มนุษย์เงินเดือนหลายๆ คน อาจมีความฝันที่อยากมีอิสรภาพทางการเงิน อยากเกษียณก่อนอายุ 60 ปี เพราะอยากใช้ชีวิตในตอนที่ร่างกายยังแข็งแรงอยู่ แต่เพื่อนๆ รู้มั้ยว่าชีวิตหลังเกษียณอายุอาจต้องใช้เงินมากกว่าที่เราคิด เพราะอย่าลืมว่า ณ วันที่เราเกษียณอายุแล้ว รายได้หลักก้อนใหญ่ของเราจะหายไป แต่รายจ่ายของเราจะอยู่ไปตลอดอายุขัย
ดังนั้นเงินเกษียณอายุเป็นเรื่องสำคัญมาก ยิ่งเราเริ่มเร็วเท่าไหร่ ยิ่งใช้เงินลงทุนน้อย และยิ่งมีโอกาสไปถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้น
บทความนี้จะมาอธิบายวิธีคำนวณเงินเกษียณ ให้เพื่อนๆ สามารถคำนวณได้แบบเข้าใจง่าย จะมีกี่ขั้นตอนบ้าง ไปคำนวณพร้อมๆ กันเลย
4 ขั้นตอนคำนวณเงินเกษียณ
ขั้นตอนที่ 1 คำนวณเงินหลังเกษียณ - อยากใช้เงินเดือนละเท่าไหร่?
เป็นขั้นตอนแรกที่ทำให้เราได้ลองคำนวณว่าหลังเกษียณเราอยากใช้ชีวิตแบบไหน แบบพอเพียง อยู่สบายๆ หรือท่องเที่ยวบ่อยๆ เพื่อนๆ สามารถเริ่มคำนวณได้จากการใช้เงินในปัจจุบัน ว่าเรากำลังใช้เงินแบบไหน หลังเกษียณเราอยากลดค่าใช้จ่ายตรงนี้ลง หรือ อยากเพิ่มค่าใช้จ่ายขึ้น
ทีมงานขอแนะนำให้เพื่อนๆ เผื่อค่าใช้จ่ายไว้ก่อน เพราะในวันที่เกษียณอายุแล้ว รายได้หลักของเราหายไป ถ้าคำนวณต่ำกว่าความเป็นจริงเยอะ อาจทำให้เราไม่ได้ใช้ชีวิตเกษียณในแบบที่ฝันไว้
ตัวอย่าง
เราอยากใช้เงินหลังเกษียณเดือนละ 30,000 บาท ตกวันละ 1,000 บาท เป็นการใช้ชีวิตแบบสบายๆ จับจ่ายใช้สอยได้คล่องตัวในระดับนึง หลังจากได้ตัวเลข 30,000 บาทมาแล้ว ให้นำไปคูณ 12 เพื่อคำนวณเป็นรายปี
ดังนั้นในขั้นตอนที่ 1 นี้ เราอยากใช้เงินหลังเกษียณปีละ 30,000 x 12 = 360,000 บาท
ขั้นตอนที่ 2 คำนวณอายุเกษียณ - อยากเกษียณตอนอายุเท่าไหร่?
หลังจากได้ตัวเลขในขั้นตอนที่ 1 แล้ว สิ่งที่ต้องคำนวณต่อมาคือเราอยากเกษียณตอนอายุเท่าไหร่ แน่นอนว่าใครๆ ก็อยากเกษียณเร็ว เพราะทำงานมาทั้งชีวิตแล้ว ก็อยากได้ใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองต้องการบ้าง แต่อย่าลืมว่ายิ่งเราเกษียณเร็วเท่าไหร่ เราก็ยิ่งมีเวลาหาเงินน้อยลงไปเท่านั้น
ตัวอย่างในบทความนี้ ขอกำหนดอายุปัจจุบันที่ 30 ปี และกำหนดอายุเกษียณที่ 55 ปี เท่ากับว่าเรามีเวลาในการทำงานเก็บเงินอีก 55 - 30 -1 = 24 ปี
ขั้นตอนที่ 3 คำนวณอายุขัย - อยากใช้เงินหลังเกษียณกี่ปี?
