รถยนต์ไฟฟ้า (EV Car) หนึ่งในเมกะเทรนด์ที่ถูกพูดถึงอย่างมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ในฐานะหนึ่งทางเลือกสำคัญที่จะช่วยให้โลกของเราน่าอยู่มากขึ้น จากการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งนับเป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงที่ผ่านมาต่างมีมาตรการจำนวนมากจูงใจให้ทั้งภาคธุรกิจ และประชาชนหันมาใช้เทคโนโลยีนี้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง บนความคาดหวังว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้านี้จะกลายเป็นหนึ่งอุตสาหกรรมสำคัญที่ช่วยผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ ไปพร้อมๆ กับลดมลภาวะ
ล่าสุดประเทศไทยได้มีมติเห็นชอบในการส่งเสริมธุรกิจดังกล่าว บนเป้าหมายการผลักดันให้ประเทศไทยสามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดภายในปี 2573 และกลายเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสำคัญของโลก ประกอบไปด้วย
- ให้เงินอุดหนุนรถนยนต์และรถกระบะ 70,000-150,000 บาทต่อคัน และรถจักรยานยนต์ 18,000 บาทต่อคัน ระหว่างปี 2565-2568
- ลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์จาก 8% เป็น 2% และรถกระบะสู่ระดับ 0%
- ลดอากรขาเข้ารถยนต์ที่ผลิตต่างประเทศและนำเข้าทั้งคันสูงสุด 40% สำหรับรถยนต์ จนถึงปี 2566
- ยกเว้นอากรขาเข้ารถยนต์ที่ผลิตในประเทศ 9 รายการ
ซึ่งประโยชน์ข้อแรกที่จะได้รับกันโดยตรงคือ ราคารถยนต์ไฟฟ้าจะมีราคาถูกลงตั้งแต่ 70,000-150,000 ต่อคันเลยทีเดียว แต่ถึงแม้การใช้รถยนต์ไฟฟ้าจะมีข้อดีทั้งในแง่ของการช่วยให้สภาพแวดล้อมดีมากขึ้น พร้อมทั้งช่วยประหยัดค่าเดินทางในชีวิตประจำวันแล้ว แต่ยังมีข้อที่ต้องคำนึงถึงอีกมาก เช่น
รายละเอียดเชิงลึกของรถยนต์ไฟฟ้าที่สนใจ
ระยะทางการวิ่งสูงสุดต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง ระยะเวลาการชาร์จต่อครั้งมากน้อยแค่ไหน ระบบชาร์จเป็นแบบใด มีสถานีชาร์จรองรับมากน้อยแค่ไหน และกระจายตัวอยู่ที่ใดบ้าง ระบบระบายความร้อนและขนาดมอเตอร์เป็นเช่นไร เหมาะสมกับแนวการขับขี่รถของเราแค่ไหน
รถยนต์ไฟฟ้าเหมาะกับไลฟ์สไตล์เราหรือไม่
หากเป็นพนักงานประจำ หรือ มีแนวโน้มการใช้รถยนต์ในเส้นทางเดิมๆ แทบทุกวันนั้น จะสะดวกต่อการกำหนดเส้นทางเพื่อที่จะหาสถานีชาร์จประจำได้ แต่ถ้าต้องเดินทางเส้นทางใหม่อยู่เรื่อยๆ หรือ เดินทางข้ามจังหวัดเป็นประจำ อาจยังไม่เหมาะมากนักในเวลานี้ เพราะสถานีชาร์จ แม้จะเริ่มมีมากขึ้น แต่ยังไม่ได้กระจายตัวอย่างทั่วถึง ทำให้มีความเสี่ยงที่อาจจะหาที่ชาร์จได้ยาก
ที่พัก ที่อยู่อาศัย เหมาะสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าหรือไม่
สามารถติดตั้งแท่นชาร์จได้หรือไม่ เพราะสถานที่ที่สามารถจอดรถเพื่อชาร์จแบตเตอรี่ได้นานที่สุด ย่อมเป็นที่บ้าน ซึ่งหากไม่รองรับต่อการติดตั้งแท่นชาร์จแล้ว อาจทำให้ในแต่ละวันอาจต้องเสียเวลาในการออกไปชาร์จแบตเตอรี่นอกบ้านเป็นประจำ
พิจารณาความแข็งแกร่งของแบรนด์นั้นๆ
เพื่อที่จะมั่นใจได้ว่าค่ารถยนต์ที่เราซื้อนั้น จะอยู่และผลิตชิ้นส่วนซึ่งจะสึกหรอไปตามกาลเวลา ให้เรามีอะไหล่เปลี่ยนได้อย่างมีมาตรฐานไปอีกนาน จนถึงทำให้เรามั่นใจได้ว่าจะมีบริการหลังการขายที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการรับประกันชิ้นส่วนต่างๆ ของรถซึ่งมักกินเวลา 3-5 ปีขึ้นไป
