ทำความรู้จักเงินเฟ้อ สำคัญอย่างไรกับนักลงทุน

icon 31 พ.ค. 65 icon 1,932
ทำความรู้จักเงินเฟ้อ สำคัญอย่างไรกับนักลงทุน
ในช่วงเดือนที่ผ่านมา หลายๆ คน คงเห็นข่าวว่าอัตราเงินเฟ้อปรับตัวขึ้น ฝั่งของสหรัฐฯ อัตราเงินเฟ้อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พุ่งสูงขึ้นที่ 7.9% นับว่าสูงสุดที่สุดในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา เป็นผลทำให้ Fed หรือธนาคารกลางสหรัฐต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.5% ทำให้อัตราดอกเบี้ยก้าวสู่ระดับ 0.75%-1.00% แน่นอนว่าส่งผลต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ติดลบไปทั้งกระดาน ในวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา ดัชนี้ Dow Jones ติดลบไปกว่า 1,000 จุดเลยทีเดียว
 
กราฟดัชนี Dow Jones ปรับตัวลงกว่า 1,000 จุด
Source: CNBC
 
ส่วนประเทศไทยเราเอง ปี 2564 มีเงินเฟ้ออยู่อ่อนๆ อยู่ที่ 1.23% แต่ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเงินเฟ้อขยับขึ้นมาอยู่ที่ 5.28% ถือว่าสูงสุดในรอบ 13 ปี จะเห็นว่า “เงินเฟ้อ” ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนเป็นอย่างมาก ย้อนไปเมื่อ 20 ปีก่อน เราอาจจะเคยเห็นก๋วยเตี๋ยวชามละ 10-15 บาท แต่เดี๋ยวนี้ขยับมาเป็น 40-50 บาทแล้ว แล้วเงินเฟ้อคืออะไร เกิดจากอะไร สำคัญอย่างไรต่อนักลงทุนบ้าง บทความนี้จะเล่าให้ฟัง..
 

เงินเฟ้อคืออะไร?

เงินเฟ้อ คือ การวัดว่าราคาของสินค้าและบริการ เพิ่มขึ้นมากแค่ไหนเมื่อเวลาผ่านไป หรือหมายถึงสภาวะที่ราคาสินค้าและบริการมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ มักจะวัดเงินเฟ้อด้วยการเปรียบเทียบราคาสินค้าและบริการในวันนี้กับเงินเฟ้อเมื่อ 1 ปีก่อน
 
เช่น อัตราเงินเฟ้อเดือนเมษายน 2565 อยู่ที่ 4.65% หมายความว่าราคาสินค้าและบริการโดยเฉลี่ยในปัจจุบัน สูงกว่าปีที่แล้ว 4.65% สินค้าราคา 100 บาทในปีที่แล้ว เพิ่มเป็น 104.65 บาทในปีนี้ เป็นต้น
 

เงินเฟ้อเกิดจากอะไร ต่างจากเงินฝืดอย่างไร

สาเหตุมาจาก 2 ส่วนหลักๆ คือ ความต้องการในสินค้าสูงขึ้น และต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ยกตัวอย่างแบบเข้าใจง่ายๆ อย่างช่วงเริ่มต้นของโรคระบาดโควิด-19 ที่คนทั้งโลกต้องใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อและการติดเชื้อโควิด-19 จากที่หน้ากากอนามัยมักใช้ในเฉพาะกลุ่มอย่างบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย โรงงานผลิต กลายเป็นว่าคนทั้งโลกต้องการใช้ ทำให้ราคาดีดสูงขึ้นในช่วงแรก ไปถึงกล่องละ 700 บาทเลยทีเดียว
 
