ANAN เตรียมยื่นอุทธรณ์คดี แอชตัน อโศก ใน 30 วัน พร้อมขอ ส.อสังหาฯร่วมหาทางออก
นายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ (ANAN) เปิดเผยว่า บริษัทจะเดินหน้าต่อสู้คดีที่ศาลปกครองสั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโครงการ แอชตัน อโศก ที่บริษัทได้ดำเนินการพัฒนาและโอนห้องชุดพักอาศัยให้กับลูกบ้านไปแล้ว โดยเตรียมยื่นอุธรณ์ภายในระยะเวลา 30 วัน เพื่อความเป็นธรรม และสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนว่าบริษัทดำเนินการตามถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ
พร้อมกันนั้น บริษัทและทีมกฎหมายจะขอคำปรึกษาและความร่วมมือกับสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทยและสมาคมอาคารชุดไทย เพื่อขอคำแนะนำช่วยหาทางออกในประเด็นดังกล่าวที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 61 แม้บริษัทจะยืนยันว่าได้ดำเนินการขออนุญาตก่อสร้างโครงการอย่างถูกต้องตามกฎหมายทุกขั้นตอน และไม่ขัด พ.ร.บ.เวนคืนที่ดิน ในส่วนของที่ดินที่เป็นทางออก ซึ่งเป็นที่ดินของการรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นทางเข้าออกโครงการ และที่จอดรถของรฟม. กว้าง 6 เมตรบนถนนอโศก
นายชานนท์ กล่าวว่า ที่ดินที่เป็นข้อพิพาทของโครงการ แอชตัน อโศก ตาม พ.ร.บ.เวนคืนที่ดิน เปิดให้สามารถนำมาใช้ในการประกอบธุรกิจที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ได้ และทางบริษัทได้มีการให้ค่าตอบแทนรวม 100 ล้านบาทในการขออนุญาตใช้ที่ดินกับ รฟม.เป็นทางผ่านร่วมกันเทียบเท่าทางสาธารณะ โดยได้วางเงินมัดจำกับทางรฟม.ไว้ส่วนหนึ่งแล้ว รวมถึงบริษัทจะมีการก่อสร้างอาคารจอดรถ 7 ชั้นในพื้นที่ดังกล่าวติดกับทางออกสถานี MRT สุขุมวิท ข้างโครงการที่บริษัทเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างให้ รฟม. เพื่อให้ใช้ประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกประชาชนที่มาใช้บริการรถไฟฟ้า
จากที่กล่าวมาข้างต้นแสดงให้เห็นว่าการดำเนินการของบริษัทในการขออนุญาตก่อสร้างและการใช้ที่ดินผืนดังกล่าวนั้นไม่ขัดวัตถุประสงค์ในของการใช้ที่ดินของ รฟม.ที่อยู่ใน พ.ร.บ.เวนคืนที่ดิน แต่ศาลปกครองได้พิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโครงการ แอชตัน อโศก ทำให้บริษัทจะต้องเดินหน้าต่อสู่เพื่อขอความยุติธรรม และปกป้องลูกบ้านและมีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน พร้อมเรียกความเชื่อมั่นของบริษัทกลับมา
"ผมอยากให้ผู้ใหญ่หรือภาครัฐทุกคนหันหน้ามาคุยกับเรา เพราะเรื่องนี้ส่งผลระทบในวงกว้างต่อเราและอุตสาหกรรม ผมเข้าใจกฎหมายประเทศเรามีความซับซ้อน แต่เรามีหลักฐานว่าเราทำทุกอย่างตามกฎหมาย เราในฐานะประชาชนคนหนึ่ง อยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือช่วยหาทางออก เพราะภาครัฐมีหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ของประชาชน ไม่อยากให้ปัญหานี้ยืดเยื้อ สร้างความให้สบายใจให้ผม บริษัท ลูกบ้าน แบงก์ นักลงทุน และคนอื่นๆ
