ภาษีเป็นเรื่องหนักใจของนักลงทุนแทบจะทุกประเภท แต่ที่เห็นว่าจะหนักใจมากที่สุดจะเป็นนักลงทุนที่เน้นลงทุนหุ้นปันผลเป็นหลัก เพราะโดนหักภาษีถึง 10% จากเงินปันผลที่ได้รับ อย่างไรก็ตามบทความในวันนี้จะมาบอกทุกคนว่าจริงๆ แล้วมีอยู่หลายกรณีเหมือนกันเราอาจไม่ต้องจ่ายภาษีเงินปันผลหรือสามารถขอคืนภาษีได้ด้วย
ก่อนอื่นไปทำความเข้าใจกันก่อนว่าภาษีเงินปันผลมีที่มาที่ไปอย่างไร?
หลักการคิดภาษีเงินปันผล
กรมสรรพากรมีวิธีในการคิดภาษีเงินปันผล 2 แบบด้วยกันคือ
- เอารายได้เงินปันผลมาคิดรวมกับเงินได้บุคคลธรรมดาไปเลย พูดง่ายๆ คือเอามารวมเป็นรายได้เหมือนเงินเดือน แล้วคำนวณภาษีจากฐานเงินรวมก้อนนั้น แต่วิธีนี้มีความยุ่งยากมากๆ เพราะ เงินปันผลเป็นเงินที่ปันมาจากกำไรสุทธิ ดังนั้นจึงมีการหักภาษีนิติบุคคลไปแล้ว ตัวเลขที่จะนำมาคำนวณภาษีต้องเป็นกำไรก่อนหักภาษี เพราะเงินปันผลที่เราได้มามีส่วนที่ถูกหักภาษีไปแล้ว (ตอนเป็นกำไรก่อนหักภาษีไง) ก่อนที่จะมาเป็นรายรับของนักลงทุน และนำมาคำนวณภาษีในฐานะเงินได้บุคคลธรรมดา
ประเด็นความยุ่งยากอีกประเด็นของการเอามารวมคำนวณกับเงินได้บุคคลธรรมดาคือ แต่ละบริษัทในตลาดหลักทรัพย์จ่ายภาษีไม่เท่ากัน หรือบางบริษัทมีสิทธิพิเศษทางภาษีก็ไม่จ่ายภาษีก็มี ทำให้วิธีที่ 1 ยุ่งยากถ้าไม่ได้เป็นนักลงทุนรายใหญ่จริงๆ ทางทีมงานขอแนะนำให้หลีกเลี่ยง และมาเลือกหนทางที่ 2
- เป็นการหักแบบเหมาจ่าย คือ ไม่สนว่าเอามารวมกับเงินได้บุคคลธรรมดาแล้วจะเสียเท่าไหร่ แต่หักเหมาไปเลย 10% ไม่ต้องยุ่งยาก ซึ่งจะถูกหักไว้อยู่แล้วอัตโนมัติตั้งแต่ตอนที่เราได้ปันผลมา อันนี้เรียกว่า Final Tax ครับ ข้อดี คือ ง่าย แต่ข้อเสีย คือ ไม่สามารถนำมาคำนวณรวมกับเงินได้บุคคลธรรมดาเพื่อขอคืนภาษีได้
วิธีการดูข้อมูลการหักภาษี นักลงทุนสามารถเข้าไปในเว็บไซต์ Investor Portal (https://www.set.or.th/tsd/th/investorportal/investorportal.html) ของตลาดหลักทรัพย์เพื่อเช็คภาษีเงินปันผลของเราได้ว่ามีเท่าไหร่ และจ่ายไปเท่าไหร่แล้ว มีโอกาสขอคืนได้ไหม
เลือกวิธีคิดรวมเงินปันผลกับเงินได้บุคคลธรรมดา หรือวิธี Final Tax ดีกว่ากัน?
