ตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบัน ภาพที่เห็นทุกครั้งเวลาตลาดหุ้นปรับตัวลง หนีไม่พ้นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ในขณะที่เศรษฐกิจร้อนแรง เมื่อขึ้นดอกเบี้ยแล้วตลาดก็กังวลว่าภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัว บริษัทในตลาดหุ้นมีกำไรลดลง ส่วนตราสารหนี้ก็ถูกนักลงทุนขายออกมาเพื่อรอเข้าลงทุนใหม่เมื่อดอกเบี้ยขึ้นถึงจุดสูงสุดของวัฏจักรเศรษฐกิจรอบนั้น
แน่นอนว่าพอร์ตการลงทุนของเราทุกคนก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน แต่เราสามารถลดผลกระทบหรือคว้าโอกาสในช่วงเวลาที่ตลาดเป็นขาลงได้ บทความนี้จะมาเล่าถึงกลยุทธ์การลงทุนในช่วงตลาดขาลง ประกอบไปด้วย 3 กลยุทธ์ จะมีอะไรบ้าง ติดตามอ่านต่อได้เลย
กลยุทธ์ที่ 1 ปรับพอร์ตพร้อมรับมือตลาดขาลง
เน้นลงทุนในหุ้น Value และ Defensive
ตลาดที่ปรับตัวลงในขณะที่อัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นท่ามกลางความกังวลว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัว หุ้น Value เป็นหุ้นของบริษัทที่มีพื้นฐานแกร่ง ผลประกอบการอาจเติบโตไม่สูงมาก แต่เติบโตสม่ำเสมอ มีมูลค่าเหมาะสม ส่วนหุ้น Defensive เป็นหุ้นของบริษัทที่ไม่ผันผวนไปตามสภาพเศรษฐกิจ มักให้ผลตอบที่ดีกว่าหุ้น Growth ซึ่งผลประกอบการเติบโตโดดเด่น แต่การปันผลอยู่ในระดับต่ำหรืออาจไม่ปันผลเลย และมักมีมูลค่าที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยตลาดหุ้น
พอร์ตลงทุนจึงควรมีสัดส่วนหุ้น Value และ Defensive เป็นหลักเพื่อปกป้องพอร์ต ส่วนหุ้น Growth ก็ขาดไม่ได้เช่นกัน ควรมีสัดส่วนน้อยกว่าหุ้น Value และ Defensive เพราะแม้จะมีผลตอบแทนที่ไม่โดดเด่นในช่วงที่มีการขึ้นดอกเบี้ย แต่มีการเติบโตในระยะยาวที่โดดเด่นเหนือค่าเฉลี่ยตลาด
กระจายการลงทุนไปทุกภูมิภาคทั่วโลก
บางครั้งในช่วงที่ตลาดเป็นขาลง อาจมีบางประเทศที่เผชิญกับวิกฤต ซึ่งจะโชคร้ายมากถ้าทั้งพอร์ตของเราลงทุนอยู่ในประเทศนั้นประเทศเดียว ดังนั้นการกระจายการลงทุนไปในหลายภูมิภาคทั่วโลก ช่วยลดโอกาสที่พอร์ตจะได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงเฉพาะของแต่ละประเทศ
ตราสารหนี้ต้องมีในพอร์ต
แม้ราคาตราสารหนี้จะลงในช่วงที่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวธนาคารกลางจะลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเมื่อดอกเบี้ยปรับลดลงราคาตราสารหนี้จะเพิ่มขึ้น แต่การลงทุนตราสารหนี้ในตลาดขาลงควรเลือกตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีอัตราผลตอบแทน (Yield) สูง
