x
icon-filter ค้นหาบ้าน
product filter
product filter
product filter
product filter
product filter
product filter
product filter
product filter
product filter
product filter

10 คำถามยอดฮิตเกี่ยวกับ "ทะเบียนบ้าน"

icon 8 พ.ย. 66 icon 235,389
10 คำถามยอดฮิตเกี่ยวกับ "ทะเบียนบ้าน"
ทะเบียนบ้านเป็นเอกสารสำคัญอย่างหนึ่งที่พวกเราต้องเคยทำสำเนา หรือเซ็นรับรองความถูกต้องแล้วส่งให้ธนาคาร หรือหน่วยงานราชการต่างๆ เวลาเราซื้อคอนโด หรือบ้านใหม่ ก็มักจะได้ทะเบียนบ้าน (เล่มสีน้ำเงินเข้มๆ) จากเจ้าของโครงการมาให้เราเก็บไว้ เราอาจจะงงๆ ว่าเจ้าทะเบียนบ้านนี่มันสำคัญยังไง และเราควรต้องจัดการอะไรกับเอกสารตัวนี้ วันนี้ เรามาดูกันครับว่า 10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับทะเบียนบ้านมีอะไรกันบ้าง

1. ทะเบียนบ้านเป็นเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ใช่หรือไม่

ไม่ใช่ เพราะการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์นั้นจะได้มาจากโฉนดที่ดิน หรือในกรณีคอนโดก็ต้องมี "หนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด" ทะเบียนบ้านเป็นเพียงหลักฐานแสดงเลขประจำบ้าน และรายการของคนทั้งหมดที่อยู่ในบ้านนั้นเท่านั้น (มาตรา 4 พรบ. การทะเบียนราษฎร พ.ศ 2534) ดังนั้นการที่เรามีชื่อเป็นเจ้าบ้าน หรือผู้อาศัยในทะเบียนบ้านนั้น ไม่สามารถใช้ยืนยันความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ของบ้านและคอนโดได้ คนที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์จริงๆ คือคนที่มีชื่ออยู่หลังโฉนด หรือหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ห้องชุดเท่านั้น
ตัวอย่างโฉนดที่ดิน และหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด

2. ทะเบียนบ้านของ "คอนโด" แตกต่างจากทะเบียนบ้านของ "บ้าน" หรือไม่

ไม่แตกต่าง ทั้งบ้านและห้องคอนโดมีเล่มทะเบียนบ้านเหมือนกัน เพียงแต่ในสมุดทะเบียนบ้านของคอนโดจะมีการระบุลักษณะที่อยู่อาศัยเป็นประเภท "อาคารชุด" เอาไว้ โดยตัวอย่างของทะเบียนบ้านของบ้านและคอนโดมีดังนี้

3. ใช้ทะเบียนบ้านเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้หรือไม่

ไม่ได้ เพราะตามกฎหมายและหลักเกณฑ์ของกรมที่ดินกำหนดไว้ว่า มีเพียงโฉนดที่ดิน หรือหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุดเท่านั้นที่สามารถใช้จดทะเบียนเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน (ประเภทจำนอง) ได้ ส่วนทะเบียนบ้านเป็นเพียงหลักฐานแสดงเลขประจำบ้านและรายการของคนทั้งหมดที่อยู่ในบ้านนั้นเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทำนิติกรรมจำนองเป็นประกันให้ธนาคาร และในทางปฎิบัติเวลากู้ซื้อบ้านหรือคอนโดกับธนาคาร ธนาคารจะไม่เก็บทะเบียนบ้านจากเรา แต่จะเก็บโฉนดที่ดิน และหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุดจากเราเท่านั้น

4. ทะเบียนบ้านสามารถปล่อยให้ว่างไว้ได้หรือไม่ (คือไม่มีทั้งชื่อเจ้าบ้าน และผู้อาศัย)

