แทบทุกคนคงจะได้ยินกันมาแล้วว่าเศรษฐกิจโลกปีหน้าจะชะลอตัวและอาจมีโอกาสตกต่ำถึงขั้นถดถอย (Recession) เพื่อนๆ หลายคนอาจกังวลว่าพอร์ตการลงทุนจะได้รับผลกระทบมากขนาดไหน ควรปรับตัวอย่างไร จำเป็นต้องขายทิ้งแล้วถือเงินสดหรือไม่ บทความนี้ขอพาเพื่อนๆ นักลงทุนทุกคนไปดูกันหน่อยว่าเศรษฐกิจจะตกต่ำได้ขนาดไหน และควรรับมืออย่างไร
จากเงินเฟ้อสูงสู่เศรษฐกิจถดถอย
เป็นที่รู้กันแล้วว่าเศรษฐกิจเผชิญภาวะเงินเฟ้อมาสักพักแล้ว ระยะหลังเป็นเงินเฟ้อที่เกิดจากต้นทุนสินค้าสูงขึ้น ขณะที่รายได้ผู้บริโภคเพิ่มตามไม่ทัน กำลังบริโภคจึงลดลง ด้านธนาคารกลางทั่วโลกต่างก็ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อรับมือภาวะเงินเฟ้อสูง ผลจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยประกอบกับการบริโภคที่ลดลง เริ่มส่งให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัว เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วนักวิเคราะห์จึงคาดว่าเศรษฐกิจปีหน้าอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ซึ่งเป็นภาวะที่จะได้เห็นตัวเลข GDP ติดลบ อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แน่นอนว่าผลประกอบการบริษัทในตลาดหุ้นย่อมได้รับผลกระทบเชิงลบเช่นกัน
เศรษฐกิจถดถอยอาจหลีกเลี่ยงได้
เป็นที่แน่นอนแล้วว่า GDP ปีหน้าจะเติบโตน้อยกว่าปีนี้ แต่จะถึงขั้นติดลบได้หรือไม่ มุมมองเศรษฐกิจปี 2023 จาก Goldman Sachs คาดว่าภาพรวม GDP ปี 2023 ยังคงเติบโตที่ระดับ 1.8% ลดลงจากปี 2022 ที่คาดว่าจะเติบโต 2.9% นำโดยพี่ใหญ่อย่างสหรัฐฯ ที่คาดว่าปี 2023 ตัวเลข GDP จะเติบโต 1.0% โดยมองว่าเงินเฟ้อจะลดลงส่งผลให้ประชาชนมีรายได้หลังหักผลของเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ส่วนอัตราดอกเบี้ยก็ยังคงเพิ่มขึ้น แต่ไม่มาก ลดแรงกดดันต่อเศรษฐกิจ ส่วนตลาดหุ้นก็คลายความกังวลเช่นกันเพราะนักลงทุนในตลาดรับรู้ข่าวการขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปหมดแล้ว
ดังนั้น "เศรษฐกิจตกต่ำ" ที่ว่านี้มีความเป็นไปได้ว่าอาจเป็นเพียงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเท่านั้น สำหรับการลงทุนในสภาวะเช่นนี้ ถือว่าไม่น่ากังวลแถมอาจเป็นโอกาสที่ดีด้วยซ้ำ คำถามคือทำไมถึงกลายเป็นโอกาส?
ที่ผ่านมาแรงกดดันจากเงินเฟ้อสูง และการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์การเงินทุกประเภทร่วงแรง โดยเฉพาะหุ้นและตราสารหนี้ ส่งให้ราคาลดลงจากจุดสูงสุดเมื่อปี 2021 อย่างมาก ถึงแม้ราคาจะลดลงมามาก แต่ที่ผ่านมาราคาสินทรัพย์กลับยังไม่ฟื้นตัวเพราะยังถูกกดดันด้วยเงินเฟ้อสูงและการขึ้นอัตราดอกเบี้ย
แต่แล้วถ้าอัตราเงินเฟ้อเริ่มชะลอตัวประกอบกับเศรษฐกิจเติบโตน้อยลง โอกาสจึงปรากฏขึ้นเพราะนักลงทุนคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะขึ้นดอกเบี้ยอีกแค่ประมาณ 1% จากนั้นมีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้หุ้นและตราสารหนี้คลายความกดดัน กลับมาน่าสนใจทันที ทั้งนี้จะปรับลดดอกเบี้ยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าเงินเฟ้อจะลดลงมากน้อยแค่ไหน กลับลงมาถึงเป้าหมายที่ระดับ 2% หรือไม่
ควรปรับ(ตัว)พอร์ตรับโอกาสอย่างไร
เชื่อว่าพอร์ตลงทุนของทุกคนถ้าไม่ติดลบหนักจากหุ้นหรือตราสารหนี้โลก ก็หลบหนีมาถือเงินสดแล้ว คำถามคือได้เวลาซื้อหรือยัง และโอกาสลงทุนที่น่าสนใจเพื่อฝ่าช่วงเศรษฐกิจตกต่ำอยู่ที่ไหนบ้าง?