เงินสดสำรองฉุกเฉินจะช่วยให้รอด
ไม่ควรใส่ไข่ทุกฟองไว้ในตะกร้าเดียวกัน ยังเป็นคำสอนที่ใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย อย่างน้อยถ้าตลาดเป็นขาลงรุนแรงกว่าที่คิดไว้ เรายังมีเงินสำรองไว้สำหรับลงทุนหุ้นดีราคาเหมาะสม หรืออาจจะเอาไว้ใช้ในชีวิตประจำวันแทน
กลยุทธ์ที่ 2 DCA เครื่องมือลงทุนรักษาวินัย ขจัดอารมณ์
เพราะไม่มีใครรู้ว่าตลาดหุ้นจะขึ้นลงเมื่อไหร่ จึงมีเครื่องมือที่เรียกว่า Dollar Cost Average (DCA) หรือการลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน ด้วยการลงทุนเป็นงวด เช่น รายเดือน รายไตรมาส ด้วยจำนวนเงินที่เท่ากัน ช่วยตัดอารมณ์ที่เข้ามาปะปนในการลงทุน และรักษาวินัยการลงทุน
กลยุทธ์ที่ 3 ความจริงที่นักลงทุนผู้มากประสบการณ์อยากบอก
อย่าขายตอนกำลังตกใจ
เพราะกว่าที่ตลาดจะลงจนนักลงทุนตกใจก็คงต้องปรับตัวลงมาแล้วระยะหนึ่ง เมื่อรวมกับตลาดที่ร่วงตอนนักลงทุนกำลังตกใจ จะยิ่งเป็นช่วงที่เรียกได้ว่าใกล้จุดต่ำสุดของการปรับตัวลงแล้ว ซึ่งนี่แหละเป็นช่วงที่ควรติดตามสถานการณ์และเตรียมตัวลงทุน
อย่ากลัวที่จะกลับเข้าลงทุนตอนตลาดเริ่มฟื้น
นักลงทุนส่วนใหญ่ที่ตัดสินใจขายตอนตลาดกำลังกังวลหนัก และกลัวจนไม่กลับมาสนใจตลาดที่กำลังฟื้นอีกเลย ซึ่งนับเป็นช่วงที่ดีที่สุดเลยก็ว่าได้ เพราะนอกจากจะได้ลงทุนในสินทรัพย์ที่ราคาลดลงมาเยอะแล้ว ยังเป็นจังหวะที่ตลาดกำลังกลับตัวจากขาลงเป็นขาขึ้นอีกด้วย
ตลาดขาลงไม่ได้อยู่กับเราตลอดไป
ย้อนสถิติดัขนี S&P 500 ไปจนถึงปี 1966 พบว่าตลาดขาขึ้นมีอายุเฉลี่ยประมาณ 6 ปี ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 200% ขณะที่ตลาดขาลงมีอายุเฉลี่ยประมาณ 15 เดือน สร้างผลขาดทุนเฉลี่ย -38.4% ตลาดขาลงที่ยาวนานที่สุดกินเวลาราว 2 ปี ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังตลาดขาขึ้นที่มีอายุเกือบ 5 ปี ส่วนตลาดขาลงที่กินระยะเวลาสั้นที่สุดเกิดขึ้นช่วง COVID-19 ระบาด เมื่อปี 2020 โดยมีอายุ 33 วัน
Source: schwab.com
ทั้งประสบการณ์ และสถิติเป็นสิ่งยืนยันชัดว่า แม้จะเผชิญกับตลาดขาลงมาแล้วกว่า 2 ปี ไม่ได้หมายความว่าตลาดขาลงจะอยู่กับเราตลอดไป
ตลาดขาลงแม้จะเกิดขึ้นต่างเวลากัน แต่มักมีลักษณะบางอย่างที่คล้ายกัน นักลงทุนสามารถเรียนรู้เหตุการณ์จากอดีต และนำมาปรับใช้ได้ทุกเมื่อ นอกจากนี้การขึ้นลงของตลาดยังเกิดขึ้นได้กับทุกสินทรัพย์ แต่สุดท้ายได้พบว่าตลาดขาขึ้นจะมีระยะเวลาที่นาน และให้ผลตอบแทนที่สูงพอจะชดเชยกับขาลงได้ ที่สำคัญนักลงทุนทุกคนต้องไม่ลืมกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนด้วย