ช่วงนี้หลายพื้นที่ในประเทศไทยกำลังต้องประสบกับอุทกภัย Checkraka ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกๆ ท่าน ให้ก้าวผ่านภัยนี้ไปได้อย่างปลอดภัยนะคะ และสำหรับอีกหลายพื้นที่รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่มวลน้ำกำลังจะไหลลงมา บางจังหวัดมีประกาศให้ยกของขึ้นที่สูงและเฝ้าระวังน้ำท่วมแล้ว ซึ่งการแจ้งเตือนน้ำท่วมมี 4 ระดับ ดังนี้
1. การเฝ้าระวังน้ำท่วม : พื้นที่มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดน้ำท่วม ต้องสังเกตุการณ์อย่างใกล้ชิด
2. การเตือนภัยน้ำท่วม : เตือนภัยว่าจะเกิดน้ำท่วมแน่นอน ให้เตรียมรับมือกับน้ำที่กำลังจะมาถึง
3. การเตือนภัยน้ำท่วมรุนแรง : ให้อพยพทันทีหากไม่สามารถออกจากพื้นที่ได้ให้รอการช่วยเหลือ
4. การกลับสู่ภาวะปกติ : แจ้งว่ากลับสู่ปกติหรือเป็นพื้นที่ไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมแล้ว
หากเราอยู่ระดับที่ 1 และกำลังจะเข้าสู่ระดับที่ 2 จะทำยังไงดี? ตั้งสติให้ดีและวันนี้เรามีวิธีเตรียมรับมือน้ำท่วมมาบอกกันค่ะ
1. ขนย้ายสิ่งของและสัตว์เลี้ยงขึ้นที่สูงที่คาดว่าจะพ้นน้ำ
เมื่อประกาศเตือนภัยน้ำท่วมระดับ 1 หรือ 2 มาให้เริ่มนำของใช้ที่จำเป็นขึ้นที่สูงทันที บ้านใครมีชั้น 2 ขึ้นไปก็ให้ขนขึ้นไปไว้เลยค่ะ โดยอาจจะเริ่มจากเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีราคาแพง รวมถึงรถยนต์อาจจะต้องนำไปจอดไว้ที่ทางการจัดไว้ให้ เช่น อาคารจอดรถ ทางด่วน โทลล์เวย์ เป็นต้น (อาจจะต้องสอบถามอีกครั้ง)
2. กักตุนน้ำดื่มไว้ให้ได้มากที่สุด
น้ำสะอาดถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการดำรงชีวิต และต้องระวังน้ำท่วมขังให้ดีด้วยค่ะ ห้ามบริโภคทุกอย่างที่สัมผัสน้ำ ระวังอย่าให้เข้าปาก ตา หรือจมูก เพราะเต็มไปด้วยเชื้อโรคที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แถมยุคนี้เชื้อโควิดยังระบาดหนัก ใครมีเครื่องกรองก็กรอกใส่ขวดใหญ่ไว้หรือรีบหาซื้อกันไว้เลยนะคะ เพราะต้องใช้ทั้งดื่มและชำระร่างกาย
3. กักตุนอาหารพลังงานสูงและยาสามัญประจำบ้าน
อาหารที่ควรซื้อเก็บไว้คืออาการจำพวกหมูหยอง หมูฝอย ซีเรียลบาร์ อาหารกระป๋อง หรือโปรตีนชนิดผง เพราะไม่ต้องใช้เวลาในการประกอบอาหาร สามารถรับประทานได้ทันทีและอิ่มนาน ปริมาณที่เหมาะสมอาจจะอยู่ที่ 7 วัน (สำหรับทุกคนในครอบครัว) ส่วนยานั้นควรมีพาราเซตามอล เกลือแร่ ยาแก้ปวดท้อง ยาใส่แผล เป็นต้น
4. เก็บของสำคัญใส่กระเป๋าที่คล่องตัวพร้อมหยิบไปได้ทุกเมื่อ
ทุกคนในบ้านต้องมีกระเป๋าคนละ 1 ใบ ใส่สิ่งที่สำคัญที่สุดของตนเอง เช่น บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน สมุดบัญชี โฉนดที่ดิน เป็นต้น โดยกระเป๋าควรจะเป็นกระเป๋าเป้ หรือกระเป๋าที่มีซิป เอกสารที่เป็นกระดาษควรใส่ในถุงซิปล็อกอีกครั้งเพื่อป้องกันน้ำเข้า เมื่อใส่แล้ววางไว้ให้ใกล้ตัวเมื่อเกิดน้ำท่วมหากต้องอพยพต้องหยิบและพร้อมไปได้ทุกเมื่อ
