ประเทศจีนนับเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงสู่รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) ด้วยการวางกลยุทธ์มาอย่างยาวนาน ปัจจุบันได้บรรลุเป้าหมายทั้งด้านเทคโนโลยีแบตเตอรี่ และการผลิต โดยในปี 2021 ที่ผ่านมา มียอดขายรถยนต์ EV ในประเทศจีนสูงเป็นอันดับที่ 1 ของโลก อยู่ที่ 3.5 ล้านคัน ตามด้วยสหรัฐฯ ที่ 6.31 แสนคัน ห่างกันมากกว่า 5 เท่า และในครึ่งแรกของปี 2022 ประเทศจีนมียอดขายแล้วถึง 2.46 ล้านคัน เติบโตสวนกระแสการปิดเมือง และสภาพเศรษฐกิจจีน เนื่องจากรัฐบาลจีนยังใช้มาตรการส่งเสริมการซื้อรถยนต์ EV ด้วยการลดภาษี
ขณะเดียวกันก็มีบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ EV มากมายซึ่งโดดเด่นไม่แพ้ Tesla ทั้ง Nio, Xpeng, Li Auto และผู้นำของอุตสาหกรรมในประเทศจีนอย่าง BYD ซึ่งล่าสุดได้เข้ามาทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว
BYD คือบริษัทอะไร ทำธุรกิจอะไรบ้าง มีความน่าสนใจมากแค่ไหน บทความนี้ขอพาไปทำความรู้จักกับ BYD ผู้นำแห่งอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าจีน
รู้จักกับ BYD จากผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สู่ผู้นำ EV ของโลก
BYD ย่อมาจาก Build Your Dreams Group จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง และเซินเจิ้น ก่อตั้งเมื่อปี 1995 โดยรับจ้างผลิตชิ้นส่วน และให้บริการประกอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงผลิตแบตเตอรี่ให้กับบริษัททั้งในประเทศ และระดับโลก เช่น Huawei, Samsung, Apple และ Dell
ปี 2002 เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง จากนั้นเข้าสู่อุตสาหกรรมรถยนต์เมื่อปี 2003 ต่อมาในปี 2011 เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นเซินเจิ้น ปี 2020 เปิดตัว Blade Battery ซึ่งมีเทคโนโลยีความปลอดภัยชั้นสูง และในปีเดียวกันก็เปิดตัว BYD Han รถยนต์ EV รุ่นแรกที่ติดตั้ง Blade Battery
เมื่อปี 2021 BYD ก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทสัญชาติจีนที่มียอดขายรถยนต์ EV มากที่สุด และเมื่อไตรมาสแรกของปี 2022 ได้ประกาศยุติการผลิตรถยนต์ที่ใช้พลังงานฟอสซิล ในเดือนมิถุนายน และปี 2022 เปิดเผยว่ากำลังจะเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ให้กับ Tesla
ครึ่งแรกของปี 2022 BYD แซงหน้า Tesla ก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทที่มียอดขายรถยนต์ EV มากที่สุดในโลกแล้ว เนื่องจาก BYD มีสายการผลิตทั้งรถยนต์แบบ plug-in hybrid EV และ EV ขณะที่ Tesla ผลิต และขายเพียงแค่รถยนต์ EV เพียงอย่างเดียว นอกจากขายรถยนต์ EV แล้ว BYD ยังผลิต และขายรถบัส EV, รถไฟ รวมไปถึงรับผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
ล่าสุดมีรายงานข่าวว่า BYD วางแผนเข้าลงทุนในโรงงานผลิตแบตเตอรี่ และเหมืองแร่ลิเธียมในประเทศจีน รวมถึงกำลังเจรจาซื้อเหมืองแร่ลิเธียมในทวีปแอฟริกา 6 แห่ง
โครงสร้างรายได้ของ BYD
รายได้ของ BYD แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย
- Automobiles and Related Products (ยานยนต์ และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง)
- Handset Components and Assembly Services (อุปกรณ์มือถือ และบริการประกอบชิ้นส่วน)
- Rechargeable Battery and Photovoltaics (แบตเตอรี่ และอุปกรณ์เปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นไฟฟ้า)
ปี 2020 รายได้จาก Automobiles and Related Products คิดเป็น 53.4% ตามด้วย Handset Components and Assembly Services 38.7% และ Rechargeable Battery and Photovoltaics 7.6%
ปี 2021 รายได้จาก Automobiles and Related Products คิดเป็น 51.9% ตามด้วย Handset Components and Assembly Services 40.5% และ Rechargeable Battery and Photovoltaics 7.3%
ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา
- ปี 2019 มีรายได้รวม 126,180 ล้านหยวน (-1.35%) กำไรสุทธิ 1,610 ล้านหยวน (-41.93%)
- ปี 2020 มีรายได้รวม 154,440 ล้านหยวน (+22.4%) กำไรสุทธิ 4,230 ล้านหยวน (+162.27%)
- ปี 2021 มีรายได้รวม 213,110 ล้านหยวน (+37.98%) กำไรสุทธิ 3,050 ล้านหยวน (-28.08%)
ล่าสุดไตรมาสที่ 1 ปี 2022 รายได้รวม 65,720 ล้านหยวน (+49.97%) กำไรสุทธิ 808.41 ล้านหยวน (-53.84%) จะเห็นว่ารายได้มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ส่วนกำไรสุทธิลดลงบ้างเนื่องจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น แต่ในระยะยาว 10 ปี รายได้รวมมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 17% ต่อปี ส่วนระยะกลาง 5 ปี รายได้รวมมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 15.5% ต่อปี
อัตราส่วนทางการเงิน
อัตราส่วนทางการเงินเป็นการเปรียบเทียบตัวเลขจากงบการเงินถูกใช้วิเคราะห์สภาพทางการเงินของบริษัท
อัตราส่วนการเงินด้านความมั่นคงทางการเงิน
- D/E Ratio: อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น
ไตรมาส 2 ปี 2020 อัตราส่วนนี้อยู่ที่ 1.34 เท่า แปลว่า BYD มีหนี้สินมากกว่าส่วนของผู้ถือหุ้น แต่หลังจากนั้นอัตราส่วนนี้ลดลงต่อเนื่อง ไตรมาส 1 ปี 2022 อยู่ที่ 0.31 เท่า โดยบริษัทที่ดีควรมีอัตราส่วน D/E ต่ำกว่า 1 เท่า
อัตราส่วนการเงินด้านสภาพคล่อง
- อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน (Current Ratio)
ไตรมาส 2 ปี 2020 Current Ratio อยู่ที่ 1.07 เท่า จากนั้นไตรมาส 4 ปี 2021 ลดมาที่ 0.97 เท่า ล่าสุดไตรมาส 1 ปี 2022 อยู่ที่ 0.92 เท่า บริษัทที่ดีควรมีอัตราส่วนนี้สูงกว่า 1 เท่า BYD นับว่ามีอัตราส่วนนี้ต่ำกว่าเพียงเล็กน้อย แต่ยังไม่ถึงขั้นที่ต้องเฝ้าระวัง
อัตราส่วนการเงินด้านความสามารถทำกำไร
- ROA (อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์)
ปี 2019 อยู่ที่ 0.83% ปี 2020 เพิ่มขึ้นมาที่ 2.13% ส่วนปี 2021 ลดลงเล็กน้อยมาที่ 1.22% ต่ำกว่า ROA ของบริษัท Tesla แต่เมื่อเทียบกับบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกันอย่าง Nio และ Li Auto แล้ว ยังเหนือกว่าอย่างชัดเจน
- ROE (อัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น)
ปี 2019 อยู่ที่ 3.11% ปี 2020 เพิ่มขึ้นมาที่ 7.83% ส่วนปี 2021 ลดลงมาที่ 4.04% ซึ่งนับว่าแกร่งกว่าบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมเช่นกัน
- อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin)
ปี 2019 อัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 1.28% ปี 2020 เพิ่มมาที่ 2.74% จากนั้นปี 2021 ลดลงมาที่ 1.43% ส่วนบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน ยังไม่มีกำไรสุทธิเลย
ภาพรวมจะเห็นว่า BYD มีอัตราส่วนด้านความมั่นคงที่แข็งแกร่ง ยังไม่มีปัญหาสภาพคล่อง และทำกำไรได้ดีกว่าบริษัทคู่แข่ง
จุดอ่อน-จุดแข็งของ BYD
ในภาพรวมของ BYD มีการวางกลยุทธ์มาเป็นอย่างดี บริหารจัดการ supply chain อย่างดีเยี่ยม ทั้งยอดส่งมอบรถ รายได้ และกำไรเติบโตอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังได้รับแรงหนุนจากนโยบายส่งเสริมของทางการจีน นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีด้านแบตเตอรี่ที่ไม่เป็นรองใคร ปัจจัยทั้งหมดนี้ส่งให้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ EV ของประเทศจีน และโลก
ในระยะสั้นยังคงสถานะความเป็นผู้นำต่อไปทั้งในด้านรถยนต์ และแบตเตอรี่ ส่วนระยะกลางและยาวต้องยอมรับว่าตลาดรถยนต์ EV ยังใหม่มาก ดังนั้นยังมีการแข่งขันสูง สถานะผู้นำอาจมีการสับเปลี่ยนได้ทุกเมื่อ นักลงทุนจึงต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงในวงการ และกระแสของผู้บริโภคอย่างใกล้ชิด