มือใหม่เล่นหุ้น เริ่มต้นยังไงดี? สรุปครบจบที่เดียว

icon 2 ก.พ. 65 icon 10,908
มือใหม่เล่นหุ้น เริ่มต้นยังไงดี? สรุปครบจบที่เดียว
ในปี 2021 ที่ผ่านมา เป็นหนึ่งในปีที่ผลตอบแทนของการลงทุนค่อนข้างดี แม้จะมีความผันผวนอยู่บ้างแต่ถ้าดูในภาพใหญ่ดัชนี SET Index ยังให้ผลตอบแทนจากต้นปีสูงถึง 13% ชนะเงินเฟ้อได้ และให้ผลตอบแทนมากกว่าฝากเงินธนาคารเยอะมาก
 
ปีนี้จึงมีเพื่อนๆ มากมายที่อยากเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น แต่หลายๆ คนก็เจอปัญหาว่าไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง บทความนี้มีคำตอบให้มือใหม่ทุกคนครับ
 
สิ่งที่มือใหม่ต้องทำมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
  1. เตรียมเอกสารเพื่อเปิดบัญชี 
  2. แนวทางการเก็งกำไร / ลงทุน ที่ตนเองถนัด
  3. วางแผนเงินที่จะลงทุนให้ดี
  4. หาข้อมูลเตรียมซื้อหุ้นตัวแรก
  5. ติดตามผลงาน และปรับปรุงการเล่นหุ้นของตนเอง
แต่ละขั้นตอนมีรายละเอียดอย่างไรบ้างมาดูไปพร้อมๆ กันครับ

1. เปิดบัญชี เตรียมเอกสาร

มีทั้งเปิดบัญชีออนไลน์ และไปที่สาขาครับ ในบทความนี้จะเน้นไปที่การเปิดบัญชีออนไลน์นะครับ เพราะสะดวกกว่ามาก และทำได้ทุกคน โดยสิ่งที่ต้องเตรียมคือ สำเนาบัตรประชาชน และหน้าแรกของสมุดบัญชีธนาคารเท่านั้นครับ แต่จะมีบางทีที่ต้องการเอกสารเพิ่มเติมก็จะมี Statement ย้อนหลัง 3 เดือน และสำเนาทะเบียนบ้าน ขั้นตอนนี้ไม่ยาก ที่ยากคือการตัดสินใจว่าจะเปิดบัญชีกับโบรกเกอร์ที่ไหนดี
 
เปิดบัญชีกับโบรกเกอร์ไหนดี? วิธีการเลือกคือ ต้องถามตนเองก่อนว่าต้องการอะไร เพราะโบรกเกอร์แต่ละที่มีจุดเด่นที่ไม่เหมือนกัน โดยจุดเด่นของโบรกเกอร์หลักๆ จะมีอยู่ 2-3 เรื่องครับ คือ
  1. ค่าธรรมเนียมการเทรดต่ำ
  2. มีบทวิเคราะห์ดี
  3. สะดวกสบายมีบริการอื่นๆ หรือมีเทรดหุ้นต่างประเทศได้ด้วย
  4. เรื่องการได้สิทธิจองหุ้น IPO ของรายย่อย 
ถ้าเลือกโบรกเกอร์ที่ชอบได้แล้วก็ลุยเปิดบัญชีได้เลยครับ แต่...อย่าลืมว่าการเปิดบัญชีเนี่ยเราสามารถเปิดได้หลายที่นะครับ ดังนั้นอาจจะเลือกเปิดไว้ 2-3 ที่ ที่มีจุดเด่นที่แตกต่างกันเอาไว้ใช้งานก็สะดวกดีครับ

2. เลือกแนวทางของตนเอง

การเล่นหุ้นของแต่ละคนมีสไตล์ที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นการเลือกวิธีที่เข้ากับตัวเรา เป็นวิธีที่เราทำแล้วมีความสุขจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งแนวทางการเล่นหุ้นนั้นจะมีหลักการคร่าวๆประมาณ 4 แนวทางด้วยกัน
  1. สายเก็งกำไร - คาดหวังผลตอบแทนเร็ว สายนี้เป็นสายที่คนในตลาดประมาณ 90% เลือกแนวทางนี้ เป็นการเก็งกำไร ซื้อหุ้นเพื่อคาดหวังที่จะขายหุ้นในราคาที่สูงกว่าต้นทุนที่ซื้อมา ระยะเวลาการเล่นหุ้นมักจะอยู่ที่ 1 อาทิตย์ จนไปถึงประมาณ 3 เดือน และมีบางส่วนที่เน้นเล่นจบในวันเราเรียกว่า Day Trade

