หลายๆ ท่านที่ซื้อบ้าน หรือทาวน์เฮ้าส์ใหม่อาจจะเคยเจอปัญหากวนใจที่เรียกว่า "รอยร้าว" ของผนังและเพดาน วันนี้ Checkraka ขอนำเสนอบทความดีๆ จากหนังสือ "ชนิดของรอยร้าว (1) และ (2)" ซึ่งจัดทำขึ้นโดย "คณะอนุกรรมการคลินิกช่าง วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์" มาให้พวกเราดูเพื่อความเข้าใจเบื้องต้น และหาทางแก้ไข หรือซ่อมแซมกันต่อไปครับ โดยหนังสือเล่มนี้ได้แบ่งรอยร้าวเป็น 3 กลุ่มดังนี้
ประเภทรอยร้าวเนื่องจากวัสดุเสื่อมคุณภาพ
1. รอยแตกลายงาที่ผนัง
เกิดจากปูนฉาบสูญเสียน้ำ หรือระเหยออกอย่างรวดเร็ว (อาจเป็นเพราะอิฐก่อดูดซับน้ำ อุณหภูมิภายนอกสูง หรือทรายมีส่วนผสมของฝุ่นมากเกินไป) ทำให้ผนังเกิดการไม่ยึดตัว และเกิดรอยแตกลายงา รอยร้าวประเภทนี้จะไม่เกิดอันตรายกับตัวโครงสร้าง จะมีผลแค่ด้านความสวยงามบนผนัง การซ่อมแซมให้ลองเคาะผนังเพื่อตรวจสอบการยึดเกาะของปูน หากเคาะแล้วไม่ได้ยินเสียงทึบ แนะนำให้สกัดและฉาบใหม่
ภาพตัวอย่างรอยแตกลายงาที่ผนัง (ขอขอบคุณรูปภาพจาก http://www.weberthai.com/)
2. รอยแตกร้าวจนถึงเหล็กเสริม
เกิดจากเหล็กเสริมเป็นสนิม อาจเป็นเพราะคอนกรีตหุ้มเหล็กเสริมหนาน้อยเกินไป หรืออยู่ในสภาพที่ชุ่มน้ำ และแห้งสลับกัน หรือคุณภาพของคอนกรีตไม่ได้มาตรฐาน หากเกิดรอยร้าวประเภทนี้ ควรติดต่อวิศวกรเพื่อมาตรวจสอบ เพราะมีผลต่อโครงสร้างอาคาร อาจจะทำให้เกิดอันตรายได้
ภาพตัวอย่างรอยแตกร้าวจนถึงเหล็กเสริม (ขอขอบคุณรูปภาพจาก
http://www.saangbaan.com/)
ประเภทรอยร้าวเนื่องจากโครงสร้างรับน้ำหนักบรรทุกเกินกำลัง
3. รอยแตกร้าวช่วงกลางคาน
รอยร้าวจะเกิดขึ้นช่วงใต้ท้องคาน บริเวณช่วงกึ่งกลางความยาวมีลักษณะเป็นรูปตัวยู (U) คือแตกจากด้านล่าง และต่อเนื่องในแนวดิ่งทั้งสองด้าน โดยรอยแตกด้านล่างจะยาวกว่าด้านข้างเมื่อแอ่นตัวมากขึ้นเรื่อยๆ รอยร้าวจะเกิดเพิ่มขึ้นเป็นหลายแนวขนานกัน มีลักษณะเป็นปล้องๆ และเพิ่มเป็นคู่ๆ ขนาบรอบรอยแตกที่เกิดเริ่มแรก หากพบรอยร้าวลักษณะนี้ ให้รีบย้ายสิ่งของที่อยู่เหนือรอยร้าวออกมาโดยเร็วที่สุดเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ
ภาพตัวอย่างรอยแตกร้าวช่วงกลางคาน (ขอขอบคุณรูปภาพจาก http://pantip.com/)
4. รอยแตกร้าวปลายคาน
รอยร้าวเริ่มเกิดขึ้นที่ด้านบน และแตกร้าวลงด้านข้างของคาน ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งแนวดิ่งและแนวเฉียง นอกจากนี้ ยังอาจมีการแตกร้าวในลักษณะเดียวกันในอีกด้านหนึ่งด้วย ซึ่งทั่วไปรอยร้าวที่ปลายคาน จะเกิดขึ้นภายหลังจากเกิดรอยร้าวที่กลางคาน
5. รอยร้าวท้องพื้นชนิดเสริมเหล็กทั้งสองทาง
