เดอะวิสดอมกสิกรไทย เผยมุมมองนักเศรษฐกิจการเงินระบุเศรษฐกิจโลกปี 66

ข่าว icon 4 พ.ย. 65 icon 2,047

ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ การเงินและการลงทุน ร่วมวิเคราะห์และแลกเปลี่ยนมุมมองในกิจกรรมสัมมนาออนไลน์ THE WISDOM Investment Forum : Wealth in Challenging World เดินหน้าฝ่ามรสุม คว้าความมั่งคั่ง คาดการณ์ปีหน้า 2566 ทั่วโลกยังต้องเจอกับปัจจัยกดดันฉุดรั้งเศรษฐกิจใน 4 ด้าน ได้แก่ ความขัดแย้งของประเทศมหาอำนาจโลก, สถานการณ์ยืดเยื้อสงครามรัสเซีย-ยูเครน, การปรับอัตราดอกเบี้ยเพื่อพยุงเงินเฟ้อ, ต้นทุนพลังงานและวัตถุดิบพุ่งสูง ขณะประเทศมหาอำนาจโลกทั้งจีน สหรัฐอเมริกา ยุโรป ยังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยถึงแม้จะมีนโยบายเศรษฐกิจเชิงรุกออกมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ประเทศซึ่งเป็นตลาดเกิดใหม่ในเอเชียกลับฟื้นตัว โดย IMF คาดเศรษฐกิจโลกโตไม่เกิน 2.7% แนะโอกาสลงทุนสร้างผลตอบแทนในสินทรัพย์กลุ่มหุ้น – ทองคำ และบิตคอยน์ (Bitcoin) 

นายอัครนันท์ ฐิตสิริวิทย์รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลและกระทบต่อเศรษฐกิจในปี 2566 เป็นอย่างมากคือ ราคาพลังงานที่ไต่ระดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลพวงจากความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างรัสเซียและยูเครน เงินเฟ้อที่ยังทะยานสูงขึ้นของสหรัฐอเมริกา การเดินเกมขึ้นอัตราดอกเบี้ยและประคองผลกระทบจากการขาดแคลนพลังงานของยุโรป การเดินหน้านโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero Covid) ของจีน ในขณะที่ประเทศไทยซึ่งเริ่มเปิดประเทศ ค่อยๆ ฟื้นตัวจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามามากขึ้น แต่ประเทศไทยก็ยังต้องเผชิญกับปัญหารุมเร้าด้านอื่นๆ ได้แก่ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าจนถึงระดับ 38 บาทต่อ 1 ดอล์ลาร์สหรัฐ ตลอดจนต้นทุนวัตถุดิบ ต้นทุนพลังงาน ต้นทุนค่าแรง รวมถึงต้นทุนของเงินทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

ปี 2566 เศรษฐกิจโลกอึมครึม...เอเชียสวนทางรับความสดใส 

ดร. ชญาวดี ชัยอนันต์ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2566 จะขยายตัว 2.7% ปรับลดจากที่คาดการณ์ไว้เมื่อต้นปีที่ 3.8% ซึ่งมีโอกาส 25% ที่การขยายตัวจะไปไม่ถึง 2% สะท้อนให้เห็นถึงภาพของเศรษฐกิจโลกในปีหน้าที่นำโดยกลุ่มประเทศมหาอำนาจ ซึ่งจะมีความอึมครึมเพิ่มขึ้น  

สหรัฐอเมริกาและยุโรป: ผลพวงของการออกนโยบายรับมือเศรษฐกิจที่ร้อนแรง ราคาพลังงานที่สูง ตลาดแรงงานที่ยังตึงตัว รวมถึงเงินเฟ้อที่ยังสูง ทำให้มีการใช้จ่ายลดลง และเศรษฐกิจชะลอตัว  

จีน: มีแนวโน้มเติบโตไม่ถึง 5.5% ตามที่คาดไว้ เพราะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ประกอบกับนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero Covid) ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาไม่เต็มที่ รวมถึงปัญหาอสังหาริมทรัพย์ที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องในช่วงที่ผ่านมาหดตัวลง 

เอเชีย: โอกาสของตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ซึ่งแบ่งได้หลายกลุ่ม เช่น กลุ่มความต้องการในประเทศเป็นตัวผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตได้ดี เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ กลุ่มส่งออกพลังงานที่เติบโตจากราคาพลังงานที่ดี เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย และกลุ่มที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวอย่างไทยและฟิลิปปินส์ที่เศรษฐกิจจะกลับมาพร้อมกับนักท่องเที่ยว  

ไทย: ฟื้นตัวดีขึ้น ความแตกต่างระหว่างค่าเงินบาทที่อ่อนและดอลลาร์ที่แข็งค่าจะแคบลง ภาคการส่งออกยังคงได้รับผลกระทบ แต่เศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามา โดยคาดว่าจะเติบโต 3.8% ขยับจาก 3.3% ในปี 2565  

​นอกเหนือจากการจับตามองเศรษฐกิจของสหรัฐ ทิศทางของดอลลาร์ และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ไม่ว่าจะรัสเซีย-ยูเครน จีน-สหรัฐ หรือจีน-ไต้หวันที่อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ผู้ประกอบการและนักลงทุนยังต้องรู้จักกระจายความเสี่ยง ประกันความเสี่ยง และทำตัวให้พร้อมรับมือกับความผันผวนที่จะเกิดขึ้นด้วย
 