    ถ้าต้องการเป็นนักเก็งกำไรในตลาดหุ้นสิ่งที่ต้องทำคือศึกษา Cycle ของราคาหุ้น และปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับหุ้น รวมไปถึงการศึกษากราฟเทคนิคอลเพื่อวิเคราะห์แนวโน้ม และจิตวิทยาของราคาหุ้นเป็นหลัก
     
  2. สายลงทุนระยะยาว - คาดหวังผลตอบแทนสูง ถือหุ้นระยะยาวตั้งแต่ 1 ปี จนบางคนถือ 10-20 ปีเลยก็มี ถ้าการเก็งกำไรคือการเทรดบ่อยๆ ได้กำไรไม่มาก การลงทุนระยะยาวคือการเทรดไม่มาก แต่กินกำไรคำโตๆ ได้ทีละเยอะๆ

    ถ้าอยากใช้แนวทางการลงทุนระยะยาว ต้องดูคุณภาพของหุ้นเป็น อ่านงบการเงินได้ และเข้าใจการวิเคราะห์ Business Model เพื่อประมาณการกำไรในอนาคตของหุ้น
     
  3. สายปันผล - เน้นมีเงินปันผลใช้อย่างต่อเนื่อง แนวทางนี้เป็นแนวทางที่สบายกว่า คือซื้อหุ้นที่ปันผลสูง คุณภาพธุรกิจดี และรอรับปันผล แนวทางนี้ต้องมีความรู้แบบนักลงทุน รู้เรื่องงบการเงินบ้าง แต่ไม่ต้องรู้มากเท่าคนที่อยากเป็นนักลงทุนระยะยาวครับ
     
  4. สาย DCA (Dollar Cost-Averaging) ออมไปยาวๆ - คาดหวังผลตอบแทนในรูปแบบการออม ซื้อหุ้นอย่างต่อเนื่องทุกๆ เดือนหรือทุกๆ ปีในสัดส่วนที่เท่าๆ กัน โดยไม่กะจังหวะการเทรด ตลาดหุ้นขึ้นก็ซื้อ ลงก็ซื้อ ให้ผลตอบแทนทบต้นไปเรื่อยๆ แนวทางนี้อิงอยู่บนทฤษฎีว่า ในระยะยาวถ้าลงทุนหุ้นที่มีคุณภาพดี ราคาหุ้นมีโอกาสขึ้นสูงมาก โอกาสขาดทุนต่ำ เป็นแนวทางที่สบายที่สุดในทั้ง 4 แนวทาง โดยต้องมีความรู้เรื่องหุ้นบ้างว่าตัวไหนดี ไม่เจ๊งแน่ๆ (ถ้าไป DCA หุ้นแย่ๆ ก็มีโอกาสพังได้เหมือนกัน)
เมื่อรู้แนวทางการลงทุนที่อยากจะเป็นแล้วต่อมาคือการวางแผนเงินลงทุนว่าจะเอาเงินที่มีอยู่มาเล่นหุ้นเท่าไหร่ดี เอามาเล่นหมดเลยจะดีไหม?

3. วางแผนเงินลงทุน

หลายคนวางแผนการลงทุนมาดี มาพลาดตรงการวางแผนเงินลงทุน คือมีเงินทั้งหมดเท่าไหร่ เอาไปลงทุนหมดเลยในตอนแรก โดยที่ยังไม่ได้ศึกษาข้อมูล ถ้าโชคดีตลาดเป็นขาขึ้นก็จะกำไร แต่ถ้าตลาดเป็นขาลงก็จะขาดทุนหนัก ดังนั้นการเริ่มต้นลงทุนควรเป็นขั้นเป็นตอน ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป
 
เริ่มต้นจากการเทรดทีละน้อยก่อน ใช้เงิน 10%-30% ของเงินทุนที่ตั้งใจไว้ ระหว่างทางก็ศึกษาข้อมูลหุ้นไปด้วย หลังจากนั้น 3-6 เดือนค่อยเริ่มเทรดมากขึ้นตามความรู้ที่สูงขึ้น โดยอาจใช้เงินในการเทรด 50-100% ของทั้งหมดที่มีได้เลย
 
อีกส่วนหนึ่งที่ต้องคอยถามตนเองคือ เงินที่เอามาลงทุนเทรดนี้เป็นเงินเย็นใช่หรือไม่? เพราะการลงทุนมีความเสี่ยง และขาดทุนได้ทุกเมื่อ ถ้าเงินที่เอามาเทรดไม่ใช่เงินเย็น ต้องนำมาใช้ในระยะเวลาอันใกล้ อาจทำให้การลงทุนตกอยู่ในความเสี่ยงได้  โดยเงินเย็นคือเงินที่ไม่ต้องนำมาใช้จ่ายในระยะเวลา 1-3 ปีขึ้นไป 

