บ้านเก่าที่อยู่ไปนานๆ อายุมากกว่า 15 ปีนั้น เป็นบ้านที่มักจะเริ่มทำการต่อเติมหรือรีโนเวทรอบใหญ่ เนื่องจากมีการเพิ่มจำนวนของสมาชิกภายในบ้าน และยังเป็นช่วงที่บ้านหรือตัวอาคารเริ่มเกิดความเสื่อมโทรม เจ้าของบ้านอาจพบปัญหาต่างๆ ทั้งเล็กและใหญ่จุกจิกที่ส่งผลต่อการอยู่อาศัยมากขึ้น โดยปัญหาที่พบเจอบ่อยๆ ก็จะเกี่ยวกับวัสดุกรุผิวในส่วนต่างๆ และปัญหาเรื่องงานระบบ วันนี้เราได้มืออาชีพ SCG HOME มาแชร์ความรู้และบอกวิธีแก้ปัญหาสำหรับบ้านเก่าค่ะ โดยในตอนนี้เราจะพูดถึงการตรวจสอบวัสดุกรุผิวและงานระบบอาคาร
ปัญหาเกี่ยวกับวัสดุกรุผิวในส่วนต่างๆ
ปัญหาที่เกิดขึ้นกับบ้านเก่าส่วนมากคือความเสื่อมของวัสดุกรุผิวอาคาร ซึ่งก็คือพวก วัสดุตกแต่งพื้นและผนังต่างๆ รวมถึงวัสดุมุงหลังคา เป็นต้น เรามาดูกันว่ามีอะไรบ้างและควรแก้ไขอย่างไรค่ะ
1. วัสดุกรุพื้น
พื้นที่จอดรถหรือทางเดินรอบบ้านแตกร้าวเนื่องจากการทรุดตัวไม่เท่ากันของพื้นที่
จุดสังเกต
อาจเริ่มสังเกตว่าพื้นเริ่มแยกและมีระดับที่แตกต่างกัน หรืออาจมีอาการทรุดตัวเป็นแอ่งลงไปตรงกลางผืนที่จอดรถโดยมีรอยร้าวร่วมด้วย มักเกิดจากสาเหตุที่โครงสร้างพื้นที่ใช้ในบริเวณดังกล่าวนั้นมักจะเป็นโครงสร้างพื้นวางบนดิน (Slab on ground) โดยปราศจากโครงสร้างใต้ดินหรือเสาเข็มรองรับด้านล่าง แตกต่างกับโครงสร้างบ้านที่ถูกออกแบบเป็นโครงสร้างพื้นที่วางบนคาน (Slab on beam) ซึ่งภายใต้ตัวบ้านนั้นจะมีโครงสร้างเสาเข็มรองรับ โดยรอยแยกที่ว่านี้ไม่เป็นอันตรายและไม่มีผลทำให้โครงสร้างบ้านของเราพังทลาย เพียงแต่อาจสร้างความหงุดหงิดใจและทำให้การใช้งานในบริเวณนั้นเป็นไปอย่างยากลำบาก
วิธีการแก้ไข
โฟมเส้นที่ใช้ในการอุดรอยต่อ
หากเจ้าของบ้านท่านใดที่ไม่อยากรื้อทุบพื้นเดิมนั้นสามารถแก้ไขโดยการตัดแยกรอยต่อระหว่างพื้นโครงสร้างที่วางบนคานและพื้นโครงสร้างที่วางบนดิน จากนั้นบริเวณรอยต่อที่ทำการตัดแยกอาจใช้วิธีโรยกรวด หรือกรณีที่รอยร้าวมีไม่มากนักอาจใช้วิธีอุดรอยต่อด้วยโฟมเส้นและยาแนวด้านบนด้วยวัสดุอุดรอยต่อ อาทิ PU หรือ ซิลิโคน
ใช้กรวดโรยเพื่อความสวยงามปกปิดช่องว่างระหว่างรอยต่อของพื้น
ส่วนกรณีที่รอยร้าวเกิดขึ้นบริเวณกลางผืนที่จอดรถโดยมีรอยแยกบริเวณขอบรอยต่อร่วมด้วยนั้น วิธีนี้การตัดแยกโครงสร้างอาจไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด ควรทำการสกัดพื้นที่จอดรถเดิมที่มีปัญหาและทำการเทพื้นบริเวณใหม่ ซึ่งวิธีการเทพื้นใหม่นั้นควรแยกรอยต่อระหว่างโครงสร้างบ้านและพื้นที่จอดรถเช่นกัน รวมถึงหากเป็นการเทคอนกรีตใหม่บนพื้นที่ขนาดใหญ่มากๆ ควรทำการตัดแยกรอยต่อบนพื้นทุกๆ 3 เมตร เพื่อป้องกันการแตกร้าวอันเนื่องมาจากการยึดหดตัวของคอนกรีต
