ช่วงนี้อะไรๆ ก็แพงไปหมด แม้แต่ค่าไฟในบ้านของเรา ที่พอเห็นบิลค่าไฟแล้วก็ร้องเอ๊ะ! ขึ้นมาว่าทำไมมันแพงนัก ทั้งๆที่คิดว่าใช้เท่าเดิมมาตลอด หลายคนอาจจะสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น การไฟฟ้าทำอะไรกับบ้านเรารึเปล่า หรือมีใครแอบมาใช้ไฟบ้านเรา (555) ต้องบอกก่อนเลยว่า ทางการไฟฟ้าไม่ได้มีนโยบายให้พนักงานไปดัดแปลง แก้ไขมิเตอร์ไฟฟ้าใดๆ ถ้ามิเตอร์นั้นไม่ได้ชำรุด การคิดค่าไฟจากมิเตอร์ก็ถือเป็นเรื่องที่เชื่อถือได้แน่นอนค่ะ วันนี้เราจะมาบอกวิธีการคำนวณค่าไฟ และสาเหตุที่อาจทำให้ค่าไฟเราขึ้น ว่าเกิดจากอะไรบ้าง
ก่อนอื่น ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า โครงสร้างอัตราค่าไฟของบ้านเราจะคิดแบบอัตราก้าวหน้า (Progressive Rate) หรือแบบขั้นบันได หมายความว่า ยิ่งใช้ไฟหน่วยเยอะมากเท่าไหร่ ค่าไฟก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย โดยจะแบ่งออกเป็น 3 ลำดับของหน่วยค่าไฟ ซึ่งมีอัตราการเก็บค่าไฟดังนี้
♦ หน่วยที่ 0 – 150 อัตราหน่วยละ 3.2484 บาท
♦ หน่วยที่ 151 – 400 อัตราหน่วยละ 4.2218 บาท
♦ หน่วยที่ 400 ขึ้นไป ราคาหน่วยละ 4.4217 บาท
>> ยกตัวอย่างเช่น บ้านหลังหนึ่งใช้ไฟฟ้า 500 หน่วยต่อเดือน สามารถคิดอัตราค่าไฟ โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ
ส่วนแรก 150 หน่วย อัตราหน่วยละ 3.2484 เท่ากับ 487.26 บาท (150 x 487.26)
ส่วนที่สอง 250 หน่วย อัตราหน่วยละ 4.2218 เท่ากับ 1,055.45 บาท (250x1,055.45)
และส่วนที่สามที่เหลืออีก 100 หน่วย หน่วยละ 4.4217 เท่ากับ 442.17 บาท (100x4.4217)
เอาทั้ง 3 ส่วนรวมเข้าด้วยกัน จะได้ 487.26 + 1,055.45 + 2,653.02 = ค่าไฟของบ้านหลังนี้จะเท่ากับ 1,984.88 บาท* นั่นเองค่ะ
จะเห็นว่า ยิ่งใช้ไฟมากขึ้นเท่าไหร่ การเก็บค่าไฟในหน่วยบนๆ ก็จะมีอัตราค่าไฟที่เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วยนั่นเองค่ะ
(* ยังไม่รวม VAT 7%)
จากการคำนวณค่าไฟจะเห็นว่าการคิดค่าไฟแบบอัตราก้าวหน้านั้น ก็เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เราเสียค่าไฟเยอะได้เช่นกันค่ะ ทั้งนี้เพราะเราก็ใช้ไฟเยอะด้วย ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ค่าไฟขึ้นในแต่ละเดือนนั้นจะมีสาเหตุหลักๆ ดังต่อไปนี้ค่ะ
1. เครื่องใช้ไฟฟ้าใช้กำลังไฟสูง ทำให้ค่าไฟขึ้น
ถึงแม้ว่าเราอาจจะใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่ไม่กี่อย่าง แต่ถ้าไม่กี่อย่างนั้นเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีกำลังไฟสูง (วัตต์) ก็อาจจะทำให้ค่าไฟพุ่งมากกว่าบ้านที่ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าแบบปกติก็เป็นได้ค่ะ เพราะฉะนั้นให้เรามาสำรวจว่าบ้านเรานั้นมีเครื่องใช้ไฟฟ้าอะไรที่มีกำลังไฟฟ้าสูงบ้าง เมื่อรู้แล้วเราก็เริ่มลดการใช้งานของเครื่องนั้นๆ ให้น้อยลงเพื่อเป็นการประหยัดไฟฟ้านั่นเองค่ะ
ตัวอย่างเครื่องใช้ไฟฟ้ากินไฟ จะได้แก่เครื่องใช้ไฟฟ้าจำพวกที่ให้ความร้อน หรือความเย็น เช่น เครื่องทำน้ำอุ่น, เครื่องปรับอากาศ, เครื่องฟอกอากาศ, ตู้เย็น, ไมโครเวฟ รวมไปถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าเก่าๆ ที่อาจจะมีการใช้งานมาอย่างหนัก ทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าทำงานหนักกว่าเดิม เป็นสาเหตุทำให้ค่าไฟเพิ่มขึ้นอีกด้วยค่ะ
2. ส่วนใหญ่ค่าไฟจะพุ่งในหน้าร้อน หรือตอนอากาศร้อนๆ
ตัวที่กินไฟที่สุดในหน้าร้อนก็เห็นทีจะไม่พ้นเครื่องปรับอากาศนี่แหละค่ะ จากสถิติประเทศไทยค่าไฟจะพุ่งสูงขึ้นในช่วงหน้าร้อน ทั้งนี้เพราะในหน้าร้อนนั้นจะทำให้ตัวคอมเพรสเซอร์แอร์นั้นทำงานหนักกว่าปกติ เพื่อปรับอุณหภูมิภายในห้องให้เย็นขึ้น เมื่อทำงานหนักขึ้นก็เกิดการกินไฟที่มากขึ้นนั่นเองค่ะ นี่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักที่ถึงแม้เราจะใช้ไฟเท่าเดิม แต่ค่าไฟก็อาจจะพุ่งขึ้นได้เช่นกัน
นอกจากนี้ในหน้าร้อน ผู้คนยังเปิด-ปิดตู้เย็นบ่อยๆ ก็ทำให้ค่าไฟพุ่งสูงขึ้นได้ เพราะตู้เย็นก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความเย็น ทำให้มีการใช้ไฟฟ้าที่มากกว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าแบบอื่น เมื่อมีการใช้งานที่หนักเพื่อรักษาอุณหภูมิให้เย็น ในสภาพอากาศที่ร้อน ก็จะทำให้ตู้เย็ฯทำงานหนักและกินไฟมากขึ้นนั่นเองค่ะ
3. มิเตอร์ไฟฟ้าเสีย หรืออื่นๆ
อีกอย่างหนึ่งที่เราอาจจะมองข้ามก็คือเรื่องของมิเตอร์ไฟฟ้าที่เสียก็เป็นไปได้ค่ะ ถ้าหากเราสำรวจแล้วว่า ในบ้านเราไม่มีเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟ และไม่ได้ใช้งานมากเกินไป และมั่นใจว่าเราเคยใช้ไฟฟ้าในราคาเท่านี้ๆ มาตลอด แต่พอเดือนถัดไปกลับพุ่งสูงขึ้นอย่างไร้สาเหตุ หน่วยไฟฟ้าที่ใช้ก็พุ่งเกินความเป็นจริง เราสามารถติดต่อกับทางการไฟฟ้าฯ เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้ามาซ่อมแซมในส่วนนี้ได้ค่ะ