คำตอบคือ "ได้" เราสามารถเลือกได้ว่าจะย้ายชื่อเข้ามาหรือไม่ก็ได้ จะปล่อยว่างไว้ หรือย้ายชื่อคนอื่นเข้ามาก็ได้เช่นกัน แต่การย้ายชื่อของเราซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ของบ้านหรือห้องชุดเข้ามาในทะเบียนบ้านนั้นๆ จะมีผลดีตามมา คือ หลังจากมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านครบ 1 ปี เราสามารถขายบ้าน หรือคอนโดนั้นๆ ได้โดยไม่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ (ในอัตรา 3.3% ของราคาขายหรือราคาประเมิน แล้วแต่ราคาใดจะสูงกว่ากัน) จะชำระเพียงค่าอากรแสตมป์ 0.5% และภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ถ้ามี) เท่านั้น
แต่ถ้าเราปล่อยทะเบียนบ้านว่างไว้ โดยไม่ย้ายชื่อตัวเองเข้าไป แล้วต้องการขายบ้านหรือคอนโดโดยไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ เราจะต้องถือครองอสังหาริมทรัพย์นั้นๆเกิน 5 ปีขึ้นไป และอีกอย่างคือเจ้าของกรรมสิทธิ์ปล่อยทะเบียนบ้านว่างไว้ทางการจะขึ้นในระบบว่าเป็นบ้านหลังที่ 2 (แม้จะเป็นการซื้อบ้านหลังแรกก็ตาม) จะต้องเสียภาษีที่ดินตามกฎหมาย ซึ่งจริงๆ แล้วบ้านหลังแรกไม่ต้องเสียภาษี

5. มีบ้านหรือคอนโดหลายหลังควรจะทำยังไงกับทะเบียนบ้าน

ปกติเมื่อเราซื้อบ้าน หรือคอนโด เราจะได้เล่มทะเบียนบ้านทุกครั้ง เพราะฉะนั้น หากมีบ้านหลายหลัง หรือคอนโดหลายห้อง เราก็จะมีทะเบียนบ้านหลายเล่ม ในทางปฎิบัติเราสามารถเลือกได้ว่า จะใส่ชื่อตัวเองไว้ในทะเบียนบ้านไหน แต่ได้เพียงที่เดียวเท่านั้น จะใส่ชื่อ (ไม่ว่าในฐานะเจ้าบ้านหรือผู้อยู่อาศัย) ในทุกๆ ทะเบียนบ้านไม่ได้ เพราะกฎหมายไม่อนุญาตให้คนๆ เดียวมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านมากกว่าหนึ่งทะเบียนในเวลาเดียวกัน เพราะจะทำให้มีผลกระทบต่อเรื่องอื่นๆ ตามมา เช่น กระทบต่อบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ที่ปกติเราจะเลือกตั้งได้แค่ในสถานที่เลือกตั้งเดียวตามที่อยู่ในทะเบียนบ้าน ถ้ามีชื่ออยู่ในหลายๆทะเบียนบ้านก็จะทำให้เกิดปัญหาตามมา

6. ซื้อบ้านหรือคอนโดแล้วไม่ย้ายชื่อเข้าทะเบียนบ้านได้หรือไม่ มีผลกระทบต่อการใช้สิทธิเลือกตั้งหรือไม่

สามารถทำได้ แต่มีผลเสีย และอาจกระทบต่อสิทธิการเลือกตั้งของเราในบางเรื่อง เช่น
- ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะเวลาขายต่อ (เว้นแต่จะถือครองอสังหาริมทรัพย์นั้นๆ เกิน 5 ปีขึ้นไป) ดูรายละเอียดได้ในข้อ 4
- อาจมีผู้ที่ไม่หวังดี ใช้ช่องโหว่ตรงนี้ นำรายชื่อบุคคลอื่นมาใส่ไว้ในทะเบียนบ้านของเรา เพื่อทุจริต หวังผลคะแนนในการเลือกตั้งโดยมิชอบ หรือที่เรียกกันว่า "รายชื่อผี" นั่นเอง ดังนั้นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในบ้านหรือคอนโด ควรหมั่นตรวจสอบรายชื่อบุคคลในทะเบียนบ้านของท่านกับทางสำนักงานเขตอยู่เสมอ และหากได้รับจดหมายจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แล้วพบว่ามีชื่อแปลกปลอมในทะเบียนบ้านเรา ควรรีบคัดค้านทันที
- ในการเลือกตั้งผู้ว่ากทม.แต่ละครั้ง ถ้ามีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านที่กรุงเทพไม่ถึง 1 ปี จะเลือกตั้งผู้ว่ากทม.ไม่ได้ (ตามพรบ. การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น ปี พ.ศ. 2545)