ไม่อยากให้เรื่องนี้มาเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ในอุตสาหกรรมอสังหาฯ เพราะไม่ใช่เราโครงการแรกที่สร้างบนพื้นที่ที่ร่วมกับหน่วยงานของรัฐ มีโครงการอื่นๆอีก 13 โครงการในกรุงเทพฯที่สร้างมาลักษณะนี้ มันจะกระทบทั้งหมด และกระทบต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆอีก และทำให้ลูกค้าและนักลงทุนเกิดคามกังวลในการเข้ามาลงทุนหรือเลือกซื้อที่อยู่อาศัย ผมจึงต้องการพูดคุยหรือใครก็ได้ที่ให้คำปรึกษาในการเข้ามาแก้ปัญหานี้ เพื่อสร้างความมั่นใจกลับมา"นายชานนท์ กล่าว
อนึ่ง โครงการ แอชตัน อโศก มูลค่า 6.41 พันล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนที่บริษัทและพันธมิตรญี่ปุ่น บริษัท มิตซุย ฟูโดซัง จำกัด ได้ร่วมกันพัฒนาในการถือหุ้นสัดส่วน 51 : 49 และได้ส่งมอบห้องชุดพักอาศัยให้ลูกบ้านไปแล้ว 87% มูลค่า 5.63 พันล้านบาท เหลือขายอีก 13%
นายชานนท์ กล่าวอีกว่า บริษัทรับทราบถึงความเดือดร้อน ความเสียหาย ความทุกข์ใจของลูกบ้าน เจ้าของร่วม 578 ครอบครัวที่พักอาศัยใน 666 ยูนิตของโครงการแอชตัน อโศก มากว่า 2 ปี รวมถึงครอบครัวชาวต่างชาติอีก 140 ครอบครัวที่ต้องแบกรับภาระ รวมถึงผลกระทบอันเนื่องมาจากระยะเวลาในการพิจารณาตามกระบวนการของศาลปกครองสูงสุดที่อาจจะต้องใช้เวลานานถึง 3-5 ปี อย่างไรก็ตาม ลูกบ้านที่เป็นเจ้าของร่วมทั้งหมดที่ซื้อโครงการยังยืนยันที่จะอยู่อาศัยในโครงการต่อไป
ส่วนพันธมิตรญี่ปุ่นที่ร่วมกันพัฒนาโครงการ แอชตัน อโศก และอีกหลายๆโครงการร่วมกับบริษัท คือ บริษัท มิตซุย ฟูโดซัง จำกัด ได้มีการสอบถามเข้ามากับทางบริษัทในประเด็นดังกล่าวแล้ว และบริษัทได้มีการชี้แจงตอบข้อสงสัยต่างๆ ให้ทราบ ซึ่งทางพันธมิตรญี่ปุ่นก็ได้เข้าใจในเรื่องที่เกิดขึ้น แต่ยังไม่เข้าใจในข้อกฎหมายของประเทศไทยอยู่บ้างเล็กน้อย เนื่องจากข้อกฎหมายของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน แต่พันธมิตรญี่ปุ่นยังมีความเชื่อมั่นในกระบวนการขออนุญาตก่อสร้างของบริษัทว่าได้ทำอย่างถูกต้อง
อย่างไรก็ตาม บริษัทยอมรัยว่าคำสั่งของศาลปกครองกระทบต่อความเชื่อมั่นของลูกค้า สถาบันการเงิน นักลงทุน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทในระยะสั้นพอสมควร หลังจากที่บริษัทได้รับทราบข่าวก็ได้มีการพูดคุยทำความเข้าใจกับลูกค้าและสถาบันการเงินเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ซึ่งทุกฝ่ายก็เข้าใจในความถูกต้องในการดำเนินการพัฒนาโครงการ แอชตัน อโศก ว่าที่ทำอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และพร้อมที่จะต่อสู้คดีจนถึงที่สุด
แต่ขณะนี้บริษัทได้ตัดสินใจเลื่อนแผนการออกหุ้นกู้ล่าสุด 2 ชุดในช่วงต้นเดือนส.ค. 64 วงเงินรวม 6 พันล้านบาท โดยเลื่อนการเสนอขายออกไป 1 สัปดาห์ เพื่อใช้เวลาทำความเข้าใจกับนักลงทุนที่สนใจซื้อหุ้นกู้ของบริษัท เพื่อสร้างความมั่นใจในตัวของบริษัทให้แก่นักลงทุนเชื่อถือและมองเห็นโอกาสในการลงทุน