หากเพดานที่ไม่มีคาน รอยร้าวอาจจะเกิดขึ้นที่เพดานช่วงกลาง ราวเฉียงบริเวณกึ่งกลางเพดานเข้าหาเสามุมทั้ง 4 มุม อาจเกิดให้เห็นทั้ง 4 รอยหรือน้อยกว่า
6. รอยร้าวท้องพื้นชนิดเหล็กเสริมทางเดียว
รอยร้าวจะเกิดขึ้นบริเวณกลางเพดาน เป็นเส้นตั้งฉากกับแนวเหล็กเสริมเพดาน
ภาพตัวอย่างรอยแตกร้าวท้องพื้นชนิดเสริมเหล็กทางเดียว (ขอบคุณรูปภาพจาก
http://pantip.com/)
7. รอยร้าวขอบพื้นด้านบน
เมื่อพื้นแอ่นตัวเพราะรับน้ำหนักเกินกำลัง จะเกิดรอยร้าวที่พื้นบริเวณขอบคานทั้ง 4 ด้านและที่มุมเสา รอยร้าวดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากเจอรอยร้าวแบบนี้ ควรเคลื่อนย้ายสิ่งของที่มีน้ำหนักมาออกจากบริเวณดังกล่าวโดยเร็วที่สุด
ประเภทรอยร้าวจากการทรุดตัวของฐานราก
8. รอยแตกร้าวแนวเฉียงบริเวณกลางผนัง
อาจเกิดขึ้นหลายเส้นขนานกัน โดยรอยแตกแต่ละเส้นจะมีความกว้างตรงกลางเส้นมากกว่าที่ปลาย และจะกว้างและยาวขึ้นเรื่อยๆ ถ้าฐานรากยังคงทรุดตัวต่อเนื่อง หากลากเส้นตั้งฉากกับรอยแตกร้าว ปลายเส้นด้านชี้ลงดินจะเป็นตัวชี้ว่า ฐานรากด้านนั้นเกิดการทรุดตัว สาเหตุเกิดจากการทรุดตัวของฐานราก ควรติดต่อผู้เชี่ยวชาญรีบแก้ไขโดยเร่งด่วน
ภาพตัวอย่างรอยแตกร้าวเฉียงบริเวณกลางผนัง (ขอบคุณรูปภาพจาก
http://free-architect.blogspot.com/)
9. รอยร้าวที่ผิวบนของพื้นบริเวณคาน
รอยร้าวประเภทนี้จะอยู่บนบริเวณพื้นโดยจะเกิดเพียงด้านใดด้านหนึ่ง รอยแตกจะขนานกับแนวยาวของคาน สาเหตุเกิดจากฐานรองรับเสาด้านตรงข้ามเกิดทรุดตัว ควรรีบแก้ไขโดยด่วน
10. รอยร้าวที่เสา
เสาต้นที่วางอยู่บนฐานรากที่ทรุดตัวน้อย หรือไม่ทรุดตัวเลย (A และ B ตามรูป) จะถูกดึงรั้งจากฐานรากที่ทรุดตัวมากจนเกิดการโก่งงอ และเกิดรอยร้าวแนวนอนหลายแนว มีลักษณะคล้ายไม้บรรทัดพลาสติกที่ถูกดัดให้โค้งงอ ด้านหนึ่งจะแตกเป็นปล้องๆ แนวนอนในลักษณะเดียวกัน และโดยทั่วไป เสาที่วางบนฐานรากที่ทรุดตัว (C ตามรูป) จะไม่แตกร้าว ทำให้สามารถวิเคราะห์หาตำแหน่งฐานรากที่ทรุดตัวลงได้
สุดท้ายนี้ คำแนะนำอย่างหนึ่งของคณะอนุกรรมการคลินิกช่างคือ เมื่อพบรอยร้าวในอาคารยังไม่จำเป็นต้องรีบซ่อมทันที ให้ทำการติดตามตรวจสอบรอยร้าวดังกล่าวว่า มีความยาว และความกว้างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หรือไม่ หากพบว่ามีความยาว และความกว้างเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ถือว่าเป็นสัญญาณอันตรายแล้ว ให้แจ้งวิศวกรเข้ามาตรวจสอบปัญหา และแก้ไขโดยเร็วได้เลย ดังนั้น ไม่ว่ารอยร้าวประเภทไหนก็ควรจะศึกษาหาต้นเหตุ และแก้ไขนะครับ เพื่อบ้านจะได้อยู่กับเราต่อไปนานๆ ครับ