7. การเพิ่มชื่อเด็กแรกเกิดเข้าในทะเบียนบ้านต้องทำอย่างไร

สามารถทำได้โดยให้เจ้าบ้าน หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายไปดำเนินการที่สำนักงานเขตที่ผู้จะย้ายเข้าในบ้านนั้นตั้งอยู่ โดยกรอกคำร้องเกี่ยวกับทะเบียนราษฎรขอเพิ่มชื่อบุคคลในทะเบียนบ้าน หลักฐานที่ต้องเตรียมเป็นไปตามเว็บไซต์นี้ http://stat.bora.dopa.go.th/callcenter1548/A111_voice.htm

8. ทะเบียนบ้านหายต้องทำอย่างไร

ในกรณีที่ทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านสูญหาย ให้เจ้าบ้านหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย (กรณีได้รับมอบหมายให้แนบหนังสือมอบอำนาจพร้อมบัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้าน และบัตรประจำตัวของผู้ได้รับมอบหมาย) มายื่นคำร้องต่อนายทะเบียนของท้องที่ที่บ้านหรือคอนโดหลังดังกล่าวตั้งอยู่ โดยนายทะเบียนผู้รับแจ้งจะจัดทำสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านขึ้นใหม่โดยลงรายการในช่องบันทึกในสำเนาทะเบียนบ้านที่จัดทำขึ้นใหม่ว่า "แทนฉบับเดิมที่สูญหาย" และเรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดในกฎกระทรวงจำนวน 20 บาท ทั้งนี้ในการดำเนินการดังกล่าวไม่ต้องใช้เอกสารใดของผู้อาศัย โดยไม่ต้องแจ้งความกับตำรวจ

9. ผู้ที่มีชื่อเป็น "เจ้าบ้าน" ในทะเบียนบ้านมีหน้าที่ต้องทำอะไรบ้าง

"เจ้าบ้าน" คือ ผู้ที่มีชื่อเป็นหัวหน้าผู้ครอบครองบ้าน ในฐานะเป็นเจ้าของ ผู้เช่า หรือฐานะอื่นใดก็ตาม ตามกฎหมายทะเบียนราษฎรได้กำหนดให้เจ้าบ้านมีหน้าที่ต้องแจ้ง หรือมอบหมายให้บุคคลอื่นไปแจ้งเรื่องแทนต่อนายทะเบียนในเรื่องดังต่อไปนี้   หากไม่แจ้งจะถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย
9.1 การแจ้งเกิด เมื่อมีคนเกิดในบ้าน ให้เจ้าบ้าน หรือบิดามารดา (หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย) แจ้งต่อนายทะเบียนท้องถิ่น ภายใน 15 วัน นับแต่วันเกิด
9.2 การแจ้งตาย เมื่อมีคนตายในบ้านให้เจ้าบ้านเป็นผู้แจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งของท้องที่ที่มีคนตายภายใน 24 ชั่วโมง นับตั้งแต่เวลาตาย ในกรณีที่ไม่มีเจ้าบ้านให้ผู้พบศพแจ้งภายใน 24 ชั่วโมง
9.3 แจ้งคนย้ายออก - ย้ายเข้า เมื่อคนย้ายเข้า หรือย้ายออกให้เจ้าบ้านแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ผู้นั้นย้ายเข้า หรือย้ายออกจากบ้าน
9.4 แจ้งขอเลขหมายประจำบ้าน กรณีรื้อถอนบ้านเดิม และปลูกสร้างบ้านใหม่ ให้เจ้าบ้านแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้ง เพื่อขอเลขหมายประจำบ้านภายใน 15 วัน นับแต่วันสร้างบ้านเสร็จ โดยบ้านที่จะขอเลขบ้าน ต้องมีลักษณะเป็นบ้านที่สามารถอยู่อาศัยได้

10. จะย้ายทะเบียนบ้านต้องทำอย่างไร?