หุ้นไทยยังน่าซื้อ 

นายสรพล วีระเมธีกุลผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์ บมจ. หลักทรัพย์กสิกรไทย ชี้ว่าในแง่ของการลงทุนหุ้นให้งอกเงยในปีหน้า 2 เรื่องที่ ต้องมอง คือ เงินเฟ้อและ GDP โดยหลักสำคัญที่ต้องรู้ คือ ให้ลงทุนในประเทศที่เงินเฟ้อมาจากฝั่งซัพพลาย หลีกเลี่ยงการลงทุนในประเทศที่มีเงินเฟ้อมาจากฝั่งดีมานด์ โดยไทยคือประเทศที่น่าลงทุนในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 เนื่องจากเงินเฟ้อมาจากฝั่งซัพพลายและอยู่ในช่วงของ Pent Up Demand หรือความต้องการซื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การกลับมาใช้จ่ายมากขึ้นอีกครั้งหลังจากในช่วงที่ผ่านมาการใช้จ่ายชะลอตัว ซึ่งในสัดส่วนการลงทุน 60% ให้แบ่ง 30% เล่นหุ้นในไทย 15% ลงในอเมริกาฝั่งเทคโนโลยี และอีก 15% ลงในจีน ซึ่งควรซื้อหุ้น Domestic ฝั่ง A-share

ทองคำเดินหน้าต่อเป็น "Safe Heaven"

สำหรับการลงทุนทองคำนายธนรัชต์ พสวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มฮั่วเซ่งเฮง กล่าวว่า ทองคำยังเป็น Safe Heaven หรือสินทรัพย์หลบภัยที่ดีของนักลงทุน ซึ่งควรรอดูการประชุมธนาคารกลางสหรัฐในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งหากส่งสัญญาณชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ถือเป็นช่วงที่ควรเริ่มกลับมาสะสมทองคำเพื่อหวังผลในปีหน้า ทั้งนี้ ควรหาจังหวะเข้าซื้อสะสม โดยแบ่งเงินลงทุนเป็นหลายส่วนคือ ส่วนที่ 1 ให้เข้าซื้อบริเวณ 1,600 – 1,614 ดอลลาร์ ส่วนที่ 2 – 3 ให้เข้าซื้อเมื่อราคาปรับตัวลงต่ำกว่า 1,600 ดอลลาร์ ทั้งนี้ ทองคำสามารถใช้เป็นสินทรัพย์ในการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนได้   

บิตคอยน์ ทางเลือกใหม่ของนักลงทุน  

นายพิริยะ สัมพันธารักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โฉลกดอทคอม จำกัด กล่าวว่า บิตคอยน์เป็นเทคโนโลยีที่ฆ่าไม่ตาย เป็นอีกหนึ่งตลาดที่น่าลงทุน ซึ่งหากอยู่ต่อได้อีก 30 หรือ 40 ปี จะเกิดอะไรขึ้นนั้น คือ สิ่งที่น่าจับตาดู โดยในปัจจุบันตัวเลขของการใช้งานยังเพิ่มขึ้นสูงมาก ซึ่งหากจะลงทุนหนึ่งสิ่งที่ควรพิจารณา คือ เรื่องของ 4 Year Cycle หรือการที่ทุกๆ 4 ปี บิตคอยน์จะมีการผลิตลดลงครึ่งหนึ่งหรือ Halving ซึ่งจะช่วยให้มีความแข็งแกร่งในแง่ของการเป็นสินทรัพย์สูงขึ้น และตามมาด้วยการแห่ซื้อของตลาด สำหรับคนที่ไม่ได้คิดจะลงทุนระยะสั้นหรือเก็งกำไรระยะสั้น และมีการป้องกันความเสี่ยงของตัวเองที่ดี ช่วงนี้ถือเป็นช่วงของการเก็บสะสม แต่สำหรับคนที่ต้องการลงทุน เทรด และเก็งกำไรจริงๆ อาจจะต้องรออีกสักระยะ เพื่อให้เห็นแนวโน้มที่ชัดเจนจากตลาดก่อน

ดูข่าว/อีเว้นท์เศรษฐกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจ

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวเศรษฐกิจ ข่าวเศรษฐกิจ 2565 เดอะวิสดอมกสิกรไทย เศรษฐกิจโลกปี 66

ข่าวและอีเว้นท์เศรษฐกิจล่าสุด



เว็บไซต์นี้มีการเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์ และช่วยให้เราปรับปรุง และนำเสนอเนื้อหาตรงตามความสนใจของท่าน ท่านสามารถดู Privacy Notice และ ดู Cookies Policy ของเราได้ ที่นี่ ทั้งนี้ ท่านจะยินยอมให้เราเก็บคุกกี้ทั้งหมด หรือให้เก็บแค่บางส่วนโดยการคลิกเลือก ตั้งค่า

ท่านสามารถเลือกให้ความยินยอมการเก็บคุกกี้เป็นเรื่องๆ ได้ที่นี่

เมื่อคุณเข้าชมเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่น checkraka เราอาจจัดเก็บ หรือดึงข้อมูลจากเบราว์เซอร์ของคุณในรูปแบบของคุกกี้ และเทคโนโลยีอื่นที่คล้ายคลึง เช่น tag และ pixel (เรียกรวมกันว่า “คุกกี้”) ซึ่งมักเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้โดยตรง แต่ช่วยให้คุณใช้งานเว็บไซต์ได้ปลอดภัย และตรงตามความต้องการมากขึ้น คุณอาจไม่ยินยอมให้เราเก็บคุกกี้บางประเภทได้ โดยการคลิกตามหัวข้อข้างล่างนี้

ประเภทคุกกี้
อ่านเพิ่มเติม ที่นี่
ยินยอม / ไม่ยินยอม
คุกกี้ที่จำเป็นต้องมีเสมอ
(Strictly Necessary)
คุกกี้สำหรับการใช้งานเว็บไซต์
(Functionality)
คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและวิเคราะห์
(Performance & Analytics)
คุกกี้เพื่อการตลาด
(Marketing)