บล็อกปูพื้นและกระเบื้องคอนกรีต
หรืออาจเลือกใช้เป็นบล็อกปูพื้นหรือกระเบื้องคอนกรีตทดแทนพื้นคอนกรีตก็ได้เช่นกัน เพราะหากเกิดการทรุดตัวเพิ่มเติมอีกก็ไม่ทำให้วัสดุปูพื้นเสียหาย เนื่องจากสามารถรื้อบล็อกหรือกระเบื้องคอนกรีตขึ้นมาทำการปรับระดับและติดตั้งใหม่ก็ง่ายและประหยัดด้วยนะคะ ยิ่งปัจจุบันมีหลายหลากรูปแบบและสีสันให้เลือกใช้ น่าจะตอบโจทย์เจ้าของบ้านหลายท่านได้ดีทีเดียว
2. วัสดุกรุผนัง
เชื้อราบนผนัง
จุดสังเกต
สีลอกร่อน ผนังเป็นเชื้อรา เกิดจากความชื้นสะสมบริเวณผนังเป็นสัญญาณว่าอาจมีรอยร้าวบริเวณผนังหรือสีทาผนังอาจมีการเสื่อมสภาพ มักเกิดขึ้นบริเวณชั้น 1 สูงจากพื้นประมาณ 1 เมตร
วิธีการแก้ไข
ก่อนอื่นควรทำความสะอาดและกำจัดเชื้อราจากผนังเสียก่อน จากนั้นจึงแก้ปัญหาการรั่วซึมของผนังโดยใช้ผลิตภัณฑ์กันซึม โดยใช้เครื่องเจียร์ขัดสีออกให้เหลือแต่เนื้อปูนโดยมีระยะสูงจากพื้นประมาณ 1 เมตร จากนั้นจึงทาด้วยผลิตภัณฑ์กันซึม ทิ้งไว้ประมาณ 15-20 วัน จากนั้นเมื่อตรวจสอบว่าผนังไม่มีความชื้นแล้ว ก่อนจะทาการทาสีบริเวณผนังด้านนอกควรทำการทาน้ำยาป้องกันความชื้น ให้สูงจากพื้นประมาณ 1 เมตร จากนั้นทิ้งให้แห้งอย่างน้อย 3-4 ชั่วโมง จากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอนทาสีต่อไป โดยควรเลือกใช้สีที่มีประสิทธิภาพป้องกันความชื้นได้ดี เพื่อช่วยป้องกันป้ญหาสีลอกร่อนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
3. วัสดุหลังคา
กระเบื้องหลังคาแตกร้าว
การเสื่อมสภาพของหลังคา
จุดสังเกต
ตรวจสอบสภาพความสมบูรณ์ของกระเบื้องหลังคาว่ามีการแตกร้าวหรือไม่ เนื่องจากอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการรั่วซึมขึ้นได้ หากเจ้าของบ้านยังไม่สัมผัสถึงน้ำที่มีการรั่วซึมลงมาภายในอาคาร อาจใช้วิธีการสังเกตรอยคราบน้ำบริเวณฝ้าภายในบ้านก็ได้เช่นกัน เพราะนั่นคือสัญญาณบอกเหตุว่าหลังคาของเราอาจจะเริ่มมีปัญหานั่นเอง
วิธีการแก้ไข
เบื้องต้นหากพบคราบน้ำหรือพบการรั่วซึมภายในอาคาร ควรทำการตรวจสอบสภาพหลังคาว่ามีส่วนใดชำรุดเสียหายหรือไม่ เพราะนอกจากสาเหตุจากตัวกระเบื้องหลังคาแล้ว อาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยอื่นๆร่วมด้วย อาทิ อุปกรณ์ครอบต่างๆ อาจมีการแตกหักเสียหาย หรืออาจเกิดจากปัญหาน้ำล้นรางก็เป็นไปได้เช่นกัน หากเจ้าของบ้านไม่ชำนาญในการตรวจสอบ อาจทำการติดต่อผู้เชี่ยวชาญเข้าตรวจสอบเพิ่มเติมเพื่อทำการวิเคราะห์หาสาเหตุและทำการซ่อมแซมต่อไป หรือหากต้องการปรึกษาเพิ่มเติมสามารถติดต่อ SCG HOME ซึ่งมีทั้งบริการซ่อมแซมและเปลี่ยนหลังคาทั้งผืนโดยช่างผู้เชี่ยวชาญได้
