จะลงทุนกองทุนรวมต่างประเทศควรพิจารณาอะไรบ้าง?
ต้องยอมรับว่าช่วงนี้ข่าวคราวเศรษฐกิจการเมืองของโลกนั้น ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน หรือประเทศเกิดใหม่ (emerging markets) อย่างอินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เป็นต้น ที่กำลังอยู่ในช่วงขยายตัว ซึ่งถ้าได้เกาะขบวนการลงทุนทันก็แน่นอนว่าจะได้รับอานิสงส์ของการเติบโตไม่มากก็น้อย
ถ้าคิดจะลงทุนต้องดูอะไรบ้าง?
การลงทุนในต่างประเทศสะดวกและง่ายสุด คือ ลงทุนผ่านกองทุนรวม เรื่องของเงินไม่มีใครไวเกินกว่าสถาบันการเงินและบรรดา Hedge Fund ต่างๆ แน่นอน ซึ่งตอนนี้ก็มีหลายกองทุนที่ไปลงทุนในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเกาหลี ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งพอมีให้เลือกหลายกองทุน แล้วจะมีแนวทางเลือกแบบไหนที่เหมาะสม เราควรจะต้องศึกษาสภาวะเศรษฐกิจโลกเป็นข้อมูลไว้สักนิด เพื่อนำมาประกอบการพิจารณา ส่วนหัวข้อเหล่านี้จะช่วยให้ตัดสินใจลงทุนได้ง่ายขึ้น
1. นโยบายการลงทุน
แต่ละกองทุนจะระบุนโยบายการลงทุนว่าจะไปลงทุนกับทรัพย์สินประเภทไหน สำหรับกองทุนรวมที่ลงทุนต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะลงทุนผ่านกองทุนรวมของประเทศนั้นๆ อีกทีหนึ่ง ซึ่งก็จะดูได้ว่าเป็นประเทศไหน มีกลยุทธ์แบบ Active ที่เน้นการลงทุนให้ได้ผลตอบแทนมากกว่าตัวชี้วัด (benchmark) หรือแบบ Passive ที่เน้นการลงทุนให้ได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับตัวชี้วัด ซึ่งก็ต้องดูต่อในรายละเอียดว่าตัวชี้วัดนั้นเป็นอะไร นอกจากนี้ควรดูด้วยว่ามีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Exchange Rate Risk) ด้วยหรือไม่
2. มูลค่า NAV ของกองทุนเทียบกับอายุกองทุน
กองทุนเมื่อจดทะเบียนกับ กลต. แล้วจะมี NAV เริ่มต้นที่ 10 บาทต่อหน่วยลงทุน ซึ่งราคาจะขึ้นหรือลงขึ้นกับผลการดำเนินของกองทุนเป็นหลัก ถ้ากองทุนตั้งมานานแล้วและมีค่า NAV มากกว่า 10 บาทหลายเท่า แสดงว่ากองทุนนั้นมีผลการดำเนินงานที่ดี น่าสนใจ หรือถ้ามี NAV ไม่มาก ก็อาจจะต้องดูต่อไปว่าผลการดำเนินงานที่ผ่านมาเป็นแบบไหน อยู่ในช่วงขาขึ้นหรือขาลง สาเหตุอีกอย่างที่ทำให้ NAV ไม่สูงอาจจะมาจากการจ่ายปันผล ซึ่งก็คล้ายๆ กับหุ้นในตลาดหลักทรัพย์นั่นล่ะครับ พอจ่ายปันผลปั๊ป ราคาตกปุ๊ป
3. ผลตอบแทนและความผันผวน
