"เศษทองแท้มาตรฐานเยาวราช" ตกลงแล้ว แท้หรือไม่แท้?
เพื่อนๆ หลายคนคงเคยเห็นเพจประกาศขายเครื่องประดับ "เศษทองแท้มาตรฐานเยาวราช" ตามตัวอย่างด้านล่างนี้ เคยสงสัยกันหรือไม่ว่า ตกลงแล้วสินค้าชนิดนี้เป็นทองแท้หรือไม่?
คำถาม : "เศษทองแท้มาตรฐานเยาวราช" ตกลงแล้วแท้หรือไม่แท้?
คำตอบ : "ไม่ใช่ทองแท้"
เหตุผลคือ? - ทองคำ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปลักษณะใด เช่น สะเก็ด เศษผล ละออง ก็ยังคงเป็นทองคำที่มีค่า มีราคาเท่าเทียมกับทองคำทุกประการ
- ในกระบวนการผลิตทองรูปพรรณ มีการควบคุมอย่างเข้มงวด เพื่อจำกัดการสูญเสีย (Loss) จากกระบวนการผลิต โดยเศษผง ผงตะไบต่างๆ จะถูกเก็บกวาดรวบรวมนำไปหลอมเป็นทองบริสุทธิ์ (Refine) เพื่อกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่เสมอ ดังนั้นการกล่าวอ้างว่า ผลิตจากสะเก็ดของทองคำแท้นั้น จึงไม่ใช่ข้อเท็จจริงทั้งหมด
- ราคาขายสินค้าดังกล่าว (จากตัวอย่าง) น้ำหนัก 2 บาท กำหนดราคาขายเพียง 2,800 บาท ซึ่งหากเป็นทองรูปพรรณของแท้น้ำหนัก 2 บาท จะมีมูลค่าประมาณ 37,000 บาท เลยทีเดียว ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าสินค้าดังกล่าว มิใช่ทองคำแท้ เพราะคงไม่มีธุรกิจใดผลิตสินค้าออกมาขายต่ำกว่าต้นทุนการผลิตมากกว่า 10 เท่าเช่นกัน
- สินค้าดังกล่าว หากนำเศษทองแท้มาทำการผลิตไม่ว่าจะเป็นการกะไหล่ (ชุบแบบโบราณ) บนโลหะชนิดอื่น หรือชุบแบบสมัยใหม่ก็ตาม จะไม่มีปริมาณทองคำเพียงพอต่อการ Refine หรือมีมูลค่ามากพอในการรับซื้อคืนของร้านค้า ดังนั้น ร้านทองจึงไม่รับซื้อสินค้าดังกล่าว