4. ศึกษาหาข้อมูล

เมื่อทำตามขั้นตอนครบถ้วนแล้ว ถัดมาคือการเริ่มหาข้อมูล โดยเบื้องต้นสามารถหาข้อมูลได้ตามเว็บไซต์ตามนี้เลยครับ
  • เว็บ Set.or.th - ข้อมูลงบการเงิน ราคาหุ้น การซื้อขายของต่างชาติ
  • เว็บ Settrade - ข้อมูลหุ้น และบทวิเคราะห์
  • เว็บ Opportunity Day (Set.or.th/oppday) - การนำเสนอของผู้บริหารแต่ละบริษัท เหมาะกับการเข้าไปหาข้อมูลสำหรับหุ้นที่เราสนใจอยู่
  • เว็บไซต์ Investor Relation ของบริษัท - ใช้ในการดาวน์โหลดข้อมูลต่างๆของบริษัท
  • Facebook และ Youtube ของบริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ - ใช้ในการอัพเดทข่าวสารเกี่ยวกับตลาดหุ้น
  • บทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ - ใช้ในการหาข้อมูลเชิงลึกสำหรับหุ้นหรืออุตสาหกรรมที่เรากำลังสนใจ

5. ติดตามผลงาน และปรับปรุงการเล่นหุ้นของตนเอง

การเล่นหุ้นที่ดี ไม่ว่าจะเป็นแนวทางไหนคือการเล่นหุ้นที่มีการพัฒนาอยู่เสมอ ดังนั้นหลังจากที่ซื้อหุ้นไปแล้ว ควรทำไดอารี่การเทรด หรือจดบันทึกไว้ว่า เหตุผลที่ซื้อหุ้นตัวนี้เพราะอะไร คาดหวังอะไร และติดตามผลว่าการซื้อครั้งนั้นขาดทุนหรือกำไร ถ้าขาดทุนเพราะสาเหตุอะไร และนำสิ่งเหล่านั้นมาปรับปรุงแก้ไขการเทรดหุ้นของตนเอง

การติดตามผลงานของตนเองเป็นสิ่งที่คนไม่ค่อยทำกันแต่กลับเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะการเล่นหุ้นที่จะประสบความสำเร็จได้นั้น จะต้องเล่นจริงเจ็บจริง และแก้ไขจริง ความสำเร็จที่แท้จริงถึงจะตามมา
แท็กที่เกี่ยวข้อง มือใหม่เล่นหุ้น ลงทุนหุ้น
Economy Guru
เขียนโดย เช็คราคา.คอม Economy Guru

พูดคุยกับกูรูได้ที่




เว็บไซต์นี้มีการเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์ และช่วยให้เราปรับปรุง และนำเสนอเนื้อหาตรงตามความสนใจของท่าน ท่านสามารถดู Privacy Notice และ ดู Cookies Policy ของเราได้ ที่นี่ ทั้งนี้ ท่านจะยินยอมให้เราเก็บคุกกี้ทั้งหมด หรือให้เก็บแค่บางส่วนโดยการคลิกเลือก ตั้งค่า

ท่านสามารถเลือกให้ความยินยอมการเก็บคุกกี้เป็นเรื่องๆ ได้ที่นี่

เมื่อคุณเข้าชมเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่น checkraka เราอาจจัดเก็บ หรือดึงข้อมูลจากเบราว์เซอร์ของคุณในรูปแบบของคุกกี้ และเทคโนโลยีอื่นที่คล้ายคลึง เช่น tag และ pixel (เรียกรวมกันว่า “คุกกี้”) ซึ่งมักเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้โดยตรง แต่ช่วยให้คุณใช้งานเว็บไซต์ได้ปลอดภัย และตรงตามความต้องการมากขึ้น คุณอาจไม่ยินยอมให้เราเก็บคุกกี้บางประเภทได้ โดยการคลิกตามหัวข้อข้างล่างนี้

ประเภทคุกกี้
อ่านเพิ่มเติม ที่นี่
ยินยอม / ไม่ยินยอม
คุกกี้ที่จำเป็นต้องมีเสมอ
(Strictly Necessary)
คุกกี้สำหรับการใช้งานเว็บไซต์
(Functionality)
คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและวิเคราะห์
(Performance & Analytics)
คุกกี้เพื่อการตลาด
(Marketing)