ทองสีม่วง: นวัตกรรมของวงการเครื่องประดับทอง

icon icon 8,089
ทองสีม่วง: นวัตกรรมของวงการเครื่องประดับทอง

ทองสีม่วง: นวัตกรรมของวงการเครื่องประดับทอง

หากเอ่ยถึงทองคำ หลายคนคงนึกถึงโลหะสีเหลืองทอง มีความวาว อ่อนนุ่ม ทนต่อความร้อนและการกัดกร่อนได้ดี จึงถูกนำไปใช้ประโยชน์ด้านต่าง ๆ ทั้งด้านทันตกรรม และอุตสาหกรรม เช่น การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น นอกจากนี้ ทองคำยังเป็นที่ยอมรับในระดับสากลว่าเป็นโลหะที่มีค่าในตัวเอง จึงถูกใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเงินตรา เป็นทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ ตลอดจนนำไปใช้ในการผลิตเครื่องประดับซึ่งเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทุกยุคทุกสมัยจวบจนปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ทราบหรือไม่ว่าอันที่จริงทองคำไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เพียงแค่สีเหลือง (Yellow Gold) เท่านั้น ยังมีสีขาว (White Gold) สีชมพู (Pink Gold) รวมถึงสีอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสีฟ้า เขียว ดำ และม่วง เป็นต้น โดยสีต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้น มาจากการผสมธาตุหรือโลหะอื่นลงไปในทองคำด้วยสัดส่วนที่แตกต่างกัน ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดสีต่างๆ แล้ว ยังเปลี่ยนสมบัติทางกายภาพของทองคำให้มีความแข็งเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ทั้งนี้ หากย้อนไปเมื่อราว 2-3 ปีที่ผ่านมา ทองคำประเภทหนึ่งที่มีการกล่าวถึงกันค่อนข้างมากคือ "ทองสีม่วง" (Purple Gold) ซึ่งเป็นนวัตกรรมและได้สร้างความแปลกใหม่ที่ช่วยแต่งแต้มสีสันให้แก่วงการเครื่องประดับทองได้เป็นอย่างดีในระยะหนึ่ง แต่เพราะเหตุใดกระแสทองสีม่วงจึงค่อยๆ เลือนหายออกไปจากแวดวงเครื่องประดับไทย

มาถึงจุดนี้หลายคนคงสงสัยว่า ทองสีม่วง คืออะไร ทองสีม่วง (Purple Gold) ไม่ใช่ทองที่ถูกชุบด้วยสีม่วงบริเวณผิวแต่เป็นโลหะผสมระหว่างทองคำและอะลูมิเนียมในสัดส่วนประมาณร้อยละ 75:25 จึงมีค่าความบริสุทธิ์ของทองคำอยู่ที่ราว 18 กะรัต (หรือไม่ต่ำกว่า 750 ส่วน ต่อ 1,000 ส่วน) ทั้งนี้ การได้มาซึ่งทองสีม่วงถือเป็นการพลิกหน้าประวัติศาสตร์เครื่องประดับทองคำในตลาดโลก ซึ่งได้รับการกล่าวถึงสีสันที่สวยงาม แปลกใหม่ เป็นเอกลักษณ์ อีกทั้งยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเครื่องประดับทอง ตลอดจนเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคอีกด้วย โดยทองสีม่วงที่ใช้ในการผลิตเครื่องประดับส่วนใหญ่จะใช้เพื่อการตกแต่งร่วมกับวัสดุชนิดอื่น เช่น ทอง ทองขาว เพชร และอัญมณีชนิดต่างๆ ปัจจุบันประเทศที่สามารถผลิตทองสีม่วงได้เป็นผลสำเร็จมีเพียง 6 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ อิตาลี แอฟริกาใต้ ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ และไทย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทองสีม่วงจะมีสีสันสวยงาม แต่เครื่องประดับทองสีม่วงก็มีระดับราคาที่สูงกว่าเครื่องประดับทองสีเหลือง สีขาว และสีชมพู ด้วยเหตุผลด้านต้นทุนการผลิตที่สูงกว่า กอปรกับขั้นตอนการผลิตที่ค่อนข้างยุ่งยากซับซ้อนและต้องใช้ความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ เพราะแม้ว่าอะลูมิเนียมจะทำให้เกิดสีม่วงในทองคำ แต่ในขณะเดียวกันก็ส่งผลให้ชิ้นงานเครื่องประดับทองมีความเปราะและแตกหักง่าย ยากต่อการขึ้นรูป อีกทั้งการนำชิ้นงานซึ่งไม่สมบูรณ์จากกระบวนการผลิตมาหลอมเพื่อนำกลับมาผลิตใหม่นั้นมีต้นทุนค่อนข้างสูง จึงอาจส่งผลให้การผลิตและการบริโภคเครื่องประดับทองสีม่วงยังอยู่ในวงจำกัด
ดร.ขจีพร วงศ์ปรีดี อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป สาขาวัสดุศาสตร์ (อัญมณีและเครื่องประดับ) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งเป็นผู้คิดค้นการผลิตทองคำสีม่วงได้เป็นผลสำเร็จคนแรกของไทย กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างการวิจัยและพัฒนาเพื่อปรับปรุงสมบัติทางกายภาพของทองสีม่วงให้เหมาะสมกับการผลิตเครื่องประดับ ซึ่งความคืบหน้าล่าสุดคือ สามารถลดความเปราะและเพิ่มความอ่อนนุ่มให้แก่ทองสีม่วงได้มากขึ้น และมีแผนที่จะต่อยอดไปสู่ภาคการผลิตในอุตสาหกรรมเครื่องประดับในอนาคต

ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าวจะมีประโยชน์อย่างยิ่งต่ออุตสาหกรรม การผลิตเครื่องประดับทองของไทย แต่การจะพัฒนางานวิจัยนี้จากกระบวนการที่เกิดในห้องปฏิบัติการไปสู่โรงงานผลิตเครื่องประดับ จนกระทั่งได้สินค้าออกสู่ตลาด ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งคณะผู้วิจัย บริษัทผู้ผลิตเครื่องประดับ รวมถึงหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ การให้ความรู้แก่ผู้บริโภคจำเป็นอย่างยิ่งต่อการผลักดันให้เครื่องประดับทองสีม่วงเป็นที่รู้จักจนกลายเป็นสินค้าซึ่งเป็นที่ต้องการในหมู่ผู้บริโภคเครื่องประดับทองของไทย
จากทฤษฎีของ Michael E. Porter ศาสตราจารย์ด้านการบริหารกลยุทธ์ แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งได้กล่าวไว้ในหนังสือเรื่อง "Competitive Advantage: Creating and Sustaining Superior Performance" ว่าการผลิตสินค้าที่มีความแตกต่างจากของคู่แข่ง (Differentiation Strategy) ถือเป็นกลยุทธ์การสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน (Competitive Advantage) ทั้งนี้เครื่องประดับทองสีม่วงถือเป็นสินค้าที่ค่อนข้างใหม่และแตกต่างจากเครื่องประดับทองที่พบเห็นโดยทั่วไปในตลาดโลก และเมื่อวิเคราะห์การแข่งขันภายในอุตสาหกรรม ตามทฤษฎี Five Forces Model พบว่าแรงกดดันภายในอุตสาหกรรมการผลิตทองสีม่วงอยู่ในเกณฑ์ต่ำ อันเนื่องมาจากการมีจำนวนคู่แข่งขันน้อยราย ดังนั้น หากประเทศไทยมุ่งที่จะก้าวไปข้างหน้าสู่การเป็นหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกเครื่องประดับทองสีม่วงที่สำคัญในตลาดโลก ภายใต้การประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จึงไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินเอื้อม


ขอบคุณภาพจาก : www.goldtraders.or.th และบทความจากวารสารทองคำฉบับที่ 33 เดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2555
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Economy Guru
เขียนโดย เช็คราคา.คอม Economy Guru

พูดคุยกับกูรูได้ที่




เว็บไซต์นี้มีการเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์ และช่วยให้เราปรับปรุง และนำเสนอเนื้อหาตรงตามความสนใจของท่าน ท่านสามารถดู Privacy Notice และ ดู Cookies Policy ของเราได้ ที่นี่ ทั้งนี้ ท่านจะยินยอมให้เราเก็บคุกกี้ทั้งหมด หรือให้เก็บแค่บางส่วนโดยการคลิกเลือก ตั้งค่า

ท่านสามารถเลือกให้ความยินยอมการเก็บคุกกี้เป็นเรื่องๆ ได้ที่นี่

เมื่อคุณเข้าชมเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่น checkraka เราอาจจัดเก็บ หรือดึงข้อมูลจากเบราว์เซอร์ของคุณในรูปแบบของคุกกี้ และเทคโนโลยีอื่นที่คล้ายคลึง เช่น tag และ pixel (เรียกรวมกันว่า “คุกกี้”) ซึ่งมักเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้โดยตรง แต่ช่วยให้คุณใช้งานเว็บไซต์ได้ปลอดภัย และตรงตามความต้องการมากขึ้น คุณอาจไม่ยินยอมให้เราเก็บคุกกี้บางประเภทได้ โดยการคลิกตามหัวข้อข้างล่างนี้

ประเภทคุกกี้
อ่านเพิ่มเติม ที่นี่
ยินยอม / ไม่ยินยอม
คุกกี้ที่จำเป็นต้องมีเสมอ
(Strictly Necessary)
คุกกี้สำหรับการใช้งานเว็บไซต์
(Functionality)
คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและวิเคราะห์
(Performance & Analytics)
คุกกี้เพื่อการตลาด
(Marketing)