หรือวิกฤตชิปขาดตลาด ที่เกิดขึ้นมานานตั้งแต่ช่วงโควิด-19 แพร่ระบาดเช่นกัน เพราะนักเรียน วัยทำงาน ต่างเรียนออนไลน์ และ Work from Home กันทั่วโลก ทำให้คนต่างมาซื้อ Smartphone, Tablet และ Laptop กันมากขึ้น ฝั่งผู้ผลิตเจอการล็อกดาวน์ไปหลายครั้งทำให้การผลิตชิปช้าลง มีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น เงินเฟ้อไม่ได้เกิดขึ้นจากการขึ้นราคาของสินค้า 2 ชิ้นนี้เท่านั้น แต่เกิดขึ้นเมื่อราคาสินค้าและบริการต่างๆ ขึ้นพร้อมๆ กันหมด ซึ่งตรงกันข้ามกับเงินฝืดทุกประการ ที่จะมีความต้องการซื้อลดลง เมื่อผู้คนต่างต้องการสินค้าและบริการลดลง ผู้ผลิตก็ไม่จำเป็นต้องผลิตสินค้ามากเท่าเดิม มีการลดการผลิตลง ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจซบเซา
 

ประเภทของเงินเฟ้อ 

ในทุกๆ เดือน ทางกระทรวงพาณิชย์จะเก็บข้อมูลราคาสินค้าและบริการจำนวน 430 รายการมาคำนวณอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งสินค้าและบริการที่นำมาคำนวณคิดเงินเฟ้อ สามารถแบ่งได้ 2 ประเภท คือ เงินเฟ้อทั่วไป และเงินเฟ้อพื้นฐาน
 
กราฟอัตราเงินเฟ้อทั่วไทยและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ปี 2554-2564
Source: ธนาคารแห่งประเทศไทย
 
  1. อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) คือ อัตราการเปลี่ยนแปลงราคาของสินค้าและบริการทุกประเภทที่บริโภคโดยทั่วไป (CPI) ครอบคลุมทั้งอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องใช้ส่วนตัว เครื่องใช้ภายในบ้าน ที่อยู่อาศัย การรักษาพยาบาล การขนส่ง พลังงาน การสื่อสาร การบันเทิง การศึกษา
  2. อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) คือ อัตราการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ที่ไม่รวมอาหารสดและพลังงาน เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีราคาขึ้นลงตามฤดูกาล และอยู่นอกเหนือการควบคุมของนโยบายการเงิน

สำคัญอย่างไรต่อนักลงทุน

หลังจากเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น สิ่งที่ธนาคารกลางมักจะทำเพื่อควบคุมการขึ้นของเงินเฟ้อ คือการขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อชะลอการขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลต่อหลายๆ สินทรัพย์อย่างแน่นอน จะส่งผลต่อสินทรัพย์ไหน ในด้านใดบ้าง มาดูกันต่อ
 

ตราสารหนี้

ตราสารหนี้ คือ หุ้นกู้และพันธบัตรรัฐบาล เป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนในรูปแบบของอัตราดอกเบี้ยคงที่ หรือส่วนลดตราสาร ที่ถือครองตราสารจนครบกำหนด เมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อ และมีการปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ตราสารหนี้ที่ออกจำหน่ายแล้วในชุดเดิมเกิดความน่าสนใจน้อยลง เพราะตราสารหนี้ชุดใหม่จะให้ผลตอบแทนด้านดอกเบี้ยที่มากกว่า ดังนั้นตราสารหนี้ชุดเดิมจะมีราคาลดลง
 
ซึ่งนักลงทุนที่ถือตราสารหนี้ชุดเดิมอยู่ และต้องการผลตอบแทนที่มากขึ้น สามารถขายตราสารหนี้ชุดเดิมในตลาดรองได้ แต่สำหรับนักลงทุนที่พอใจกับอัตราดอกเบี้ยของตราสารหนี้ชุดเดิมอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องขายออกมา เพราะนักลงทุนจะยังได้รับอัตราดอกเบี้ยเดิมจนครบกำหนด