หลังจากรู้ว่าอยากใช้เงินเดือนละเท่าไหร่ อยากเกษียณตอนไหน ขั้นตอนถัดมาคือการคำนวณอายุขัยของเรา เพื่อคำนวณว่าเราอยากใช้เงินหลังเกษียณไปอีกกี่ปี วิธีคำนวณในขั้นตอนนี้ เราสามารถคำนวณแบบง่ายๆ จากการดูว่าญาติพี่น้องของเรามีอายุขัยโดยเฉลี่ยกันเท่าไหร่ มีโรคประจำตัวกันมั้ย
ยิ่งเผื่อเยอะเท่าไหร่ ก็ยิ่งดี เพราะทำให้มั่นใจได้ว่า เราจะมีเงินใช้ไปตลอดอายุขัยของเราแน่ๆ และเทคโนโลยีด้านการแพทย์มีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ทำให้อายุขัยของเราในอนาคตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่นั่นก็แปลว่าในช่วงที่ยังทำงานอยู่ เราก็ต้องเก็บเงินมากขึ้นไปด้วย
ตัวอย่างในบทความนี้ ขอกำหนดอายุขัยที่ 80 ปี ดังนั้นถ้าเราอยากเกษียณตอนอายุ 55 ปี เราจะใช้ชีวิตหลังเกษียณอีก 80 - 55 = 25 ปี
ขั้นตอนที่ 4 คำนวณเงินเฟ้อ - เงิน 1 บาท ในวันนี้กับในอนาคต มีมูลค่าไม่เท่ากัน
ขั้นตอนสุดท้ายคือขั้นตอนที่สำคัญมาก เพราะเงิน 1 บาทในวันนี้ ไม่เท่ากับเงิน 1 บาทในอนาคต มูลค่าจะลดลงเรื่อยๆ เพราะเงินเฟ้อนั่นเอง
จาก 3 ขั้นตอนที่คำนวณมา เราสรุปตัวเลขได้ดังนี้
- ต้องการใช้เงินหลังเกษียณ 360,000 บาทต่อปี
- มีเวลาทำงานเก็บเงินอีก 24 ปี
- ใช้ชีวิตหลังเกษียณอีก 25 ปี
ถ้าคำนวณแบบไม่คิดเงินเฟ้อเลย จะคำนวณเงินเกษียณได้ที่ 360,000 บาท x 25 ปี = 9,000,000 บาท โดยที่เราต้องหาเงินจำนวนนี้ให้ได้ภายในระยะเวลา 24 ปี ที่เรายังทำงานอยู่ ถ้าไม่ได้นำเงินไปลงทุนเลย จะต้องเก็บเงินอยู่ที่เดือนละ [9,000,000 บาท / (24 ปี x 12 เดือน)] = 31,250 บาท แต่ถ้าเรานำเงินไปลงทุน โดยคาดหวังผลตอบแทนเฉลี่ย 8% ต่อปี จากที่ต้องเก็บเงิน 31,250 บาท จะอยู่ที่ประมาณ 10,385 บาท ลดลงไป 3 เท่าตัว แต่อย่าลืมว่าเงินจำนวนนี้ ยังไม่ได้คำนวณเงินเฟ้อ
แล้วถ้าคำนวณเงินเฟ้อปีละ 3% เข้าไปด้วย เงินเกษียณของเราจะอยู่ที่เท่าไหร่ มาดูกันต่อเลย
จากตารางนี้จะเห็นว่าอีก 24 ปี เราจะเกษียณอายุ ซึ่งในเวลานั้นเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 2.03 เท่า ดังนั้นเมื่อนำเงิน 9 ล้านมาคำนวณเงินเฟ้อ จะได้เท่ากับ 9,000,000 บาท x 2.03 = 18,270,000 บาท
ถ้าเรานำเงินไปลงทุนโดยที่คาดหวังผลตอบแทนเฉลี่ย 8% ต่อปี จะต้องลงทุนเดือนละประมาณ 21,081 บาท เป็นจำนวนเงินลงทุนที่สูงมากๆ เลย ถ้าตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่เราสามารถทำให้เกิดขึ้นจริงได้ เราไม่จำเป็นต้องปรับการคำนวณใดๆ ในตอนนี้ แต่ถ้าเป็นตัวเลขที่สูงเกินไป สามารถลดได้ด้วย 3 วิธี
- ลดจำนวนเงินที่ต้องการใช้จ่ายหลังเกษียณ - จะต้องคำนวณใหม่ว่า ถ้าต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน เราสามารถลดเต็มที่ได้แค่ไหน
- ยืดระยะเวลาที่จะเกษียณอายุ - จากที่อยากเกษียณเร็วที่อายุ 55 ปี อาจจะต้องเกษียณอายุที่ 60 ปีแทน เพื่อให้ได้มีรายได้เข้ามาอีก 5 ปี
- เพิ่มจำนวนผลตอบแทนจากการลงทุน - จาก 8% อาจจะต้องหาสินทรัพย์ที่เสี่ยงมากขึ้น เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่คาดหวังเฉลี่ยที่ 10% ต่อปี
แล้วเพื่อนๆ คำนวณเงินเกษียณได้ที่เท่าไหร่กันบ้าง สำหรับใครที่คำนวณแล้วได้ตัวเลขที่สามารถทำให้เกิดขึ้นจริงได้ ทีมงานขอแสดงความยินดีด้วยเป็นอย่างมาก แต่สำหรับใครที่คำนวณแล้วรู้สึกว่าตัวเลขนี้สูงเกินที่จะทำให้เป็นจริงได้ สามารถนำ 3 วิธีด้านบน ไปปรับใช้กันได้เลย จะเห็นว่าเรื่องเกษียณอายุไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ทีมงานหวังว่าบทความนี้จะทำให้เพื่อนๆ ได้คำนวณเงินเกษียณของตัวเอง และเริ่มให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นในการวางแผนการเงินนะครับ