วิธีการที่ง่ายที่สุดคือ "การแจ้งย้ายปลายทาง" หมายถึง คนที่ย้ายสามารถไปแจ้งย้ายออก และย้ายเข้าไปที่ใหม่ได้ ณ สำนักทะเบียนแห่งที่อยู่ใหม่ที่จะย้ายเข้า โดยไม่ต้องเดินทางกลับไปแจ้งย้ายออกจากทะเบียนบ้านเดิม การแจ้งย้ายปลายทางระหว่างสำนักทะเบียนในปัจจุบันนั้นเชื่อมโยงด้วยระบบคอมพิวเตอร์ จึงสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ภายในวันเดียว โดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. คนที่จะแจ้งย้ายเข้า นำหลักฐานไปยื่นต่อนายทะเบียนท้องที่ที่จะย้ายเข้า โดยใช้เอกสารดังต่อไปนี้
  • ทะเบียนบ้านของบ้าน หรือคอนโดที่จะย้ายเข้า
  • บัตรประชาชนของเจ้าบ้านที่จะย้ายเข้าอยู่ และของผู้แจ้งย้าย
  • หนังสือยินยอมให้เข้าอยู่ในบ้านของเจ้าบ้าน (ในกรณีที่บ้าน หรือคอนโดที่จะย้ายเข้าไปนั้นเป็นบ้าน หรือคอนโดที่เพิ่งซื้อมาใหม่มือแรก ไม่จำเป็นต้องใช้หนังสือยินยอมของเจ้าบ้าน)
  • หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์บ้าน หรือคอนโดนั้นๆ เช่น สัญญาซื้อขาย หรือโฉนดที่ดินของบ้านใหม่ (ใช้ในกรณีที่บ้าน หรือคอนโดที่จะย้ายเข้าไปนั้นเป็นบ้าน หรือคอนโดที่เพิ่งซื้อมาใหม่ มือหนึ่ง)
2. นายทะเบียนจะตรวจสอบหลักฐาน และลงรายการในใบแจ้งการย้ายที่อยู่ โดยให้ผู้แจ้งลงลายมือชื่อในช่องผู้แจ้งย้ายออก และช่องผู้แจ้งย้ายเข้า
แต่ในบางกรณีอาจจะมีขั้นตอนที่ยุ่งยากกว่านั้น เช่น เป็นบ้านมือสอง และยังมีชื่อของคนอื่นค้างอยู่ในทะเบียนบ้านของบ้านหลังนี้ วิธีการคือให้เราซึ่งจะเข้าไปเป็นเจ้าบ้านแจ้งการย้ายออกของคนในบ้าน โดยระบุว่าไม่ทราบที่อยู่ เพื่อให้นายทะเบียนใส่ชื่อ และรายการผู้นั้นเข้าไปใน "ทะเบียนบ้านกลาง" โดยอาศัยเหตุผลว่า ผู้มีชื่ออยู่ในบ้านนั้นได้ย้ายออกไปอยู่ที่อื่นเกิน 180 วันแล้ว และเจ้าบ้านไม่ทราบว่าผู้นั้นไปอยู่ที่ใด (ทะเบียนบ้านกลางเป็นทะเบียนของคนที่ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้านใดๆ เลย)
หากท่านใดมีคำถามเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่สำนักงานบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง โทร. 1548 หรือที่เว็บไซต์ http://www.dopa.go.th/
แท็กที่เกี่ยวข้อง บทความบ้าน ย้ายบ้าน ทะเบียนบ้าน แจ้งเกิด
Property Guru
เขียนโดย เช็คราคา.คอม Property Guru

พูดคุยกับกูรูได้ที่





เว็บไซต์นี้มีการเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์ และช่วยให้เราปรับปรุง และนำเสนอเนื้อหาตรงตามความสนใจของท่าน ท่านสามารถดู Privacy Notice และ ดู Cookies Policy ของเราได้ ที่นี่ ทั้งนี้ ท่านจะยินยอมให้เราเก็บคุกกี้ทั้งหมด หรือให้เก็บแค่บางส่วนโดยการคลิกเลือก ตั้งค่า

ท่านสามารถเลือกให้ความยินยอมการเก็บคุกกี้เป็นเรื่องๆ ได้ที่นี่

เมื่อคุณเข้าชมเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่น checkraka เราอาจจัดเก็บ หรือดึงข้อมูลจากเบราว์เซอร์ของคุณในรูปแบบของคุกกี้ และเทคโนโลยีอื่นที่คล้ายคลึง เช่น tag และ pixel (เรียกรวมกันว่า “คุกกี้”) ซึ่งมักเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้โดยตรง แต่ช่วยให้คุณใช้งานเว็บไซต์ได้ปลอดภัย และตรงตามความต้องการมากขึ้น คุณอาจไม่ยินยอมให้เราเก็บคุกกี้บางประเภทได้ โดยการคลิกตามหัวข้อข้างล่างนี้

ประเภทคุกกี้
อ่านเพิ่มเติม ที่นี่
ยินยอม / ไม่ยินยอม
คุกกี้ที่จำเป็นต้องมีเสมอ
(Strictly Necessary)
คุกกี้สำหรับการใช้งานเว็บไซต์
(Functionality)
คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและวิเคราะห์
(Performance & Analytics)
คุกกี้เพื่อการตลาด
(Marketing)