ถ้าเพื่อนๆ เป็นคนที่ต้องจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอัตรามากกว่า 28% ขึ้นไป ควรจะเลือกวิธี Final Tax ที่อัตราที่คิดเป็น 28% เพราะถ้าเราใช้วิธี Final Tax นั่นหมายความว่าเราต้องจ่ายภาษีจากปันผลที่ได้ 10% และโดนภาษีนิติบุคคลด้วยอีก 20% ซึ่งมาจากการที่บริษัทที่จ่ายปันผลให้เรา จ่ายภาษีเข้ารัฐไปแล้ว 20% ตามอัตราภาษีนิติบุคคลแล้วนั่นเอง
ดังนั้น ถ้าเงินปันผลที่ได้คือ 80 บาท จะโดนหักภาษี 10% คือ 8 บาท แต่เงินได้ที่ต้องเอาไปคำนวณจะเป็นเงินได้ก่อนหักภาษีคือ 100 บาท ดังนั้นถ้าเราไม่ไปขอคืนนั่นหมายความว่าเราจ่ายภาษี 20 บาท (ภาษีนิติบุคคล) + 8 บาท (ภาษีเงินปันผล) = 28 บาทจากเงินได้ 100 บาท หรือ 28% นั่นเอง
ถ้าเราเป็นคนที่ต้องจ่ายภาษีในอัตรา 30% หรือมากกว่า มีเงินได้สุทธิ 2 ล้านบาทขึ้นไป การใช้วิธี Final Tax จะง่าย และจ่ายภาษีถูกกว่า การนำมารวมกับเงินได้บุคคลธรรมดา และต้องจ่ายภาษีที่อัตรา 30% ร่วมกับเงินได้ของเรา
ในขณะที่อัตราภาษีของเราต่ำกว่า 25% การเลือกเอามารวมกับรายได้บุคคลธรรมดาจะคุ้มค่า และมีโอกาสขอคืนภาษีได้มากกว่า
ใครที่ควรขอภาษีคืนและต้องทำยังไง?
สมมุติว่าเพื่อนๆ ไม่ได้มีรายได้อื่นๆ เลย หรือมีรายได้แต่ก็อยากได้ภาษีที่จ่ายไปคืน เพราะอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอาจจะต่ำกว่า 28% ทำให้มีโอกาสขอคืนได้ สิ่งที่ต้องทำคือ
- ตอนเปิดบัญชีหุ้นในเลือกรับปันผลด้วยวิธีแรก
- เข้าเว็บไซต์ของ Investor Portal เพื่อคำนวณเครดิตภาษีปลายปี
- ยื่นภาษีตามปกติ โดยปันผลจะเป็น รายได้ 40(4)(ข)
- รอรับเงินภาษีคืนได้เลย
ยกตัวอย่างสำหรับนักลงทุนที่เป็นนักลงทุนเต็มเวลา และไม่ได้มีรายได้อื่นๆ
ได้เงินปันผลมา 144,000 บาท เงินก้อนนี้จะถูกหักภาษีไปแล้ว 20% คือ 40,000 บาท และโดนหักภาษี ณ ที่จ่ายอีก 10% หรือ 16,000 บาท รวมเป็น 56,000 บาท จากกำไรก่อนหักภาษีของหุ้นที่จ่ายปันผลให้เราที่ 200,000 บาท ซึ่งเราจะใช้ 200,000 บาทที่เราคิดได้นี่แหละมาเป็นเงินได้พึงประเมิน
นำ 200,000 บาท มาหักค่าลดหย่อนส่วนตัวที่ 60,000 บาท จะเหลือรายได้จริงๆ 140,000 บาทเท่านั้น ซึ่งถ้ารายได้ 140,000 บาทจะได้รับการยกเว้นภาษี
นั่นหมายความว่าเราสามารถขอคืนภาษี 56,000 บาทที่ถูกหักไปก่อนหน้านี้ได้ทั้งจำนวน
สิ่งที่ต้องระวังถ้าจะไม่ใช้การคำนวณภาษีแบบ Final Tax
เพราะในชีวิตจริงเราไม่ได้มีแต่การลงทุนในหุ้นเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการลงทุนอื่นๆ ด้วยเช่นกองทุนรวม ซึ่งการคำนวณภาษีเงินปันผลของทั้งสองอย่างนี้ต้องใช้วิธีเดียวกัน ไม่สามารถแยกกันได้ เช่น ถ้าเอาปันผลของหุ้นมาคำนวณเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ใช้ของกองทุนเป็นแบบ Final Tax หัก 10% แล้วจบ แบบนี้ไม่ได้ ต้องใช้วิธีเหมือนๆ กัน
ตอนนี้ก็เริ่มเข้าช่วงยื่นภาษีกันแล้วหวังว่าปีนี้หลายๆ คนจะสามารถยื่นภาษีเงินปันผลได้ถูกต้อง และจ่ายภาษีในอัตราที่เหมาะสมแบบที่ต้องการ โดยไม่ถูกเรียกไปจิบน้ำชาที่กรมสรรพากรนะครับ