5. ชาร์ตแบตเตอรีโทรศัพท์ไว้ให้เต็มอยู่เสมอ
โทรศัพท์เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากในยุคนี้ ควรชาร์ตแบตให้เต็ม เปิดโหมดประหยัดพลังงานเพื่อรักษาแบตให้ได้มากที่สุด เพราะอาจจะต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ให้เข้ามาช่วยเหลือ โดยเบอร์ที่สำคัญที่ควรบันทึกไว้มีดังนี้
- สายด่วนนิรภัย โทร. 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือ Line ID @1784DDPM
- บริการแพทย์ฉุกเฉิน และนำส่งโรงพยาบาล ศูนย์นเรนทร โทร.1669
- ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) สายด่วนรับแจ้ง-เตือนภัย 154 คู่สาย ตลอด 24 ชั่วโมง โทร. 1111 กด 5
- ขอความช่วยเหลือจากเหตุน้ำท่วม (พื้นที่กรุงเทพมหานคร) ตลอด 24 ชั่วโมง โทร. 02-248-5115
- แจ้งเหตุ-ขอความช่วยเหลือเหตุน้ำท่วม ผ่าน SMS สำหรับโทรศัพท์มือถือทุกเครือข่ายฟรี ส่งข้อความไปที่ 4567892
- สายด่วนกรมชลประทาน โทร.1460, 026692560
- สายด่วนกรมทางหลวง โทร.1586
- ศูนย์ความปลอดภัย กรมทางหลวงชนบท โทร.1146
- สายด่วนกรมทางหลวง โทร.1586
- ศูนย์ปลอดภัยคมนาคม โทร. 1356
- การไฟฟ้านครหลวง โทร.1130
- การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โทร.1129
- สายด่วน 191
- สายด่วนกรมตำรวจทางหลวง 1193
- สายด่วน กฟภ. โทร.1129
- กรมอุตุนิยมวิทยา โทร. 1182
- สายด่วนสุขภาพ (กองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ) โทร. 0-2590-2000
6. ปิดเต้าเสียบไฟด้วยเทปกาว
วิธีนี้แม้จะกันน้ำไม่ได้ถ้าหากน้ำท่วมถึง แต่ก็ป้องกันไฟดูดและสะดวกต่อการมาเก็บกวาดทำความสะอาดเมื่อน้ำลดเพราะเศษดินต่างๆ จะไม่เข้าอุดตันไปในรูค่ะ
7. เตรียมอุปกรณ์ส่องสว่าง/ขอความช่วยเหลือ
เตรียมเทียนไข ไฟจุด หรือไฟฉายไว้ เผื่อทางการตัดไฟฟ้าก็จะทำให้เราสามารถดำรงชีวิตตอนกลางคืนได้อย่างปลอดภัย มองเห็นสัตว์มีพิษต่างๆ ที่มากับน้ำได้ และแสงไฟจากไฟฉายยังสามารถใช้ขอความช่วยเหลือได้ด้วย ส่วนอุปกรณ์อื่นๆ เช่น นกหวีด เชือก ถ้าหาไว้ได้ก็จะทำให้ได้รับการช่วยเหลือที่เร็วขึ้นค่ะ
8. เตรียมปิดวาล์วแก๊สและตัดระบบไฟ
ถ้าหากทราบว่าน้ำมาแน่ๆ ปิดแก๊สให้สนิท และตัดระบบไฟฟ้าที่ชั้น 1 (หากแยกระบบ) เพราะจะได้สามารถใช้ไฟที่ชั้น 2 ได้ หากไม่ได้แยกให้ตัดไฟทั้งบ้านเพื่อความปลอดภัยของชีวิต และไม่ใกล้เสาไฟ สายไฟตามถนนในระยะ 5 เมตร เพื่อป้องกันไฟดูด
หากอยู่ในพื้นที่ที่น้ำไม่ท่วมหนักมาก อาจก่อแนวกั้นน้ำหรือวางกระสอบทรายไว้ตรงบริเวณหน้าประตูเข้าบ้านก็จะช่วยให้น้ำซึมเข้าได้ช้าลง และป้องกันคลื่นที่มาจากการเคลื่อนที่ของรถยนต์ซัดเข้าบ้านได้ด้วย