ตอบคำถามแรกก่อนเลย คือ ณ ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่จะกลับมาซื้อหุ้นเทคโนโลยี หุ้นจีน และตราสารหนี้โลกได้บ้างแล้ว โดยมีเหตุผลดังนี้
- ตราสารหนี้ ทั้งพันธบัตรและ Investment Grade เพราะอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นรับข่าวการขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปก่อนและแตะจุดสูงสุดเรียบร้อยแล้ว ขณะที่อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ Investment Grade ก็ปรับขึ้นเช่นกัน ด้วยอันดับความน่าเชื่อถือที่สูงและมูลค่าที่ระดับเดียวกับปี 2020 จึงมีความสามารถรับมือกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวได้
- หุ้นเทคโนโลยี ที่ผ่านมารับผลกระทบจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่งให้มูลค่าถูกลงมาจนถึงจุดที่น่าสนใจ ขณะที่ผลประกอบการยังเติบโตได้ดีกว่าหุ้นกลุ่มอื่นและเศรษฐกิจ เพราะเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวัน ส่งให้รูปแบบธุรกิจมีอำนาจต่อรองกับลูกค้าสูง ประกอบกับแรงกดดันด้านอัตราดอกเบี้ยที่น้อยลง ยิ่งเปิดให้หุ้นกลุ่มนี้มีความน่าสนใจมากขึ้น
- หุ้นจีน นักวิเคราะห์ทุกสำนักต่างคาดว่าทางการจีนจะเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุม COVID-19 ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยน่าพอใจ ทำให้ต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายการเงินและการคลังอย่างต่อเนื่องหนุนให้เศรษฐกิจจีนกลับฟื้นตัว ด้านมูลค่าตลาดหุ้นจีนที่ปรับตัวลงอย่างหนักจนต้องเรียกว่าอยู่ในระดับที่ถูก ขณะที่หุ้นกลุ่มอื่นก็ได้รับผลเชิงบวกไปด้วยเช่นกัน นักลงทุนควรเลือกหุ้นกลุ่มที่มีผลประกอบการแข็งแกร่งเพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เช่น Healthcare ซึ่งมีลักษณะเป็นกลุ่ม Defensive มีรายได้และกำไรสม่ำเสมอ ซึ่งอาจเหมาะกับนักลงทุนที่ในพอร์ตมีแต่หุ้นกลุ่ม Growth
สรุปการปรับตัวรับเศรษฐกิจตกต่ำ
ปี 2023 มีโอกาสที่เศรษฐกิจจะตกต่ำกว่าปี 2022 ขณะเดียวกันสินทรัพย์การเงินต่างมีมูลค่าที่ถูกลงมาก เมื่อนักลงทุนคาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะขึ้นได้อีกไม่มาก เพราะเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อชะลอตัว ช่วยลดแรงกดดันต่อตลาดการลงทุน สินทรัพย์การเงินบางกลุ่มที่มีมูลค่า และการเติบโตเด่นกว่าเศรษฐกิจกลับมีความน่าสนใจ เช่น ตราสารหนี้ประเภทพันธบัตรและ Investment Grade หุ้นเทคโนโลยี และหุ้นจีน
นักลงทุนควรติดตามข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ พยายามไม่ตัดสินใจตามกระแสข่าว มองหาโอกาสในความกังวล ที่สำคัญต้องควบคุมความเสี่ยงพอร์ตอย่างใกล้ชิด และต้องมีเงินสดสำรองอยู่ตลอดเวลา