แล้วในฐานะนักลงทุน มีบริษัทใดบ้างที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้ ไปดูพร้อมๆ กันเลย
BPP
อดีตบริษัทผู้ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานรูปแบบเดิม ซึ่งส่งผลเสียต่อชั้นบรรยากาศโลกอย่างมากอย่างถ่านหิน ได้ผ่านการปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจเข้าสู่พลังงานทางเลือกอย่างเต็มตัว ทั้งก๊าซธรรมชาติ พลังงานลม และแสงอาทิตย์ อีกทั้งยังได้เข้าสู่ธุรกิจ EV เต็มตัวในรูปแบบของการให้บริการเช่า EV รายชั่วโมงผ่านแอปพลิเคชัน HAUP และการมีบริษัทย่อยอย่างบ้านปู เพาเวอร์ที่เริ่มดำเนินการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศจีนเป็นที่เรียบร้อย
BCPG, EA และ GPSC 3
3 บริษัทพลังงานทางเลือกที่เริ่มเดินหน้ารับเมกะเทรนด์กันเป็นที่เรียบร้อย โดย EA ได้เริ่มดำเนินการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนตั้งแต่ปี 2564 ที่ผ่านมา ขณะที่ BCPG ไม่น้อยหน้าด้วยการเข้าลงทุนในบริษัทสัญชาติจีน เตรียมเริ่มผลิตในปีนี้ ส่วน GPSC มีการดำเนินการใกล้กับ BCPG คือการจับมือกับพันธมิตรในประเทศจีนแต่ล่าช้ากว่าเล็กน้อย จะเริ่มผลิตได้ในปี 2566
DELTA
หนึ่งในบริษัทที่ตอบรับต่อกระแสการมาของ EV อย่างรวดเร็ว โดยได้มีการเปิดตัวระบบชาร์จ EV ครบวงจรตั้งแต่ปี 2018 ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยมี Nissan หนึ่งในแบรนด์รถยนต์ได้แต่งตั้งให้ DELTA เป็นผู้ให้บริการชาร์จ EV อย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2019 ที่ผ่านมา นอกจากนั้นแล้ว DELTA ยังเป็นหนึ่งในผู้ผลิตแผงวงจร และแบตเตอรี่ลิเทียมไออน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของ EV ที่สำคัญเจ้าหนึ่งในไทย เรียกได้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจ EV ในหลากหลายช่องทางทีเดียว
CPALL
เจ้าของธุรกิจร้านสะดวกซื้อใหญ่ที่สุดในไทย ใช้ช่องทางการมาของ EV อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการนำร่องติดตั้งสถานีชาร์จ EV หน้า ร้านของตน เพื่อเตรียมตอบรับต่อแนวโน้มการมาของ EV ในอนาคต ไปพร้อมๆ กับการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านการขนส่ง ด้วยการเตรียมปรับให้รถขนส่งสินค้ากว่า 7,000 คันเป็น EV ด้วย ได้ประโยชน์ทั้งลดรายจ่าย และรับโอกาสเพิ่มรายได้ไปพร้อมๆ กัน
TRU
ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติไทย ที่เริ่มดำเนินการผลิตที่ตอบรับต่อการมาถึงของ EV แล้วใน 2 ช่องทาง ทั้งการผลิตเพื่อจำหน่าย และให้เช่าด้วยตนเอง และรับจ้างผลิต EV ตามสั่งของลูกค้า ช่วยเพิ่มโอกาสสร้างรายได้ตามเมกะเทรนด์ไปพร้อมๆ กับกระจายความเสี่ยง บนฐานความถนัดของตนที่มีมาอย่างยาวนานในด้านการผลิตรถยนต์
OR และ BCP
บริษัทสถานีให้บริการน้ำมันเจ้าเก่าแก่ของไทย ที่มีเครือข่ายมากกว่า 1,900 และ 1,200 สาขาทั่วประเทศ ใช้ความได้เปรียบโดยการเร่งติดตั้งแท่นชาร์จ EV ทั่วประเทศ ทั้ง 2 บริษัท มีนโยบายติดตั้งแท่นแบบ Quick Charge ที่มีกำลังสูงสุด 160 กิโลวัตต์ เหมาะแก่การจอดชาร์จระหว่างการเดินทางออกต่างจังหวัดไปยังสถานที่ต่างๆ ทั่วไทย
รถไฟฟ้าถือเป็นกระแสที่มาแรงมากในช่วงนี้ ในบทความนี้ทีมงานได้ยกตัวอย่างมาเพียง 9 บริษัทเท่านั้น แต่ในความจริงแล้วยังมีอีกหลายบริษัทมากที่ได้รับประโยชน์จากการมาของรถไฟฟ้า ดังนั้นนักลงทุนควรศึกษาข้อมูล และอัปเดตข่าวสารอย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ในการลงทุนของทุกคน