หลังคาสีซีดจางหรือเกิดราดำ
จุดสังเกต
ปัญหาหลังคาสีซีดหรือเกิดสิ่งสกปรกเกาะที่พื้นผิวจนทำให้เกิดความไม่สวยงาม มักเกิดขึ้นได้กับบ้านพักอาศัยที่อยู่มานาน ทำให้บ้านดูหม่นหมองไม่สวยงามเหมือนก่อน โดยเฉพาะหลังคาที่ไม่ได้มีการเคลือบผิวก็มักจะมีคราบสกปรกและตะไคร่เกิดขึ้นเห็นได้ชัดเจนมากกว่ากระเบื้องผิวมันเนื่องมาจากพื้นผิวที่ขรุขระมากกว่าทำให้สิ่งสกปรกสามารถยึดเกาะได้มากกว่านั่นเอง
วิธีการแก้ไข
สามารถทำความสะอาดด้วยเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงได้ แต่ทั้งนี้ควรระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการฉีดน้ำไปยังบริเวณรอยต่อหรือจุดเปราะบางเพราะอาจทำให้หลังคาเกิดการแตกหักหรือเสียหายได้ นอกจากนี้หลังคาทำความสะอาดหลังคาเรียบร้อยแล้วอาจทำการทาสีหลังคาใหม่เพิ่มเติมเพื่อคืนความสดใสให้บ้านของเรา หรือหากต้องการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติมสามารถติดต่อ SCG HOME ซึ่งมีบริการทาสีหลังคาเพื่อช่วยปรับโฉมให้บ้านคุณกลับมาสวยงามดังเดิม
ปัญหาเรื่องงานระบบ
1. งานไฟฟ้า
จุดสังเกต
ตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้า เต้ารับ เต้าเสียบ สายไฟ สวิตซ์ไฟ ว่ายังสามารถใช้งานได้ดีหรือไม่ หากพบว่ามีการฉีกขาดหรือผิดปกติในบริเวณใดควรรีบทำการแก้ไขเพราะอาจส่งผลต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ โดยเฉพาะสายไฟที่เดินลอยอาจพบว่ามีอัตราความเสื่อมสูงกว่าสายไฟที่เดินในท่อร้อยสายไฟ
2. งานสุขาภิบาล
ระบายน้ำเสียออกนอกพื้นที่ไม่ได้
จุดสังเกต
ไม่สามารถระบายน้ำภายในบ้านออกสู่ท่อสาธารณะไม่ได้เนื่องจากบ้านต่ำกว่าถนน กรณีนี้อาจเกิดขึ้นได้เมื่อบริบทรอบๆบ้านของเรามีการเปลี่ยนแปลง เช่น มีการยกถนนหน้าบ้านให้สูงขึ้นส่งผลให้มีการยกระดับท่อระบายน้ำสาธารณะให้สูงขึ้นไปด้วย ทำให้การระบายน้ำจากภายในบ้านออกสู่ด้านนอกเป็นไปได้ยาก
วิธีการแก้ไข
ทำการปรับบริเวณรอบบ้าน โดยการทำขอบคันกั้นและขุดบ่อดักน้ำเอาไว้ แล้วใช้ปั๊มสูบน้ำออกภายนอกบริเวณบ้าน สำหรับน้ำทิ้งที่ไหลย้อนกลับมาทางท่อระบายน้ำสาธารณะ ต้องทำการอุดปิดตรงปากทางท่อระบายน้ำด้านที่ส่งน้ำลงท่อสาธารณะ จากนั้นต่อขอบบ่อพักเดิมให้สูงขึ้นและติดตั้งปั๊มจุ่มเพื่อสูบน้ำออก เพื่อให้สามารถรับน้ำทิ้งจากบ้านได้ตามปกติ
ขอขอบคุณข้อมูลความรู้ดีๆ จาก SCG HOME ถ้าอยากปรึกษาเรื่องการปรับปรุง ซ่อมแซมบ้านกับผู้เชี่ยวชาญติดต่อได้ที่
https://bit.ly/3CQUNku