หุ้นสามัญ

เป็นอีกสินทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบ เพราะเมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น หมายความว่าต้นทุนของบริษัทจะสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ส่งผลกับผลประกอบการของบริษัท แต่การปรับตัวขึ้นของเงินเฟ้อจะกระทบกับหุ้นแต่ละอุตสาหกรรมแตกต่างกันไป มีหุ้นบางอุตสาหกรรมที่ได้รับประโยชน์จากสิ่งนี้ อย่างกลุ่มธนาคารที่ได้รับผลประโยชน์โดยตรง เพราะสามารถขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้สูงขึ้นได้เร็วกว่าการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่เป็นรายได้สำคัญของธนาคารปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้กลุ่มธนาคารจะมีรายรับที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง

ทองคำ

การเกิดขึ้นของเงินเฟ้อทำให้นักลงทุนรู้สึกถึงมูลค่าของเงินที่ลดลง ทองคำเลยเป็นสินทรัพย์หนึ่งที่ขึ้นชื่อเรื่องการต่อสู้กับเงินเฟ้อได้เป็นอย่างดี เนื่องจากสามารถกักเก็บความมั่งคั่งได้ในระยะยาว ผู้คนมักจะซื้อทองคำในช่วงนี้  ทำให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นเมื่อเกิดเงินเฟ้อ
 
สุดท้ายนี้ ไม่ว่าเศรษฐกิจโลกจะเป็นอย่างไร นักลงทุนสามารถลดผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ด้วยการจัดพอร์ตลงทุนแบบกระจายความเสี่ยง เพราะไม่ใช่ทุกสินทรัพย์ ทุกอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ การกระจายการลงทุน แม้การจัดพอร์ตจะลดโอกาสในการรับผลตอบแทนที่สูงขึ้น แต่อย่างน้อยสามารถช่วยประคองพอร์ตลงทุนของเราให้รอดพ้นจากทุกวิกฤตเศรษฐกิจได้
 
แท็กที่เกี่ยวข้อง ดอกเบี้ย นักลงทุน ทองคำ หุ้นสามัญ ภาวะเงินเฟ้อ เศรษฐกิจชะลอตัว อัตราเงินเฟ้อ stagflation
Economy Guru
เขียนโดย เช็คราคา.คอม Economy Guru

พูดคุยกับกูรูได้ที่



เว็บไซต์นี้มีการเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์ และช่วยให้เราปรับปรุง และนำเสนอเนื้อหาตรงตามความสนใจของท่าน ท่านสามารถดู Privacy Notice และ ดู Cookies Policy ของเราได้ ที่นี่ ทั้งนี้ ท่านจะยินยอมให้เราเก็บคุกกี้ทั้งหมด หรือให้เก็บแค่บางส่วนโดยการคลิกเลือก ตั้งค่า

ท่านสามารถเลือกให้ความยินยอมการเก็บคุกกี้เป็นเรื่องๆ ได้ที่นี่

เมื่อคุณเข้าชมเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่น checkraka เราอาจจัดเก็บ หรือดึงข้อมูลจากเบราว์เซอร์ของคุณในรูปแบบของคุกกี้ และเทคโนโลยีอื่นที่คล้ายคลึง เช่น tag และ pixel (เรียกรวมกันว่า “คุกกี้”) ซึ่งมักเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้โดยตรง แต่ช่วยให้คุณใช้งานเว็บไซต์ได้ปลอดภัย และตรงตามความต้องการมากขึ้น คุณอาจไม่ยินยอมให้เราเก็บคุกกี้บางประเภทได้ โดยการคลิกตามหัวข้อข้างล่างนี้

ประเภทคุกกี้
อ่านเพิ่มเติม ที่นี่
ยินยอม / ไม่ยินยอม
คุกกี้ที่จำเป็นต้องมีเสมอ
(Strictly Necessary)
คุกกี้สำหรับการใช้งานเว็บไซต์
(Functionality)
คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและวิเคราะห์
(Performance & Analytics)
คุกกี้เพื่อการตลาด
(Marketing)