เมื่อเลือกกองทุนรวมที่เราสนใจได้ ก็ต้องมาดูที่ผลตอบแทนที่ผ่านมา ซึ่งถ้าเป็นกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในทรัพย์สินประเภทเดียวกัน ความเสี่ยงของแต่ละกองไม่ต่างกันมาก แบบนี้จะสามารถเปรียบเทียบได้ง่าย อยากได้ปันผลหรืออยากได้ราคาขายสูงกว่าราคาซื้อก็สามารถวิเคราะห์จัดการได้ แต่ถ้าเป็นกองทุนรวมที่แตกต่างกันมากทั้งนโยบาย ทั้งผลตอบแทน แต่เราคิดว่าน่าสนใจ เราสามารถใช้ Sharp Ratio มาช่วยได้ Sharp Ratio คือการนำผลตอบแทนหารด้วยความผันผวน (Return/ SD) ค่าที่ได้จะบอกถึงผลตอบแทนที่ปรับด้วยความเสี่ยง เราสามารถใช้ค่านี้เปรียบเทียบกันระหว่างกองทุนอื่นๆ ที่เราสนใจ โดยกองทุนที่น่าพิจารณาคือ กองทุนที่ให้ค่า Sharp Ratio สูงกว่ากองทุนอื่น
4. ค่าใช้จ่ายรวมในการถือกองทุนรวม
ในกองทุนรวมจะมีค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากทรัพย์สินของกองทุนรวม ซึ่งจะเป็นค่าบริหารจัดการ (management fee) และค่าธรรมเนียมอื่นๆ ตรงนี้ไม่ใช่ค่าธรรมเนียมในการซื้อขาย แต่รวมอยู่ในตอนซื้อและขายหน่วยลงทุนเรียบร้อยแล้ว ค่าธรรมเนียมเหล่านี้คิดเป็นรายปี เราควรพิจารณาว่ากองทุนเรียกเก็บค่าธรรมเนียมรวมในส่วนนี้เป็นเท่าไหร่ เพราะกำไรส่วนหนึ่งของกองทุนที่ได้จะต้องมาจ่ายค่าธรรมเนียมนี้
5. ระยะเวลาที่จะได้เงิน
ต้องไม่ลืมว่าเวลาซื้อกองทุนรวมเกือบทั้งหมดนั้นทำได้ทันใจ แต่เวลาขายต้องรอหน่อย เพราะแต่ละกองทุน มีเงื่อนไขในการชำระเงินค่าขายให้ผู้ถือหน่วยลงทุนไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นกองทุนรวมในประเทศก็จะได้เร็ว รอแค่วันสองวันก็ได้แล้ว ถ้าเป็นกองทุนรวมต่างประเทศอาจจะต้องยาวขึ้น ซึ่งระยะเวลาที่ให้รอคือ วันทำการ วันจันทร์ถึงศุกร์ ถ้าติดเสาร์ อาทิตย์ ก็ต้องยกยอดไปสัปดาห์หน้า ตรงนี้ต้องเข้าใจให้ดีจะได้วางแผนการใช้เงินได้ถูกต้องเหมาะสม
6. ระดับความเสี่ยง
อันนี้ไม่ได้หมายถึงแค่ของกองทุนอย่างเดียว แต่รวมถึงความเสี่ยงของตัวผู้ลงทุนเองด้วย ควรจะเลือกกองทุนที่เหมาะกับความเสี่ยงของตัวเอง หรือถ้ากองทุนมีความเสี่ยงสูงกว่า ก็ต้องรับรู้และยอมรับ เพราะนั่นคือการรับผิดชอบต่อการตัดสินใจตัวเอง อยากให้มองว่าการลงทุนในกองทุนรวมเป็นการลงทุนระยะยาว ซึ่งจะมีความผันผวนมากในช่วงเริ่มต้นลงทุน แต่จะค่อยๆ ดีขึ้นและเห็นผลชัดเจนขึ้น เมื่อระยะเวลายาวนานขึ้น
หัวข้อที่กล่าวมา เป็นข้อพื้นฐานเผื่อคนที่สนใจจะเริ่มลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศได้พิจารณา จะได้ไม่งุนงง เพราะรายละเอียดแต่ละกองทุนนั้นเยอะจริงๆ เมื่อแยกเป็นข้อแบบนี้จะช่วยให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น การลงทุนในกองทุนรวมอาจจะดูยุ่งยากวุ่นวายในตอนแรก แต่ถ้าได้ศึกษาให้ดีแล้ว นับเป็นทางเลือกการลงทุนที่น่าสนใจทีเดียวครับ