป็นตาของชาวกรุง รายล้อมไปด้วยต้นไม้ใหญ่ที่ดูสดชื่น เรียกได้ว่าเป็นถนนที่สวยมากทีเดียวค่ะ
6. ถนนสาทร 450,000-800,000 บาท ต่อ ตร.ว.
อีกย่าน CBD สำคัญของชาวเมืองกรุงก็คือ ถนนสาทรนี่เองค่ะ ช่วงประมาณปี 2013 - 2019 จะเห็นว่ามีนักพัฒนาที่ดิน ไปสร้างคอนโด และที่พักอาศัยบนถนนแห่งนี้ค่อนข้างเยอะ มีคอนโดโครงการใหม่ๆ ขึ้นมามากมาย แต่ก็ขายหมดไปในเวลาไม่นาน นั่นเพราะราคาที่ดินยังไม่พุ่งสูงเท่าทุกวันนี้ อีกทั้งยังได้อยู่ใจกลางเมือง ติดรถไฟฟ้าและใกล้ที่ทำงาน เรียกได้ว่าอยู่เองก็สบาย ลงทุนก็ได้กำไรอย่างงามเลยค่ะ
7. ถนนเยาวราช 700,000 บาท ต่อ ตร.ว.
อีกย่านสำคัญที่มีชื่อเสียงมาอย่างช้านานของชาวกรุงก็คือ ถนนเยาวราชนั่นเองค่ะ ซึ่งราคานี้ยังเป็นราคาเดิม แต่ก็ถือว่าเป็นราคาที่สูงเกินกว่าชาวมนุษย์เงินเดือนทั่วไปจะจับต้องอยู่ดีค่ะ ซึ่งตั้งแต่หลังโควิด-19 ได้ซาลงทุกอย่างก็กลับมาเป็นปกติ เยาวราชก็กลับมาคึกคักเหมือนเดิม ไม่แน่ว่าประเมินราคาที่ดินครั้งถัดไป ราคาอาจจะพุ่งสูงขึ้นก็ได้ค่ะ ถ้าใครมีเงินถุงเงินถังอยากจับจองลงทุนไว้ก็ไม่เสียหลาย
8. ถนนธนิยะ 600,000 บาท ต่อ ตร.ว.
กลับมาที่ย่านสีลมกันค่ะ แต่เป็นถนนธนิยะที่เป็นถนนซอยของย่านสีลม ที่คึกคักตลอดเกือบ 24 ชม. หลังจากกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ก็มีทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวกันอย่างคึกคักเหมือนเดิม เป็นอีกย่านสำคัญที่มีชาวญี่ปุ่นมาลงทุนเยอะด้วยค่ะ ซึ่งราคานี้ยังคงเป็นราคาเดิมค่ะ
9. ถนนพัฒน์พงษ์ 600,000 บาท ต่อ ตร.ว.
ถนนพัฒน์พงษ์ก็จะอารมณ์เดียวกับถนนธนิยะค่ะ ซึ่งราคานี้ยังไม่ได้ปรับขึ้น แต่ก็เป็นอีกย่านเศรษฐกิจสำคัญของชาวกรุงเทพฯ
10. ถนนอโศกมนตรี 600,000 บาท ต่อ ตร.ว.
ขยับมาที่ถนนอโศกมนตรี ย่านสุขุมวิท ย่านนี้เป็นอีกย่านสำคัญที่เรียกว่ามีทุกอย่างครบพร้อมในถนนเส้นเดียว ไม่ว่าจะเป็น สถานที่ทำงาน สถานศึกษา ที่อยู่อาศัย โรงพยาบาล ทำให้เป็นทั้งแหล่ง CBD และที่อยู่อาศัย ซึ่งราคาใหม่นี้ได้ปรับขึ้นจากเดิมที่ 550,000 บาทต่อ ตร.ว. มาเป็น 600,000 บาท ต่อ ตร.ว. อีกด้วยค่ะ
จะเห็นว่า 10 อันดับถนนที่มีราคาประเมินแพงสุดในกรุงเทพฯ นั้นจะเป็นถนนที่มีความสำคัญในเรื่องของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งนั้นเลยค่ะ อีกทั้งยังมีทำเลที่ติดกับรถไฟฟ้าอีกด้วย บางย่านนั้นแทบจะไม่มีการไปลงทุนที่อยู่อาศัยใหม่ๆ เพิ่มได้แล้ว แต่บางย่านก็ยังสามารถลงทุนเพิ่มได้อยู่ แต่ก็นั่นแหละค่ะ ราคาก็จะแพงมากกกกก ที่คงจะมีแค่ไม่กี่คนในประเทศนี้ที่ซื้อได้แหละค่ะ อย่างไรก็ตาม เราก็มานำเสนอไว้ให้เป็นข้อมูลเล็กๆ น้อยๆ ให้ได้เรียนรู้กันว่าที่ดินเมืองไทยนั้นแสนแพงแค่ไหน และก็ยังคงมีแนวโน้มว่าจะแพงขึ้นไปอีกเรื่อยๆ แบบนี้ตลอดไปจ้า
ขอบคุณข้อมูลจาก
กรมธนารักษ์
หากใครมีข้อสงสัยอะไรเพิ่มเติม สามารถเข้าร่วมพูดคุยกับกูรูได้ที่นี่เลยค่ะ
https://page.line.me/uht3147t